รีวิว (Review) Xiaomi Mi 8 Lite
สมาร์ทโฟนกล้องดี มี AI พร้อมจอใหญ่ และสเปกที่ใช่ ในราคาสุดคุ้ม! ด้วยจอ Full Screen FHD+ ใหญ่เต็มตา 6.26 นิ้ว, กล้องหน้า AI 24MP ผสานกล้องหลังคู่ AI Dual Pixel 12+5MP, ชิปเซ็ต Snapdragon 660 AIE, RAM สูงสุด 6GB + ROM สูงสุด 128GB, แบตเตอรี่ชาร์จเร็ว 3350 mAh และระบบสแกนนิ้ว+สแกนใบหน้า บนบอดี้กระจกไล่เฉดสีโค้งมนเงางาม กับราคาเริ่มเพียง 7,990 บาท!
11 ธันวาคม 2018 - หลังจากที่แบรนด์สมาร์ทโฟนอย่าง Xiaomi ที่ขึ้นชื่อด้านการผลิตสมาร์ทโฟนสเปกคุ้มค่าในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปี 2017 ที่ผ่านมา ทำให้เราได้เห็นสมาร์ทโฟน Xiaomi รุ่นใหม่ๆ เข้ามาวางขายในบ้านเรามากขึ้น ซึ่งล่าสุดทาง Xiaomi ประเทศไทยก็ได้ทำการเปิดตัวสมาร์ทโฟนซีรีส์เรือธง 2 รุ่นใหม่ล่าสุด ประกอบไปด้วย สมาร์ทโฟนรุ่นท็อป Xiaomi Mi 8 Pro และสมาร์ทโฟนระดับกลางน้องใหม่อย่าง Xiaomi Mi 8 Lite
ในรุ่น Xiaomi Mi 8 Lite แม้ว่าจะเป็นน้องเล็กสุดในตระกูล Mi 8 Series แต่เมื่อเทียบกับคุณสมบัติที่ทาง Xiaomi จัดวางมาให้แล้วถือว่ามีความน่าสนใจไม่ใช่น้อย โดย Xiaomi Mi 8 Lite นั้นถูกดีไซน์ออกมาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้สมัยใหม่ที่ชื่นชอบด้านการถ่ายภาพเพื่อแชร์ต่อให้แก่เพื่อนๆ ในโซเชียล หรือที่ Xiaomi เรียกว่า Instagram Generation โดยทาง Xiaomi ยึดแนวคิดในการออกแบบเอาไว้ทั้งหมด 2 ข้อ ได้แก่ Stylish Design และ Great Photographs
สำหรับจุดเด่นด้าน Stylish Design นั้น Xiaomi Mi 8 Lite มาพร้อมกับความโดดเด่นด้านหน้าจอแสดงผลแบบไร้ขอบตามสมัยนิยม เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่การแสดงผลให้กว้างเต็มตา พร้อมฝาหลังกระจกแบบไล่เฉดสีที่มีความเงางามโดดเด่น เปรียบเสมือนเครื่องประดับชิ้นหนึ่งที่เราพกติดตัวไปใช้งานในชีวิตประจำวัน ส่วนหัวข้อ Great Photographs นั้น Xiaomi Mi 8 Lite มาพร้อมกับกล้องหน้าเซลฟี่ระดับเรือธงที่มีเทคโนโลยี AI Makeup สำหรับปรับแต่งภาพถ่ายเซลฟี่ และวิดีโอให้มีความสวยงาม ผสานระบบกล้องหลังคู่ที่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับช่วยปรับแต่งภาพถ่ายให้มีความสวยงาม และลูกเล่นในการถ่ายภาพรูปแบบต่างๆ ที่ตอบโจทย์โซเชียลมีเดียได้เป็นอย่างดี
นอกเหนือจากงานออกแบบ และกล้องถ่ายภาพแล้ว Xiaomi Mi 8 Lite ยังมีคุณสมบัติด้านอื่นๆ ที่น่าสนใจรอบตัว ไม่ว่าจะเป็น การขับเคลื่อนด้วยขุมพลังระดับกลางรุ่นยอดนิยมอย่าง Snapdragon 660 AIE, หน่วยความจำ RAM แบบ LPDDR4x ขนาดสูงสุด 6GB, หน่วยความจำภายในความจุสูงสุด 128GB แบตเตอรี่ความจุ 3350mAh ที่รองรับเทคโนโลยีชาร์จเร็ว Quick Charge 3.0, รองรับการใช้งานแบบ 2 ซิมการ์ด, รองรับการเชื่อมต่อบนเครือข่าย 4G LTE รวมถึงการขับเคลื่อนด้วยระบบปฏิบัติการ MIUI เวอร์ชัน 9.6 ที่สามารถอัปเดตไปใช้ระบบ MIUI 10 ที่มีลูกเล่นต่างๆ ให้เลือกใช้งานมากมาย โดยทาง Xiaomi เปิดราคาวางจำหน่าย Xiaomi Mi 8 Lite เริ่มต้นที่ 7,990 บาทเท่านั้น
จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า Xiaomi Mi 8 Lite เป็นอีกหนึ่งสมาร์ทโฟนระดับกลางที่มีความน่าสนใจบนท้องตลาดไม่ใช่น้อย โดยตัวเครื่องจริงจะมีความสวยงามขนาดไหน, กล้องถ่ายภาพสามารถถ่ายทอดภาพเหตุการณ์ต่างๆ ออกมาได้สวยงามเพียงใด และระบบปฏิบัติการ MIUI จะมีลูกเล่นอะไรให้ใช้งานบ้าง สามารถติดตามไปพร้อมกับทีมงานผ่านบทความรีวิวแบบเจาะลึกกันได้เลยครับ
รูปลักษณ์ภายนอกตัวเครื่อง และการออกแบบดีไซน์
เริ่มต้นที่กล่องบรรจุภัณฑ์กันก่อน โดย Xiaomi Mi 8 Lite มาพร้อมกับแพ็กเกจที่มีการไล่สีสันจากโทนสีชมพูไปหาโทนสีฟ้าคล้ายกับสี Aurora Blue หนึ่งตัวเลือกสีของ Xiaomi Mi 8 Lite ส่วนที่ด้านหน้ามีการประทับเลข 8 พร้อมข้อความ Lite ด้วยสีขาวตัดกับสีพื้นหลังเป็นอย่างดี
พลิกมาดูที่ด้านหลังของตัวเครื่องจะพบกับไอคอนต่างๆ ที่ระบุคุณสมบัติเด่นของสมาร์ทโฟนรุ่นนี้เอาไว้แบบครบถ้วน ประกอบไปด้วย กล้องหน้าความละเอียดสูง 24 ล้านพิกเซล, กล้องหลังคู่ความละเอียด 12 + 5 ล้านพิกเซล ที่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับวิเคราะห์ฉาก และวัตถุ เพื่อปรับแต่งภาพถ่ายให้มีความสวยงามแบบอัตโนมัติ รวมถึงระบบโฟกัสภาพอัตโนมัติแบบ Dual Pixel Autofocus และเม็ดพิกเซลขนาดใหญ่ที่ 1.4 ไมครอน, หน้าจอแสดงผลขแบบ Full Screen ขนาด 6.26 นิ้ว ความละเอียดระดับ Full HD+ พร้อมอัตราส่วนในการแสดงผลแบบ 19:9 และการขับเคลื่อนด้วยขุมพลัง Qualcomm Snapdragon 660 AIE แบบ Octa-Core Processor
ถัดมาที่ด้านล่างของหลังกล่อง จะพบกับข้อความที่ระบุถึงสีสันของตัวเครื่อง พร้อมความจุ RAM และ ROM โดย Xiaomi Mi 8 Lite ที่ทีมงานได้รับมารีวิววันนี้ คือ รุ่น RAM 4GB + ROM 64GB ในเวอร์ชันสีดำเงา Midnight Black ครับ
เปิดกล่องออกมาจะพบกับตัวเครื่อง Xiaomi Mi 8 Lite พร้อมอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่ถูกจัดเอาไว้อย่างเป็นสัดส่วน ประกอบไปด้วย คู่มือการใช้งาน, ใบรับประกัน, เข็มจิ้มถาดใส่ซิมการ์ด, อแดปเตอร์สำหรับแปลงพอร์ต USB Type-C เป็นช่องเสียบหูฟังมาตรฐานขนาด 3.5 มม.
ถัดมาเป็นสายเชื่อมต่อแบบ USB Type-C สำหรับโอนถ่ายข้อมูล หรือชาร์จแบตเตอรี่ และอแดปเตอร์จ่ายไฟที่รองรับการจ่ายกระแสไฟที่ระดับ 5V/2A ซึ่งสำหรับใครที่ต้องการใช้ระบบชาร์จเร็วแบบ Quick Charge 3.0 บน Xiaomi Mi 8 Lite อาจต้องหาซื้ออแดปเตอร์ตัวใหม่ที่รองรับการจ่ายกระแสไฟที่ระดับ 9V/2A ครับ
มาดูตัวเครื่องแบบชัดๆ กันบ้าง สำหรับ Xiaomi Mi 8 Lite มาพร้อมกับหน้าจอแสดงผลไร้ขอบแบบ IPS LCD Full Screen Display ขนาด 6.26 นิ้ว ความละเอียดระดับ Full HD+ (2280x1080 พิกเซล) ความหนานแน่นพิกเซล 403 PPI, ค่า Contrast Ratio ที่ 1500:9 พร้อมอัตราส่วนในการแสดงผลแบบ 19:9 ทำให้สามารถรับชมคอนเทนต์ต่างๆ ได้อย่างเต็มตาเต็มอารมณ์ บนตัวเครื่องขนาด 156.4x75.8x7.5 มม. และน้ำหนักรวม 169 กรัม ซึ่งถือว่าเป็นขนาดที่พอเหมาะแก่การจับถือใช้งานทั้งผู้หญิง และผู้ชายครับ
เลื่อนมาดูที่ด้านบนของหน้าจอจะพบกับรอยบาก หรือ Notch ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับติดตั้งกล้องหน้าความละเอียดสูง 24 ล้านพิกเซล, ลำโพงสำหรับสนทนา, ไฟ LED สำหรับแสดงสถานะการทำงาน และระบบ Proximity Sensor สำหรับการปิดหน้าจอแบบอัตโนมัติขณะสนทนา เพื่อประหยัดพลังงาน โดยจะสังเกตเห็นได้ว่าบริเวณขอบของหน้าจอจะมีความโค้งมนเป็นแนวเดียวกับขอบตัวเครื่องด้วย ซึ่งช่วยให้มีความสวยงามไม่ใช่น้อยครับ
สำหรับใครที่ไม่ชอบรอยบาก ก็สามารถเข้าไปซ่อนรอยบากได้ผ่านการตั้งค่าในหัวข้อ Full Screen Display
ถัดมาที่ด้านล่างของหน้าจอ จะพบกับปุ่มควบคุมแบบสัมผัสบนหน้าจอ ซึ่งประกอบไปด้วย ปุ่ม Recent Apps สำหรับเรียกดูแอปพลิเคชันทั้งหมดที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง, ปุ่ม Home สำหรับย้อนกลับไปหน้าโฮมสกรีน และปุ่ม Back สำหรับย้อนกลับไปยังหน้าก่อนหน้านี้ ซึ่งสำหรับใครที่อยากใช้งานแบบเต็มหน้าจอโดยไม่มีปุ่มให้กวนใจ ก็สามารถปรับไปใช้วิธีสั่งการแบบ Gesture ได้ในการตั้งค่า ซึ่งเป็นวิธีควบคุมโดยการใช้นิ้วปัดบริเวณด้านล่างของหน้าจอ
ที่ด้านซ้ายของตัวเครื่องมีถาดใส่ซิมการ์ดแบบ Hybrid Slot ติดตั้งเอาไว้ โดยรองรับการใช้งานแบบ 2 ซิมการ์ด และสามารถเพิ่มหน่วยความจำเสริมภายนอกแบบ microSD Card ได้โดยใช้ช่องใส่ซิมการ์ดที่ 2 ครับ
ที่ด้านขวาของตัวเครื่อง ประกอบไปด้วย ปุ่ม Power สำหรับเปิด-ปิดเครื่อง หรือล็อกหน้าจอ และปุ่มปรับระดับเสียง ซึ่งขอบตัวเครื่องของ Xiaomi Mi 8 Lite มีความบางเฉียบเพียงแค่ 7.5 มม. เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยให้การจับถือทำได้อย่างถนัดมือครับ
ที่ด้านบนของตัวเครื่องมีไมโครโฟนตัวที่สองสำหรับตัดเสียงรบกวนติดตั้งเอาไว้ ส่วนเส้นสีดำที่พาดด้านข้างของตัวเครื่อง คือ เส้นเสารับสัญญาณ
ที่ด้านล่างของตัวเครื่อง ประกอบไปด้วย ไมโครโฟนสำหรับสนทา, พอร์ตเชื่อมต่อแบบ USB Type-C และลำโพงเสียงภายนอก ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่า Xiaomi Mi 8 Lite ไม่มีช่องเสียบหูฟังมาตรฐานขนาด 3.5 มม. มาให้แล้ว แต่ทาง Xiaomi ก็ทดแทนด้วยการแถมอแดปเตอร์แปลงพอร์ต USB Type-C เป็นช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. มาให้ภายในกล่อง ซึ่งผู้ใช้สามารถนำหูฟังที่มีอยู่มาเชื่อมต่อใช้งานได้ทันที
พลิกมาดูที่ด้านหลังตัวเครื่องจะพบกับฝาหลังกระจกขอบโค้งแบบ 2.5D Glass ที่มีความเงางามสะดุดตา พร้อมมุมขอบโค้งสี่ด้านรับกับอุ้งมือผู้ใช้งาน และสามารถสะท้อนเล่นกับแสงไฟตามมุมที่ตกกระทบ
ความพิเศษด้านงานออกแบบของ Xiaomi Mi 8 Lite ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะในเวอร์ชันสีม่วงไล่เฉด Aurora Blue นั้น Xiaomi ได้ใช้เทคโนโลยี NCVM Color Processing ซึ่งเป็นกระบวนการลงสีบนฝาหลังแบบหลายชั้น ส่งผลให้ตัวเครื่องมีความเงางามสูงจนผู้ใช้สามารถนำไปส่องแทนกระจกได้
ด้านบนของตัวเครื่องติดตั้งระบบกล้องคู่ (Dual Camera) โดยแบ่งออกเป็นกล้องตัวหลักความะเอียด 12 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์รับภาพ Sony IMX363 รูรับแสงกว้าง f/1.9 และกล้องตัวรองความละเอียด 5 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์รับภาพ Samsung S5KSE8 พร้อมระบบโฟกัสภาพอัตโนมัติแบบ Dual Pixel Autofocus ถัดมาที่ด้านขวาคือไฟแฟลชแบบ LED พร้อมปุ่มสแกนลายนิ้วมือสำหรับยืนยันสิทธิเข้าใช้งานที่ติดตั้งเอาไว้บริเวณตรงกลางของตัวเครื่อง
เปิดเครื่องใช้งาน พร้อมการทดสอบฟังก์ชัน และแอปพลิเคชันต่างๆ
Xiaomi Mi 8 Lite ขับเคลื่อนด้วยระบบปฏิบัติการ Android OS เวอร์ชัน 8.1 Oreo ครอบทับด้วย MIUI 9.6 ซึ่งเป็น User Interface ที่ Xiaomi ได้พัฒนาขึ้นมาเอง โดนจะเน้นไปในเรื่องของการทำงานที่รวดเร็ว และลูกเล่นต่างๆ ที่จัดเต็มพร้อมตอบโจทย์ผู้ใช้งานทุกระดับ
หลังจากที่เปิดเครื่อง และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกก็พบว่า ตัวเครื่องมีการแจ้งเตือนให้อัปเดตเป็นระบบปฏิบัติการ MIUI 10 ซึ่งเป็นเวอร์ชันใหม่ล่าสุดทันที ดังนั้นในบทความรีวิวฉบับนี้ทางทีมงานจะทำการรีวิว Xiaomi Mi Lite 8 ด้วยระบบปฏิบัติการ MIUI เวอร์ชัน 10 เพื่อนำเสนอลูกเล่นใหม่ๆ ครับ
สำหรับหน้าโฮมสกรีนของ Xiaomi Mi 8 Lite จะจัดเรียงแอปพลิเคชันทั้งหมดที่ติดตั้งภายในตัวเครื่องเอาไว้ ไม่มีปุ่ม App Drawer สำหรับเรียกดูแอปพลิเคชัน ซึ่งทำให้เราสามารถปัดเพื่อเลื่อนดูแอปพลิเคชันต่างๆ ได้อย่างสะดวก
เมื่อลากนิ้วจากขอบด้านบนลงมายังด้านล่าง จะพบกับ Toggle Switch หรือคีย์ลัดสำหรับเปิด-ปิด การตั้งค่าต่างๆ ภายในตัวเครื่อง ซึ่งถูกดีไซน์ให้อยู่ในรูปแบบไอคอนวงกลม ส่วนแถบด้านล่าง Toggle Switch จะเป็นแถบสำหรับปรับระดับความสว่างของหน้าจอตามความต้องการของผู้ใช้งาน
เมื่อลากนิ้วจาก Toggle Switch ลงมายังด้านล่างอีกครั้ง จะพบกับคีย์ลัดต่างๆ ที่ถูกซ่อนเอาไว้ ซึ่งผู้ใช้สามารถปรับแต่งการจัดเรียงของคีย์ลัด และเพิ่มคีย์ลัดต่างๆ ได้ด้วยตนเองผ่านเมนู Edit ที่บริเวณด้านขวาล่าง
ถัดมาที่ด้านล่างคือ Notification Center ศูนย์รวมการแจ้งเตือนต่างๆ ภายในตัวเครื่อง โดยผู้ใช้สามารถการแจ้งเตือนไปที่ด้านขวาเพื่อลบได้ หรือกดปุ่มกากบาทที่ด้านล่างเพื่อลบการแจ้งเตือนทั้งหมดภายในครั้งเดียว
เมื่อปัดการแจ้งเตือนไปที่ด้านซ้ายจะพบกับการเมนูการตั้งค่า 2 รูปแบบ ได้แก่ การตั้งค่าเปิด-ปิด การแจ้งเตือนของแอปพลิเคชัน และ Snooze สำหรับปิดการแจ้งเตือนของแอปพลิเคชันนั้นๆ ชั่วคราวตามเวลาที่กำหนด
เมื่อปัดไปที่ด้านซ้ายจากหน้าโฮมสกรีน จะพบกับ App Vault ซึ่งเป็นหน้าสำหรับแสดงข้อมูลต่างๆ ภายในตัวเครื่อง และคีย์ลัดสำหรับสั่งการ ไม่ว่าจะเป็น การเคลียร์ RAM, สแกน QR Code, จดโน๊ตแบบเร่งด่วน หรือดูปฏิทิน ซึ่งผู้ใช้สามารถปรับแต่งคีย์ลัด และหน้าแสดงข้อมูลได้ด้วยตนเองผ่านการแตะที่เมนู Customize ด้านล่างสุดครับ
เมื่อแตะค้างที่หน้าโฮมสกรีน จะเข้าสู่เมนูการจัดแต่งหน้าโฮมสกรีน ประกอบไปด้วย การปรับเปลี่ยนวอลเปเปอร์, วิดเจ็ต, จัดเรียงไอคอนแอปพลิเคชัน หรือลบแอปพลิเคชัน
เมื่อกดที่ปุ่ม Recent Apps จะพบกับแอปพลิเคชันทั้งหมดที่เปิดใช้งานอยู่ โดยสามารถใช้นิ้วเลื่อนไปด้านบนเพื่อดูแอปพลิเคชันต่างๆ ที่กำลังทำงานอยู่ได้ ส่วนวิธีการเคลียร์แอปสามารทำได้ทั้งหมด 2 แบบ ได้แก่ ใช้นิ้วปัดที่หน้าต่างแอปพลิเคชันไปที่ด้านข้าง หรือกดที่ปุ่มกากบาทด้านล่างเพื่อเคลียร์แอปพลิเคชันทั้งหมดภายในครั้งเดียว
สำหรับแอปพลิคเชันที่ติดตั้งมาให้ภายในตัวเครื่อง ประกอบไปด้วย แอปพลิเคชันเด่นจากฝั่ง Google เช่น Google Maps, Youtube หรือ Google Photos รวมถึงแอปพลิเคชันเครื่องมือพื้นฐานอย่างเช่น เครื่องคิดเลข, บันทึกเสียง และเข็มทิศ
นอกจากนี้ ทาง Xiaomi ยังติดตั้งแอปพลิเคชันจากฝั่ง Microsoft มาให้งานด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น Word, Excel, PowerPoint หรือ Skype
ด้านแอปพลิเคชันเบราเซอร์พื้นฐาน หรือ Mi Browser ก็สามารถทำงานได้อย่างลื่นไหล แสดงรายละเอียดต่างๆ บนเว็บไซต์ได้อย่างครบถ้วน และเมื่อประกอบกับสัดส่วนหน้าจอที่กว้างแบบ 19:9 ของ Xiaomi Mi 8 Lite แล้ว ทำให้เราสามารถอ่านคอนเทนต์ต่างๆ ได้อย่างเต็มตาโดยไม่จำเป็นต้องเลื่อนหน้าจอขึ้นบ่อยๆ
สามารถดาวน์โหลดธีม และวอลเปเปอร์ เพิ่มเติมได้ในแอปพลิเคชัน Themes
สำหรับแอปพลิเคชัน Gallery สามารถแสดงภาพถ่ายได้ทั้งหมด 2 รูปแบบ ได้แก่ Photo แสดงภาพถ่ายทั้งหมดที่อยู่ภายในตัวเครื่อง และ Albums แสดงภาพถ่ายโดยแบ่งแยกออกเป็นหมวดหมู่
มาพร้อมกับแอปพลิคเชัน Mi Drop สำหรับแชร์ไฟล์ให้แก่ผู้ใช้สมาร์ทโฟน Xiaomi ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงยังสามารถส่งไฟล์เข้าสู่คอมพิวเตอร์ผ่านเครือข่าย Wi-Fi เดียวกันได้อีกด้วย
ทางด้านแอปพลิเคชันจัดการไฟล์ File Manager ถูกออกแบบหน้าตาออกมาให้ใช้งานได้อย่างง่ายดาย โดยมีการจัดเรียงประเภทของไฟล์เอาไว้ และแสดงเนื้อหาของไฟล์ต่างๆ เอาไว้ในหน้าเดียว
มาพร้อมกับแอปพลิเคชัน Cleaner สำหรับจัดการไฟล์แคช, ไฟล์ขยะ หรือไฟล์ที่ไม่ถูกใช้งานแล้ว ทำให้ตัวเครื่องมีพื้นที่สำหรับจัดเก็บไฟล์เพียงพอตลอดเวลา
อีกทั้ง ยังมีแอปพลิเคชัน Security ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์รวมการจัดการต่างๆ ภายในตัวเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น การจัดการไฟล์, การสแกนหาไวรัส, การจัดการแบตเตอรี่, ตรวจสอบปริมาณดาตาอินเทอร์เน็ตที่แต่ละแอปพลิเคชันใช้งานไป, ตั้งค่าการบล็อกเบอร์โทร หรือ SMS และการจัดการแอปพลิเคชันที่ติดตั้งภายในตัวเครื่อง โดยผู้ใช้สามารถกดที่ฟังก์ชัน Optimize เพื่อให้ระบบจัดการปรับแต่งตัวเครื่องให้มีประสิทธิภาพภายในพริบตาได้
Scanner แอปพลิเคชันสำหรับสแกนรหัส QR Code และการสแกนหน้ากระดาษให้เป็นไฟล์รูปภาพ ก็ถูกติดตั้งมาให้ภายในเครื่องเช่นเดียวกัน
มาพร้อมกับแอปพลิเคชัน Music สำหรับเล่นไฟล์เสียงภายในตัว รวมทั้งผู้ใช้สามารถปรับแต่งการตั้งค่าเอฟเฟกต์เสียงขณะเสียบใช้งานร่วมกับหูฟังได้ ไม่ว่าจะเป็น การปรับอีควอไลเซอร์, การปรับแต่งปุ่มควบคุมของหูฟัง และการปรับแต่งเสียงแบบ Mi Sound Enhancer ซึ่งเป็นการแต่งเสียงให้เหมาะสมกับหูฟังของ Xiaomi นั่นเอง
รองรับการใช้งานแบบ 2 ซิมการ์ด พร้อมรองรับเทคโนโลยี Dual 4G สำหรับเชื่อมต่อบนเครือข่าย 4G LTE ได้ทั้ง 2 ซิมการ์ดด้วย อีกทั้ง ยังรองรับเทคโนโลยี VoLTE สำหรับการสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่าย 4G (Voice over LTE : VoLTE)
อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้นว่า ระบบปฏิบัติการ MIUI เน้นไปในเรื่องของความเร็ว และลูกเล่นต่างๆ ที่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยหนึ่งในนั้นคือฟังก์ชัน Reading Mode ซึ่งจะเป็นการปรับเปลี่ยนอุณหภูมิสีของหน้าจอให้อยู่ในโทนสีอุ่น เพื่อลดอาการล้าของสายตา เหมาะกับผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนในตอนกลางคืนนั่นเอง
หากใครที่รู้สึกว่าหน้าจอมีสีสันที่ไม่ตรงตามที่ต้องการ ก็สามารถเข้าไปปรับแต่งได้ในฟังก์ชัน Contrast & Colors โดยสามารถเลือกปรับแต่งโทนสีจากวงล้อสี หรือเลือกที่ฟังก์ชัน Warm เพื่อปรับแต่งสีสันให้อยู่ในโทนอุ่น หรือ Cool เพื่อปรับแต่งสีสันให้อยู่ในโทนเย็น
มาพร้อมกับฟังก์ชันช่วยปลุกหน้าจออย่าง Double tap screen to wake ซึ่งเป็นการแตะบนหน้าจอสองครั้งขณะหน้าจอดับเพื่อทำการเปิดหน้าจอ และ Raise to wake สำหรับเปิดหน้าจอแสดงผลอัตโนมัติเมื่อยกสมาร์ทโฟนขึ้น
นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับฟังก์ชันเด่นอย่าง Second Space ซึ่งเปรียบเสมือนการแบ่งพื้นที่การทำงานของสมาร์ทโฟนออกเป็น 2 โปรไฟล์ แต่ละโปรไฟล์จะแยกการทำงานออกจากกันอย่างสิ้นเชิง อีกทั้ง แอปพลิเคชันในแต่ละโปรไฟล์ก็จะแยกแอคเคานท์ออกจากกัน ซึ่งถือว่าตอบโจทย์ผู้ใช้ที่ต้องการแยกเรื่องงานออกจากเรื่องชีวิตส่วนตัว หรือผู้ที่ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนเพียงแค่คนเดียว
และที่สำคัญ ยังมาพร้อมกับฟังก์ชัน Dual Apps สำหรับโคลนแอปพลิเคชันเพื่อทำงานแยกออกจากกัน ทำให้เราสามารถเล่นแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดีย หรือเกมต่างๆ ได้แบบ 2 แอคเคานท์นั่นเองครับ โดยแอปพลิเคชันที่ถูกโคลนออกมาจะปรากฏไอคอนสีส้มที่บริเวณมุมซ้ายล่าง
นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับฟังก์ชัน App Lock ซึ่งจะเป็นล็อกแอปพลิเคชันที่เลือกขณะเปิดใช้งาน ทำให้ผู้ที่สามารถเข้าใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ภายในตัวเครื่องได้ จะมีเพียงแค่เจ้าของเครื่อง, ผู้ที่รู้รหัสผ่าน หรือผู้ที่ลงทะเบียนลายนิ้วมือเอาไว้เท่านั้น
Xiaomi Mi 8 Lite มาพร้อมกับระบบยืนยันตัวตนแบบ Biometric ทั้งหมด 2 รูปแบบ ได้แก่ ระบบสแกนลายนิ้วมือ และระบบสแกนใบหน้าแบบ AI Face Unlock โดยในระบบสแกนลายนิ้วมือ ผู้ใช้สามารถบันทึกลายนิ้วมือได้สูงสุด 5 ลายนิ้วมือ ส่วนระบบสแกนใบหน้าจะสามารถบันทึกใบหน้าได้เพียง 1 ใบหน้าเท่านั้น
ข้ามมาที่ประสิทธิภาพการทำงานกันบ้าง สำหรับ Xiaomi Mi 8 Lite ขับเคลื่อนการทำงานด้วยขุมพลังระดับกลางรุ่นยอดนิยมอย่าง Qualcomm Snapdrgon 660 AIE ซึ่งเป็นชิปเซ็ตประมวลผลแบบ 8 แกน (Octa-Core Processor) พร้อมจุดเด่นด้านการรองรับแพลตฟอร์ม AI Engine หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ภายในตัว ซึ่งเป็นหนึ่งความสามารถเด่นของสมาร์ทโฟนรุ่นนี้นั่นเอง โดย Snapdragon 660 AIE บน Xiaomi Mi 8 Lite จะทำงานควบคู่กับหน่วยประมวลผลกราฟิก Adreno 512 ความเร็วในการประมวลผล 650Mhz, หน่วยความจำแรม (RAM) แบบ LPDDR4X ขนาด 4GB พร้อมหน่วยความจำภายใน (ROM) ความจุ 64GB และระบบปฏิบัติการ Android OS เวอร์ชัน 8.1 Oreo ครอบทับด้วย MIUI 9.6 ที่สามารถอัปเกรดเป็น MIUI 10 เวอร์ชันล่าสุดได้
เมื่อนำไปทดสอบประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของตัวเครื่องด้วยแอปพลิเคชัน AnTuTu พบว่า สามารถทำคะแนนได้ทั้งหมด 144346 คะแนน ซึ่งถือว่าเป็นคะแนนที่อยู่ในระดับกลาง และเพียงพอต่อการใช้งานทั่วไป รวมถึงการเล่นเกมกราฟิก 3 มิติยอดนิยมได้อย่างลื่นไหล
ทดสอบประสิทธิภาพการประมวลผลของ CPU ด้วยแอปพลิเคชัน GeekBench พบว่า Xiaomi Mi 8 Lite สามารถทำคะแนนทดสอบการประมวลผลแบบแกนเดี่ยว (Single-Core) ได้ทั้งหมด 1643 คะแนน และทำคะแนนทดสอบการประมวลผลแบบหลายแกน (Multi-Core) ได้ทั้งหมด 5772 คะแนน
ทดสอบประสิทธิภาพของ GPS ก็พบว่าสามารถตรวจจับตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็ว โดยมีค่าความคลาดเคลื่อน +- ไม่เกิน 13 เมตร โดย Xiaomi Mi 8 Lite รองรับการจับคลื่นสัญญาณ GPS แบบ GLONASS และ Beidou
และเมื่อนำไปทดสอบการเล่นเกมออนไลน์ยอดฮิตที่มีกราฟิก 3 มิติสวยๆ อย่าง PUBG Mobile และ RoV ก็พบว่า สามารถเล่นได้อย่างลื่นไหลไม่มีสะดุด และไม่มีอาการสะสมความร้อนให้พบเจอ โดยในส่วนของเกม PUBG Mobile สามารถเปิดกราฟิกได้สูงสุดที่ระดับ HD และปรับเฟรมเรทสูงสุดได้ในระดับ Ultra (เมื่อเปิดกราฟิกที่ระดับ Smooth) ส่วนเกม RoV สามารถเปิดโหมดเฟรมเรทสูง 60 FPS (High Frame Rate) ได้ โดยเฟรมเรทขณะเล่นจะอยู่ที่ระหว่าง 52-60 FPS ครับ
นอกจากนี้ Xiaomi Mi 8 Lite ยังมาพร้อมกับฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การเล่นเกมโดยเฉพาะอย่าง Game Space ซึ่งจะเป็นการเร่งประสิทธิภาพของตัวเครื่องให้เหมาะสมกับการเล่นเกม รวมทั้งยังสามารถเลือกจำกัดการใช้งานอินเทอร์เน็ตของแอปพลิเคชันที่อยู่เบื้องหลัง เพื่อลดอาการแลคที่อาจเกิดขึั้นได้ระหว่างเล่นเกมออนไลน์ และที่สำคัญผู้ใช้ยังสามารถรับสายสนทนาได้อย่างง่ายดายโดยไม่จำเป็นต้องออกจากเกมแต่อย่างใด
ส่วนการเล่นไฟล์วิดีโอความละเอียดสูงระดับ Full HD 1080p ก็สามารถเล่นได้อย่างลื่นไหลไม่มีสะดุด รวมทั้งยังให้มุมมองของภาพที่กว้างเต็มตาด้วยประโยชน์ของหน้าจอขนาดใหญ่ที่ 6.26 นิ้ว และอัตราส่วนในการแสดงผลแบบ 19:9
สำหรับเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ติดตั้งมาให้ก็ถือว่าครบครัน รวมถึงเซ็นเซอร์ Gyroscope ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งระบบสำคัญสำหรับเกมในปัจจุบัน
การใช้งานกล้องดิจิทัลสำหรับถ่ายภาพ และวิดีโอ
อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ตอนต้นว่า Xiaomi Mi 8 Lite มาพร้อมกับจุดเด่นด้านการถ่ายภาพด้วยคอนเซ็ปท์ Selfie With Style โดยจุดเด่นที่ว่านี้สื่อถึงกล้องหน้าทรงประสิทธิภาพความละเอียด 24 ล้านพิกเซล ที่เลือกใช้เซ็นเซอร์รับภาพระดับเรือธงอย่าง Sony IMX576 พร้อมเม็ดพิกเซลขนาดใหญ 1.8 ไมครอน และที่สำคัญยังมีเทคโนโลยี Super Pixel 4-in-1 สำหรับรวมพิกเซลที่อยู่ใกล้กันเพื่อช่วยให้รับแสงได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้การถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อย หรือตอนกลางคืนดีขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
นอกจากนี้ กล้องหน้าของ Xiaomi Mi 8 Lite ยังมาพร้อมกับเทคโนโลยี AI Makeup ซึ่งเป็นการนำเอาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาตรวจจับ และวิเคราะห์เค้าโครงของใบหน้าผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น เส้นผม คิ้ว หรือขนตา ซึ่งผู้ใช้สามารถนำไปไปปรับแต่งให้ความสวยงามเหมาะกับใบหน้าผู้ใช้งานแต่ละบุคคลได้แบบเรียลไทม์ รวมถึงเทคโนโลยี AI Scene Detection ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ซีนที่อยู่โดยรอบผู้ใช้ขณะถ่ายภาพเซลฟี่ เพื่อนำไปปรับแต่งสีนสันให้มีความสวยงามอัตโนมัติ อีกทั้ง ยังมาพร้อมกับฟังก์ชัน Screen Flash ที่สามารถสาดแสงแฟลชจากหน้าจอโดยอ้างอิงตามอุณหภูมิสีโดยรอบผู้ใช้งานได้
ด้านกล้องหลังก็มาพร้อมกับคุณสมบัติจัดเต็มไม่แพ้กัน โดยมาพร้อมกับiระบบกล้องหลังคู่ (Dual Camera) ซึ่งแบ่งออกเป็นกล้องตัวหลักความละเอียด 12 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์รับภาพ Sony IMX363 เม็ดพิกเซลขนาด 1.4 ไมครอน พร้อมรูรับแสงกว้าง f/1.9 และระบบโฟกัสภาพอัตโนมัติแบบ Dual Pixel Autofocus ส่วนกล้องตัวรอง มาพร้อมกับความละเอียด 5 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์รับภาพ Samsung S5K8E8 พร้อมเม็ดพิกเซลขนาด 1.12 ไมครอน นอกจากนี้ กล้องหลังคู่ของ Xiaomi Mi 8 Lite ยังมาพร้อมกับเทคโนโลยี AI Scene Detection ที่สามารถตรวจจับฉาก และวัตถุต่างๆ ได้กว่า 27 หมวดหมู่ ครอบคลุมการถ่ายภาพในชีวิตประจำวันทั่วไป อีกทั้ง ยังมีลูกเล่นสำคัญอย่าง AI Portrait สำหรับถ่ายภาพบุคคลแบบหน้าชัดหลังเบลอ รวมถึง Studio Lighting สำหรับจัดแต่งรูปแบบแสงให้แก่ตัวแบบ และยังมาพร้อมกับ AI Dynamic Bokeh สำหรับปรับเอฟเฟกต์โบเก้ให้เป็นรูปทรงต่างๆ เพื่อเสริมให้ภาพถ่ายดูมีชีวิตชีวามากขึ้นกว่าที่เคย
สำหรับอินเทอร์เฟสของกล้องหน้า มีการจัดเรียงไอคอนคีย์ลัดไว้อย่างเป้นหมวดหมู่ ประกอบไปด้วย การเปิด-ปิด ไฟแฟลช, การเปิด-ปิด ฟังก์ชัน HDR (High Dynamic Range) หรือ เปิด-ปิด ฟังก์ชัน AI Scene Detection
สามารถเลือกใช้งานฟิลเตอร์เพื่อย้อมแสงให้แก่ภาพถ่ายได้ทั้งหมด 12 รูปแบบ ประกอบไปด้วย Nature, Sky Blue, Blush, Story, Childhood, Emotions, Romantic, Maze, Mint, Riddle, Movie และ B&W
ผู้ใช้สามารถตั้งค่าต่างๆ ของกล้องได้เอง ไม่ว่าะจะเป็น การแท็กสถานที่บนภาพถ่าย, เปิด-ปิด เอฟเฟกต์กระจกของกล้องหน้า, เพิ่มวัน-เวลา ที่ถ่ายบนรูปแบบ, หรือเปิดใช้งานจุดตัด 9 ช่อง
สามารถเลือกสัดส่วนของภาพถ่ายได้ทั้งหมด 2 รูปแบบ ได้แก่ 4:3 และ 16:9
สามารถเลือกความละเอียดของภาพถ่ายได้ 3 ระดับ ได้แก่ High, Standard และ Low
รวททั้งยังสามารถเลือกรูปแบบการวัดแสงได้ทั้งหมด 3 แบบ ประกอบไปด้วย Frame Average สำหรับวัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพ, Center Weighted สำหรับวัดแสงเฉลี่ยหนักกลางภาพ และ Spot Metering สำหรับวัดแสงเฉพาะจุด
มาพร้อมกับฟังก์ชัน Beuaty สำหรับปรับแต่งใบหน้าผู้ใช้ให้ความสวยงาม โดยสามารถเลือกปรับระดับความเนียนได้ทั้งหมด 6 ระดับด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับฟังก์ชัน Remodeling สำหรับปรับแต่งโครงหน้าผู้ใช้งาน และ Makeup สำหรับช่วยแต่งหน้าให้แบบอัตโนมัติ
นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับโหมดถ่ายภาพเซลฟี่แบบหน้าชัดหลังเบลอ (Portrait) และโหมดการถ่ายภาพแบบ Square ซึ่งจะเป็นการปรับสัดส่วนของภาพถ่ายให้อยู่ในรูปแบบกล่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เหมาะกับการนำไปแชร์ต่อในแอปพลิเคชันยอดฮิตอย่าง Instagram นั่นเองครับ
รองรับการถ่ายภาพวิดีโอที่ความละเอียดระดับ Full HD ซึ่งในขณะถ่ายวิดีโอนั้น ผู้ใช้สามารถเปิดใช้งานฟังก์ชันปรับหน้าสวยแบบ Beauty ได้เหมือนกับการถ่ายภาพปกติ ทำให้วิดีโอที่ออกมานั้นมีความสวยงามมากกว่าที่เคย
และยังมาพร้อมกับโหมด Short Video สำหรับถ่ายวิดีโอแบบสั้นๆ เป็นระยะเวลา 10 วินาที
ส่วนอินเทอร์เฟสของกล้องหลัง ก็มาพร้อมกับ UI แบบเรียบง่ายเหมือนกันกับกล้องหน้า พร้อมคีย์ลัดที่ถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ ประกอบไปด้วย การเปิด-ปิด ไฟแฟลช, เปิด-ปิด ฟังก์ชัน HDR (High Dynamic Range), เปิด-ปิด ฟังก์ชัน AI Scene Detection
สามารถเปิดใช้งานฟิลเตอร์เพื่อย้อมสีของภาพได้เหมือนกันกับกล้องหน้า แต่ฟิลเตอร์จะมีให้เลือกเยอะกว่าเล็กน้อย ประกอบไปด้วย Vivid, Film, Amour, Latte, Sun, Cookie, Calm, Soda, Gourmet, Glow, Berries, B&W และ Fade
มาพร้อมกับโหมดถ่ายภาพให้เลือกใช้งานอย่างหลากหลาย เริ่มตั้งแต่ โหมด Portrait สำหรับถ่ายภาพบุคคลแบบหน้าชัดหลังเบลอ ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปปรับแต่งระดับความเบลอของฉากหลังได้แม้ว่าจะถ่ายภาพเสร็จสิ้นไปแล้ว
นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกปรับเอฟเฟกต์ของการเบลอฉากหลังเป็นรูปร่างต่างๆ และยังสามารถเลือกรูปแบบการจัดแสงให้แก่ใบหน้าตัวแบบได้อีกด้วย
มาพร้อมกับโหมดถ่ายภาพแบบ Square สำหรับปรับสัดส่วนของภาพถ่ายให้เหมาะสมกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เน้นการแชร์ภาพ รวมถึงโหมดถ่ายภาพแบบ Panorama สำหรับเก็บภาพวิวทิวทัศน์ในมุมกว้าง
รวมทั้งยังมาพร้อมกับโหมด Manual ที่ผู้ใช้สามารถปรับแต่งการตั้งค่าต่างๆ ของกล้องถ่ายภาพได้ด้วยตนเอง ไล่ตั้งแต่ การปรับสมดุลแสงสีขาว (White Balance), ปรับระยะโฟกัส, ปรับความเร็วชัตเตอร์ (Speed Shutter) ได้ตั้งแต่ 1/1000 วินาที ไปจนถึง 32 วินาที และปรับค่าความไวแสง (ISO) ได้ตั้งแต่ ISO 100 ไปจนถึง ISO 3200
ด้านการถ่ายภาพวิดีโอ รองรับการบันทึกภาพที่ความละเอียดคมชัดสูงสุดระดับ 4K Ultra HD @ 30fps และสามารถถ่ายวิดีโอแบบ 60fps ได้ที่ระดับ Full HD 1080p
และมาพร้อมกับโหมดถ่ายภาพวิดีโอเป็นระยะเวลาสั้นๆ แบบ Short Video เพื่อเน้นการแชร์ต่อในโลกออนไลน์
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้อง Leica Triple Camera ที่ด้านหลังตัวเครื่อง ความละเอียดระดับ 12+5 ล้านพิกเซล ของ Xiaomi Mi 8 Lite
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยโหมดถ่ายภาพปกติ พร้อมเปิดใช้งานฟังก์ชัน AI Scene Detection
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยโหมดถ่ายภาพปกติ พร้อมเปิดใช้งานฟังก์ชัน AI Scene Detection
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยโหมดถ่ายภาพปกติ พร้อมเปิดใช้งานฟังก์ชัน AI Scene Detection
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยโหมดถ่ายภาพปกติ พร้อมเปิดใช้งานฟังก์ชัน AI Scene Detection
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยโหมดถ่ายภาพปกติ พร้อมเปิดใช้งานฟังก์ชัน AI Scene Detection
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยโหมดถ่ายภาพปกติ พร้อมเปิดใช้งานฟังก์ชัน AI Scene Detection
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยโหมดถ่ายภาพปกติ พร้อมเปิดใช้งานฟังก์ชัน AI Scene Detection
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยโหมดถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ (Portrait)
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยโหมดถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ (Portrait)
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยโหมดถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ (Portrait)
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยโหมดถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ (Portrait)
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยโหมดถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ (Portrait)
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องดิจิทัลด้านหน้าของตัวเครื่อง ความละเอียด 24 ล้านพิกเซลของ Xiaomi Mi 8 Lite
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยโหมดถ่ายภาพปกติ
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยโหมดถ่ายภาพปกติ พร้อมเปิดฟังก์ชัน Beauty และ AI Makeup
ตัวอย่างภาพในสภาวะแสงน้อยที่ถ่ายด้วยโหมดถ่ายภาพปกติ
ตัวอย่างภาพในสภาวะแสงน้อยที่ถ่ายด้วยโหมดถ่ายภาพปกติ พร้อมเปิดฟังก์ชัน Beauty และ AI Makeup
ตัวอย่างภาพในสภาวะแสงน้อยที่ถ่ายด้วยโหมดถ่ายภาพปกติ พร้อมเปิดฟังก์ชัน Screen Flash
สรุปผลการทดสอบของ Xiaomi Mi 8 Lite
จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ สำหรับการรีวิว Xiaomi Mi 8 Lite ซึ่งสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ถือว่ามีการยกฟีเจอร์เด่นจากรุ่นพี่อย่าง Xiaomi Mi 8 และ Mi 8 Pro มาใส่ไว้ค่อนข้างครบถ้วนเลยทีเดียว เริ่มตั้งแต่ หน้าจอแสดงผล Full Screen แบบมีรอยบาก ขนาด 6.26 นิ้ว ความละเอียดคมชัดระดับ Full HD+ ที่มีอัตราส่วนในการแสดงผลแบบ 19:9 ทำให้การรับชมคอนเทนต์ต่างๆ เต็มตายิ่งกว่าเดิม, ระบบปลดล็อกด้วยใบหน้าแบบ AI Face Unlock ที่ช่วยให้การเข้าใช้งานตัวเครื่องสะดวกมากยิ่งขึ้น และยังมาพร้อมกับระบบสแกนลายนิ้วมือที่ด้านหลังตัวเครื่องเพื่อความปลอดภัยที่เหนือขึ้นอีกระดับ บนบอดี้กระจกขอบโค้ง 2.5D ผิวสัมผัสเงางาม สามารถสะท้อนเล่นกับแสงได้ตามมุมที่ตกกระทบ และมีตัวเลือกสี Aurora Blue ที่มาพร้อมกับฝาหลังแบบไล่เฉดสีตามสมัยนิยม
ทางด้านประสิทธิภาพแม้อาจจะไม่ได้ใช้ชิปตัวท็อปสุดแห่งปีเหมือนกับ Xiaomi Mi 8 และ Mi 8 Pro แตสำหรับสเปกที่ทาง Xiaomi จัดวางมาให้บน Mi 8 Lite ก็ถือว่ามีความเร็วแรงตอบโจทย์การเล่นเกม และการใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไป ด้วยขุมพลังระดับกลางรุ่นยอดนิยมอย่าง Qualcomm Snapdragon 660 AIE แบบ Octa-Core Processor ผสานหน่ยประมวลผลกราฟิก Adreno 512 ประกบคู่การทำงานร่วมกับหน่วยความจำแรม (RAM) แบบ LPDDR4x ขนาดสูงสุด 6GB และหน่วยความจำภายในความจุสูงสุดที่ 128GB เพื่อให้เก็บข้อมูลอย่างจุใจเต็มที่ นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับแบตเตอรี่ขนาด 3350mAh ที่รองรับเทคโนโลยีชาร์จเร็ว Quick Charge 3.0
อีกหนึ่งจุดเด่นที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้นั่นก็คือกล้องถ่ายภาพ เนื่องจาก Xiaomi Mi 8 Lite มาพร้อมกับความโดดเด่นด้านกล้องหน้าความละเอียด 24 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์รับภาพ Sony IMX576 ที่มีลูกเล่นต่างๆ ให้เลือกใช้งานมากมาย ตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้สมัยใหม่ที่เน้นการแชร์ต่อเรื่องราวบนโลกโซเชียลมีเดีย เช่น AI Makeup ที่ช่วยปรับแต่งใบหน้าให้ออกมาสวยงามเป็นธรรมชาติ หรือ Screen Flash ฟังก์ชันสาดแสงแฟลชจากหน้าจอตามอุณหภูมิสีโดยรอบสำหรับช่วยถ่ายภาพเซลฟี่ในสภาวะแสงน้อย
ส่วนกล้องหลังก็จัดเต็มไม่แพ้กันด้วยระบบกล้องคู่ (Dual Camera) ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี AI Scene Detection ที่สามารถตรวจจับซีนต่างๆ ได้มากถึง 27 หมวดหมู่ ครอบคลุมการถ่ายภาพในทุกสถานการณ์ ซึ่งนับว่าเป็นฟังก์ชันที่เหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่ไม่คุ้นชินกับการปรับแต่งการตั้งค่ากล้อง หรือปรับแต่งสีสันด้วยตนเองมากนัก นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์ถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอผ่านโหมด Portrait และฟีเจอร์ปรับระดับความเบลอของฉากหลังแม้จะถ่ายภาพเสร็จสิ้นไปแล้วได้ และที่สำคัญกล้องหลังของ Xiaomi Mi 8 Lite ยังมีเทคโนโลยี Dual Pixel Autofocus ช่วยให้การจับโฟกัสภาพทำได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ใช้ไม่พลาดทุกโมเมนต์ความประทับใจ
มากไปกว่านั้น Xiaomi Mi 8 Lite ยังขับเคลื่อนการทำงานด้วยระบบปฏิบัติการ Android OS เวอร์ชัน 8.1 Oreo ครอบทับด้วย User Interface ที่ทาง Xiaomi พัฒนาขึ้นมาเองอย่าง MIUI 9.6 ที่สามารถอัปเดตเป็น MIUI 10 ได้ทันทีหลังจากเปิดเครื่อง ซึ่งจุดเด่นของ MIUI นอกเหนือจากหน้าตาที่ดูเรียบง่าย และลูกเล่นการใช้งานอันหลากหลายแล้ว UI ของ Xiaomi ยังขึ้นชื่อเรื่องการอัปเดตซอฟต์แวร์ และแพทซ์ความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ใช้มั่นใจได้ว่า ตัวเครื่องจะมีความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา และจะได้ใช้งานฟีเจอร์ใหม่ๆ ในอนาคตด้วยนั่นเอง
สำหรับ Xiaomi Mi 8 Lite มีให้เลือกทั้งหมด 2 เฉดสี ได้แก่ สีดำ Midnight Black และสีน้ำเงินไล่เฉด Aurora Blue โดยโมเดลที่นำเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทยมีทั้งหมด 2 รุ่นย่อยด้วยกัน ได้แก่ รุ่น RAM 4GB + ROM 64GB ในราคา 7,990 บาท และรุ่น RAM 6GB + ROM 128GB ในราคา 9,990 บาท ซึ่งนับเป็นราคาที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับคุณสมบัติ และความสามารถที่มีมาให้ โดยเริ่มวางจำหน่ายแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่งสำหรับใครที่สนใจก็สามารถแวะเวียนไปทดลองใช้งาน และหาซื้อ Xiaomi Mi 8 Lite ได้ที่ Mi Store, ร้านค้าออนไลน์ และร้านค้าตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศนะครับ
สุดท้ายนี้ ก็ต้องขอขอบคุณทาง Xiaomi ประเทศไทย ที่ให้ความไว้วางใจส่งเครื่อง Xiaomi Mi 8 Lite มาให้ทางทีมงานได้ทำการรีวิวให้ท่านผู้อ่านได้รับชมกัน สำหรับวันนี้ต้องขอลาไปก่อน แล้วพบกันได้ใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีครับ
จุดเด่นของ Xiaomi Mi 8 Lite
- ตัวเครื่องผลิตด้วยวัสดุประเภทโลหะ ผสานกระจกขอบโค้งแบบ 2.5D Glass พร้อมกระบวนการขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวกันแบบ Unibody
- เทคนิคการผสมเฉดสีหลายชั้นแบบ NCVM Color Processing ช่วยให้ตัวเครื่องมีสีสันไล่เฉดเงางาม (เฉพาะสี Aurora Blue)
- จอแสดงผลแบบ IPS LCD Full Screen ความละเอียดระดับ Full HD+ พิกเซล (2280x1080 พิกเซล) ขนาด 6.26 นิ้ว พร้อมครอบทับด้วยกระจก Corning Gorilla Glass 5
- หน่วยประมวลผลภาพกราฟิกโดยเฉพาะ (GPU : Graphics Processing Unit) แบบ Adreno 512
- ฟังก์ชัน Game Space สำหรับจัดสรรทรัพยากรภายในตัวเครื่อง เพื่อช่วยให้การเล่นเกมเป็นไปอย่างลื่นไหล
- ฟังก์ชัน Dual Apps สำหรับใช้งานแอปพลิเคชันได้แบบ 2 แอคเคานท์
- ประมวลผลการทำงานด้วยชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon 660 AIE
แบบ Octa-Core Processor
- ขับเคลื่อนการทำงานด้วยระบบปฏิบัติการ Android 9.0 Pie ครอบทับด้วย MIUI 9.6 ที่สามารถอัปเดตเป็น MIUI 10 เวอร์ชันล่าสุดได้
- หน่วยความจำภายในสำหรับเก็บบันทึกข้อมูลขนาดสูงสุด 128GB (เฉพาะรุ่น RAM 6GB) พร้อมรองรับการเพิ่มหน่วยความจำเสริมภายนอกแบบ microSD Card ความจุสูงสุด 256GB
- หน่วยความจำ RAM แบบ LPDDR4X ขนาดสูงสุด 6GB
- กล้องหน้าความละเอียด 24 ล้านพิกเซล, เซ็นเซอร์รับภาพ Sony IMX576, เม็ดพิกเซล 1.8 ไมครอน พร้อมเทคโนโลยี 4-in-1 Super Pixel
- กล้องดิจิทัลด้านหลังแบบคู่ (Dual Camera) ความละเอียด 12 + 5 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์รับภาพ Sony IMX363 + Samsung S5K5E8, เม็ดพิกเซล 1.4 + 1.12 ไมครอน, รูรับแสงกว้างสูงสุดที่ f/1.9 พร้อมเทคโนโลยีโฟกัสภาพอัตโนมัติแบบ Dual Pixel และเทคโนโลยี AI Scene Detection
- รองรับการถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอผ่านโหมด Portrait พร้อมฟีเจอร์ปรับเอฟเฟกต์โบเก้ และฟีเจอร์จัดแสงให้แก่ตัวแบบ
-
รองรับการถ่ายวิดีโอที่ความละเอียดสูงสุดระดับ 4K Ultra HD
- รองรับการใช้งานได้พร้อมกัน 2 ซิมการ์ด (Dual SIM)
- รองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านทางระบบ 4G LTE, 3G, WiFi, EDGE และ GPRS
- รองรับการสแตนด์บายบนเครือข่าย 4G LTE ได้พร้อมกันทั้ง 2 ซิมการ์ด (Dual 4G)
- ระบบปลดล็อกด้วยใบหน้าแบบ AI Face Unlock
- ระบบสแกนลายนิ้วมือที่อยู่ด้านหลังของตัวเครื่อง
- พอร์ตเชื่อมต่อแบบ USB Type-C รองรับการเสียบสายเชื่อมต่อได้ทั้งสองด้าน
- ชนิดแบตเตอรี่แบบ Li-Polymer ขนาด 3350 mAh พร้อมรองรับเทคโนโลยีชาร์จเร็วแบบ Quick Charge 3.0
- ราคาวางจำหน่ายเริ่มต้นที่ 7,990 บาท
จุดที่อาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมของ Xiaomi Mi 8 Lite
- การแสดงผลแบบเต็มหน้าจอ Full Screen ในอัตราส่วนแบบ 19:9 ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ 100% เช่นการเปิดดู YouTube, การเปิดดูคลิปวิดีโอ, การเล่นเกม หรืออื่นๆ
- วัสดุที่ใช้ผลิตตัวเครื่องด้านหลังมีความมันวาว จึงอาจทำให้เกิดคราบรอยนิ้วมือได้ง่าย
- ไม่มีช่องเสียบหูฟังมาตรฐานขนาด 3.5 มม. แต่ภายในกล่องบรรจุภัณฑ์มีการแถมอแดปเตอร์แปลงพอร์ต USB Type-C เป็น 3.5 mm. Audio Jack มาให้
- ภายในกล่องบรรจุภัณฑ์ไม่ได้มีการแถมอแดปเตอร์ที่รองรับเทคโนโลยีชาร์จเร็วแบบ Quick Charge 3.0 มาให้
- มีให้เลือกเพียง 2 เฉดสี คือ สีดำ Midnight Black และสีน้ำเงินไล่เฉด Aurora Blue
โปรดทราบ
* โทรศัพท์มือถือที่ท่านเห็นในบทความรีวิวนี้เป็นเพียงเครื่องทดสอบจากทางศูนย์ เพราะฉะนั้นคุณสมบัติบางอย่างอาจมีความแตกต่างจากเครื่องที่วางจำหน่ายจริงบ้างไม่มากก็น้อย รวมถึงจุดด้อยบางประการที่พบในเครื่องทดสอบ อาจจะถูกแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นในเครื่องที่วางจำหน่ายจริง ดังนั้นหากท่านสนใจซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ ควรตรวจสอบหรือทดลองใช้งานสินค้าด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง *
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Xiaomi Mi 8 Lite
- เปิดตัว Xiaomi Mi 8 Lite และ Mi 8 Pro พร้อมประกาศราคา และวันวางจำหน่ายในไทยอย่างเป็นทางการ
- สรุปคุณสมบัติ (สเปก) โดยละเอียดของ Xiaomi Mi 8 Lite รุ่น RAM 4GB + ROM 64GB
- สรุปคุณสมบัติ (สเปก) โดยละเอียดของ Xiaomi Mi 8 Lite รุ่น RAM 6GB + ROM 128GB
วันที่ : 12/12/2018