รีวิว Samsung Galaxy Buds3 หูฟังไร้สาย Galaxy AI รุ่นแรก บนดีไซน์ใหม่หมดจด พร้อมอัปเกรดคุณภาพเสียง สนทนาดีเยี่ยม แบตอึด ใส่สบายหู ในราคาเอื้อมถึง
สำหรับหูฟังไร้สายเรือธงใหม่ล่าสุดของ Samsung อย่าง Galaxy Buds3 และ Galaxy Buds3 Pro ที่เพิ่งเปิดตัวไปพร้อมกับ Galaxy Z Fold6, Galaxy Z Flip6, Galaxy Watch Ultra, Galaxy Watch7 และ Galaxy Ring นั้นเรียกว่าเป็นหูฟังที่ทีมงานของเราเฝ้ารอที่จะได้นำมาลองใช้งานอย่างจริงจังสักครั้ง ด้วยการที่มันได้รับการพัฒนาในแทบทุกด้านหลังจากที่ห่างหายไปนานกว่า 3 ปีนับจากรุ่นที่แล้วอย่าง Galaxy Buds2 ตั้งแต่การมาพร้อมกับความล้ำของ Galaxy AI เป็นรุ่นแรก, ดีไซน์ภายนอกที่พลิกโฉมเปลี่ยนมาเป็นแบบ Blade Design, เคสชาร์จแบบใหม่, รองรับคุณภาพเสียงในระดับ Hi-Fi, เสียงสนทนาที่ดีขึ้น และอีกมากมาย ซึ่งในที่สุดตอนนี้ Galaxy Buds3 รุ่นเริ่มต้นที่มีราคาจับต้องได้ง่ายกว่าที่หลายคนกำลังถามถึงก็มาอยู่ในมือของเราแล้ว และเดี่ยวเราจะมาหาคำตอบกันว่า Galaxy Buds3 รุ่นนี้มีดีอะไร ตอบโจทย์การใช้งานในระดับไหน เหมาะสำหรับใคร ไปติดตามกันได้เลยครับ
ดีไซน์ใหม่หมดจดแบบ All New Blade Design ที่พรีเมียมขึ้น พร้อมการออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์
จุดดึงดูดอย่างแรกของ Galaxy Buds3 ก็คือเรื่องของดีไซน์ภายนอกที่พลิกโฉมจาก Galaxy Buds2 ไปแบบไม่เหลือเค้าเดิม จากดีไซน์ที่เน้นความเรียบง่ายสไตล์ Minimal พอมาใน Galaxy Buds3 ก็ปรับมานำเสนอรูปลักษณ์ใหม่หมดจดที่มีความพรีเมียมทันสมัยมากขึ้นอย่างชัดเจน ด้วยดีไซน์แบบ All New Blade Design
โดยเคสชาร์จนั้นมาในรูปทรงโค้งมนรอบตัว พร้อมเสริมความมีเหลี่ยมมุมด้วยการตัดหัวตัดท้ายเล็กน้อย เพื่อให้ดูทันสมัยสะดุดตา รวมทั้งเพื่อให้สามารถวางตั้งได้ง่าย ส่วนฝาปิดนั้นเป็นฝาแบบโปร่งใสเพื่อโชว์ความสวยงามของหูฟังด้านใน
แต่ถ้าเป็น Galaxy Buds3 สีเงิน (Silver) ฝานี้จะเป็นแบบรมดำแทน ซึ่งก็ดูสวยไปอีกแบบ
ด้านความประณีตของชิ้นงานก็ถือว่าดีเยี่ยม สามารถเก็บรายละเอียดทุกส่วนได้อย่างสมบูรณ์ กลไกการเปิด-ปิดฝา หรือส่วนของบานพับมีความแน่นหนาแข็งแรง และแม่เหล็กก็มีแรงดูดที่ดี ส่วนลักษณะพื้นผิวของเคสชาร์จ หากเป็นสีขาว (White) แบบที่เรากำลังรีวิวอยู่นี้ ก็จะมีลักษณะพื้นผิวที่มันวาว สัมผัสแล้วลื่นมือ แต่หากเป็นสีเงิน (Silver) ก็จะมีพื้นผิวแบบด้านซึ่งให้สัมผัสที่ดีไปอีกแบบ
ที่ด้านหน้าตรงกลางของเคสชาร์จจะมีไฟ LED ทรงกลมขนาดเล็ก สำหรับแสดงสถานะการทำงาน
ส่วนที่ด้านล่างจะมีพอร์ต USB-C สำหรับการชาร์จแบตเตอรี่ และปุ่มจับคู่อุปกรณ์ (Pairing Botton)
ด้วยการออกแบบที่เปลี่ยนไป ลักษณะของการเปิดฝา จากเดิมที่ใช้การเปิดฝาในแนวนอนคล้ายกับการเปิดตลับแป้ง ก็เปลี่ยนมาเป็นการเปิดฝาในแนวตั้งแทน
เมื่อเปิดฝาออกมาก็จะสังเกตได้ว่าที่ตัวเคสชาร์จจะมีสัญลักษณ์ขีดสีฟ้า กับขีดสีส้ม สำหรับช่วยให้ผู้ใช้แยกแยะได้ง่ายว่าหูฟังแต่ละอันเป็นหูฟังด้านไหน เพราะที่ปลายก้านของหูฟังก็จะมีขีดสีฟ้า (ด้านซ้าย) กับขีดสีส้ม (ด้านขวา) ด้วยเช่นกัน
ในส่วนของตัวหูฟังนั้นก็มีดีไซน์ที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนเช่นกัน จากเดิมที่มีลักษณะดูกลมเป็นก้อน พอมาใน Galaxy Buds3 ก็ถูกปรับใหม่ให้กลายเป็นหูฟังแบบมีก้านแทน โดยส่วนของก้านนั้นมีรูปทรงเหลี่ยมคล้ายใบมีด ตามคอนเซ็ปต์ของ Blade Design ซึ่งการที่มีก้านหูฟังเพิ่มเข้ามาก็แน่นอนว่าจะมีทั้งคนที่ชอบ และไม่ชอบ แต่ที่สำคัญกว่าคือมันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานได้ เพราะจะทำให้ไมโครโฟนมาอยู่ใกล้กับปากของเรามากขึ้น ซึ่งส่งผลให้สามารถรับเสียงพูดของเราได้ดีขึ้นตามไปด้วย
ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการดีไซน์แบบมีก้านก็คือจะช่วยให้เราสามารถหยิบจับได้ถนัดมือมากขึ้น รวมทั้งสามารถสั่งงานฟังก์ชันต่าง ๆ ด้วยการปัดนิ้ว หรือการบีบได้สะดวกกว่า
สำหรับ Galaxy Buds3 นี้เป็นหูฟังแบบ Earbuds ซึ่งได้ถูกออกแบบมาตามหลักสรีรศาสตร์ที่เน้นความเบาสบายขณะสวมใส่ โดยอาศัยข้อมูลแบบ 3 มิติของหูมนุษย์ ที่รวบรวมจากเครื่องมือออกแบบเชิงคำนวณเพื่อตรวจสอบความเหมาะสมในการสวมใส่ รวมทั้งช่วยปรับปรุงเรื่องเสียง และลดแรงกดในช่องหู ซึ่งเมื่อสวมใส่แล้วหูฟังจะมีรูปทรง หรือองศาที่พอดีกับช่องเหนือรูหู โดยทาง Samsung เรียกว่าเป็นหูฟังแบบเปิด (Open Type) เรียกว่าหูฟังแบบนี้แม้จะใส่ไว้ทั้งวันก็ไม่รู้สึกอึดอัด อย่างไรก็ดีใช่ว่าจะเข้ากันได้พอดีกับสรีระหูของทุกคน อย่างตัวผู้เขียนเองใส่แล้วยังรู้สึกหลวมไปสักนิดแม้จะมีก้านมาช่วยถ่วงน้ำหนักก็ตาม ต้องหมั่นคอยขยับให้เข้าที่อยู่บ่อยครั้ง เช่นเมื่อเรามีการเคลื่อนไหวศีรษะเยอะ ๆ หรือต้องสัมผัสสั่งงานที่ก้าน ดังนั้นเพื่อความแน่ใจ แนะนำให้ไปลองสวมใส่จริงดูก่อนว่าเข้ากันได้กับสรีระหูของเราหรือไม่ หรือเหมาะกับสไตล์การใช้งานในชีวิตประจำวันของเราแค่ไหน
ลำโพงใหม่ขนาด 11 มิลลิเมตร พร้อมเสียงคุณภาพสูงระดับ Hi-Fi 24bit
ต่อมาก็จะขอเล่าถึงเรื่องคุณภาพเสียงของ Galaxy Buds3 กันบ้าง โดยในด้านฮาร์ดแวร์ของ Galaxy Buds3 นั้นมาพร้อมกับลำโพงแบบ 1-Way ที่มีไดรเวอร์แบบ Dynamic ขนาด 11 มิลลิเมตร กับ 1.5x Amp-Enhanced Diaphragm อยู่ภายใน
นอกจากนี้ยังรองรับเสียงคุณภาพสูงระดับ 24bit Hi-Fi Ultra High Quality Audio (24bit/96kHz) ที่มี Codec ชั้นดีอย่าง Samsung Seamless Codec ทำงานอยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะทำการบีบอัด/เข้ารหัสเสียงแบบ 24bit/96kHz จากนั้นตัวหูฟัง Galaxy Buds3 ก็จะทำการถอดรหัสเสียงที่ถูกบีบอัดนี้อีกครั้ง โดยยังสามารถรักษาเสียงให้มีคุณภาพสูงในระดับ 24bit/96kHz เอาไว้ได้ราวกับเสียงต้นทาง
ซึ่งสไตล์ของเสียงที่ออกมาจากลำโพงหูฟัง Galaxy Buds3 นั้น แม้จะเป็นหูฟังแบบ Open Type หรือ Earbuds แต่ก็มีพลังของเสียงเบส หรือเสียงความถี่ต่ำที่หนักแน่น มีความทุ้มนุ่มลึกกว่าหูฟังแนว Earbuds อีกหลาย ๆ รุ่น แน่นอนว่าอาจจะไม่กระแทกหนักหน่วงเท่ากับหูฟังแบบ In-Ear แต่ก็สามารถสร้างความเร้าใจได้มากแล้ว ส่วนเสียงในย่านความถี่กลางก็สามารถส่งผ่านรายละเอียดออกมาได้อย่างดีเยี่ยม อย่างไรก็ดี เสียงในย่านความถี่สูง หรือเสียงแหลมอาจจะไม่ได้โดดเด่นมากนัก ด้วยการที่ไดรเวอร์แบบ Dynamic ทำงานอยู่เพียงตัวเดียว แต่ก็ถือว่าให้รายละเอียดได้ครบถ้วน อีกทั้งยังมีมิติเสียง หรือเวทีเสียงที่กว้างใช้ได้ รวม ๆ แล้วสไตล์เสียงน่าจะสร้างความประทับใจให้กับคนส่วนใหญ่ที่ต้องการอรรถรสจากการเสพคอนเทนต์ทั่วไปได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นดูหนัง, ฟังเพลง หรือเล่นเกม แต่สำหรับนักฟังที่จริงจังขึ้นมาอีกขั้น หรือบรรดานักฟังหูทอง ก็อาจจะยังรู้สึกว่ามีองค์ประกอบของเสียง หรือความกลมกล่อมบางอย่างที่ขาดหายไปก็เป็นได้
เรื่องความหน่วงของเสียง เท่าที่ได้ใช้งานมาก็ไม่พบกับปัญหาในเรื่องนี้แต่อย่างใด ไม่รู้สึกถึงการดีเลย์แม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการชมภาพยนตร์ผ่านแอปสตรีมมิงต่าง ๆ, การดูคลิปบน YouTube หรือการเล่นเกม
แต่หากเกมเมอร์คนไหนที่คิดว่าจังหวะเสียงต้อง 100% ก็สามารถเข้าไปเปิดโหมดเกมในส่วนของการตั้งค่าเสียงได้ เพียงแต่คุณภาพเสียงก็จะถูกลดทอนลงมาเล็กน้อย
แต่สิ่งที่ต้องรู้ก็คือ ในขณะนี้เสียงแบบ Ultra High Quality Audio ที่มีคุณภาพระดับ 24bit/96kHz นั้นรองรับการใช้งานร่วมกับสมาร์ตโฟน Samsung บางรุ่นเท่านั้น ได้แก่ Galaxy S24 Series, Galaxy S23 Series, Galaxy Z Fold6, Galaxy Z Flip6, Galaxy Z Fold5 และ Galaxy Tab S9 Series ที่มาพร้อมกับ One UI 6.1.1 หรือใหม่กว่า แต่ในอนาคตก็อาจจะมีรุ่นอื่น ๆ รองรับเพิ่มเติม
ครั้งแรกของ Galaxy AI ในหูฟัง พลังอัจฉริยะที่ช่วยยกระดับคุณภาพเสียง และทะลายกำแพงภาษา
ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ปี 2024 จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ในปีนี้ของ Samsung นั้นให้ความสำคัญกับเรื่อง AI มากเป็นพิเศษเพื่อให้ทันยุคไม่ตกเทรนด์ภายใต้ชื่อว่า Galaxy AI ซึ่งแน่นอนว่าหูฟัง Galaxy Buds3 ตัวนี้ก็มีความสามารถของ Galaxy AI ติดตัวมาด้วยเช่นกัน ซึ่งที่น่าสนใจก็คือฟีเจอร์เกี่ยวกับการปรับแต่งเสียงแบบอัจฉริยะ และการแปลภาษา
สำหรับการปรับแต่งเสียงอัจฉริยะ Galaxy AI นั้นจะเข้ามาช่วยวิเคราะห์รูปร่างของหู กับพฤติกรรมการสวมใส่ของผู้ใช้แต่ละคน โดยอาศัยเสียงที่ตรวจจับได้ผ่านไมโครโฟนด้านใน และด้านนอกแบบเรียบไทม์ ผ่านฟีเจอร์ Adaptive Equalizer กับ Adaptive ANC เพื่อปรับเสียง หรือตัดเสียงส่วนเกินออกให้เหมาะสมกับการใช้งานของคนนั้น ๆ มากที่สุดได้อย่างแม่นยำโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยให้เสียงจากคอนเทนต์ต่าง ๆ ฟังดูแล้วมีความไพเราะมากขึ้น
ที่น่าสนใจต่อมาคือการแปลภาษา (Interpreter) ซึ่งมีให้เลือกใช้งานอยู่ 2 โหมดคือโหมดการรับฟัง (Listening Mode) และโหมดบทสนทนา (Converstion Mode) เช่นหากเรากำลังนั่งฟังการบรรยายในห้องประชุมเป็นภาษาต่างประเทศที่เราฟังไม่เข้าใจ เราก็เพียงแค่เปิดแอปพลิเคชัน Interpreter ขึ้นมา แล้วบีบก้านของ Galaxy Buds3 ค้างไว้เพื่อเริ่มใช้ Listening Mode เราก็จะได้ยินเสียงการแปลภาษาแบบต่อเนื่องไปพร้อม ๆ กันกับที่ผู้บรรยายกำลังพูด
หรือในอีกกรณีหนึ่งหากเราต้องการสนทนากับชาวต่างชาติสักคนแต่เราไม่รู้ภาษานั้น เราก็สามารถใช้งาน Conversation Mode ช่วยให้รอดชีวิตได้ ด้วยการหันไมโครโฟนของโทรศัพท์เข้าหาลำโพง แล้วใช้นิ้วกดที่ก้านของ Galaxy Buds3 สั้น ๆ แล้วฟังการแปลบทสนทนาของชาวต่างชาติคนนั้นแบบเรียลไทม์ เพียงเท่านี้เราก็จะไม่มีปัญหาเรื่องกำแพงภาษาอีกต่อไป ไปส่วนไหนของโลกก็คุยกับทุกคนได้รู้เรื่อง
อย่างไรก็ดีฟีเจอร์แปลภาษานี้ เบื้องหลังการประมวลผลที่แท้จริงนั้นอยู่ในฝั่งของสมาร์ตโฟนที่มาเชื่อมต่อกับ Galaxy Buds3 เท่านั้น ในฝั่งของหูฟังเป็นเพียงแค่ช่องทางที่นำเสียงที่ผ่านการประมวลผลมาให้เราได้ยิน และนำเสียงพูดของเราเข้าไปประมวลผล ตัวหูฟัง Galaxy Buds3 ไม่ได้มีฟีเจอร์ Interpreter ในตัวแต่อย่างใด และสมาร์ตโฟนที่นำมาเชื่อมต่อต้องเป็นรุ่นที่รองรับฟีเจอร์แปลภาษาด้วย AI ด้วยเช่นกัน
อีกอย่างที่น่าสนใจก็คือฟีเจอร์สั่งงานด้วยเสียง (Voice Command) ที่รองรับคำสั่งพื้นฐานที่ใช้งานบ่อย ๆ ได้ครบถ้วน ได้แก่หยุด-เล่นเพลง (Stop/Play Music), เพิ่ม-ลดเสียง (Volume Up/Down), เล่นเพลงก่อนหน้า-เล่นเพลงถัดไป (Previous/Next Song) และรับสาย-ปฏิเสธสาย (Answer/Reject Call) เพียงแต่เราต้องออกเสียงเป็นภาษาอังกฤษให้ถูกต้องตรงกับที่ระบบกำหนดไว้ตั้งแต่แรก
สนทนาคมชัด พร้อมตัดเสียงรบกวนด้วยไมโครโฟน 3 ตัว และ Voice Pickup Unit
นอกจากคุณภาพเสียงจากลำโพงที่พัฒนาขึ้นแล้ว ในด้านของไมโครโฟนก็ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นเช่นกัน ด้วยไมโครโฟนที่มีอยู่ด้วยกันถึง 3 ตัว ซึ่งทำหน้าที่ทั้งรับเสียง และตัดเสียงรบกวน รวมทั้งมีเซนเซอร์พิเศษที่พิเศษที่เรียกว่า Voice Pickup Unit (VPU) ที่จะทำหน้าที่แยกเสียงสนทนาออกจากเสียงรบกวนอื่น ๆ เพื่อให้เสียงสนทนามีความชัดเจนมากที่สุด และด้วยการที่หูฟัง Galaxy Buds3 มีก้านยืดออกมา จึงช่วยให้ไมโครโฟนเข้าใกล้ปากของเราได้มากขึ้น ส่งผลให้สามารถรับเสียงได้ดีขึ้น ซึ่งจากที่ได้ทดลองใช้งานก็รู้สึกได้ทันทีว่าเสียงสนทนามีความชัดเคลียร์กว่ารุ่นที่ผ่าน ๆ มา ถ้อยคำไม่ขาดหาย ให้คุณภาพที่ใกล้เคียงกับการสนทนาผ่านไมโครโฟนบนโทรศัพท์มือถือโดยตรงเลยทีเดียว
เสียงรอบทิศทางแบบ 360 องศา เพื่ออรรถรสที่สมจริงยิ่งกว่า
ขณะที่เรารับชมคอนเทนต์บางประเภท เราก็อาจจะต้องการมิติของเสียง หรือทิศทางของเสียงที่มากกว่าปกติที่อาจจะมีแค่เสียงด้านซ้าย-ด้านขวา โดยเฉพาะการชมภาพยนตร์, การชมคอนเสิร์ต หรือการเล่นเกม ซึ่งในหูฟัง Galaxy Buds3 นั้นรองรับการเปิดใช้งานระบบเสียงรอบทิศทางแบบ 360 องศา พร้อมรองรับฟีเจอร์ Direct Multi-Channel และฟีเจอร์ Head Tracking (ติดตามศีรษะ) ซึ่งระบบติดตามศีรษะนี้มีความพิเศษตรงที่มันสามารถระบุทิศทางที่แน่นอนของเสียงเมื่อเราเอียงศีรษะได้ เช่นเมื่อเราหันไปทางซ้าย เสียงทางซ้ายก็จะดังขึ้น ในขณะที่เสียงที่มาจากด้านหน้าก็จะเบาลง
ซึ่งจากการทดสอบก็พบว่าระบบเสียงรอบทิศทางแบบ 360 องศานี้อาจจะไม่ได้เหมาะกับคอนเทนต์ทุกบางประเภท เช่นการเปิดฟังเพลงทั่ว ๆ ไปที่ไม่ใช่คอนเสิร์ต เพราะไม่ได้เน้นเสียงรอบทิศทาง และดูเหมือนเสียงจะฟังดูแปลกหูไปสักนิด แต่ถ้าเป็นการชมภาพยนตร์ หรืออะไรที่เน้นทิศทางของเสียงมาก การเปิดระบบเสียงรอบทิศทางแบบ 360 องศาไว้ก็จะสามารถช่วยเพิ่มอรรถรสของการเสพคอนเทนต์นั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้เราก็ยังสามารถปรับสไตล์ของเสียงหูฟังได้ด้วยตัวเองผ่านทางอีควอไลเซอร์ (Equalizer) ซึ่งก็มีทั้งสไตล์สำเร็จรูปให้เลือกใช้ได้ง่าย ๆ หรือจะปรับระดับความถี่เสียงในแต่ละย่านเองก็ได้เช่นกัน รวมทั้งมีฟังก์ชันที่ช่วยให้เสียงสนทนาในภาพยนตร์ชัดเจนขึ้น และฟังก์ชันที่ช่วยปรับเสียงไม่ให้ดัง หรือเบาจนเกินไปเมื่อเปิดเล่นเสียงจากคอนเทนต์ต่าง ๆ
ควบคุมง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส พร้อมรองรับการสั่งงานด้วยเสียง
ด้วยการที่หูฟัง Galaxy Buds3 เปลี่ยนดีไซน์มาเป็นแบบ Blade Design ซึ่งมีก้าน วิธีการควบคุมการทำงานจึงเปลี่ยนไป แต่โดยรวมก็ช่วยให้สั่งงานได้สะดวกมากกว่าเดิม โดยหลัก ๆ จะมีอยู่ 2 ท่าทางคือการปัด (Swipe) ขึ้น-ลง เพื่อปรับระดับเสียง และการบีบ (Pinch) ได้แก่ บีบ 1 ครั้งเพื่อเล่น หรือหยุดเล่นชั่วคราว, บีบ 2 ครั้งเพื่อเปลี่ยนไปเล่นรายการถัดไป, บีบ 3 ครั้งเพื่อย้อนไปเล่นรายการก่อนหน้า และบีบค้างไว้เพื่อเปลี่ยนโหมดตัดเสียงรบกวน (Noise Cancellation) หรือเพื่อเปิดแอปพลิเคชันโปรดที่ตั้งค่าไว้
นอกจากนี้กรณีที่เราไม่สะดวกสั่งงานด้วยการสัมผัส เช่นขณะที่เรากำลังถือของอยู่เต็ม 2 มือ เราก็สามารถใช้การสั่งงานด้วยเสียง (Voice Command) แทนได้ดังที่ได้พูดถึงไปแล้วข้างต้น ทั้งการควบคุมการเล่นเสียงจากคอนเทนต์ต่าง ๆ และการโทร
สลับอุปกรณ์แบบไร้รอยต่อด้วย PC Auto Switch พร้อมแชร์เสียงแบบไร้ขีดจำกัดผ่าน Auracast
อีกฟีเจอร์ของ Galaxy Buds3 ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานจริงได้ดีก็คือ PC Auto Switch ที่จะทำการสลับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้โดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องพีซี, สมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต เช่นขณะที่เรากำลังนั่งดูภาพยนตร์อยู่บนเครื่องพีซีแล้วมีสายเรียกเข้ามาที่สมาร์ตโฟน ตัวหูฟัง Galaxy Buds3 ก็จะสลับไปเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนโดยอัตโนมัติเพื่อให้เรารับสาย และเริ่มสนทนาได้ทันที จากนั้นพอวางสายไป Galaxy Buds3 ก็จะกลับมาเชื่อมต่อกับเครื่องพีซีให้เหมือนเดิมอีกครั้งโดยที่เราไม่ต้องมาคอยสลับเองให้ยุ่งยากแต่อย่างใด
นอกจากนี้หูฟัง Galaxy Buds3 ยังสามารถรองรับเทคโนโลยี Auracast ได้ ซึ่ง Auracast ก็คือเทคโนโลยีที่ช่วยให้อุปกรณ์ต้นทาง เช่นทีวี, สมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต (ที่รองรับ Auracast) สามารถกระจายเสียง หรือแชร์เสียงไปยังอุปกรณ์อื่น ๆ ได้แบบไม่จำกัดจำนวน เช่นขณะที่เรากำลังเชียร์ฟุตบอลโลกนัดชิงชนะเลิศร่วมกับคนดูอีกนับร้อยนับพันในลานกว้าง ๆ ผ่านการถ่ายทอดสดบนจอทีวีที่อยู่ไกลจากเรามากจนไม่ได้ยินเสียง เราก็สามารถเลือกรับเสียงจากทีวี (หากทีวีเปิด Auracast) มายังหูฟัง Galaxy Buds3 ของเราได้ เพียงแต่เราจะต้องรู้รหัสผ่านของการแชร์เสียงจากเครื่องแม่ด้วยเท่านั้น
แบตเตอรี่อึดหายห่วงตลอดวัน พร้อมรองรับการชาร์จแบบไร้สาย
สุดท้ายเรื่องของแบตเตอรี่ ในด้านของหูฟังจะมาพร้อมกับแบตเตอรี่ความจุ 48mAh ส่วนเคสชาร์จจะมาพร้อมกับแบตเตอรี่ความจุ 515mAh ซึ่งตามข้อมูลคือมีระยะเวลาเล่นเพลงสูงสุด 6 ชั่วโมง หรือรวมเคสชาร์จด้วยได้สูงสุด 30 ชั่วโมง (ปิด ANC) และมีระยะเวลาสนทนาสูงสุด 4 ชั่วโมง หรือรวมเคสชาร์จด้วยได้สูงสุด 20 ชั่วโมง (ปิด ANC) ซึ่งจากที่มีโอกาสได้นำออกมาใช้งานในชีวิตประจำวันหลากหลายรูปแบบตามปกติ ทั้งดูหนัง, ฟังเพลง หรือโทรศัพท์ โดยเฉลี่ยแล้วระยะเวลาที่ใช้งานจริงนั้นมีความใกล้เคียงกับระยะเวลาที่ระบุไว้ นั่นคือแบตเตอรี่ค่อนข้างอึด เพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไป และหากต้องใช้งานต่อเนื่องทั้งวันก็ยังไหว เพียงแต่เราต้องพกเคสชาร์จเอาไว้ด้วย ซึ่งเราสามารถนำหูฟังที่แบตเตอรี่ใกล้หมดมาชาร์จในเคสได้อย่างน้อย 5-6 รอบเลยทีเดียว
ส่วนวิธีการชาร์จก็รองรับได้หลากหลาย ทั้งการชาร์จผ่านพอร์ต USB-C, การชาร์จแบบไร้สายผ่านแท่นชาร์จ และการชาร์จแบบไร้สายผ่านการแชร์จากสมาร์ตโฟน
สรุปประสบการณ์หลังใช้งาน Samsung Galaxy Buds3
หลังจากที่มีโอกาสได้ใช้งานหูฟังไร้สาย Galaxy Buds3 ตัวนี้มาพักใหญ่ ก็พอจะสรุปได้ว่า Galaxy Buds3 นั้นน่าจะเหมาะกับคนที่ชอบหูฟังที่ใส่แล้วเบาสบายไม่อึดอัด และไม่อยากตัดขาดจากโลกภายนอกมากเกินไป ด้วยการที่เป็นหูฟังแบบ Earbuds ซึ่งไม่ได้ตัดเสียงรอบข้างมากเท่ากับหูฟังแบบ In-Ear ที่มีจุกยางสอดเข้าไปในรูหู แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการสวมใส่ที่อาจจะไม่แน่นกระชับมากนัก โดยเฉพาะการใช้งานระหว่างทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวเยอะ ๆ เช่นการออกกำลังกาย เพราะต้องมาคอยขยับให้เข้าที่อยู่เป็นระยะ
ด้านดีไซน์ภายนอกทั้งตัวหูฟัง และเคสชาร์จ ก็ถือว่าสวยดูดีกว่าเดิมมาก และแตกต่างกับรุ่นเดิมชัดเจนด้วยการพลิกโฉมการออกแบบตัวหูฟังมาเป็นแบบ Blade Design และมีเคสชาร์จที่ดูพรีเมียมขึ้น รวมทั้งตัวหูฟังเองก็ใช้งานลุย ๆ ได้อย่างมั่นใจโดยไม่ต้องกังวลเรื่องอุบัติเหตุทางน้ำ
ต่อมาเรื่องคุณภาพเสียงสำหรับคอนเทนต์ประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะการดูหนัง, ฟังเพลง หรือเล่นเกม ด้วยการที่ใช้ไดรเวอร์แบบ Dynamic จำนวน 1 ตัว ความโดดเด่นของเสียงจึงค่อนไปทางย่านความถี่ต่ำ เช่นให้เสียงเบสที่มีพลังทุ้มนุ่มลึก รวมทั้งเสียงในย่านความถี่กลางก็มีรายละเอียดที่ดีเยี่ยม เพียงแต่เสียงในย่านความถี่สูง หรือเสียงแหลมอาจจะยังไม่เด่นมากนัก และเพื่อให้ได้รับคุณภาพเสียงอย่างเต็มที่ เราก็ต้องขยับหูฟังให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ตัวของ Galaxy Buds3 ก็ยังสามารถถอดรหัสไฟล์เสียงความละเอียดสูงแบบ 24bit/96kHz ได้ เพียงแต่จะต้องใช้งานร่วมสมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ตตัวท็อปของ Samsung บางรุ่นเท่านั้น
นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่น่าประทับใจใน Galaxy Buds3 ไม่ว่าจะเป็นการที่สามารถตัดเสียงรบกวนขณะสนทนาได้ดีขึ้น, ไมโครโฟนที่รับเสียงพูดได้ชัดเจนขึ้น, มี Galaxy AI ที่ช่วยปรับคุณภาพเสียงได้อย่างชาญฉลาด พร้อมรองรับฟีเจอร์แปลภาษา, สามารถตั้งค่าใช้งานได้หลากหลาย โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับสมาร์ตโฟนของ Samsung เอง, แบตเตอรี่ที่อึดทนเหลือเฟือสำหรับการใช้งานตลอดวันหากพกเคสชาร์จไปด้วย และการชาร์จแบตเตอรี่ที่รองรับทั้งแบบไร้สาย กับผ่านสาย
สรุปแล้ว Galaxy Buds3 ถือเป็นหูฟังเรือธงรุ่นเริ่มต้นที่ผ่านการพัฒนามาแทบทุกด้าน เป็นอีกตัวเลือกที่เหมาะสำหรับคนที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป ด้วยรูปลักษณ์ที่สวยพรีเมียม มีคุณภาพเสียงที่ดีเยี่ยมทั้งการใช้งานด้านความบันเทิง หรือการสนทนา มีฟีเจอร์ที่ครบครันสดใหม่ โดยเฉพาะความชาญฉลาดของ Galaxy AI และจะใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์ต่าง ๆ ได้เต็มที่มากขึ้นเมื่อจับคู่กับสมาร์ตโฟน Samsung ซึ่งหากความสามารถต่าง ๆ ทั้งหมดของ Galaxy Buds ที่เราได้รีวิวให้ชมกันไปข้างต้นตอบโจทย์การใช้งานของท่านได้แล้วก็นับว่าลงตัว แต่หากคิดว่าอยากไปให้สุดทางก็คงต้องยอมเพิ่มงบ แล้วหันไปพิจารณาเป็นรุ่นท็อปอย่าง Galaxy Buds3 Pro แทน สุดท้ายนี้ก็ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามชม พบกันได้ใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีครับ
ราคา และโปรโมชันของ Samsung Galaxy Buds3
สำหรับท่านใดที่สนใจจับจองเป็นเจ้าของ Samsung Galaxy Bud3 ก็จะมีให้เลือก 2 สี ได้แก่สีเงิน (Silver) และสีขาว (White) ในราคา 5,490 บาท สามารถหาซื้อได้ทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์ ที่ samsung.com, Samsung Experience Store และร้านค้าตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศไทย สำหรับโปรโมชัน หรือส่วนลดอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา หรือตัวแทนจำหน่ายแต่ละร้าน
เปรียบเทียบ Galaxy Buds3 กับ Galaxy Buds3 Pro ต่างกันอย่างไร รุ่นไหนเหมาะกับใคร
นอกจากหูฟังเรือธงรุ่นมาตรฐานอย่าง Galaxy Buds3 ที่เรารีวิวให้ชมกันไปแล้วข้างต้น ก็ยังมีอีกหนึ่งตัวเลือกที่เป็นหูฟังเรือธงรุ่นท็อปคือ Galaxy Buds3 Pro และแน่นอนว่ามีคุณสมบัติที่จัดเต็มขึ้นไปอีกขั้น แต่ด้วยราคาค่าตัวที่ 7,490 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่ารุ่นมาตรฐาน 2,000 บาท ดังนั้นเราจะมาเปรียบเทียบให้เห็นกันชัด ๆ ว่า Galaxy Buds3 Pro นั้นมีคุณสมบัติ หรือความสามารถอะไรที่เพิ่มขึ้นมาจาก Galaxy Buds3 บ้าง และรุ่นไหนจะเหมาะกับการใช้งาน หรืองบประมาณของแต่ละท่านมากกว่ากัน ตามข้อมูลด้านล่างนี้
จากข้อมูลเปรียบเทียบข้างต้นก็จะเห็นได้ว่าทั้ง Galaxy Buds3 และ Galaxy Buds3 Pro นั้นจะมีคุณสมบัติหลาย ๆ อย่างที่เหมือนกัน เพียงแต่ Galaxy Buds3 Pro นั้นจะมีความแตกต่างตรงที่ใช้ดีไซน์แบบ In-Ear ที่ใส่แล้วแน่นกระชับกว่าด้วยการที่มีจุกยางใส่เข้าไปในรูหู ในขณะที่ Galaxy Buds3 จะใช้ดีไซน์แบบ Earbuds หรือ Open ที่วางหูฟังปิดไว้เหนือรูหู นอกจากนี้ Galaxy Buds3 Pro จะมีความสามารถบางอย่างที่เพิ่มเข้ามา เช่นไฟ Blade Lights, ลำโพงแบบ Enhanced 2-Way พร้อม Dual Amplifiers, ระบบตัดเสียงรบกวนที่ดีกว่า, ระบบตรวจจับเสียงที่ดีกว่า และมีแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นานกว่า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่แพงกว่าด้วยเช่นกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วตัวมาตรฐานอย่าง Galaxy Buds3 ก็ถือว่าดีเหลือเฟือสำหรับการใช้งานทุกรูปแบบ และเหมาะสำหรับคนที่ชอบหูฟังประเภทที่ใส่แล้วเบาสบาย แต่หากใครต้องการหูฟังแบบที่ใส่แล้วแน่นกระชับ และต้องการสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาใน Galaxy Buds3 Pro การเพิ่มงบขึ้นไปอีกราว 2 พันบาท ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน
วันที่ : 07/09/2024