
สวัสดีครับ กลับมาพบทีมงาน Thaimobilecenter กับนานาสาระน่ารู้ และข่าวสารในวงการสมาร์ทโฟนกันอีกครั้งนะครับ ในปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่าสมาร์ทโฟนตัวท็อปหลายๆ รุ่นมักจะมาพร้อมกับหน่วยความจำภายใน (Flash Storage) ที่มีความจุค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่ระดับ 16GB ไปจนถึง 256GB ซึ่งถ้าหากว่ากันตามจริงแล้ว จำนวนความจุนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญลำดับรองลงมา ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดของเทคโนโลยี Flash Storage เพราะเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุด และส่งผลโดยตรงกับการใช้งานสมาร์ทโฟนก็คือ เทคโนโลยีการเขียน/อ่านข้อมูลของ Flash Storage รุ่นนั้นๆ วันนี้ทีมงาน Thaimobilecenter จึงจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ Flash Storage ให้มากขึ้นกันครับ
หน่วยความจำภายในคืออะไร?


หน่วยความจำภายใน หรือ Flash Storage ที่ใช้งานบนสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน คือพื้นที่เก็บข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แอปพลิเคชัน, รูปถ่าย, เพลง, วิดีโอ ฯลฯ (ในกรณีที่ไม่ใช้หน่วยความจำเสริมแบบ microSD Card) ซึ่งหน่วยความจำภายในนี้ก็จะมีความจุที่แตกต่างกันออกไปตั้งแต่ 16GB, 32GB, 64GB จนถึงระดับสูงสุดในขณะนี้ที่ 256GB และสำหรับความจุที่อาจเป็นปัจจัยสำคัญของผู้ใช้หลายๆ คนที่ต้องการพื้นที่เก็บข้อมูลได้เยอะ แต่เทคโนโลยีอีกสิ่งหนึ่งของหน่วยความจำภายในที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมด้วยก็คือ ความเร็วในการเขียน/อ่านข้อมูล ซึ่งในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีที่ใช้งานบนสมาร์ทโฟนเป็นหลักสามารถแบ่งออกได้เป็น eMMC และ UFS
รู้จักกับหน่วยความจำแบบ eMMC และ UFS

หน่วยความจำภายในที่ใช้งานกันบนสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในปัจจุบันแบบแรกคือ eMMC (Embedded Multimedia Card) ซึ่งเป็นฮาร์ดแวร์ขนาดเล็กที่ติดตั้งลงบน Mother Board ของสมาร์ทโฟนรุ่นนั้นๆ โดยผู้ใช้ไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้เหมือนกับ SD Card ทั่วไป เทคโนโลยีหน่วยความจำแบบ eMMC ที่ใช้งานกันในปัจจุบันเป็นเวอร์ชัน 5.1 ที่เปิดตัวล่าสุดในปี 2015 ซึ่งมีความเร็วในการอ่าน/เขียนข้อมูลประมาณ 250/125 MB/s
ขณะที่หน่วยความจำแบบ UFS (Universal Flash Storage) เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาแทนที่ eMMC และ SD Card โดยหน่วยความจำแบบ UFS ที่ช้งานบนสมาร์ทโฟนเป็นผลงานการพัฒนาของบริษัท JEDEC Solid State Technology Association โดยหน่วยความจำแบบ UFS ที่ใช้งานบนสมาร์ทโฟนเปิดตัวมาครั้งแรกในปี 2014 ในชื่อ UFS 2.0 โดยมีความเร็วในการอ่าน/เขียนข้อมูลประมาณ 350/150 MB/s และทาง JEDEC ก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวพร้อมเปิดตัวหน่วยความจำ UFS เวอร์ชันใหม่ในชื่อ UFS 2.1 เมื่อปี 2016 ที่มีความเร็วในการอ่านข้อมูลสูงกว่า 700-800 MB/s ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยความจำภายในที่สามารถอ่านข้อมูลได้เร็วที่สุดในขณะนี้
หน่วยความจำแบบ eMMC และ UFS แตกต่างกันอย่างไร?



อย่างที่กล่าวไปในหัวข้อที่แล้วว่าเทคโนโลยีหน่วยความจำแบบ UFS จะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาแทนที่ eMMC และ SD Card ในอนาคต เพราะหน่วยความจำแบบ UFS สามารถอ่าน/เขียนข้อมูลได้รวดเร็วกว่าแบบ eMMC หลายเท่า และที่สำคัญก็คือ หน่วยความจำแบบ eMMC จะต้องประมวลผลอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนเท่านั้น คือ ถ้าหากจะอ่านข้อมูลก็ต้องอ่านข้อมูลให้เสร็จก่อน จึงจะย้ายมาเขียนข้อมูลได้ แต่หน่วยความจำแบบ UFS สามารถอ่าน และเขียนข้อมูล หรือรับส่งข้อมูลได้พร้อมกันทั้งสองทางทันที อีกทั้งหน่วยความจำแบบ UFS ยังใช้พลังงานน้อยกว่าแบบ eMMC ทำให้ช่วยประหยัดการใช้แบตเตอรี่ในสมาร์ทโฟนไปได้พอสมควรด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม หน่วยความจำแบบ UFS 2.1 ยังมีให้ใช้งานบนสมาร์ทโฟนเรือธงบางรุ่นเท่านั้น และยังไม่ค่อยแพร่หลายเท่าที่ควร เพราะใช้ต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง และยังผลิตได้ในจำนวนจำกัด ทำให้แบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้งานหน่วยความจำแบบ eMMC 5.1 หรือ UFS 2.0 ก่อน โดยหน่วยความจำแบบ eMMC 5.1 มักพบในสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้น, สมาร์ทโฟนระดับกลาง และสมาร์ทโฟนเรือธงบางรุ่น ส่วนหน่วยความจำแบบ UFS 2.0 มักพบในสมาร์ทโฟนระดับ Mid-High หรือสมาร์ทโฟนเรือธงเป็นหลัก
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับข้อมูลของหน่วยความจำภายในรูปแบบต่างๆ ทั้ง eMMC 5.1, UFS 2.0 หรือ UFS 2.1 ซึ่งจะเห็นได้ว่าหน่วยความจำภายในแต่ละแบบนั้นก็มีประสิทธิภาพในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปค่อนข้างมากทีเดียว และความเร็วในการอ่าน หรือเขียนข้อมูลมักจะส่งผลโดยตรงถึงรูปแบบการใช้งานของผู้ใช้โดยตรง เช่น เวลาเปิดดูภาพถ่ายในเครื่องที่มีประมาณ 2,000 ภาพ หน่วยความจำแบบ eMMC และ UFS ก็จะโหลดรูปภาพได้ช้า/เร็วแตกต่างกันไป ซึ่งเป็นผลมาจากความเร็วในการอ่านข้อมูลนั่นเองครับ และสำหรับท่านที่อ่านบทความนี้จนจบแล้ว เวลาเลือกซื้อสมาร์ทโฟนครั้งหน้าก็อย่าเลือกดูแต่ความจุเพียงอย่างเดียว แต่ควรพิจารณาเรือเทคโนโลยีของหน่วยความจำประกอบด้วยนะครับ
นำเสนอ ทิป&ทริค น่ารู้สำหรับผู้ใช้มือถือ, สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต โดย : thaimobilecenter.com
วันที่ : 25/4/60
|