Nokia
6630 Imaging
Smartphone Focus
& Review
Nokia 6630 มือถือ Smartphone ที่ขับเคลื่อนการทำงานด้วยระบบปฏิบัติการใหม่ล่าสุด
Symbian OS เวอร์ชัน 8.0 ซึ่งอยู่ในกลุ่มของมือถือ
Nokia Series 60 ดูไปแล้ว ถือว่าเป็นรุ่นน้องที่พัฒนาต่อจาก
Nokia 6600 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
รูปร่างหน้าตาที่ดูดีขึ้น รวมถึงชิ้นงานกับวัสดุประกอบที่เก็บรายละเอียดได้ดีและมั่นคงแข็งแรงขึ้น
ซึ่งแต่เดิม Nokia 6600 มีฉายาที่นิยมเรียกกันในหมู่ผู้ใช้ว่า
"อ้วนดำ" ส่วนรุ่นน้องอย่าง Nokia
6630 นี้ ขอตั้งชื่อฉายาว่า "อ้วนลงพุง"
น่าจะเหมาะสมที่สุด เนื่องจากรูปร่างที่มีส่วนตัวเครื่องด้านล่างกว้างและใหญ่กว่าด้านบน
แต่ดูแล้วก็เป็นดีไซน์ที่หรูหราและสวยงามไม่น้อยเลยทีเดียว
ประสิทธิภาพและคุณสมบัติของ
Nokia 6630 นั้นนับว่าโดดเด่นขึ้นกว่ามือถือ
Symbian ของ Nokia รุ่นก่อนๆ มากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นกล้องดิจิตอลที่ถ่ายภาพได้คมชัดสวยงามมากขึ้น
ระบบปฏิบัติการที่ใหม่และทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
และที่สำคัญอีกอย่างคือการรองรับการใช้งานภาษาไทยอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงคุณสมบัติและฟังก์ชันการใช้งานอื่นๆ
ที่มากมาย แต่สิ่งเหล่านี้ก็มาพร้อมกับราคาเปิดตัวที่แพงเอาการ
(ประมาณ 23,300 บาท) ซึ่งผู้ที่กำลังสนใจรุ่นนี้อยู่คงจะต้องศึกษาข้อมูลของ
Nokia 6630 รุ่นนี้ให้ดีเสียก่อน เพราะฉะนั้นเราขอเชิญทุกท่านติดตามดูการทดสอบ
Review ของเรา เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจต่อไป
เริ่มเปิดกล่อง

กล่องที่ใส่อุปกรณ์ มีขนาดกระทัดรัด ไม่ได้ใหญ่อย่างที่คิดเอาไว้ในตอนแรก
ดีไซน์กล่องถือว่าสวยเนียนตา สีสันลวดลายดูเรียบหรู
และช่องใส่อุปกรณ์ภายในกล่องสามารถออกแบบตำแหน่งที่วางมาได้อย่างลงตัวดีเลยทีเดียว

ด้านข้างกล่องมีข้อมูลจำเพาะของตัวเครื่องแต่ละเครื่องติดอยู่ เช่นเลขรหัส
IMEI หรือ Serial Number
เมื่อแกะเปิดกล่องออกมา ภายในกล่องก็จะประกอบไปด้วย ตัวเครื่อง,
สาย Data Link (DKU-2), ที่ชาร์ทแบตเตอรี่
(ACP-12U), หูฟังแบบ Stereo (HS-3), แบตเตอรี่
Li-Ion 900 mAh (BL-5C), การ์ดหน่วยความจำแบบ
RS-MMC Card (Dual Voltage 1.8/3V), แผ่น
CD โปรแกรม PC-Suite, แผ่น CD โปรแกรม Professional
Dictionary, คู่มือการใช้งานภาษาไทย และ เอกสารแนะนำการใช้งานที่น่าสนใจอื่นๆ
 แบตเตอรี่ที่ให้มา เป็นแบบ Li-Ion ความจุ 900
mAh (BL-5C) ซึ่งจากการใช้งานค่อนข้างหนักอยู่ตลอดทั้งวัน
ปรากฏว่าแบตเตอรี่สามารถอยู่ได้นานประมาณ
1 วันครึ่ง ซึ่งก็ถือว่าเป็นระยะเวลาที่พอใช้ได้กับการใช้งานแบบหนักๆ
แต่ถ้าใช้งานค่อนข้างน้อย เน้น Stand-By เป็นส่วนมาก
ก็จะอยู่ได้ประมาณ 3 วันสบายๆ
 การ์ดหน่วยความจำที่สามารถนำมาใช้ได้กับ
Nokia 6630 นั้น จะต้องเป็นการ์ด RS-MMC แบบ
Dual Voltage (1.8/3V) เท่านั้น ซึ่งเป็นการ์ดหน่วยความจำที่พัฒนาขึ้นมาใหม่
เพื่อช่วยในการประหยัดพลังงานเป็นสำคัญ แต่ทว่าในขณะนี้ในท้องตลาดยังไม่มีการ์ดหน่วยความจำชนิดนี้วางขาย
เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ ผู้ใช้คงจะต้องใช้เท่ากับจำนวนที่แถมมาให้ในชุดขาย
คือขนาด 64 MB ไปพลางๆ ก่อน ซึ่งต้นปีหน้า
คาดว่าจะเริ่มมีหน่วยความจำประเภทนี้ออกวางจำหน่ายกันแล้ว
เมื่อแรกเห็นตัวเครื่อง
เมื่อได้เห็นและสัมผัสกับ Nokia 6630 ครั้งแรก ก็ต้องบอกว่าทำได้ดีกว่ามือถือ
Symbian ของ Nokia รุ่นก่อนๆ พอสมควร โดยเฉพาะเรื่องวัสดุและการประกอบในส่วนต่างๆ
ที่ดูแข็งแรงมั่นคงขึ้น ส่วนรูปร่างก็ไม่ได้ใหญ่อย่างที่คิดไว้ตั้งแต่แรก
โดยรวมมีขนาดที่กำลังดี ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป
รูปร่างหน้าตาก็ดูภูมิฐานหรูหรา ส่วนโค้งด้านล่างที่ดูเหมือนจะทำให้อ้วน
กลับกลายเป็นทำให้รูปร่างดูมีเอกลักษณ์มากขึ้น
ไม่ตรงแข็งทื่อจนเกินไป ดูแล้วก็พลอยให้นึกถึง
Nokia 3650 กับ 3660 และถ้าเทียบกับรุ่นพี่คือ
Nokia 6600 ก็จะเห็นการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว
นอกเหนือจากฉายา "อ้วนดำ" ของ Nokia
6600 ที่กลายเป็น "อ้วนลงพุง" ของ
Nokia 6630
ด้านหน้าของตัวเครื่อง กับความสูง
110 มิลลิเมตร และความกว้าง 60 มิลลิเมตร
ทำให้ดูแล้วตัวเครื่องจะมีลักษณะที่กว้างและใหญ่
แต่ก็คงจะเล็กไปกว่านี้ไม่ได้ เนื่องจากขนาดหน้าจอที่ต้องการความใหญ่นั่นเอง ส่วนแป้นกดด้านล่างที่โค้งออกมาเป็นวงกลมช่วยทำให้เครื่องดูไม่เรียบตรงเป็นแท่งจนเกินไปนัก
ซึ่งแนวการออกแบบนี้ดูจะออกไปคล้ายๆ กับ Nokia
3650 หรือ 3660 ก็ว่าได้
เมื่อพลิกมาดูที่ด้านหลังของตัวเครื่อง ก็จะไม่พบอะไรนอกจากเลนส์กล้องขนาดใหญ่
ความละเอียดสูง 1.3 ล้าน Pixels ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของ
Nokia 6630 ที่สำคัญอีกจุดหนึ่งเลยทีเดียว

เมื่อพลิกมาดูที่ด้านขวาของตัวเครื่อง จะพบกับปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง
ซึ่งในขณะที่เปิดเครื่องใช้งานอยู่ การกดปุ่มนี้จะเป็นทางลัดเข้าสู่การกำหนดรูปแบบการใช้งาน
(Profiles), ล็อคปุ่มกด รวมถึง ล็อคเครื่อง
ได้อย่างรวดเร็ว และส่วนถัดมาที่เห็นก็จะเป็นช่องสำหรับใส่การ์ดหน่วยความจำ
Dual Voltage RS-MMC Card
 เมื่อพลิกมาดูที่ด้านซ้ายของตัวเครื่อง
จะพบกับปุ่มที่มีสัญลักษณ์เหมือนคนพูดอยู่
ซึ่งปุ่มมีจะใช้สำหรับการใช้ Handsfree ขณะสนทนา
หรืออีกกรณีคือใช้สำหรับฟังก์ชันการสั่งงานด้วยเสียงในรูปแบบต่างๆ
และส่วนถัดมาที่เห็นก็จะเป็นรูสำหรับต่อกับสายชาร์จแบตเตอรี่

เมื่อพลิกมาดูที่ด้านบนของตัวเครื่อง ก็จะเห็นช่องลำโพงขนาดใหญ่สำหรับฟังเพลง
หรือเสียงเรียกเข้าจากตัวเครื่อง ซึ่งจากการทดลองฟังดูกับเพลงหลายแนว
ก็ถือว่าให้เสียงที่มีคุณภาพดีเลยทีเดียว
แม้ว่าจะด้อยกว่าการฟังจากชุดหูฟัง Stereo
ที่แถมมาให้ก็ตาม ส่วนจุดเล็กๆ ด้านบนขวา
จะเป็นเซนเซอร์รับแสง สำหรับการปรับความสว่างของหน้าจอ
และไฟ Backlight ของแผงปุ่มกดได้แบบอัตโนมัติ
ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยประหยัดพลังงานได้อีกทางหนึ่ง

เมื่อพลิกมาดูที่ด้านล่างของตัวเครื่อง ก็จะเห็นช่อง Pop-Port
ซึ่งเอาไว้สำหรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมต่างๆ
เช่น หูฟัง, สาย Data Link, แฟลชกล้องถ่ายรูป
และอื่นๆ
เริ่มใส่ SIM Card และแบตเตอรี่
การถอดฝาหลังของ Nokia 6630 นั้น คงต้องระวังกันให้มาก เพราะหากถอดไม่ถูกวิธีแล้ว
ก็มีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายได้ง่ายกับส่วนบนของฝาหลัง
ที่ดูแล้วค่อนข้างจะบอบบางมากเลยทีเดียว แต่หากรู้วิธีที่ถูกต้องแล้ว
ก็จะเป็นเรื่องง่ายไปในทันที เพราะจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด
 ขั้นแรกให้ใช้นิ้วโป้งจิกลงไปบริเวณด้านล่างของปุ่มล็อก
ต้องออกแรงมากสักหน่อยแต่ก็ไม่มากจนเกินไป
แล้วกดค้างไว้ จากนั้นให้ใช้นิ้วโป้งอีกข้างดันฝาเลื่อนไปทางด้านขวาอย่างช้าๆ
(ตามรูป) หากกดปุ่มล็อกได้ถูกต้อง การดันนี้ก็จะใช้แรงน้อยและง่ายมาก
 เมื่อเลื่อนฝาหลังไปจนสุดทางแล้ว
ก็ให้ใช้นิ้วโป้งงัดขึ้นเบาๆ บริเวณข้างใดข้างหนึ่งของส่วนโค้ง
ด้านซ้ายหรือขวาก็ได้ ตามแต่ถนัด ขั้นตอนนี้ก็ใช้แรงไม่มากเช่นกัน
ให้งัดขึ้นมาอย่างช้าๆ ฝาหลังก็จะเปิดออกมาได้แล้ว
 เมื่อถอดฝาหลังเรียบร้อยแล้ว ที่ภายในด้านหลังของตัวเครื่องก็จะประกอบด้วย
สติ๊กเกอร์รับประกันของศูนย์บริการ สติ๊กเกอร์แสดงข้อมูลของตัวเครื่อง
ช่องใส่ SIM Card และช่องใส่แบตเตอรี่

การใส่ SIM Card สามารถทำได้ง่าย โดยให้ดันแผ่น SIM Card ตรงเข้าไปในช่องดังภาพอย่างช้าๆ
และนุ่มนวล เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หากไม่ระมัดระวัง
ให้ดันจนสุดและกดทั้งแผ่นลงไปเบาๆ ให้อยู่ในแนวระนาบ สุดท้ายก็ให้เลื่อนตัวล็อกให้เข้าที่
ก็เป็นอันเสร็จ

เมื่อใส่ SIM Card เรียบร้อยแล้ว ก็ตามด้วยการใส่ก้อนแบตเตอรี่
โดยการดันก้อนแบตเตอรี่เข้าไปทางด้านที่มีขั้วแบตเตอรี่ ออกแรงดันเล็กน้อย
พอให้ก้อนแบตเตอรี่เข้าตรงช่องได้พอดี เป็นใช้ได้
 หากสังเกตดูส่วนของฝาหลังที่ถอดออกมา
ก็จะพบกับกรอบของ Adapter Ring ซึ่งจะมีขอบยางกันกระแทก
และป้องกันฝุ่นละอองไม่ให้เข้าไปสัมผัสกับหน้าเลนส์กล้องมากจนเกินไป
 การถอดส่วนของ
Adapter Ring นี้สามารถทำได้เช่นกัน
โดยให้สังเกตดูสลักที่ดูด้านในที่เกี่ยวกันอยู่
ให้ให้เล็บดันขึ้นมาเล็กน้อยพอให้พ้นจากขอบที่ขัดกันอยู่
แล้วดันให้สลักหมุนแยกออกจากกัน
 ด้วยวิธีการง่ายๆ
ข้างต้น ก็สามารถถอด Adapter Ring ออกมาได้แล้ว

สุดท้ายเมื่อใส่ SIM Card และแบตเตอรี่เรียบร้อยดีแล้ว ก็ให้นำฝาหลังมาปิดให้สนิท
โดยใส่กลับเข้าไปทางเดิมอย่างเบาๆ ให้ลงล็อก เพื่อเตรียมพร้อมใช้งานจริงกันต่อไป
การใส่การ์ดหน่วยความจำ RS-MMC
Card
การถอดหรือใส่การ์ดหน่วยความจำสำหรับ
Nokia 6630 นั้นสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องปิดเครื่องก่อน
ซึ่งถือว่าเป็นความสามารถอีกอย่างหนึ่งของโทรศัพท์รุ่นนี้
ที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งาน
 การใส่การ์ดหน่วยความจำ
RS-MMC Card ขนาด 64 MB ที่แถมมาให้ในกล่อง
ให้พลิกไปที่ด้านขวาของตัวเครื่องและใช้เล็บงัดแกนปิดช่องใส่หน่วยความจำให้เปิดออกมา
ซึ่งควรจะทำอย่างระมัดระวัง เพราะดูแล้วค่อนข้างจะบอบบางอยู่พอสมควรเลยทีเดียว
 เมื่อเปิดแกนปิดช่องออกมาจนสุดแล้ว
ก็ให้นำการ์ดหน่วยความจำใส่เข้าไป โดยพลิกเอาด้านที่มีขั้วไฟฟ้าเข้ามาหาตนเอง
ดังรูป
 ให้ดันการ์ดหน่วยความจำเข้าไปจนสุด
จนได้ยินเสียงแก๊กเบาๆ จึงจะถือว่าการ์ดถูกใส่เข้าล็อกพอดีแล้ว
ส่วนการถอดการ์ดหน่วยความจำออกมานั้น ก็ให้ดันเข้าไปในทิศทางเดียวกันจนได้ยินเสียงแก๊ก
หลังจากนั้น แผ่นการ์ดหน่วยความจำก็จะถูกดันออกมาเองโดยอัตโนมัติ
ความเหมาะมือและน้ำหนัก
ด้วยน้ำหนักตัวประมาณ 127 กรัม ก็ถือว่าเหมาะสมแล้วกับรูปร่างของ
Nokia 6630 ที่เห็น ลองถือและใช้งานดูก็ไม่ถือว่าหนักจนเกินไป
แถมยังให้ความรู้สึกที่มั่นคงแข็งแรง แต่ก็ยังหนักกว่ารุ่นก่อนๆ
อยู่เล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็น Nokia 6600 (125
กรัม), Nokia 7610 (118 กรัม) หรือ Nokia
6670 (120 กรัม) ซึ่งส่วนโค้งด้านล่างนั้น สามารถช่วยให้การจับมีความกระชับมากขึ้นกว่ารุ่นก่อนๆ
พอสมควร เนื่องจากจะรับเข้ากับรูปร่างของฝ่ามือได้เป็นอย่างดี
 ลองถือโดยพลิกด้านหลังออกมาบ้างก็ให้ความรู้สึกและมุมมองที่คล้ายกับถือกล้องดิจิตอลขนาดย่อมๆ
เลยทีเดียว
เริ่มเปิดเครื่อง

การเปิดเครื่องเพื่อเริ่มใช้งาน หรือปิดเครื่องนั้น ทำได้โดยการกดลงไปที่ปุ่มที่มีเครื่องหมายขีดคั่นกลางสีแดงที่อยู่ด้านข้างขวาของตัวเครื่อง
ซึ่งดูไปแล้วการใช้นิ้วโป้งกดลงไปจะสะดวกและเหมาะสมที่สุด
ให้กดค้างไว้ประมาณ 1 วินาที เครื่องก็จะเปิดขึ้นมาพร้อมให้ใช้งานทันที
(การปิดเครื่องก็ให้ทำวิธีแบบเดียวกันนี้)
หากเป็นการเปิดเครื่องครั้งแรก
ก็จะมีหน้าจอแจ้งให้ตั้งค่าพื้นฐานต่างๆ ของเครื่องก่อน
เช่นเวลา หรือวันที่ และเมื่อตั้งค่าเหล่านั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ก็จะเข้าสู่หน้าจอหลักของ Nokia 6630 ดังรูป
ความคมชัดและสวยงามของหน้าจอแสดงผล
 สำหรับหน้าจอแบบ TFT LCD 65,536 สี
(Bright Active Matrix) ความละเอียด 176 x 208 Pixels ของ
Nokia 6630
นั้น สีสัน ความละเอียดคมชัด และความสว่างที่แสดงออกมานั้นถือว่าทำได้ดีกว่ารุ่นก่อนๆ
พอสมควร เห็นครั้งแรกก็รู้สึกประทับใจในความสวยงาม
ยิ่งพอได้ใช้งานไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่าคุณภาพหน้าจอของ
Nokia 6630 นั้นจะไม่ทำให้ผู้ใช้ต้องผิดหวัง
ยิ่งเรื่องของความสว่างก็หายห่วง เพราะขณะที่ใช้งานอยู่นี้
ปรับตั้งค่าความสว่างแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น
และถ้าหากปรับความสว่างสูงสุด ก็จะสว่างจ้ามากเลยทีเดียว
ปุ่มกด และการตอบสนอง

ปุ่มกดของ Nokia 6630 นี้ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาจากรุ่นก่อนๆ ได้เป็นอย่างดี
มีความนุ่มนวลมากขึ้นกว่าเดิมพอสมควร กดง่าย
รู้สึกสบายมือ มีการตอบสนองที่ดี ที่จะรู้สึกตอบสนองช้าก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากปุ่มกดแต่อย่างใด
เพราะจริงๆ แล้วจะเกิดจากการประมวลผลบางเมนูที่มีข้อมูลเยอะๆ
เช่นเมนูข้อความ รูปภาพ วีดีโอ ธีม เพลง
หรืออื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วสำหรับการประมวลผลข้อมูล
 ไฟ
Backlight ของแผงปุ่มกด (Keypad) รวมถึงหน้าจอแสดงผลของ
Nokia 6630 นั้นมีความพิเศษกว่ารุ่นอื่นๆ
คือ จะมีระบบปรับความสว่างโดยอัตโนมัติ ซึ่งทำงานร่วมกับเซนเซอร์วัดค่าระดับแสงของสภาวะแวดล้อมรอบข้าง
ดังนั้นจึงช่วยให้ประหยัดพลังงานจากแบตเตอรี่มากขึ้น
ส่วนความชัดเจนของหน้าจอและแผงปุ่มกดขณะที่อยู่ในที่มืดนั้น
ก็ถือว่าชัดเจนปกติและมีความสวยงามดี และนอกจากนั้นบนปุ่มกดก็ยังมีตัวอักษรภาษาไทยแสดงอยู่ด้วย
ทำให้สะดวกต่อการพิมพ์ข้อความที่เป็นภาษาไทย
เมนูและฟังก์ชันการใช้งาน
 การเข้าสู่เมนูหลักของ
Nokia 6630 นั้น สามารถทำได้โดยการกดปุ่มที่อยู่ด้านซ้ายล่าง
ถัดลงมาจากปุ่มโทรออก ซึ่งหน้าตาของเมนูนั้น
โดยปกติจะแสดงเป็นแบบกริดไอคอนเรียงกัน 3
แถว x 3 คอลัมน์ แต่ก็สามารถเปลี่ยนรูปแบบการแสดงเมนูให้เป็นแบบรายการเรียงแถวต่อกันมาเป็นคอลัมน์เดียวก็สามารถทำได้เช่นกัน และภายในเมนูหลักนี้
สามารถที่จะสร้างโฟลเดอร์ขึ้นมาใหม่ตามต้องการได้อีกด้วย

 เมนูข้อความ
: ในเมนูข้อความนี้จะมีฟังก์ชันที่เกี่ยวกับการรับ-ส่งข้อความอยู่มากมาย
ไม่ว่าจะเป็นระบบสะกดคำอัตโนมัติทั้งภาษาไทย
และภาษาอังกฤษ, คลิปบอร์ดสำหรับข้อความ, รับ-ส่งข้อความมัลติมีเดีย
(โลโก้, เสียง, นามบัตร, รายการปฏิทิน) และ อีเมลล์
ซึ่งระหว่างการพิมพ์ข้อความนั้น สามารถสับเปลี่ยนภาษาที่ใช้ในการพิมพ์ได้โดยง่าย
ด้วยการกดปุ่มรูปดินสอที่อยู่ด้านขวาของแผงปุ่มกดนั่นเอง
 เมนูรายชื่อ
: ในเมนูรายชื่อนี้ก็มีฟังก์ชันเกี่ยวกับสมุดโทรศัพท์มากมาย
เช่นการค้นหารายชื่อ, การสร้างรายการใหม่โดยใส่ข้อมูลได้หลายประเภทภายในรายการเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ นามสกุล บริษัท ตำแหน่ง
เบอร์โทรศัพท์บ้าน เบอร์มือถือ สายวีดีโอ
เบอร์แฟกซ์ อีเมลล์ เบอร์วิทยุติดตามตัว เว็บไซต์
ที่อยู่ DTMF วันเกิด หมายเหตุ และ หมายเลขประจำตัว,
ใส่รูปภาพให้กับแต่ละเบอร์, กำหนดการโทรออกด้วยเสียง,
กำหนดกลุ่มผู้โทร
 เมนูบันทึก
: จะมีการบันทึกประวัติกิจกรรมการเกี่ยวกับการโทรล่าสุด
ไม่ว่าจะเป็นเบอร์ที่โทรออก เบอร์ที่รับสาย
และเบอร์ที่ไม่ได้รับสาย, บันทึกเวลาที่ใช้ในการโทร,
บันทึกจำนวนข้อมูลที่รับ-ส่ง และมีหน้ารวมสำหรับการแสดงประวัติทุกประเภทภายในหน้าเดียวกันอีกด้วย
 เมนูคลังภาพ
: ในเมนูนี้จะมีไฟล์ข้อมูลประเภทมัลติมีเดียให้เลือกดูอยู่หลายประเภท
ทั้งรูปภาพ คลิปวีดีโอ แทร็ค คลิปเสียง ลิงค์
และยังสามารถแสดงรายการไฟล์ข้อมูลทุกประเภทให้ดูภายในหน้าเดียวกันได้อีกด้วย
 ไฟล์รูปภาพและไฟล์วีดีโอคลิป
จะมีการแสดงขนาดความจุของไฟล์ และระบุที่อยู่ของไฟล์ให้ดูด้วย
(ในหน่วยความจำภายในของโทรศัพท์ หรือในการ์ดหน่วยความจำ)

 การดูไฟล์วีดีโอคลิป
สามารถเลือกดูได้สองแบบคือ แบบปกติคือมีแถบเมนู
กับแบบเต็มหน้าจอคือไม่มีอย่างอื่นนอกจากรูปวีดีโออย่างเดียวก็ได้เช่นกัน
โดยใน Nokia 6630 นี้จะใช้โปรแกรม Real Player
ในการเปิดดู
 การฟังเพลง
MP3 นั้น ในรายชื่อเพลง หากชื่อไฟล์เป็นภาษาไทย
ก็จะแสดงผลเป็นภาษาที่อ่านไม่ออกดังรูป ซึ่งทาง
Nokia อาจจะนำปัญหานี้ไปแก้ไขต่อไปใน Firmware
เวอร์ชันใหม่ๆ ส่วนคุณภาพเสียงที่ได้ยินจากลำโพงที่อยู่ด้านบนของเครื่องนั้น
เสียงที่ออกมาถือว่าสดใสไพเราะพอใช้ได้ แต่ยังไม่หนักแน่นเท่าไหร่
ถ้าอยากจะให้เสียงฟังดูหนักแน่นไพเราะชัดเจนกว่านี้
ก็คงจะต้องเสียบหูฟังที่แถมมาให้ ซึ่งเป็นหูฟังที่ให้เสียงแบบ
Stereo ที่ไพเราะ เบสนุ่ม เสียงใสไพเราะมากพอสมควรเลยทีเดียว
 เมนูกล้อง
: ฟังก์ชันสำหรับกล้องของ Nokia 6630 นี้มีให้เลือกมากมายพอสมควร
เพื่อให้สมกับกล้องมมือถือที่มีความละเอียดถึง
1.3 ล้าน Pixels ได้แก่ ถ่ายภาพต่อเนื่อง,
ถ่ายภาพวีดีโอ, ถ่ายภาพในที่มืด, ตั้งเวลาถ่ายภาพล่วงหน้า,
ปรับความสว่าง, ปรับความคมชัด, ปรับคุณภาพ
หรือปรับความละเอียดเป็นต้น โดยการถ่ายภาพนิ่งนั้นจะถ่ายได้ในความละเอียด
2 ระดับคือ 1280 x 960 และ 640 x 480 Pixels
ส่วนการซูมภาพนั้นเป็นการซูมแบบ Smooth ไม่ใช่เป็นแบบทีละระดับ
และซูมได้มากถึง 6 เท่า (Digital Zoom) ซึ่งถือว่าเป็นความสามารถด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งเลยทีเดียว
 การถ่ายภาพวีดีโอ
สามารถเลือกความละเอียดได้ที่ 176 x 144 และ
128 x 96 Pixels สามารถปรับค่าให้ถ่ายได้ต่อเนื่องนานสูงสุดถึง
1 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับขนาดของหน่วยความจำที่เหลือด้วย
สามารถซูมได้ ใช้งานในที่มืดได้ เลือกบันทึกเสียงด้วยหรือไม่ก็ได้
***
สำหรับตัวอย่างภาพถ่ายที่ถ่ายได้จากกล้องของ
Nokia 6630 ในรูปแบบต่างๆ นั้น ท่านสามารถเข้าชมได้ที่นี่
Nokia
6630 Camera Test
***
 เมนูสื่อ
: ในเมนูนี้จะมีโปรแกรมสำหรับจัดการไฟล์ประเภทมัลติมีเดียต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็น เครื่องบันทึกเสียง, โปรแกรม
Real Player, ตัดต่อวีดีโอ, สร้างภาพยนตร์,
จัดการรูปภาพ, พิมพ์รูปภาพ และตกแต่งแก้ไขรูปภาพ
 โปรแกรมเครื่องบันทึกเสียง
สามารถบันทึกเสียงได้นานสูงสุดรายการละ 1
นาที ซึ่งหากต้องการบันทึกเสียงได้นานกว่านี้
ก็คงจะต้องไปหาโปรแกรมเพิ่มเติมมาติดตั้งกันภายหลัง
ซึ่งก็จะมีให้เลือกใช้หลายโปรแกรมตามความชอบ
 โปรแกรม
Real Player สำหรับการเปิดดูไฟล์วีดีโอคลิป
สตรีมมิ่งวีดีโอ หรือไฟล์เสียงต่างๆ
 โปรแกรมตัดต่อวีดีโอ
เอาไว้สำหรับให้ผู้ใช้ทำการตัดต่อวีดีโอด้วยฝีมือของตนเองด้วยเครื่องมือที่มีมาให้อย่างง่ายๆ
 โปรแกรมตัวกำกับภาพยนตร์นี้จะเป็นโปรแกรมที่ช่วยในการสร้างไฟล์วีดีโอคลิปขึ้นมาใหม่ด้วยตนเอง
โดยจะใช้ไฟล์รูปภาพที่มีอยู่ในเครื่อง หรืออาจจะใช้ไฟล์วีดีโอคลิปที่มีอยู่แล้วก็ได้เช่นกัน
ซึ่งในที่นี่สามารถเลือกคุณภาพได้ 3 รูปแบบคือ
อัตโนมัติ สูง หรือ ต่ำ
 โปรแกรมตัวจัดภาพ
เป็นโปรแกรมที่เอาไว้สำหรับจัดการกับรูปภาพที่เก็บอยู่ในหน่วยความจำภายในของเครื่อง
หรือการ์ดหน่วยความจำ โดยจะมีมุมมองที่สวยงามในแบบ
3 มิติดังรูป แต่ถ้าหากมีรูปภาพเยอะมาก การประมวลผลก็จะช้าลงไปบ้าง
 เมนูปฏิทิน
: ปฏิทินสามารถแสดงผลได้ทั้งแบบรายเดือน และรายสัปดาห์
โดยสามารถตั้งรายการนัดหมายพร้อมระบบเตือนได้
ซึ่งจะมีรูปแบบมาตรฐานมาให้ 3 รูปแบบรายการคือ
การประชุม, บันทึก และ วันครบรอบ
 เมนูเว็บ
: สามารถใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ผ่านได้หลายระบบการเชื่อมต่อ
ทั้ง GPRS หรือระบบความเร็วสูงอย่าง EDGE
รวมถึงยังรองรับการเชื่อมต่อผ่านระบบ WCDMA
อีกด้วย แต่ระบบเครือข่ายในบ้านเรายังไม่ได้รองรับการเชื่อมต่อกับระบบแบบนี้
ซึ่งระบบแบบนี้จะเป็นระบบเครือข่ายแบบ 3G
ซึ่งใช้กันอยู่ในหลายประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม
การใช้ระบบ EDGE ก็สามารถตอบสนองต่อความต้องการๆ
เชื่อมต่อข้อมูลอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว
โดยในเมนูเว็บนี้สามารถที่จะบันทึกที่อยู่ของเว็บไซต์ที่เข้าไปใช้งานบ่อยๆ
ได้อย่างเป็นหมวดหมู่อีกด้วย ส่วนการแสดงผลหน้าเว็บเพจนั้น
โดยรวมก็สามารถแสดงส่วนประกอบได้ครบเหมือนกับเปิดดูผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์เลยทีเดียว
 เมนูนาฬิกา
: เมนูมีนี้ฟังก์ชันเกี่ยวกับนาฬิกาอยู่มากพอสมควร
ไม่ว่าจะเป็นการตั้งปลุก, ตั้งเวลา, ตั้งวันที่,
รูปแบบวันที่, ตัวสัญลักษณ์แบ่งวัน, รูปแบบการแสดงผลเวลา,
ตัวสัญลักษณ์แบ่งเวลา, ชนิดนาฬิกา, เสียงนาฬิกาปลุก,
อัตเดตเวลาอัตโนมัติ และ ปรับเวลาตามฤดูกาล
 เมนูรูปแบบ
: เป็นเมนูที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกรูปแบบการใช้งานตามสถานการต่างๆ
ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ซึ่งภายในเครื่องจะมีรูปแบบที่ตั้งมาให้อยู่หลายรูปแบบ
ได้แก่ ทั่วไป, เงียบ, ประชุม, นอกสถานที่,
วิทยุติดตามตัว รวมถึงตั้งการใช้งานแบบออฟไลน์
ซึ่งก็คือการกำหนดสามารถใช้งานเครื่องได้ตามปกติโดยตัดขาดการเชื่อมต่อสัญญาณกับระบบเครือข่ายมือถือนั่นเอง
นอกจากนั้น ผู้ใช้ยังสามารถสร้างรูปแบบใหม่ในสไตล์ของตนเองเพิ่มเติมได้อีกด้วย
เมนูโปรแกรมช่วย
: เป็นเมนูที่รวมโปรแกรมใช้งานปลีกย่อยที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้งานหลายโปรแกรม
ไม่ว่าจะเป็น ตัวจัดการไฟล์, หน่วยความจำ,
สิ่งที่ต้องทำ, เครื่องคิดเลข, สมุดบันทึก,
ตัวแปลงหน่วย, กระเป๋าเงิน, วิธีใช้งาน และ
ไปที่
 โปรแกรมจัดการไฟล์
ซึ่งจะคล้ายโปรแกรม Windows Explorer ในเครื่องคอมพิวเตอร์
แต่ในที่นี่จะไม่ซับซ้อนมากนัก โดยจะแยกกลุ่มของไฟล์แต่ละประเภทไว้อย่างชัดเจน
ทั้ง เกมส์, คลิปเสียง, รูปภาพ, โปรแกรมที่ติดตั้ง,
วีดีโอคลิป และอื่นๆ โดยสามารถเลือกได้ว่าจะแสดงไฟล์ในหน่วยความจำของเครื่อง
หรือในการ์ดหน่วยความจำ รวมถึงสามารถแสดงพื้นที่ๆ
ใช้ไปและพื้นที่ๆ เหลือภายในหน่วยความจำได้อีกด้วย
 โปรแกรมจัดการกับการ์ดหน่วยความจำ
ซึ่งนอกจากจะแสดงพื้นที่ๆ เหลืออยู่ได้แล้ว
ก็ยังสามารถทำได้ทั้งสร้างพื้นที่หน่วยความจำสำรอง,
ฟอร์แมตการ์ด และ เปลี่ยนชื่อการ์ด
 โปรแกรมบันทึกสิ่งที่ต้องทำ
สามารถกำหนดชื่อหัวข้อ, วันครบกำหนด และลำดับความสำคัญของกิจกรรมที่ต้องทำได้
 โปรแกรมเครื่องคิดเลข
ซึ่งจะเป็นรูปแบบเดิมๆ ไม่มีความสามารถแตกต่างจากโปรแกรมเครื่องคิดเลขทั่วไปแต่อย่างใด
 โปรแกรมสมุดบันทึก
ใช้สำหรับบันทึกข้อความเล็กๆ น้อยๆ สำหรับผู้ใช้ที่ชีวิตประจำวันต้องมีเรื่องให้จดจำอยู่มากมาย
 โปรแกรมแปลงหน่วย
ช่วยในการแปลงหน่วยในประเภทต่างๆ ทั้งสกุลเงิน,
พื้นที่, พลังงาน, ความยาว, มวล, กำลังไฟฟ้า,
ความดัน, อุณหภูมิ, เวลา, ความเร็ว และ ปริมาตร
 โปรแกรมกระเป๋าเงิน
หรือเรียกอีกอย่างว่า Wallet ซึ่งจะช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูลที่เป็นความลับของผู้ใช้
เช่น หมายเลขบัตรเครดิต หรือ รหัสผ่านต่างๆ
 โปรแกรมวิธีใช้
หรือเรียกกันทั่วไปว่า Help ซึ่งโปรแกรมนี้นับว่ามีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ใช้งานที่ยังใช้งานเครื่องได้ไม่คล่อง
เพราะจะมีวิธีการใช้งานฟังก์ชันต่างๆ ภายในเครื่องมากมายแทบทุกฟังก์ชัน
จนแทบไม่ต้องอ่านหนังสือคู่มือการใช้งานที่แถมมาให้เลยทีเดียว
 โปรแกรมไปที่
เป็นโปรแกรมที่ผู้ใช้สามารถสร้างเมนูด่วนได้ตามต้องการ
เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้าไปยังเมนูหรือโปรแกรมที่มักจะต้องใช้งานอยู่บ่อยๆ
นั่นเอง
เมนูเครื่องมือ : เป็นเมนูที่รวบรวมโปรแกรมหรือเครื่องมือสำหรับจัดการและตั้งค่าส่วนที่สำคัญต่างๆ
ภายในเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งเสียง, ข้อความเสียง,
โทรด่วน, ลักษณะ, การตั้งค่า, ตัวจัดการโปรแกรม,
ถ่ายโอนข้อมูล, Instant Messaging, สิทธิการใช้,
ตัวจัดการอุปกรณ์, ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเครื่อง,
พิมพ์ข้อมูล และ ตัวช่วยสำหรับการตั้งค่าเน็ตเวิร์ก
 โปรแกรมคำสั่งเสียง
ใช้สำหรับการสั่งงานเมนูต่างๆ ด้วยเสียงของผู้ใช้
โดยไม่ต้องเสียเวลากดปุ่มเพื่อเข้าไปยังเมนูนั้นๆ
 โปรแกรมศูนย์ข้อความเสียง
ใช้สำหรับเก็บ ฝากข้อความเสียง และจัดการกับข้อความเสียงของผู้ใช้
 โปรแกรมโทรด่วน
สามารถกำหนดปุ่มโทรด่วนได้ตั้งแต่ปุ่มหมายเลข
2-9 เนื่องจากปุ่มกดหมายเลข 1 นั้นเครื่องจะสงวนเอาไว้สำหรับระบบฝากข้อความเสียงเท่านั้น
ซึ่งการใช้งานปุ่มโทรด่วนนี้ เมื่อตั้งหมายเลขกับปุ่มกดที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว
เมื่อต้องการโทรออก ก็ให้กดเลือกที่หมายเลขนั้น
แล้วตามด้วยการกดปุ่มโทรออก เพียงเท่านี้ก็สามารถโทรออกได้อย่างรวดเร็วทันใจแล้ว

 โปรแกรมลักษณะ
หรือเรียกอีกอย่างว่า Themes นั้นถือว่าเป็นโปรแกรมที่น่าสนใจมากอีกโปรแกรมหนึ่งเลยทีเดียว
เนื่องจากเป็นโปรแกรมที่สามารถทำให้รูปร่างหน้าตาของส่วนต่างๆ
ภายในเครื่องมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป ช่วยให้ใช้งานในรูปแบบที่ไม่ซ้ำซากจำเจ
ตั้งแต่นาฬิกา ภาพพื้นหลัง แถบระดับสัญญาณ
แถบระดับแบตเตอรี่ เมนูซอฟต์คีย์ ไอคอนเมนู
และอื่นๆ ซึ่ง Nokia 6630 นี้สามารถใช้งานกับ
Themes ที่ทำขึ้นมาสำหรับ Nokia รุ่น 6600,
7610 หรือ 6670 ได้ทันที ซึ่งแน่นอนว่ามีให้เลือกใช้กันอย่างมากมายนับไม่ถ้วน
หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะแหล่งดาวน์โหลดตามเว็บไซต์ต่างๆ
ทั้งในประเทศไทย และ ต่างประเทศ
 โปรแกรมการตั้งค่า
เอาไว้สำหรับตั้งค่าพื้นฐานที่สำคัญต่างๆ
สำหรับการทำงานของเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่าโทรศัพท์,
ตั้งค่าการโทร, ตั้งค่าการเชื่อมต่อ, วันที่และเวลา,
การรักษาความปลอดภัย, การโอนสาย, จำกัดการโทร,
เครือข่าย หรือ ตั้งค่าอุปกรณ์เสริม
เป็นต้น
 โปรแกรมตัวจัดการแอพพลิเคชัน
เป็นอีกโปรแกรมหนึ่งที่สำคัญสำหรับผู้ใช้ที่ต้องการติดตั้งและถอนการติดตั้งโปรแกรมใช้งานต่างๆ
ซึ่งนี่ถือว่าเป็นจุดเด่นของมือถือที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการ
Symbian เลยทีเดียว เนื่องจากสามารถหาโปรแกรมเพิ่มเติมมาช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานได้อย่างหลากหลายตามต้องการ
โดยไฟล์โปรแกรมที่สามารถติดตั้งภายในเครื่องได้นั้นจะมีอยู่สองประเภทคือ
ไฟล์จาวา ซึ่งมีนามสกุลของไฟล์เป็น .jad หรือ
.jar และไฟล์อีกประเภทก็คือไฟล์แอพพลิเคชันสำหรับระบบปฏิบัติการ
Symbian โดยเฉพาะซึ่งมีนามสกุลของไฟล์เป็น
.sis นั่นเอง
 โปรแกรมถ่ายโอนข้อมูล
มีไว้สำหรับการคัดลอกถ่ายโอนข้อมูลรายชื่อ
ปฏิทิน และข้อมูลในคลังภาพ ระหว่างโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ
Nokia ด้วยกัน แบบไร้สายผ่านทาง Bluetooth
 โปรแกรม
IM (Instant Messaging) หรือเรียกกันง่ายๆ
ว่า Chat เป็นการส่งข้อความแบบด่วน ซึ่งเป็นบริการเสริมของแต่ละระบบเครือข่าย
ช่วยให้สามารถสนทนากับอีกฝ่ายโดยใช้ข้อความสั้นๆ
ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการเข้าไปสนทนาในแต่ละกลุ่มตามหัวข้อที่สนใจได้ตามต้องการอีกด้วย
 โปรแกรมสิทธิการใช้
มีเอาไว้เนื่องจากไฟล์บางประเภทเช่น รูปภาพ
เพลง หรือคลิปวีดีโอ จะมีการป้องกันการใช้งานหรือจำกัดการใช้งานด้วยสิทธิการใช้แบบดิจิตอล
ตัวอย่างการจำกัดการใช้งานก็เช่น วีดีโอคลิปเรื่องหนึ่ง
อาจจะใช้ดูได้แค่ 10 รอบเท่านั้น หากเกิน
10 รอบเมื่อไหร่ ก็จะถือว่าหมดอายุ และไม่สามารถเปิดดูอีกได้
เพราะฉะนั้นจึงมีโปรแกรมนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยดูว่าไฟล์ในในเครื่อง
ไฟล์ไหนมีข้อมูลเรื่องสิทธิการใช้งานบ้างและอย่างไร
 โปรแกรมตัวจัดการอุปกรณ์
เป็นการตั้งค่าสำหรับการเชื่อมต่อกับเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการระบบเครือข่ายที่ใช้
เพื่อใช้บริการเชื่อมต่อข้อมูล ซึ่งโดยมากแล้วจะเป็นการส่งการตั้งค่าแบบอัตโนมัติจากผู้ให้บริการมายังเครื่องผู้ใช้
 ข้อมูลเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของระบบการทำงานในตัวเครื่อง
Nokia 6630 ได้แก่ Symbian, Java และ Netscape
 โปรแกรม
Info Print จะใช้สำหรับการสั่งพิมพ์ข้อมูลประเภท
ข้อความ, รายชื่อ, ปฏิทิน และ สมุดบันทึก
ผ่านทาง Bluetooth ไปยังเครื่อง Printer รุ่นที่มีการติดตั้ง
Bluetooth เอาไว้
 โปรแกรม
Setting Wizard เป็นโปรแกรมที่ช่วยเหลือผู้ใช้ในการตั้งค่าโทรศัพท์ของตนเองอย่างง่ายๆ
เป็นขั้นตอน โดยจะต้องมีการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายของผู้ให้บริการเครือข่ายเสียก่อน
 เมนูการเชื่อมต่อ
: เป็นเมนูที่ช่วยจัดการกับการเชื่อมต่อข้อมูลผ่าน
Bluetooth หรือซิงค์ข้อมูล ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว
มักจะใช้กันระหว่างเครื่องโทรศัพท์มือถือกับ
เครื่องคอมพิวเตอร์, เครื่อง PDA หรือเครื่องโทรศัพท์มือถือด้วยกันเอง
รวมถึงมีตัวจัดการเชื่อมต่อข้อมูลแบบ Packet
อีกด้วย
 เมนู
Quick Office : เป็นเมนูที่รวมโปรแกรมสำหรับเปิดดูเอกสารประเภท
Office ที่มีทั้ง Quickpoint สำหรับเปิดดูไฟล์
Powerpoint, Quicksheet สำหรับเปิดดูไฟล์
Excel และ Quickword สำหรับเปิดดูไฟล์ Word
ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถทำได้เพียงแค่เปิดขึ้นมาดูเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ไม่สามารถทำการแก้ไขรายละเอียดอะไรได้
 เมนู
Print Kodak : เป็นโปรแกรมที่ช่วยในการสั่งพิมพ์รูปภาพต่างๆ
ที่อยู่ภายในเครื่อง ที่ร้านล้างอัดรูปทั่วไปที่มีเครื่องหมาย
Kodak Express และเป็นร้านที่เข้าร่วมรายการกับทาง
Nokia ซึ่งภายในกล่อง จะมีคูปองส่วนลดค่าบริการแถมมาให้จำนวนหนึ่ง
และมีรายชื่อร้านที่เข้าร่วมรายการระบุเอาไว้อยู่ด้วย
 โปรแกรม
Professional Dictionary : เป็นโปรแกรมดิกชันนารีแปลคำศัพท์ที่สามารถแปลได้ทั้งแบบ
อังกฤษ-ไทย และแบบ ไทย-อังกฤษ ซึ่งผู้ใช้ต้องทำการติดตั้งเพิ่มเติมด้วยตนเองจากแผ่นโปรแกรมที่แถมมาให้ในกล่อง
และจะต้องไปทำการลงทะเบียนที่เว็บไซต์ที่ระบุเอาไว้
เพื่อรับรหัสตัวเลขมาใช้สำหรับการทำให้โปรแกรมนี้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบนั่นเอง
ด้วยคำศัพท์ของ So.Sethaputra จำนวนมากกว่า
100,000 คำ ก็สามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการดิกชันนารีเคลื่อนที่ขนาดย่อมได้เป็นอย่างดี
สรุปสมบัติเด่นที่น่าสนใจ
- หน้าจอแสดงผลแบบ TFT LCD 65,536 สี (Bright Active Matrix) ความละเอียด 176 x 208
Pixels : จากการใช้งาน Nokia 6630 มาได้ระยะหนึ่ง ก็พบว่า
สีสัน ความละเอียดคมชัด และความสว่างที่แสดงออกมานั้นถือว่าทำได้ดีกว่ารุ่นก่อนๆ
พอสมควร เห็นครั้งแรกก็รู้สึกประทับใจในความสวยงาม
และถ้าให้เทียบกับหน้าจอของมือถือรุ่นอื่นที่เคยสัมผัสมา
ก็จะดูมีคุณภาพใกล้เคียงกับหน้าจอของ Sony
Ericsson K700 เลยทีเดียว ยิ่งพอได้ใช้งานไปเรื่อยๆ
ก็จะพบว่าคุณภาพหน้าจอของ Nokia 6630 นั้นจะไม่ทำให้ผู้ใช้ต้องผิดหวัง
ยิ่งเรื่องของความสว่างก็หายห่วง เพราะขณะที่ใช้งานอยู่นี้
ปรับตั้งค่าความสว่างแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น
และถ้าหากปรับความสว่างสูงสุด ก็จะสว่างจ้ามากเลยทีเดียว
 - กล้องดิจิตอลในตัว ความละเอียดระดับ 1.3
ล้าน Pixels (1280 x 960 Pixels)
: ฟังก์ชันสำหรับกล้องของ Nokia 6630 นี้มีให้เลือกมากมายพอสมควร
เพื่อให้สมกับกล้องมมือถือที่มีความละเอียดถึง
1.3 ล้าน Pixels ได้แก่ ถ่ายภาพต่อเนื่อง,
ถ่ายภาพวีดีโอ, ถ่ายภาพในที่มืด, ตั้งเวลาถ่ายภาพล่วงหน้า,
ปรับความสว่าง, ปรับความคมชัด, ปรับคุณภาพ
หรือปรับความละเอียดเป็นต้น โดยการถ่ายภาพนิ่งนั้นจะถ่ายได้ในความละเอียด
2 ระดับคือ 1280 x 960 และ 640 x 480 Pixels
ส่วนการซูมภาพนั้นเป็นการซูมแบบ Smooth ไม่ใช่เป็นแบบทีละระดับ
และซูมได้มากถึง 6 เท่า (Digital Zoom) ซึ่งถือว่าเป็นความสามารถด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งเลยทีเดียว และสำหรับการถ่ายภาพวีดีโอ
สามารถเลือกความละเอียดได้ที่ 176 x 144 และ
128 x 96 Pixels สามารถปรับค่าให้ถ่ายได้ต่อเนื่องนานสูงสุดถึง
1 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับขนาดของหน่วยความจำที่เหลือด้วย
สามารถซูมได้ ใช้งานในที่มืดได้ เลือกบันทึกเสียงด้วยหรือไม่ก็ได้
ซึ่งคุณภาพของรูปภาพที่ได้นั้น ก็ไม่ผิดหวังสำหรับกล้องความละเอียดระดับนี้
โดยเฉพาะ โดยหากอยู่ในที่ๆ มีแสงสว่างจากธรรมชาติเพียงพอ
ภาพที่ออกมาจะสวยคมเป็นพิเศษเลยทีเดียว
***
สำหรับตัวอย่างภาพถ่ายที่ถ่ายได้จากกล้องของ
Nokia 6630 ในรูปแบบต่างๆ นั้น ท่านสามารถเข้าชมได้ที่นี่
Nokia
6630 Camera Test
***
- เสียงเรียกเข้าแบบ Polyphonic Ringtones รองรับไฟล์หลากหลายรูปแบบ
: สำหรับเสียงเรียกเข้าของ Nokia 6630 นั้น สามารถรองรับไฟล์ได้หลากหลายรูปแบบ
ทั้ง MP3, AAC, WAV, AMR, MIDI และ MXMF เรียกได้ว่ารองรับเกือบครบถ้วนทุกรูปแบบที่มีอยู่เลยทีเดียว
ซึ่งให้เสียงที่ไพเราะสดใสกว่ารุ่นก่อนๆ แบบรู้สึกได้ไม่ยาก
แต่อย่างไรก็ตามจากการทดสอบนำไฟล์เพลง MP3
มาทำเป็นเสียงเรียกเข้า โดยไม่ลดคุณภาพ ก็ปรากฏว่าเพลงบางเพลงกลับมีเสียงที่เบาลงไปในบางช่วง
ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าลำโพงอาจจะไม่สามารถรองรับกับความถี่ของเสียงดนตรีที่ต่างกันมากๆ
ได้ ซึ่งจะเป็นกับเฉพาะเพลงบางเพลงเท่านั้น ดังนั้นหากต้องการนำไฟล์
MP3 มาทำเป็นเสียงเรียกเข้า ก็ควรลองทดลองเล่นดูว่าเสียงออกมาดังชัดเจนตลอดสม่ำเสมอดีหรือไม่
- หน่วยความจำ Shared Memory ขนาด 10 MB : หน่วยความจำ
Shared Memory ที่อยู่ภายใน Nokia 6630 ขนาด
10 MB นั้น ด้วยมือถือ Smartphone ที่ใช้งานได้หลากหลายจิปาถะขนาดนี้ ถือว่าแค่เพียงพอต่อการใช้งานในระดับหนึ่งเท่านั้น
จะเหมาะกับการเก็บไฟล์ข้อมูลที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก
เช่น ข้อความ เสียงเรียกเข้า ปฏิทิน บันทึก
รายชื่อ รูปภาพเล็กๆ หรือไฟล์เอกสารเป็นต้น
ซึ่งหากใช้อย่างเหมาะสมแล้ว ก็จะเพียงพอต่อการใช้งานแน่นอน
โดยหากมีไฟล์ขนาดใหญ่ เช่นไฟล์รูปถ่าย วีดีโอคลิป
หรือเพลง ก็ให้นำไปจัดเก็บที่การ์ดหน่วยความจำแทนจะดีกว่า
-
รองรับ Dual Voltage (1.8/3V) RS-MMC Card
: การ์ดหน่วยความจำเสริมภายนอกสำหรับ Nokia
6630 แบบ Dual Voltage นั้นมีจุดเด่นคือใช้พลังงานที่ต่ำกว่า
RS-MMC หรือ MMC Card ทำให้อายุการใช้งานของแบตเตอรี่มีความยาวนานมากขึ้น
และ Nokia 6630 นั้นสามารถรองรับการ์ดหน่วยความจำชนิดนี้เพียงชนิดเดียวเท่านั้น โดยภายในกล่อง
จะมีแถมมาให้ด้วยในขนาด 64 MB ซึ่งถือว่าน้อยไปสักหน่อยสำหรับการใช้งานไฟล์มัลติมีเดีย
และโปรแกรมใช้งานที่หลากหลาย อีกทั้งในขณะนี้ในท้องตลาดยังไม่มีการ์ดหน่วยความจำชนิดนี้วางขาย
ดังนั้นผู้ใช้คงต้องอดใจรอไปอีกสักระยะ ประมาณต้นปีหน้าคาดว่าจะเริ่มมีร้านนำเข้ามาจำหน่ายกันบ้างแล้ว
- การเชื่อมต่อข้อมูล : คุณสมบัติการเชื่อมต่อของ Nokia
6630 นั้นก็ถือว่าเป็นอีกจุดเด่นของรุ่นนี้อีกอย่างหนึ่ง
เนื่องจากรองรับเทคโนโลยีการเชื่อมต่อไร้สายหลายประเภท
เริ่มตั้งแต่รองรับการใช้งานระบบ WCDMA ซึ่งเป็นเครือข่ายความเร็วสูงระดับ
3G ที่ให้ความเร็วในการเชื่อมต่อข้อมูลสูงถึงประมาณ
380-385 Kbps เลยทีเดียว พร้อมทั้งรองรับระบบ
GSM Tri Band (900/1800/1900), รองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านระบบ
EDGE ซึ่งมีความเร็วกว่า GPRS ถึงประมาณ 4
เท่า กล่าวคือในขณะที่ GPRS มีความเร็วในการเชื่อมต่อข้อมูลสูงสุดอยู่ที่ประมาณ
53-54 Kbps EDGE จะมีความเร็วในการเชื่อมต่อข้อมูลสูงสุดถึงประมาณ
235-240 Kbps เลยทีเดียว นอกจากนั้นก็ยังมี
Bluetooth เอาไว้เชื่อมต่อข้อมูลไร้สายระยะใกล้กับอุปกรณ์อื่นๆ
ได้อย่างอิสระคล่องตัว หรือหากต้องการอัตราการส่งข้อมูลที่สูงกว่า
ก็ยังสามารถใช้สาย Data Link ได้ด้วยเช่นกัน
คุณสมบัติอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- แบตเตอรี่แบบ Li-Ion 900 mAh : จากการใช้งานเครื่องที่ค่อนข้างหนัก
ไม่ว่าจะเป็นการทดลองลงโปรแกรม ถ่ายรูป ฟังเพลง
ลองเล่นโปรแกรมต่างๆ โอนถ่ายข้อมูล ฯลฯ
แต่ก็เป็นการใช้งานเรื่อยๆ พักเป็นจังหวะๆ
ไม่ได้ใช้งานตลอดเวลา และใช้โทรสนทนาบ้างเล็กน้อย
ก็ปรากฏว่าแบตเตอรี่จะหมดลงภายในเวลาประมาณ
1 วันครึ่ง ซึ่งก็ถือว่าไม่ผิดปกติแต่อย่างใด
สำหรับการใช้งานที่ค่อนข้างหนัก แต่ถ้าไม่ได้กดใช้งานมากมายนัก
เน้น Stand-By รับสายเป็นส่วนใหญ่ ก็จะอยู่ได้ประมาณ
3 วันสบายๆ
- รองรับการใช้งานภาษาไทย : ความสามารถทางด้านภาษาไทยของ
Nokia 6630 ถือว่าเป็นการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้มากเลยทีเดียว
ซึ่ง Nokia 6630 ได้มีติดมาให้พร้อมอย่างเต็มรูปแบบ
ไม่ว่าจะเป็นเมนูภาษาไทย พิมพ์-อ่านข้อความภาษาไทย
ระบบสะกดคำอัตโนมัติภาษาไทย ส่วนเรื่องขนาดของตัวอักษร
ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษนั้นจะมีขนาดที่เล็กลงกว่ารุ่นก่อนอย่าง
7610 หรือ 6670 อยู่บ้าง แต่จากการใช้งาน
ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด สามารถมองเห็นได้ชัดเจนปกติดี
- โปรแกรม Real Player สำหรับเปิดดูไฟล์บันเทิง
: เป็นโปรแกรมที่รองรับการเปิดเล่นไฟล์มัลติมีเดียได้หลากหลายรูปแบบ
เริ่มตั้งแต่ไฟล์เสียงและไฟล์เพลงแบบ MP3,
AAC, AMR และไฟล์วีดีโอแบบ 3GP, MP4,
MPEG-4, H.263 ซึ่งคุณภาพเสียงที่ได้จากลำโพง
Speakerphone ที่ติดตั้งมากับเครื่องนั้น
ถือว่าไพเราะกว่ารุ่นก่อนๆ อย่างรู้สึกได้
แต่ก็ยังไม่หนักแน่นมากเท่าที่ควร จะเด่นก็ตรงเสียงใสๆ
เสียมากกว่า แต่ถ้าหากฟังโดยผ่านการใช้หูฟัง
Stereo ที่แถมมาให้ในกล่อง ก็จะพบกับความแตกต่างอย่างชัดเจน
เนื่องจากมีความหนักแน่น สดใสไพเราะชัดเจน
เบสนุ่มลึก และที่สำคัญคือเป็นเสียงแบบ Stereo
จึงมีมิติมากกว่ารุ่นก่อนๆ อย่าง Nokia 6600/7610
หรือ 6670 อย่างเห็นได้ชัด
สรุปส่งท้าย
Nokia 6630 ถือว่าเป็นมือถือที่มีราคาเปิดตัวค่อนข้างสูง ซึ่งจริงๆ
แล้วด้วยความสามารถที่เพิ่มขึ้นมา ไม่น่าที่จะทำให้ราคาเปิดตัวสูงขนาดนี้
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ชื่นชอบมือถือที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม
ตั้งแต่ระบบปฏิบัติการ Symbian OS 8.0 ซึ่งเป็นเวอร์ชันใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเวอร์ชันเดิมๆ,
ระบบการเชื่อมต่อระดับไฮเอนด์ พร้อมรองรับระบบเครือข่ายแบบ
3G ทั้ง WCDMA, EDGE หรือ Bluetooth,
ระบบเสียงที่พัฒนาขึ้นจากรุ่นก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด,
การรองรับภาษาไทยอย่างเต็มรูปแบบโดยไม่ต้องลงโปรแกรมเพิ่มเติม
และที่สำคัญคือกล้องดิจิตอลติดมือถือความละเอียดสูงระดับ
1.3 ล้าน Pixels ที่คุณภาพของรูปที่ถ่ายออกมาไม่ผิดหวัง
และคุณสมบัติอื่นๆ อีกมากมาย ก็อาจจะยอมเพิ่มงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย
เพื่อให้ได้มาซึ่งมือถือรุ่นที่ถูกใจ
แต่ถึงแม้ว่า
Nokia 6630 จะเป็นโทรศัพท์มือถือที่ดูเหมือนจะเพียบพร้อมไปเสียทุกด้าน
มันก็ยังมีจุดด้อยอยู่บ้างเช่นกัน เช่น ไม่มีวิทยุ
FM Stereo ในตัว หรือการ์ดหน่วยความจำยังเป็นแบบใหม่ที่ยังไม่มีขาย
และหากเริ่มมีขายเมื่อไหร่ ราคาก็อาจจะสูงกว่าหน่วยความจำแบบเดิมอีกด้วย
ซึ่งก็คงต้องติดตามข่าวคราวกันต่อไป
คะแนน TMC Point
การออกแบบดีไซน์ : 8.5/10
ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพ : 8.0/10
คุณสมบัติเครื่อง : 9.0/10
ฟังก์ชันการใช้งาน : 9.0/10
เสถียรภาพและประสิทธิภาพในการใช้งาน : 8.5/10
ราคาคุ้มค่า : 6.5/10
คะแนนรวม 8.25/10
สรุปคุณสมบัติเครื่อง
ท่านสามารถตรวจสอบคุณสมบัติแบบสรุป (Specification) และแสดงความคิดเห็นกับ Nokia
6630 ได้โดยการคลิ๊กที่ Link ด้านล่างนี้
Nokia
6630 Specification
***
สำหรับตัวอย่างภาพถ่ายที่ถ่ายได้จากกล้องของ
Nokia 6630 ในรูปแบบต่างๆ นั้น ท่านสามารถเข้าชมได้ที่นี่
Nokia
6630 Camera Test
***
ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตาม
Oska (Thaimobilecenter Editor) : [email protected]
:: ไปหน้าแรกเว็บไซต์ Thaimobilecenter ::
|