Sony Ericsson P800 Focus
& Review
Overview

สาเหตุที่ phone mag เล่ม 12 นี้ มี review
โทรศัพท์มือถือเพียงแค่ 5 รุ่น เนื่องจาก
Sony Ericsson P800 มีความสามารถมากมายจนไม่อาจเขียนพอใน
5 หน้ากระดาษ และรูปแบบการทดสอบครั้งนี้อาจดูแตกต่างจากโทรศัพท์รุ่นอื่นเล็กน้อย
ไม่ใช่เพราะว่าผมได้ใต้โต๊ะอะไรเป็นพิเศษนะครับ
แต่เนื่องจากว่าโดยส่วนตัวแล้ว P800 เป็นโทรศัพท์ที่ผมค่อนข้างชื่นชอบมากเป็นพิเศษ
เนื่องจากความสามารถอันมากมายและความสมบูรณ์แบบของการเป็นอุปกรณ์สื่อสารชนิดพกพา
ความสามารถที่น่าสนใจและโดดเด่นของ P800 ต่างๆได้ถูกติดตั้งไว้บนระบบปฏิบัติการ
(Operating System :OS) ที่ชื่อว่าซิมเบียน
(Symbian) ทำให้ตัวแอพพลิเคชั่นต่างๆมีความยืดหยุ่นต่อการใช้งานมากขึ้น
ทางด้าน hardware ของเครื่องเองก็มีการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆภายในอย่างเต็มที่
ได้แก่ กล้องดิจิตอล , โมเด็ม , ลำโพง handsfree
, อินฟราเรดพอร์ต , bluetooth และ หน่วยความจำภายนอก
(memory stick) อันทำให้ P800 สามารถใช้งานเพื่อการสื่อสารหรือความบันเทิงได้อย่างเต็มที่
ซึ่งจะกล่าวถึงโดยละเอียดต่อไปครับ
Physical Aspect

Touch Screen with Removable Flip
สิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับ P800 จากโทรศัพท์มือถือทั่วๆไปคือการผสมผสานระหว่าง
คอมพิวเตอร์พกพา (PDA) และโทรศัพท์มือถือเข้าด้วยกัน
โดยการสั่งงานเกือบทั้งหมดนั้นจะกระทำผ่านหน้าจอระบบสัมผัส
(touch screen) ควบคู่ไปกับการใช้ stylus
(ปากกาสำหรับหน้าจอระบบสัมผัส) เหมือนดังเช่นในเครื่อง
PDA ทั่วๆไป แต่สิ่งที่พิเศษกว่าเครื่อง PDA
ก็คือการนำแผงปุ่มกดมาประกอบการใช้งานเพื่อให้คงความคุ้นเคยต่อผู้ใช้ในการเป็นโทรศัพท์มือถือ
และยังช่วยให้ใช้งานตัวเครื่องได้ในทุกๆสถานการณ์
ไม่ว่าจะขณะขับรถ , ขณะเดิน หรือขณะที่มือว่างเพียงข้างเดียว
โดยลักษณะการทำงานของแผงปุ่มกดนี้ เมื่อเรากดปุ่มใดเข็มที่อยู่ด้านใต้ปุ่มจะจิ้มไปยังหน้าจอแทนการใช้
stylus แต่ถ้าหากผู้ใช้ต้องการจะใช้งาน stylus
ก็สามารถเปิดฝาพับขึ้นมาและเขียนสิ่งต่างๆด้วยลายมือได้
นอกเหนือจากนี้ หากใครที่ถนัดพกพาตัวเครื่องชนิดที่ไม่อยากให้มีปุ่มกดมาเกะกะ
ก็สามารถถอดฝาพับออกไปและเปลี่ยนมาใช้โหมด
virtual flip แทนได้เช่นกัน ด้วยโหมด virtual
flip นี้ จะเป็นการจำลองปุ่มตัวเลขที่หน้าจอเสมือนกับการใช้แผงปุ่มกดทุกประการ
โดยผู้ใช้สามารถใช้นิ้วของตนกดหมายเลขต่างๆที่หน้าจอโดยตรงแทนการใช้
stylus หรือแผงปุ่มกดได้ จะเห็นได้ว่าการใช้งานใน
3 รูปแบบ (ปิดฝา,เปิดฝา และ การจำลองปุ่มกด)
มีความยืดหยุ่นและสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกันของผู้ใช้แต่ละคนได้อย่างลงตัวมากครับ

One hand concept ข้อเสียส่วนใหญ่ที่ผมมักจะพบเจอในโทรศัพท์ประเภทลูกผสมระหว่าง
PDA กับ มือถือ ก็คือความลำบากที่ต้องใช้สองมือในการควบคุมการทำงานของเครื่อง
แต่สำหรับ P800 แล้ว หากคุณได้ทดลองใช้สักครั้งจะทราบได้ถึงจุดประสงค์หลักในการออกแบบตัวเครื่องให้มีลักษณะของทรงฝาพับเช่นนี้
เพราะเราคงต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าการใช้งานโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่
จะเป็นการใช้งานเมื่ออยู่นอกสถานที่ เพราะฉะนั้นย่อมมีโอกาสสูงที่จะต้องใช้งานด้วยมือเพียงข้างเดียว
เช่นขณะเดินกลางท้องถนนและมีสายเข้ามาเป็นต้น
การที่จะมาเสียเวลาใช้ stylus ค่อยๆจิ้มไปที่หน้าจอจะเป็นความน่ารำคาญต่อการใช้งานเป็นอย่างมาก
แต่กับ P800 แล้ว ไม่ว่าคุณจะรับสาย หรือแม้กระทั่งพิมพ์ข้อความขณะเดิน
หรือเข้าเมนูต่างๆของเครื่อง ก็สามารถสั่งผ่านปุ่มกดต่างๆควบคู่ไปกับปุ่ม
JOG dial 3 ทิศทาง ด้านข้างตัวเครื่องได้อย่างคล่องแคล่ว
โดยปุ่ม JOG dial จะทำหน้าที่เลื่อนเคอร์เซอร์ขึ้น-ลง
และยืนยันรายการต่างๆ รวมไปถึงการเป็นคีย์ลัดสำหรับสั่งงานด้วยเสียงอีกด้วย
ทั้งนี้การใช้งานด้วยปุ่มกดแบบปิดฝาก็ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานบางแอพพลิเคชั่น
เช่นไม่สามารถเปิดดูรูปภาพได้ แต่โดยรวมแล้วแอพพลิเคชั่นกว่า
70% สามารถสั่งงานผ่านปุ่มกดได้ครับ

Integrated Communicam กล้องถ่ายภาพดิจิตอลที่มีอยู่ใน
P800 มีความสามารถในการถ่ายภาพสูงสุดในระดับ
VGA หรือ 640 x 480 พิกเซล ในรูปแบบการบีบอัดไฟล์ชนิด
JPEG (.jpg) ที่จำนวนสี 16 ล้านสี (24 bit)
ขั้นตอนการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลของ P800
ก็ง่ายมาก เพียงแค่เปิดโหมดถ่ายรูปด้วยปุ่ม
CAM ด้านข้างตัวเครื่อง (หรือสั่งผ่านเมนูก็ได้)
ภาพจะถูกถ่ายทอดออกมาทางหน้าจอเสมือน viewfinder
เมื่อได้มุมที่ต้องการแล้วก็กดปุ่มเดิมอีกครั้งเพื่อบันทึกภาพ
เพียงเท่านี้ภาพที่ถ่ายได้จะบันทึกลงในหน่วยความจำของเครื่องเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆต่อไป
แต่ด้วยข้อจำกัดของหน้าจอ P800 ที่สามารถแสดงผลภาพได้เพียง
4,096 สี (12 bit) ภาพที่ปรากฏบนหน้าจอ P800
จึงอาจไม่ชัดเท่ากับการดูผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ครับ
ส่วนการที่จะถ่ายได้กี่รูปนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าถ่ายด้วยคุณภาพระดับใด
และบันทึกลงในหน่วยความจำใด แต่โดยประมาณแล้วจะอยู่ที่
50-70 กิโลไบต์ต่อภาพเมื่อปรับโหมดความละเอียดสูงสุดครับ
(1 เมกะไบต์ = 1024 กิโลไบต์)

Loudspeaker หากสังเกตให้ดี เมื่อพลิกดูที่ด้านหลังตัวเครื่องจะพบกับลำโพงเล็กๆสำหรับเสียงเรียกเข้า
และไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ เช่นฟังเพลง MP3
ออกผ่านลำโพง , เปิดฟังข้อความเสียงที่แนบมากับ
MMS หรือฟังเสียงที่ได้บันทึกไว้ นอกจากนี้ยังใช้สำหรับการสนทนาแบบไม่ต้องยกหู
(handsfree mode) ซึ่งผู้ใช้สามารถเปิดโหมดนี้ได้อัตโนมัติ
โดยการเปิดฝาพับเท่านั้น กล่าวถึงประสิทธิภาพของเสียงที่ออกมาจากลำโพงมีความนุ่มนวล
และไพเราะดีมาก แต่อาจจะเบาไปสักเล็กน้อยเมื่อใช้เล่นไฟล์เสียงเรียกเข้าประเภท
polyphonic ครับ

Internal & External memory
กล่าวถึงหน่วยความจำ (memory) สำหรับเก็บข้อมูลต่างๆของ
P800 จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ซิมการ์ด
, หน่วยความจำภายในเครื่องขนาด 12 เมกะไบต์
และ หน่วยความจำเสริมภายนอก (external memory)
สำหรับหน่วยความจำประเภทหลังนี้จะแถมมาให้ในกล่องพร้อมตัวเครื่อง
ซึ่งตัวที่แถมมานี้มีขนาด 16 เมกะไบต์ แต่ถ้าหากต้องการมากกว่านี้
เราก็สามารถหาซื้อเพิ่มเติมต่างหากได้ โดยหน่วยความจำขนาดใหญ่สุดที่เครื่องรองรับคือ
128 เมกะไบต์ ข้อเสียบางประการสำหรับหน่วยความจำก็คือ
P800 จะสามารถใช้ external memory ได้เพียงยี่ห้อเดียวคือ
memory stick ของโซนี่ และยังต้องเป็นชนิดสั้นรุ่นใหม่ด้วย
แต่สำหรับผู้ที่มีอุปกรณ์ดิจิตอลต่างๆของโซนี่อยู่แล้วอาจนับเป็นข้อดีมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากสามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ เช่นอาจนำ
memory stick ของกล้องถ่ายรูป(ดิจิตอล) หรืออุปกรณ์อ่านหน่วยความจำมาใช้ด้วยกันได้ครับ
ประโยชน์ของ external memory นี้ จะมีไว้สำหรับเก็บไฟล์ต่างๆที่มีขนาดใหญ่
เช่น ไฟล์เพลง MP3 ไฟล์วิดีโอ หรือภาพถ่ายต่างๆจากกล้องในเครื่อง
ซึ่งเราสามารถสั่ง copy ไปมาระหว่างหน่วยความจำในเครื่องกับ
external memory ได้โดยเมนูใน P800 โดยตรงด้วยครับ

Menu Navigation เมนูของ P800 จะใช้วิธีการจัดกลุ่มออกเป็นประเภทต่างๆซึ่งผู้ใช้สามารถกำหนดได้ด้วยตัวเอง
เช่น กลุ่ม Tools จะประกอบไปด้วย เครื่องคิดเลข
และโปรแกรมบันทึกเสียง เป็นต้น และเมื่อต้องการจะเรียกดูก็สามารถดูเพียงประเภทใดประเภทหนึ่ง
หรือทั้งหมดได้ตามรูปแบบของ Symbian OS นอกจากนี้ในแถบเมนูข้างบนผู้ใช้ยังสามารถกำหนดเมนูที่ใช้บ่อยแยกออกมาต่างหากได้อีก
5 รายการ กล่าวโดยรวมแล้ว เมนูของ P800 ค่อนข้างใช้งานได้ง่ายและเข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
โดยในแต่ละหน้าจอจะมีการวาง menu bar ไว้ด้านบน
และ status bar สำหรับการแสดงสถานะ หรือแอพพลิเคชั่นส่วนกลางต่างๆไว้ด้านล่าง
เช่น หน้าจอจำลองแป้นคีย์บอร์ด (virtual keyboard)
, นาฬิกา , แบตเตอรี่ , เสียงลำโพง และระดับสัญญาณเป็นต้น
แต่การใช้งานเมนูยังมีข้อเสียที่สำคัญในบางเมนูที่ไม่มีปุ่มถอยหลังไปยังเมนูลำดับก่อนหน้า
สำหรับหน่วยประมวลผลที่ P800 ใช้คือโปรเซสเซอร์รุ่น
ARM9 ซึ่งประมวลผลทั่วๆไปที่ไม่ใช่งานเอกสารได้รวดเร็วทันใจดีมากครับ
All Features
Third party application support
ด้วยความที่ P800 ใช้ระบบปฏิบัติการ
Symbian 7.0 จึงเป็นที่แน่นอนที่จะมีความสามารถในการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่เขียนด้วยภาษาจาวา
(JAR/JAD ไฟล์) มาทำการติดตั้งลงเครื่อง วิธีการนำเข้าก็มีด้วยกันหลายวิธี
ได้แก่ อินฟราเรดพอร์ต , สายดาต้าเคเบิ้ล
, bluetooth หรือ browser และจากอุปกรณ์มาตรฐานที่ให้มาในกล่องเองก็เพียงพอต่อการติดตั้งโปรแกรมอย่างง่ายที่สุด
โดยการดาวน์โหลดด้วยสายดาต้าฯผ่านแท่น synchronize
(synchronize station) วิธีการก็คือให้เราลงโปรแกรม
PC suite ที่อยู่ในแผ่นซีดีซะก่อน หลังจากนั้นก็ต่อสาย
USB ของแท่น synchronize กับคอมพิวเตอร์ และวางโทรศัพท์ลงบนแท่น
sync. เพื่อทำการโหลดไฟล์ลงใน P800 นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิธีการดาวน์โหลดไฟล์ด้วย
browser มาเก็บไว้ในเครื่องและสั่งติดตั้งด้วยเมนูใน
P800 โดยตรงได้เช่นกัน และเพื่อให้เห็นภาพพจน์ชัดเจนยิ่งขึ้น
ผมจึงได้ทดลองนำโปรแกรมต่างๆที่อยู่ในแผ่นซีดีรอม
multimedia ซึ่งแถมมาในกล่องมาติดตั้งอันได้แก่โปรแกรม
viewer เป็นโปรแกรมสำหรับดูไฟล์เอกสารประเภทต่างๆ
เช่น text file , microsoft word , excel
, powerpoint และ acrobat reader (.pdf) จากที่ได้ทดลอง
copy ตัวอย่างไฟล์เอกสารจากในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผมไปเก็บไว้ใน
memory stick ของ P800 และเปิดดูด้วย viewer
ก็ไม่พบปัญหาใดๆนอกจากปัญหาในการแสดงผลภาษาไทย
สำหรับโปรแกรมที่เหลือซึ่งได้ทดลองติดตั้งลงนั้นจะเป็นเกมส์อีก
2 เกมส์คือ Men In Black 2 (MIB2) กับเกมส์
Stuntrun ซึ่งเป็นเกมส์สามมิติที่จะขอกล่าวถึงในหัวข้อต่อไปครับ

Voice Recognition P800 มีความสามารถในการจดจำคำสั่งเสียงต่างๆของผู้ใช้
เพื่อการควบคุมการทำงานของเครื่องด้วยคำสั่งเสียง
(voice command) เช่น เมื่อมีสายเรียกเข้า
เพียงพูดคำว่า "รับสาย" หรือ "ไม่รับสาย"
ตัวเครื่องก็จะทำหน้าที่กดปุ่มรับสายหรือส่งสัญญาณไม่ว่างให้โดยอัตโนมัติ
เหมาะแก่การใช้งานในโหมด virtual flip มาก
เนื่องจากไม่ต้องมองที่หน้าจอหรือกดปุ่มใดๆเลย
และสำหรับการโทรออก เราก็สามารถโทรออกด้วยคำสั่งเสียง
(voice dial) โดยการอัดคำสั่งเสียงที่สัมพันธ์กับหมายเลขที่ต้องการไว้ล่วงหน้าเช่นเดียวกับ
voice command นอกจากนี้ยังมีระบบ magic word
ซึ่งเป็นระบบการสั่งงานด้วยเสียงอีกระดับชั้นสำหรับการเปิดโหมดรับ
voice dial แทนการกดปุ่ม JOG dial ด้วยมือ
ลักษณะการทำงานของระบบ magic word ก็คือ ตัวเครื่องจะคอยดักจับเสียงต่างๆ
รอบเครื่องตลอดเวลาและค้นหาว่าตรงกับรูปแบบคำสั่งพิเศษที่บันทึกไว้หรือไม่
ถ้าหากมีรูปแบบเสียงที่ตรงกับคำสั่งพิเศษก็จะทำการเปิดโหมดรับ
voice dial โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องกดปุ่มใดๆที่ตัวเครื่องเลยแม้แต่น้อย
ยกตัวอย่างเช่น เราวางเครื่องไว้ที่โต๊ะทำงาน
และพูดคำว่า "พีแปดร้อย" ซึ่งเป็นคำสั่งของ
magic word เครื่องจะส่งสัญญาณ beep หนึ่งครั้ง
เราจึงพูดชื่อที่ต้องการให้เครื่องหมุนหมายเลขให้อัตโนมัติ
เช่น "สมชาย" เป็นต้น จะเห็นได้ว่าระบบสั่งงานด้วยเสียงของ
P800 ช่วยให้ผู้ใช้สามารถโทรออกไปยังหมายเลขต่างๆได้โดยไม่ต้องสัมผัสตัวเครื่องหรือกดปุ่มใดๆเลยแม้แต่น้อยครับ
Handwriting Recognition การป้อนข้อมูลเช่นตัวอักษรหรือตัวเลขลงใน
P800 สามารถทำได้ 3 วิธี ตามความถนัดของผู้ใช้แต่ละคน
คือ 1.ใช้ปุ่มกด (physical keypad) 2. การพิมพ์ด้วยคีย์บอร์ดจำลอง
(virtual keyboard) และ การเขียนด้วยลายมือ
(handwriting recognition) ซึ่งหากใครที่เคยใช้เครื่อง
PDA มาก่อนแล้วคงจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี รูปแบบการเขียนด้วยลายมือของ
P800 จะใช้หน้าจอ touch screen ทุกส่วน โดยส่วนบนจะเป็นพื้นที่สำหรับเขียนตัวเลข
และส่วนล่างสำหรับการเขียนตัวอักษร แต่ถ้าหากใครที่ถนัดแบบเก่าก็สามารถพิมพ์ข้อความโดยกดผ่านแป้นตัวเลขธรรมดาได้
เพียงแต่จะใช้วิธีนี้กับบางโหมดไม่ได้ เนื่องจากต้องปิดฝาพับ
โดยรวมแล้วระบบการเขียนด้วยลายมือของ P800
สามารถใช้งานได้คล่องแคล่วและแม่นยำ และถึงแม้รูปร่าง
stylus จะค่อนข้างเล็ก แต่ก็จับได้ถนัดมือดีมากครับ


Image viewer หลังจากที่เราได้ถ่ายรูปด้วยกล้องที่มีอยู่ใน
P800 แล้ว ภาพต่างๆจะทำการบันทึกอัตโนมัติลงในเครื่อง
ซึ่งเราสามารถจะเปิดดูรูปภาพได้โดยตรงด้วย
P800 ความสามารถของโปรแกรมดูรูปภาพนี้ได้แก่
การย่อและขยายรูปภาพให้สามารถดูได้พอดีกับขนาดของหน้าจอ
(fit image) , สามารถดูภาพขนาดเท่าจริงได้
และดูภาพตัวอย่างแบบ thumbnail ได้ด้วย นอกจากนี้แล้ว
เรายังสามารถนำไฟล์รูปภาพต่างๆที่อาจได้รับผ่าน
MMS หรืออี-เมล์ นอกเหนือไปจาก JPEG มาเปิดดูในเครื่องได้โดยตรง
ได้แก่ไฟล์ประเภท BMP , GIF(ทั้งภาพนิ่งและเคลื่อนไหว)
, MBM , PNG , WBMP และถ้าหากอยากจะส่งต่อภาพใดก็สามารถเลือกวิธีได้หลากหลายอันได้แก่
ส่งผ่านอินฟราเรดพอร์ต , bluetooth , MMS
, อี-เมล์ , สายดาต้า หรือทำสำเนาไปยัง memory
stick ก็ได้ครับ
Audio player แอพพลิเคชั่นมาตรฐานสำหรับเปิดฟังไฟล์เสียงประเภทต่างๆของ
P800 มีความสามารถค่อนข้างหลากหลาย โดยสามารถเปิดฟังเสียงจากไฟล์ประเภท
WAV , AU , AMR , MIDI และกระทั่งเพลง MP3
ออกผ่านลำโพงของตัวเครื่องได้โดยตรง นั่นหมายความว่า
เราสามารถนำไฟล์เพลง MP3 ต่างๆมาเก็บไว้ใน
memory stick และเปิดเพลงผ่านลำโพงหรือจะใช้หูฟัง
(ชนิดคู่) ที่แถมมากับตัวเครื่องฟังแบบส่วนตัวก็ได้
ซึ่งคุณภาพเสียงของหูฟังที่ให้มานี้ก็อยู่ในระดับดีมาก
เนื่องจากให้เสียงเบสที่หนักแน่นและเสียงกลางกับเสียงสูงที่ใสชัดเจน
ไม่เสียชื่อโซนี่ที่เป็นผู้นำด้านเครื่องเสียงเลยครับ
แต่ทั้งนี้เนื่องจาก Audio player เป็นแอพพลิเคชั่นมาตรฐานที่มีไว้สำหรับการจัดการไฟล์เสียงเท่านั้น
ไม่ได้เอาไว้ฟัง MP3 โดยตรงจึงยังมีข้อเสียที่ไม่สามารถเปิดเพลงฟังพร้อมกับสลับไปทำงานประเภทอื่นได้
และถ้าหากเราปิดฝาพับเพลงก็จะปิดลงไปด้วยเช่นกัน
ซึ่งคงต้องรอดูว่าจะมีแอพพลิเคชั่นสำหรับฟังเพลงให้ดาวน์โหลดมาติดตั้งในอนาคตหรือไม่ครับ
Video player นอกเหนือไปจากความสามารถในการฟังเพลง
เปิดดูภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว (GIF animation)
ต่างๆได้แล้ว P800 ยังสามารถเปิดไฟล์วิดีโอประเภท
MP4 ซึ่งจะเริ่มมีบทบาทที่สำคัญสำหรับวิวัฒนาการของโทรศัพท์มือถือในปีนี้ที่เราจะได้เห็นกันในอนาคตอันใกล้
เนื่องจากเราสามารถดาวน์โหลด (over the air)
วิดีโอมาเปิดชมในเครื่องได้โดยตรงด้วย video
player ที่ P800 ติดตั้งมาให้ล่วงหน้าเรียบร้อย
และด้วยลำโพงในตัวหรือหูฟังของ P800 จะทำให้คุณรับชมภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงประกอบได้อย่างสมบูรณ์แบบครับ
(อ่านข้อมูลเพิ่มเติมในบทความ vMMS เล่ม 10-11)
Intregrated browser สิ่งที่ผมค่อนข้างชอบมากเป็นพิเศษใน
P800 ก็คือ browser ที่มีอยู่ในเครื่อง คุณสมบัติของ
browser ตัวนี้ สามารถเปิดชมเว็บไซต์ต่างๆ
ได้เหมือนกับ browser ที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์
เช่น internet explorer หรือ netscape เป็นต้น
เนื่องจากรองรับมาตรฐาน HTML3.2 เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน หรือกำลังเคลื่อนที่อยู่
ก็สามารถติดตามข่าวสารจากทางอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา
อีกทั้งใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยากเหมือนกับ PDA
ทั่วไปเพราะ P800 รวมโมเด็มและ browser ไว้ในเครื่องเดียวกัน
และในระหว่างที่ใช้งาน browser ถ้าหากเราเจอภาพใดปรากฏที่หน้าจอแล้วถูกใจก็สามารถ
save ลงเครื่องเพื่อนำมาใช้งานต่างๆได้ทันที
หรือจะดาวน์โหลดไฟล์ต่างๆเช่น ไฟล์เสียงเรียกเข้า
, จาวาแอพพลิเคชั่น มาติดตั้งในเครื่องก็ยังได้
ทั้งนี้ browser ของ P800 ยังสามารถเปิดเอกสารประเภทอื่นๆนอกเหนือจากเอกสาร
HTML ได้แก่ WML1.3 , WBXML , xHTML และ cHTML
ได้ด้วย แต่ด้วยเวอร์ชั่น R1B ของเครื่องที่นำมาทดสอบทำให้ยังไม่สามารถแสดงผลภาษาไทยได้ครับ
Picture Phonebook สมุดโทรศัพท์ของ
P800 มีการจัดแบ่งรายชื่อออกเป็นกลุ่มต่างๆ
กลุ่มละ 3 ตัว โดยเรียงตามตัวอักษรนำหน้า
ทำให้ง่ายต่อการเข้าถึงหรือดูข้อมูล อีกทั้งยังสามารถเรียกดูรายชื่อต่างๆที่จัดเก็บอยู่ในซิมการ์ดได้โดยง่าย
รายชื่อต่างๆที่ได้บันทึกลงในหน่วยความจำของเครื่องจะสามารถใส่รายละเอียดอื่นๆนอกเหนือไปจากหมายเลขโทรศัพท์ได้มากมายเสมือนการจัดเก็บนามบัตร
ได้แก่หมายเลขโทรศัพท์ 4 หมายเลข , อี-เมล์
, ที่อยู่ทางไปรษณีย์ , ตำแหน่งงาน และนอกจากนี้ยังมีระบบค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดและสามารถกำหนดลักษณะพิเศษให้กับแต่ละรายชื่อได้แก่
การกำหนดเสียงเพลงเรียกเข้าให้แตกต่างจากรายชื่ออื่น
และการนำภาพถ่ายมาประกอบรายชื่อ ซึ่งเมื่อรายชื่อดังกล่าวโทรเข้ามาก็จะมีเสียงเรียกเข้าเฉพาะตัวและแสดงรูปภาพที่หน้าจอแทนหมายเลข
ทั้งนี้การจัดเก็บรายชื่อต่างๆจะถูกบันทึกลงในหน่วยความจำของเครื่อง
เพราะฉะนั้นจำนวนสูงสุดที่บันทึกได้จึงขึ้นอยู่กับหน่วยความจำที่เหลือของเครื่องครับ
Messaging ทางด้านระบบการรับ-ส่งข้อความของ
P800 จะมีความสามารถมากมายและหลากหลายด้าน
ไม่ว่าจะเป็นการรับ-ส่งอี-เมล์ (E-mail client)
, MMS , EMS หรือ SMS ธรรมดาก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือการดาวน์โหลดอี-เมล์ลงในเครื่อง
ซึ่งสามารถดาวน์โหลดมาได้ทั้งฉบับรวมถึงไฟล์ที่แนบมาด้วย
ในส่วนของ MMS จะมี template สวยๆให้เลือกใช้
รวมถึงสามารถดาวน์โหลด template ด้วย browser
หรือสายดาต้ามาเก็บไว้ในเครื่องก็ได้ด้วย
นอกจากนี้เรายังสามารถนำภาพถ่ายที่ได้ถ่ายเก็บไว้ในหน่วยความจำของเครื่อง
, ไฟล์เสียง รวมไปถึงเสียงที่บันทึก (voice
memo) แนบไปกับ MMS หรืออี-เมล์ได้โดยตรง
ซึ่งเมื่อผู้รับเปิดดูก็จะเห็นภาพถ่ายพร้อมเสียงของผู้ส่งไปด้วยครับ
Polyphonic ringtone รูปแบบเสียงเรียกเข้าของ
P800 ค่อนข้างจะยืดหยุ่นมาก โดยผู้ใช้สามารถนำเอาไฟล์
MIDI หรือ WAV มาใช้เป็นเสียงเรียกเข้าได้ตามต้องการ
เสียงที่ออกมาจะค่อนข้างนุ่มนวลและไพเราะดีมาก
แต่จะไม่ดังเหมือนกับเสียงแบบ monophonic
การปรับความดังหรือเปิด-ปิดเสียงเรียกเข้าก็สามารถทำได้ง่ายแม้จะไม่มี
profile เพียงคลิ๊กที่รูปลำโพงบริเวณ status
bar หรือใช้ JOG dial เลื่อนปรับความดังเสียงก็ได้ครับ
Jotter เป็นอีกหนึ่งแอพพลิเคชั่นที่ผู้ใช้
PDA มักจะติดตั้งกันทุกคน เนื่องจากเป็นโปรแกรมที่ผู้ใช้สามารถวาดรูปภาพ
หรือแผนที่ลงไปบนหน้าจอเหมือนกับการวาดภาพลงบนกระดาษธรรมดา
อีกทั้งยังใส่สีสันและน้ำหนักเส้นได้ตามใจชอบ
เมื่อวาดเสร็จแล้วก็สามารถส่งต่อผ่านอินฟราเรด
, bluetooth , อี-เมล์ หรือแนบไปกับข้อความ
MMS ก็ได้ครับ
Calendar and Orgnizer ปฏิทินของ
P800 เป็นปฏิทินที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับในเครื่อง
Palm หรือ PocketPC โดยมีการจัดการข้อมูลที่สมบูรณ์แบบมาก
เช่น มีระบบค้นหารายการทั้งหมดด้วยคำสัมพันธ์
หรือการสำรองข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ (backup
and restore) รูปแบบการแสดงผลของปฏิทินจะดูได้ใน
3 มุมมอง คือแบบวัน , สัปดาห์ และแบบเดือน
นอกจากนี้เรายังสามารถบันทึกสิ่งที่ต้องทำต่างๆ
(Task) พร้อมกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดและระยะเวลาเรียกเตือนได้อีกด้วยครับ
2 additional game packs เกมส์ที่มีอยู่ในเครื่องสองเกมส์ซึ่งติดตั้งมาล่วงหน้าได้แก่เกมส์
chess กับ solitaire ซึ่งคงไม่ต้องกล่าวถึงอะไรมาก
แต่สำหรับอีกสองเกมส์ที่อยู่ในแผ่นซีดีรอมจะเป็นเกมส์บนมือถือที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา
โดยเกมส์แรกคือเกมส์ MIB2 Alien Persuit ที่ดำเนินเนื้อเรื่องเดียวกับภาพยนตร์
Men in Black2 ลักษณะของเกมส์จะเป็นฉาก 3
มิติที่เราจะต้องยิงเอเลี่ยนในฉากให้หมด เกมส์นี้มีการเปลี่ยนอาวุธ
ต้องโหลดกระสุนใหม่ตลอดเวลา และมีเสียงประกอบขณะเล่นเกมส์ที่ดังดีมาก
ส่วนอีกเกมส์เป็นเกมส์แข่งรถชื่อว่า Stuntrun
เป็นเกมส์สามมิติเช่นเดียวกัน เกมส์นี้มีจุดเด่นอยู่ที่ระบบสั่นสะเทือนแบบ
Force Feed Back เหมือนกับจอยสติ๊กของโซนี่
เวลาที่เราเร่งเครื่องจนสุด ตกไหล่ทาง หรือกระแทกกับพื้นถนน
โทรศัพท์จะสั่นสะเทือนตามจังหวะของรถ วิธีเล่นก็เจ๋งมากครับ
จับให้ถนัดสองมือ โดยมือขวาจะต้องควบคุมพวงมาลัยด้วยปุ่ม
JOG dial ส่วนมือซ้ายก็ใช้นิ้วกดคันเร่งและปุ่มเทอร์โบบน
touch screen เลย ทั้งสองเกมส์นี้ต้องยกความดีความชอบให้กับโซนี่โดยเฉพาะเลยครับ



Data & Connectivity วิธีการเชื่อมต่อหรือรับ-ส่งข้อมูลระหว่าง
P800 กับอุปกรณ์ภายนอกนั้นมีด้วยกันหลากหลายวิธีการมากแต่แบ่งได้เป็น
2 ประเภท คือ 1. การส่งผ่านข้อมูลกับเครือข่าย
ได้แก่ SMS , EMS , MMS และ E-mail เราสามารถแนบภาพถ่าย
, ไฟล์เสียงเรียกเข้า หรือกระทั่งไฟล์งานเอกสารใดๆไปกับข้อความได้
ผ่านระบบ GPRS , HSCSD หรือ CSD ธรรมดา ส่วนวิธีที่สองคือการส่งผ่านข้อมูลกับอุปกรณ์ภายนอก
ได้แก่ Memory stick , อินฟราเรดพอร์ต , Synchronize
station (USB port) และรวมไปถึง Bluetooth
ด้วย ทั้งสามวิธีหลังนี้จะเหมาะกับการจัดการไฟล์ต่างๆในเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก
เช่น เมื่อนำมาใช้คู่กับ PC suite คุณจะสามารถสำรองข้อมูลทั้งหมดในโทรศัพท์มือถือลงคอมพิวเตอร์ได้ด้วยการ
synchronize เพื่อป้องกันข้อมูลสูญหาย และจากตัวอย่างภาพถ่ายที่ลงให้ดูนี้ก็มาจากการส่งไฟล์ออกจาก
P800 ไปยังคอมพิวเตอร์แบบไร้สายด้วย Bluetooth
อย่างสะดวกสบายมากครับ
Extras Feature แอพพลิเคชั่นที่นอกเหนือไปจากที่กล่าวมาแล้วก็ได้แก่
เครื่องคิดเลข , นาฬิกาแสดงเวลาของทั่วโลกเปรียบเทียบกับเมืองไทย
, นาฬิกาปลุก และ demo (ภาพเคลื่อนไหวสาธิตการใช้งาน)
ของ P800 ให้ดูกันเล่นๆ แต่นอกเหนือจากนี้เราก็ยังสามารถติดตั้งเพิ่มเติมลงบนระบบปฏิบัติการของ
P800 ได้ด้วยตัวเองครับ
My Experience

ผมคงต้องยอมรับว่าประทับใจกับโทรศัพท์เครื่องนี้เป็นอย่างมาก
เพราะไม่เพียงแต่จะมีความสามารถอันทันสมัยกว่าเครื่องรุ่นอื่นๆ
แต่ยังมีขนาดที่พอๆ กับ PDA ทั่วไป (ขนาดเล็กกว่าโนเกีย
7650 เล็กน้อย) อีกทั้งยังเป็นการรวมอุปกรณ์สื่อสารกับคอมพิวเตอร์พกพาไว้ด้วยกัน
ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบอย่างมากของ P800 เมื่อเปรียบเทียบกับ
PDA ทั่วไปที่ไม่รองรับระบบ GSM ในตัว เนื่องจากข้อมูลต่างๆที่คุณได้บันทึกลงไปใน
P800 นั้น สามารถเชื่อมโยงกับการสื่อสารได้ทั้งสิ้น
เช่น หมายเลขติดต่อก็สามารถโทรออกหรือส่ง
message ได้ในทันที , อี-เมล์ของเพื่อนที่จดไว้
ก็สามารถส่งไปหาได้ด้วย P800 โดยตรง แม้กระทั่งที่อยู่ทางอินเทอร์เน็ต
(URL) ก็สามารถเปิดเข้าไปชมด้วย browser ในตัวได้
และสิ่งที่ผมชอบเป็นพิเศษก็คือมันสามารถใช้งานได้ด้วยมือข้างเดียวจากแผงปุ่มกด
ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องควรจะทำได้อย่างคล่องตัว
ในบางโอกาสที่ไม่จำเป็นต้องใช้งานปุ่มกดก็สามารถถอดออกได้ด้วย
สำหรับระยะเวลาในการใช้สายและเปิดเครื่องรอรับสาย
ผมไม่มีโอกาสตรวจวัดเลยครับ เพราะตลอดระยะเวลาที่ใช้งานตั้งแต่วันศุกร์ถึงวันจันทร์ต้องกดปุ่มต่างๆเพื่อตรวจสอบความสามารถทั้งหมดของเครื่อง
ไฟที่หน้าจอจึงติดๆ ดับๆ และจะทำให้เวลาที่ตรวจวัดไม่เที่ยงตรง
แต่มีครั้งหนึ่งที่ใช้สายติดต่อกันเกือบ 2
ชั่วโมง แบตเตอรี่ยังเหลืออีก 70% เลยทีเดียวครับ
สรุป

ในภาพรวม P800 เป็นสุดยอดอุปกรณ์สื่อสารและความบันเทิงชนิดพกพาที่สมบูรณ์แบบทางเทคโนโลยีในทุกด้าน
ตัวเครื่องรองรับการติดตั้งแอพพลิเคชั่นใหม่ๆบน
Symbian OS พร้อมทั้งยังสามารถอัพเกรดหน่วยความจำได้ถึง
128 เมกะไบต์ เพื่อการใช้งานของผู้ใช้ระดับ
advanced user หรือแม้กระทั่งการใช้งานทั่วๆไปก็สามารถตอบสนองได้อย่างลงตัวด้วยแผงปุ่มกดแบบโทรศัพท์ทั่วไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากคุณกำลังหาซื้อ PDA
มาใช้กับโทรศัพท์มือถือ ขอแนะนำให้ลองพิจารณา
P800 แล้วคุณจะพบว่า Symbian OS ไม่ได้ด้อยไปกว่า
PalmOS หรือ PocketPC แต่อย่างใดเลย อีกทั้งการรวมอุปกรณ์สองชนิดเข้าด้วยกันนี้จะช่วยให้คุณพกพาได้สะดวกขึ้น
และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ
Strength
|
Weakness
|
- สามารถติดตั้งโปรแกรมเพิ่มในเครื่องได้
- ถ่ายรูปและบันทึกเสียงได้
- สามารถเปลี่ยน/เพิ่มหน่วยความจำได้
- มี bluetooth และสามารถ
sync.กับ PC ได้ -
มีระบบสั่งงานด้วยเสียง และเขียนด้วยลายมือ
- เปิดอ่านเอกสาร word,excel,powerpoint
และPDF ได้ - ฟัง MP3
ได้ - แถมอุปกรณ์เสริมครบถ้วนทุกอย่าง
|
- เครื่องที่ทดสอบยังไม่รองรับภาษาไทย
- เสียงเรียกเข้า polyphonic
ค่อนข้างเบา
|
ข้อมูลโดยรวมทั่วไป
- น้ำหนัก 158 กรัม -
ขนาด 107 x 59 x 27 มิลลิเมตร -
Triple Band 900/1800/1900 - หน้าจอ
TFT 4,096 สี - ระบบปฏิบัติการ
Symbian OS - Processor : ARM9
- หน่วยความจำภายในเครื่อง 12 เมกะไบต์
- หน่วยความจำเพิ่มเติม (Memory Stick)
สูงสุด 128 เมกะไบต์ - Internet
browser : HTML3.2 , WAP2.0 , WML1.3 , WBXML
, xHTML , cHTML - ถอดฝาพับออกและใช้โหมด
Virtual Flip ได้ - หน้าจอ touch
screen - ปุ่มควบคุมทิศทาง JOG
dial - built-in กล้องถ่ายรูปดิจิตอล
- ลำโพง handsfree สำหรับเล่นเกมส์,ฟังเพลง,เสียงเรียกเข้า
- ติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติมได้ (จาวาแอพพลิเคชั่น)
- มี viewer สำหรับอ่าน MS-word , Excel
, Powerpoint และ PDF - ระบบรับคำสั่งเสียงอัตโนมัติ
Magic word - สั่งงานด้วยเสียงและโทรออกด้วยเสียงได้
- พิมพ์ข้อความด้วยระบบ virtual keyboard
หรือลายมือ (handwriting recognition)
- มี Bluetooth1.1 และอินฟราเรดพอร์ตในตัว
- รับ-ส่งไฟล์ผ่าน MMS หรือ อี-เมล์
ได้ (POP3/IMAP4) - โปรแกรม Audio
Player ใช้ฟังเพลง MP3 ได้ - MP4
Player สำหรับการรับชมภาพเคลื่อนไหวแบบ video
streaming หรือ attachment file -
สมุดโทรศัพท์เก็บข้อมูลได้ 23 ประเภทต่อ 1
รายชื่อ - แสดงรูปภาพของบุคคลที่โทรเข้าได้
(picture CLI) - รับ/ส่ง ข้อความได้ตามมาตรฐาน
SMS/EMS/MMS - เสียงเรียกเข้าแบบ
Polyphonic และ Monophonic - วาดภาพหรือแผนที่ได้
(โปรแกรม Jotter) - ปฏิทิน 3 มุมมอง
- เกมส์มาตรฐาน 2 เกมส์ และเกมส์สามมิติในซีดีรอม
2 เกมส์ - ระบบสั่นสะเทือนขณะเล่นเกมส์
(Force Feedback) - รับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูงแบบ
GPRS/HSCSD - backup ข้อมูลแบบ
SycML ได้ - อุปกรณ์เสริมที่แถมพร้อมเครื่อง
: แท่น Synchronize , Stylus 3 อัน , สาย
USB , CD-ROM 2 แผ่น , - เครื่องคิดเลข
, World time และนาฬิกาปลุก - battery
: Li-polymer 1000 mAh. - stand
by : 400 ชม. - talk time : 13
ชม.
รายละเอียดทั้งหมดของเครื่อง
Phone Features |
รุ่น |
SonyEricsson P800 |
ขนาด |
107 x
59 x 27 |
น้ำหนัก |
158 |
ระบบ |
900/1800/1900 |
หน้าจอ |
TFT
4,096 สี (touch screen) |
สมุดโทรศัพท์ |
12 Mb.
(23 ประเภทต่อรายชื่อ) |
กลุ่มรายชื่อ |
ได้
(ไม่จำกัด) |
เปลี่ยนภาพพื้นที่หน้าจอ |
ได้ |
เปลี่ยนภาพพักหน้าจอ |
ได้ |
ตารางนัดหมาย |
ปฏิทิน
3 มุมมอง (6 สัปดาห์) |
Picture CLI |
มี |
การรับ-ส่งข้อมูล |
CSD/HSCSD/GPRS |
การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก |
IrDA/Bluetooth/USB port |
เกม |
2
เกมส์มาตรฐาน + ดาวน์โหลดเพิ่มได้ |
แฮนด์ฟรีในตัว |
มี |
กล้องดิจิตอล |
มี
(ถ่าย video clip ได้) |
วิทยุ FM |
ไม่ได้ |
ฟังเพลง |
MP3 |
J2ME |
มี |
MMS |
มี |
EMS |
มี |
E-mail |
มี
(POP3) |
WAP browser |
WAP
v.2.0 + HTML3.2 |
เมนูภาษาไทย |
ไม่มี |
อ่านข้อความภาษาไทย |
ไม่ได้ |
พิมพ์ข้อความภาษาไทย |
ไม่ได้ |
ระบบช่วยสะกดคำภาษาไทย |
ไม่มี |
ระบบช่วยสะกดคำภาษาอังกฤษ |
ไม่มี |
สั่งงานด้วยเสียง |
Magic
word + 2 command |
โทรออกด้วยเสียง |
ได้ |
บันทึกเสียง |
ได้
(ขึ้นอยู่กับหน่วยความจำ) |
profile |
ไม่มี |
เสียงเรียกเข้า |
polyphonic (wav,mid) จำนวนขึ้นอยู่กับหน่วยความจำ |
โปรแกรมแต่งเสียงเรียกเข้า |
ไม่มี |
โปรแกรมแปลงค่าเงิน |
ไม่มี
(แต่ดาวน์โหลดได้) |
เครื่องคิดเลข |
มี |
นาฬิกาจับเวลา |
ไม่มี
(แต่ดาวน์โหลดได้) |
ระบบสั่น |
มี
(Force Feedback) |
นาฬิกาปลุก |
มี |
เปลี่ยนอุปกรณ์ |
ฝาพับ
, memory stick |
talk time |
13
ชม. |
stand by |
400
ชม. |
อื่นๆ |
Symbian OS7.0 , Handwriting recognition , Digital
Cam |
ราคา |
N/A | 
ขอขอบคุณ เว็บไซต์ www.min4.com
ที่เอื้อเฟื้อเนื้อหาบทความทดสอบ และ รูปภาพ
สำหรับ โทรศัพท์มือถือ รุ่นนี้ และ
คุณกานต์ รังคสิริ เว็บมาสเตอร์ของ
www.min4.com
มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม
Oska (Thaimobilecenter Editor) : [email protected]
:: ไปหน้าแรกเว็บไซต์ Thaimobilecenter
| ไปหน้าแรก
Mobile Focus ::
|