Siemens SX1 Focus
& Review
Overview

Siemens SX1 โทรศัพท์มือถือสัญชาติเยอรมันที่ได้รับการกล่าวขานมากมายในช่วงเวลานี้
เนื่องด้วยความสามารถอันร้ายกาจที่ถูกบรรจุภายในเครื่องเพื่อให้เป็นผู้ท้าทายโนเกีย
6600 โดยเฉพาะ หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่านี่คือแฝดคนละฝากับโนเกีย
6600 ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในขณะนี้
แต่มือถือสองรุ่นนี้จะเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้างนั่นคือประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมากในเว็บบอร์ดที่ต่างๆ
จนกลายเป็นหัวข้อสำคัญสำหรับผู้ที่ติดตามเรื่องราวของมือถือมาตลอด
ซึ่งผลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้นเรามาลองไขปริศนานี้ด้วยกันครับ
Physical Aspect

Look and Feel ถ้าดูกันที่ภายนอกแล้วทั้งขนาดและรูปทรงของ
SX1 นั้นค่อนข้างใกล้เคียงกับโนเกีย 6600
มาก แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่าตัวเครื่อง
SX1 บางกว่า 6600 เล็กน้อย ซึ่งโดยรวมแล้วก็ยังจัดว่ามีขนาดที่กะทัดรัด
สามารถพกพาได้สะดวก ตัวเครื่องมีที่เกี่ยวสายคล้องคอ
ไม่มีเสาอากาศโผล่ออกมาให้เกะกะรำคาญ อีกทั้งยังให้ความรู้สึกอันแข็งแรงของตัวเครื่อง
การออกแบบโดยรวมสื่อถึงความไฮเทคภายด้วยการผสมผสานระหว่างการเคลือบเงาบริเวณปุ่มกดและความมันวาวของปุ่มจอยสติ๊ก
เสริมด้วยแสงสีฟ้าจากปุ่มกดต่างๆ ถึงแม้ SX1
จะดูไม่หวือหวาแต่ก็ดูเรียบง่ายและทันสมัยครับ

Watch them on its bright TFT display
ซีเมนส์ได้เลือกใช้หน้าจอชนิด TFT ระดับ 65,536
สีให้กับ SX1 ซึ่งเป็นหน้าจอที่มีความละเอียดสูง
แสดงผลภาพต่างๆ ได้อย่างคมชัด ความสงสัยประการหนึ่งที่ผมอยากจะรู้ก็คือระหว่างหน้าจอของโนเกีย
6600 กับ SX1 อะไรจะดีกว่ากัน ผมจึงได้ลองทำการทดสอบง่ายๆ
ด้วยการกำหนดภาพ wallpaper ให้เป็นภาพเดียวกันระหว่าง
SX1 กับ 6600 และนำมาวางเทียบกัน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าหน้าจอของ
SX1 นั้นมืดกว่า 6600 พอสมควร(แม้จะปรับแสงแล้วก็ตาม)
แต่ถ้าหากพิจารณาที่คุณภาพของรูปภาพจากหน้าจอของ
SX1 จะเห็นได้ว่าภาพมีสีสันที่นุ่มนวลและสีเข้มกว่าเล็กน้อยซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ใช้ไม่รู้สึกปวดตาเมื่อจ้องมองหน้าจอนานๆ
เช่นขณะเล่นเกม หรือพิมพ์ข้อความยาวๆ เป็นต้น
สำหรับขนาดของหน้าจอ 6600 กับ SX1 นั้นจะใกล้เคียงกันมาก
โดย 6600 จะมีหน้าจอขนาด 176 x 208 พิกเซล
ส่วน SX1 จะมีหน้าจอขนาดที่ใหญ่กว่าเล็กน้อยคือ
176 x 220 พิกเซล ด้วยหน้าจอที่มีขนาดใหญ่พิเศษกว่ามือถือทั่วไปนี้
ทำให้การแสดงผลข้อความหรือรูปภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมองเห็นได้ชัดเจนครับ

Through the menu - by joystick
ปุ่มจอยสติ๊กเงาวับของ SX1 เป็นปุ่มไว้สำหรับการเลื่อนไปยังเมนูลำดับต่างๆ
ทั้งในทิศทางบน-ล่าง-ซ้าย-ขวา และยังใช้สำหรับการกดยืนยันคำสั่งเหมือนกับปุ่มจอยสติ๊กของ
6600 ไม่มีผิด จะต่างกันก็ตรงที่วัสดุที่ใช้ทำปุ่มจอยสติ๊กของ
SX1 เป็นปุ่มเคลือบเงาทำให้การเกิดการลื่นในบางครั้งผิดกับปุ่มจอยสติ๊กที่ทำจากวัสดุคล้ายยางของ
6600 อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ไว้ใจได้ในปุ่มจอยสติ๊กของ
SX1 ก็คือมันจะไม่มีการถลอกหรือเป็นรอยขรุยจากการโดนเล็บจิกเหมือนปุ่มพลาสติกของ
6600 สำหรับในส่วนของปุ่มควบคุมอื่นๆ จะเป็นปุ่มพลาสติกใสขนาดใหญ่พิเศษอันประกอบด้วยปุ่มเข้าเมนู
(Menu Key) ปุ่มรับสาย-วางสาย ปุ่มซอฟท์คีย์
ปุ่ม cancel และปุ่ม Shift key ทุกปุ่มได้รับการออกแบบอย่างปราณีตและโค้งเว้ารับกับการใช้งานควบคู่ไปกับปุ่มจอยสติ๊กอย่างดีเยี่ยมครับ

A unique keypad arrangement ผมคงไม่ขอเถียงในประเด็นที่ว่าปุ่มตัวเลขต่างๆ
ของ SX1 นั้นมีดีไซน์ที่เป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริงแต่ทว่าความเป็นหนึ่งเดียวนี้จะดีหรือไม่นั้นมันก็เป็นอีกเรื่อง
เพราะด้วยการจัดวางปุ่ม 1 ถึง 5 ไว้ด้านซ้ายมือ
และปุ่ม 6 ถึง 0 ไว้ด้านขวามือของหน้าจอเป็นรูปแบบที่แตกต่างจากปุ่มมาตรฐานของโทรศัพท์ทั่วไปอย่างสุดโต่ง
ทำให้ผู้ใช้ต้องสร้างความคุ้นต่อการใช้งานกันใหม่หมด
ซึ่งทำให้การโทรออกหรือพิมพ์ข้อความเป็นไปอย่างยากลำบาก
และนี่คือข้อเสียสำคัญที่สุดของ SX1 ที่น่าเสียดายมากก
แต่ขณะเดียวกัน ในข้อเสียอันใหญ่หลวงนี้ผมก็พบข้อดีที่โทรศัพท์มือถือทั่วไปไม่มี
คือการนำรูปแบบการจัดวางของปุ่มกดผสมผสานกับการออกแบบ
user interface ได้อย่างมีประสิทธิภาพในบางแอพพลิเคชั่น
เช่น ในขณะฟังวิทยุ หรือฟังเพลง mp3 เราสามารถใช้ปุ่มตัวเลขด้านซ้ายและขวาสั่งงานได้เสมือนการใช้ตู้เอทีเอ็มที่มีการวางปุ่มควบคุมเอาไว้ด้านซ้าย-ขวาของหน้าจอประมาณนั้นเลยครับ
นอกจากนี้แล้ว SX1 ยังได้ติดตั้งปุ่มสำหรับเปิดโหมดถ่ายภาพและปุ่มเปิด/ปิดโหมดแฮนด์ฟรีบริเวณด้านซ้ายมือของเครื่องเพื่อให้สามารถเรียกใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็วครับ

Menu Navigation รูปแบบ user interface
ของ SX1 นั้นใกล้เคียงกับโนเกียรุ่นต่างๆ
ที่ใช้ระบบปฏิบัติการซิมเบียน (Symbian) เช่น
7650 , 3650 หรือ 6600 ค่อนข้างมาก สาเหตุประการหลักนั้นก็คือซีเมนส์ใช้ระบบปฏิบัติการ
Symbian เหมือนอย่างโนเกีย และได้พยายามออกแบบให้มีลักษณะที่เหมือนกันเพื่อให้สามารถใช้จาวาแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับ
OS60 ของโนเกียได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยสาเหตุเหล่านี้ทำให้ความรู้สึกโดยรวมจากการใช้งาน
SX1 แทบจะไม่แตกต่างจาก 6600 เลย ในส่วนของความสามารถและ
user interface ดังกล่าวนี้ ผู้ใช้สามารถเลือกใช้เมนูแบบไอคอนหรือแบบรายการได้ตามต้องการ
สามารถข้ามไปยังเมนูย่อยลำดับถัดไปได้อย่างสะดวกด้วยการเปลี่ยนแท็บ
(Tab) มีระบบการจัดกลุ่มเมนูที่ใช้บ่อยไว้ในรายการโปรด
(Favorite menu) อีกทั้งยังสามารถรันแอพพลิเคชั่นหลายตัวพร้อมกันได้
(multi tasking) เช่นเปิดเพลงฟัง พร้อมกับเข้าดูข้อมูลในเว็บไซต์ไปพร้อมๆ
กัน แต่ก็มีข้อเสียเล็กน้อยที่ไม่มีเมนูภาษาไทย
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าระดับผู้ใช้สมาร์ทโฟนอย่าง
SX1 นั้นก็ไม่น่าจะมีปัญหากับภาษาอังกฤษอยู่แล้วครับ
All Features
Camera Features ในบรรดาโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายรูปได้มากมาย
ณ วันนี้ มีโทรศัพท์เพียงไม่กี่รุ่นที่สามารถถ่ายภาพได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ
หนึ่งในจำนวนเหล่านั้นรวมถึงโนเกีย 6600 แต่เมื่อได้ทดลองถ่ายภาพด้วยกล้องของ
SX1 เปรียบเทียบกับ 6600 จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนเมื่อทำการดึงภาพจากโทรศัพท์มาเปิดเปรียบเทียบกันในคอมพิวเตอร์
โดยพบว่าภาพถ่ายจาก SX1 มีสีสันที่สดใสกว่า
และรายละเอียดบริเวณขอบภาพไม่บิดเบี้ยวไปตามความโค้งของเลนส์เหมือนอย่าง
6600 และหน้าจอที่ใช้เป็น viewfinder ยังแสดงภาพได้อย่างนุ่มนวลไม่มีอาการกระตุก
ซึ่งด้วยคุณภาพรูปถ่ายในระดับนี้เรียกได้ว่าสุดยอดมากสำหรับโทรศัพท์มือถือ
(ณ วันทดสอบ) ในส่วนของความสามารถโดยละเอียด
SX1 สามารถถ่ายภาพได้ 3 โหมดคือ Standard
(160x120 พิกเซล) , Miniature (80x96 พิกเซล)
และโหมด Full Screen (480x640 พิกเซล) ที่สามารถถ่ายภาพมุมกว้างได้อย่างน่าทึ่ง
อีกทั้งยังสามารถซูมได้ 6 ระดับ (digital
zoom) โดยการซูมจะลดคุณภาพของรูปถ่ายลงเล็กน้อยเท่านั้น
ภาพถ่ายเหล่านี้เราสามารถนำมากำหนดเป็นภาพพื้นหลังที่หน้าจอ
(wallpaper) หรือส่งต่อให้ผู้อื่นได้ในภายหลังได้
และนี่ก็คือความสามารถหนึ่งที่อาจไม่ได้รับการโปรโมทจากทางซีเมนส์มากนักแต่กลับให้สิ่งที่เกินความคาดหวังของผู้บริโภคได้มากมายทีเดียวครับ


Camcorder Features นอกจากจะสามารถถ่ายภาพนิ่งได้แล้ว
กล้องถ่ายรูปของ SX1 ยังสามารถใช้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวพร้อมบันทึกเสียงในรูปแบบ
video clip ได้อีกด้วย โดยไฟล์ที่บันทึกจะอยู่ในรูปแบบ
3gp มีความละเอียดในระดับ QCIF (176x144 พิกเซล)
ที่อัตรา 15 เฟรมต่อวินาที (15 FPS) สามารถเลือกได้ว่าจะถ่ายระยะสั้น
9 วินาทีสำหรับส่งไปกับ MMS หรือถ่ายต่อเนื่องนานกว่านั้นก็ได้
ภาพที่ถ่ายแล้วนี้เราสามารถบันทึกเก็บไว้ในหน่วยความจำของโทรศัพท์หรือบันทึกลงการ์ดหน่วยความจำเพื่อเก็บไว้ส่งต่อหรือดูเองในภายหลังก็ได้ครับ
RealOne Player ซีเมนส์ได้ติดตั้งโปรแกรม
RealOne Player สำหรับเปิดชมไฟล์ประเภทวิดีโอเช่นเดียวกับโนเกีย
6600 ทำให้ SX1 สามารถเปิดดู video clip ที่เป็นไฟล์
mp4 หรือ 3gp ได้ เพราะฉะนั้นคุณอาจดาวน์โหลดไฟล์ตัวอย่างภาพยนตร์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์และส่งเข้ามาเปิดดูในโทรศัพท์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
หรือจะดาวน์โหลดโดยตรงด้วยเบราเซอร์ของ SX1
ก็ได้เช่นกันครับ
Image Fun แอพพลิเคชั่นหนึ่งที่ผมค่อนข้างทึ่งเป็นอย่างมากใน
SX1 ก็คือแอพพลิเคชั่นสำหรับการแต่งภาพที่ชื่อ
Image Fun เพราะโดยปกติแล้วโปรแกรมแต่งภาพที่เรามักจะพบในโทรศัพท์มือถือทั่วๆ
ไปมักจะเป็นการแต่งภาพที่ใช้งานค่อนข้างลำบากและไม่มีความสามารถที่ซับซ้อนอะไรมากนัก
แต่สำหรับ Image Fun จะมีการเตรียม object
สำเร็จรูปมากมายให้ผู้ใช้เลือกใช้งาน อันได้แก่
กรอบข้อความ 9 แบบ , ไอคอน 48 แบบ และกรอบรูปอีก
12 ชนิด ซึ่งผู้ใช้สามารถจับมาวางประดับรูปถ่ายพร้อมทั้งดัดแปลงแก้ไขขนาดของวัตถุต่างๆ
เหล่านี้หรือใส่ข้อความได้ตามใจชอบ นอกจากนี้
Image Fun ยังสามารถหมุนภาพ กลับภาพ ปรับแสง
ย่อขนาดรูป และใส่เอฟเฟ็กต์บางชนิดได้อีกด้วย
เรียกได้ว่า SX1 สามารถทำได้เสร็จสรรพทุกขั้นตอนก่อนที่จะส่งไปยังอี-เมล์หรือโทรศัพท์เครื่องอื่นโดยไม่ต้องพึ่งพาคอมพิวเตอร์เลยแม้แต่น้อยครับ
Expandable Memory ซีเมนส์ SX1
มาพร้อมกับหน่วยความจำมาตรฐานภายในเครื่องขนาด
4 เมกะไบต์ถึงแม้ว่าจะดูน้อยไปสักนิดสำหรับสมาร์ทโฟนในยุคนี้ก็ตาม
แต่ผู้ใช้ก็สามารถนำการ์ดหน่วยความจำ (MMC)
มาติดตั้งเพิ่มเติมเพื่อเก็บไฟล์ขนาดใหญ่ประเภท
เพลง , video clip , รูปถ่าย หรือเกมสามมิติได้
ซึ่งสล็อตสำหรับใส่การ์ดหน่วยความจำนี้จะอยู่บริเวณด้านขวามือของตัวเครื่องทำให้ง่ายต่อการถอด-ใส่
ไม่จำเป็นต้องปิดเครื่องและถอดแบตเตอรี่ออกก่อนเหมือนอย่าง
6600 อีกด้วยครับ
Picture Phonebook สมุดโทรศัพท์ของ
SX1 มีลักษณะเหมือนกับสมุดโทรศัพท์ของ 6600
แทบทุกประการ โดยมีการจัดเก็บข้อมูลการติดต่อคล้ายกับใน
PDA ด้วยรายละเอียด 30 ประเภทต่อหนึ่งรายชื่อ
เช่น ชื่อ ที่อยู่ บริษัท เบอร์โทรต่างๆ อี-เมล์
และอื่นๆ อีกมากมาย สามารถจัดกลุ่มรายชื่อเพื่อกำหนดเสียงเรียกเข้าเฉพาะกลุ่มให้แตกต่างกัน
รวมทั้งการเลือกรับสายจากกลุ่มที่ต้องการล่วงหน้า
และนอกจากนี้ยังสามารถกำหนดภาพถ่ายขนาดใหญ่และขนาดย่อ
(thumbnail) ให้กับแต่ละรายชื่อเพื่อให้เครื่องแสดงเบอร์พร้อมรูปเมื่อมีสายเรียกเข้าได้อีกด้วย
แต่สมุดโทรศัพท์ของ SX1 ก็ยังมีข้อเสียที่ไม่สามารถดึงเบอร์โทรติดต่อต่างๆ
ในซิมการ์ดมาแสดงควบคู่ไปกับเบอร์ที่จัดเก็บในโทรศัพท์ได้พร้อมกัน
ทำให้เมื่อมีสายเรียกเข้าและเป็นเบอร์ที่อยู่ในซิมการ์ดจะไม่สามารถรู้ชื่อว่าเป็นใคร
เพราะฉะนั้นจึงควร copy ทุกรายชื่อเก็บไว้ในหน่วยความจำของเครื่องก่อนใช้งานครับ
Multimedia Messaging & E-mail
client ระบบการรับ-ส่งข้อความของ SX1
ประกอบไปด้วย 3 มาตรฐานอันได้แก่ SMS , MMS
และ E-mail โดยความสามารถและจุดอ่อนทางด้านนี้ของ
SX1 จะเหมือนกับ 6600 ทุกประการ อันได้แก่
การไม่รองรับข้อความภาษาไทย และไม่สามารถสร้างสไลด์แผ่นใหม่ในข้อความแบบ
MMS ได้ อย่างไรก็ดี ระบบ E-mail client ก็ยังเป็นช่องทางการรับ/ส่งข้อมูลที่สำคัญที่ใช้สำหรับการดาวน์โหลดหรือแนบไฟล์ต่างๆ
ส่งออกไปจากเครื่องที่สามารถทดแทนจุดด้อยดังกล่าวได้
และถ้าหากคุณต้องการใช้งานข้อความภาษาไทยจริงๆ
ก็สามารถหาจาวาแอพพลิเคชั่นสำหรับรับ/ส่ง
SMS ภาษาไทยมาติดตั้งเพิ่มเติมในภายหลังได้ครับ
Polyphonic ringtone ถ้าจะกล่าวถึงความสามารถทางด้านเสียงเรียกเข้าระหว่างโนเกีย
6600 กับ SX1 จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป
โดย SX1 จะเหนือกว่า 6600 ในแง่ของลำโพงเสียงเรียกเข้าที่ให้เสียงไพเราะกว่าเล็กน้อย
แต่จะมีข้อด้อยกว่าตรงที่ไม่สามารถนำไฟล์เพลง
mp3 มากำหนดเป็นเสียงเรียกเข้าแบบ true tone
เหมือนอย่างโนเกีย อย่างไรก็ตามผู้ใช้ยังคงสามารถดาวน์โหลดไฟล์
mid หรือไฟล์ wav (เหมือน Sagem MyX-6) ที่มีทั้งเสียงร้องและทำนอง
หรือจะใช้เสียงที่มาจากระบบบันทึกเสียงมากำหนดเป็นเสียงเรียกเข้าก็ได้เช่นกัน
(amr format) ทั้งนี้ เสียงเรียกเข้ามาตรฐานของ
SX1 ประกอบไปด้วยเพลงต่างๆ (ทั้ง wav และ
mid) จำนวน 24 เพลง ซึ่งผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดเพลงมาเก็บไว้ในหน่วยความจำของเครื่องได้อีกมากมายหลายร้อยเพลง
และสามารถแยกเสียงเรียกเข้าให้แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มรายชื่อหรือเสียงเรียกเข้าเฉพาะบุคคลก็ได้ครับ
Digital Recorder ซีเมนส์ SX1 มีโปรแกรมบันทึกเสียงที่สามารถบันทึกเสียงระหว่างสนทนาหรือเสียงทั่วไปได้ครั้งละ
2 นาที ซึ่งเราอาจใช้ประโยชน์แทนการจดบันทึกข้อความด้วยมือ
หรือจะนำมาประยุกต์ใช้เป็นเสียงเรียกเข้าที่ไม่เหมือนใครก็ได้เช่นกันครับ
MP3 player ด้วยหน่วยประมวลผลความเร็วสูงและการ์ดหน่วยความจำที่สามารถเพิ่มเติมได้จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าความสามารถที่จะตามมาคือการระบบเล่นพลง
MP3 ซึ่งทางซีเมนส์ก็ได้ติดตั้งโปรแกรม MP3
player มาให้ในตัวไม่ต้องหามาติดตั้งเพิ่มเติมในภายหลังเหมือนกับโนเกีย
6600 อีกทั้งการประมวลผลยังให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าแอพพลิเคชั่นที่นำมาติดตั้งเพิ่มเติมเหมือนอย่างของ
6600 (จากที่ได้ทดลองติดตั้งแอพพลิเคชั่นเดียวกับ
6600 ลงใน SX1 เปรียบเทียบกับโปรแกรม MP3
player ในตัวของ SX1) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้หูฟังคุณภาพสูงของซีเมนส์ที่ให้เสียงดีกว่าเครื่องเล่นซีดีพกพาบางยี่ห้อทำให้เสียงเพลงที่เล่นผ่าน
SX1 นั้นสมบูรณ์แบบในทุกด้าน สามารถฟังเพลงไปพร้อมกับใช้งานแอพพลิเคชั่นอื่นไปพรอ้มกันได้
หรือจะฟังผ่านลำโพง handsfree ของตัวเครื่องเลยก็ได้
นอกจากนี้การฟังเพลงยังไม่กินไฟมากเท่ากับในรุ่น
SL45 อีกด้วย ซึ่งถ้าหากคุณได้ทดลองฟังเสียงเพลงจาก
SX1 สักครั้งรับรองว่าจะต้องติดใจจนวางไม่ลงทีเดียวครับ
FM radio สิ่งที่ SX1 เหนือกว่า
6600 อย่างเห็นได้ชัดก็คือระบบเสียงต่างๆ
ทั้งเสียงเรียกเข้าที่ไพเราะกว่า มีโปรแกรมเล่นเพลง
MP3 ที่ดีกว่าอีกทั้งยังฟังวิทยุ FM ได้ในตัวโดยไม่ต้องหาอุปกรณ์เสริมมาเพิ่มเติมเลยทั้งสิ้น
กล่าวถึงระบบวิทยุ FM ของ SX1 นี้มี user
interface ที่น่าสนใจมาก โดยจะวางตำแหน่งของ
6 สถานีที่เราบันทึกเอาไว้ด้านซ้ายและขวาของหน้าจอเหมือนดังเช่นการกำหนดให้ปุ่มตัวเลขเป็นปุ่มควบคุมการเล่นเพลงในโหมด
MP3 player ทำให้การเปลี่ยนไปยังสถานีต่อไปเป็นไปอย่างคล่องตัวและมองเห็นได้ชัดเจนมาก
นอกจากนี้ยังมีระบบ auto scan และสามารถฟังเพลงผ่านลำโพง
handsfree ได้อีกด้วย (แต่ยังคงต้องเสียบหูฟังค้างไว้)
สำหรับรูปเสาอากาศที่เห็นตรงกลางนั้นจะเป็นมาตรวัดระดับสัญญาณวิทยุที่จะบอกความชัดเจนของสถานีนั้นครับ
5 profiles การจัดกลุ่มชุดรูปแบบการตั้งค่าตามสถานการณ์หรือที่เรียกว่าโพรไฟล์
ของ SX1 จะมีโพรไฟล์ให้เลือกใช้ทั้งหมด 5
รูปแบบ ซึ่งผู้ใช้สามารถกำหนดได้ล่วงหน้าว่าจะให้เครื่องทำงานอย่างไรในแต่ละสถานการณ์
เช่น ขณะประชุมให้เลือกรับสายจากเฉพาะบางกลุ่ม
และเป็นระบบสั่นสะเทือนเป็นต้น ซึ่งโดยรวมแล้วโพรไฟล์ของ
SX1 สามารถตอบสนองต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดีครับ
Java enabled สิ่งหนึ่งที่ทางซีเมนส์ได้โฆษณาไว้ในเว็บไซต์เลยก็คือการรองรับจาวาแอพพลิเคชั่น
(J2ME) หรือแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับมือถือในตระกูล
series60 ของโนเกีย (เช่น 3650/7650/6600/N-Gage)
ทำให้เราสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นมาเฉพาะสำหรับมือถือยี่ห้อโนเกียมาใช้ใน
SX1 ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ตัวอย่างเช่นผมได้นำเกมสามมิติชื่อ
Tony Hawk's Pro Skater ของโทรศัพท์รุ่น N-Gage
มาทดลองเปิดเล่นใน SX1 ก็ปรากฏว่าสามารถควบคุมผ่านปุ่มจอยสติ๊กและปุ่มตัวเลขต่างๆ
ได้อย่างราบรื่น สร้างความตื่นตาตื่นใจได้ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ
Play Exciting Games เกมมาตรฐาน
3 เกมที่แถมมาพร้อมกับเครื่อง SX1 ได้แก่เกม
Sitris (เหมือนกับ Tetris) เกม TypeGun ให้ผู้ใช้ฝึกพิมพ์ตัวอักษร/ตัวเลข
และเกมสุดท้าย Mozzies เป็นเกมที่น่าสนใจที่สุดเพราะเป็นการรวมเอาความสามารถของกล้องถ่ายรูปมาใช้ด้วย
โดยลักษณะการเล่นของเกมจะมีฉากหลังเป็นภาพถ่ายเสมือนมองผ่าน
viewfinder ของกล้องและมียุงบินว่อนไปมา ผู้เล่นจะต้องหันมือถือเพื่อบังคับให้ปืนเล็งตรงกับยุง
ซึ่งผิดกับเกมอื่นๆ ที่มักใช้ปุ่มจอยสติ๊กบังคับทิศทางของปืน
เพราะฉะนั้นเกมนี้จึงมีลักษณะเหมือนกับเกมสามมิติอีกรูปแบบหนึ่งและเล่นได้สนุกมากๆ
ครับ
Voice Recognition ระบบสั่งงานด้วยเสียงของ
SX1 จะรองรับการโทรออกด้วยเสียง (voice dial)
เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยผู้ใช้สามารถสร้างคำสั่งเสียงให้เครื่องจดจำเพื่อโทรออกไปยังหมายเลขต่างๆ
ได้ 30 หมายเลข การเรียกคำสั่งเสียงก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเพียงกดปุ่มโทรออกด้วยเสียงด้านข้างค้างเอาไว้เท่านั้นครับ
3 View Calendar ระบบออแกไนเซอร์ของ
SX1 ประกอบไปด้วยปฏิทิน 3 มุมมอง (แบบเดือน
แบบสัปดาห์ และรายวัน) สามารถบันทึกนัดหมายและกำหนดให้เรียกเตือนได้ล่วงหน้า
มีระบบบันทึก task และระบบจดบันทึกข้อความขนาดยาวในแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ
Note นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ
Today ซึ่งจะบอกนัดหมายทั้งหมดในวันปัจจุบันที่ได้มีการบันทึกไว้ใน
task หรือปฏิทินโดยที่ผู้ใช้สามารถเรียกดูได้จากแอพพลิเคชั่นนี้ที่เดียว
โดยรวมแล้วระบบออแกไนเซอร์ของ SX1 มีประสิทธิภาพที่ดีไม่แพ้
PDA เลยทีเดียวครับ
File Manager ระบบการจัดการไฟล์ต่างๆ
ภายในเครื่องของ SX1 สามารถกระทำได้ผ่านแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ
File Manager ซึ่งจะมีรูปแบบที่คล้ายกับการใช้งานคอมพิวเตอร์
โดยจะแยกข้อมูลในหน่วยความจำของโทรศัพท์และการ์ดหน่วยความจำออกเป็นสองไดรฟ์อย่างชัดเจน
ด้วยแอพพลิเคชั่น File Manager นี้ ผู้ใช้สามารถที่จะดูข้อมูลทุกประเภทภายในเครื่องได้อย่างละเอียด
สามารถสั่งให้คัดลอก ลบ หรือย้ายข้อมูลไปยังโฟลเดอร์อื่นได้ตามต้องการ
สิ่งนี้คือจุดเด่นที่โทรศัพท์ของซีเมนส์มีและไม่เหมือนใคร
Wireless Connectivity การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกของ
SX1 มีช่องทางที่หลากหลายมากกว่า 6600 เล็กน้อย
โดยสามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายผ่าน Bluetooth
และ อินฟราเรดพอร์ต หรือจะใช้สายส่งข้อมูล
USB ก็ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นคุณจึงสามารถดาวน์โหลดไฟล์เพลง
mp3 จากคอมพิวเตอร์ ส่งภาพถ่ายออกจากเครื่อง
หรือจะรับเสียงเรียกเข้าใหม่ๆ จากโทรศัพท์เครื่องอื่นก็สามารถทำได้อย่างสะดวกสบาย
อีกทั้งยังรองรับระบบ SyncML ให้คุณได้อัพโหลดข้อมูลสำคัญต่างๆ
ภายในเครื่องไปเก็บไว้ที่ server ของเครือข่ายโดยไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์เสริมแม้แต่น้อย
ในส่วนของการเชื่อมต่อกับเครือข่ายนี้ ถึงแม้ว่า
SX1จะยังไม่ถึงกับรองรับระบบ EDGE ก็ตาม แต่ก็รองรับการใช้
data ผ่านเครือข่าย GPRS เช่นกันครับ


XHTML browser เบราเซอร์สำหรับเปิดชม
WAP site ต่างๆ ของ SX1 เป็น WAP browser
เวอร์ชั่น 2.0 ซึ่งสามารถดาวน์โหลด object
ต่างๆ ใน WAP site ได้อย่างเต็มที่ และนอกจากนี้ยังมี
XHTML browser ไว้สำหรับเปิดดู Web site ทั่วไปในอินเทอร์เน็ตเสมือนการใช้
Internet Explorer เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นใครที่เคยบอกว่าซื้อ
PDA เพราะมือถือไม่สามารถเปิดดูเว็บไซต์ได้อาจต้องเปลี่ยนใจเมื่อคุณได้เห็นเบราเซอร์ของ
SX1 ก็เป็นได้ครับ
Extras Feature ความสามารถประการอื่นที่เหลือของ
SX1 จะได้แก่ เครื่องคิดเลข นาฬิกาปลุก นาฬิกาบอกเวลาจากเมืองต่างๆ
นับพันแห่งทั่วโลก พร้อมทั้งโปรแกรมแปลงสกุลเงินต่างๆ
ให้คุณพก SX1 ไปใช้งานได้ทุกประเทศทั่วโลกครับ
My Experience

โดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกชอบในความสามารถและประสิทธิภาพต่างๆ
ของ SX1 มากเรียกได้ว่าแทบจะหาจุดบกพร่องไม่ได้ถ้าไม่นับรวมถึงปุ่มตัวเลขที่ใช้งานลำบากนี้
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ 6600
ก็พบว่าต่างก็มีจุดดีจุดด้อยที่ต่างกันออกไปโดย
SX1 ออกจะเหนือกว่าอยู่ระดับหนึ่ง ซึ่งจุดที่ต่างกันเหล่านี้ได้แก่
SX1 สามารถฟังวิทยุได้ในตัว , มีการติดตั้งแอพพลิเคชั่นเล่นเพลง
MP3 มาให้ , หูฟังและระบบเสียงมีคุณภาพสูงกว่า
, มีแอพพลิเคชั่นแต่งรูปภาพมากความสามารถอย่าง
Image Fun , กล้องถ่ายรูปถ่ายได้ชัดกว่านิดหน่อยและซูมได้มากกว่า
, หน้าจอให้แสงและภาพที่นุ่มนวลกว่า และมีช่องสำหรับใส่การ์ดหน่วยความจำด้านข้าง
แต่สิ่งที่ SX1 ด้อยกว่านั้นก็คือไม่มีระบบ
3-in-1 theme และไม่สามารถนำเพลง mp3 มาใช้เป็นเสียงเรียกเข้าได้เหมือนอย่าง
6600 สำหรับระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ที่แท้จริงนั้นพบว่าหน้าจอของ
SX1 กินไฟพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามยังทำสถิติได้ดี
โดยสามารถเปิดเครื่องต่อเนื่องได้เป็นระยะเวลา
48 ชั่วโมง โดยระหว่างนี้มีการใช้สายทั้งสิ้น
1 ชม. 20 นาทีครับ
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้อง
สรุป

โดยสรุปแล้วผมตัดสินให้ SX1 มีความสามารถที่เหนือกว่า
6600 อยู่ระดับหนึ่งทั้งในด้านแอพพลิเคชั่นและอุปกรณ์ต่างๆ
ของเครื่อง ซึ่งถ้าหากคุณไม่คิดติดใจกับปุ่มตัวเลขที่จัดวางอย่างแปลกประหลาดนี้
SX1 จะเป็นโทรศัพท์มือถือแนวสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งานได้ทุกรูปแบบอย่างสมบูรณ์แบบเลยทีเดียวครับ

Strength
|
Weakness
|
- ฟังวิทยุและฟังเพลง
mp3 ได้ - เล่นเกมของโนเกีย
N-Gage ได้ - กล้องถ่ายรูปคุณภาพสูงถ่ายได้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว
- หน้าจอ TFT ขนาดใหญ่คุณภาพสูง
- เพิ่มการ์ดหน่วยความจำได้
- ดาวน์โหลดและติดตั้งจาวาแอพพลิเคชั่นได้
- มี bluetooth และอินฟราเรดพอร์ตในตัว
- มีโปรแกรมแต่งรูปภาพในมือถือ
- มี XHTML browser เปิดชมเว็บไซต์ทั่วโลกได้
- ระบบปฏิบัติการ Symbian
|
- ปุ่มตัวเลขกดลำบาก
- ไม่สามารถใช้เพลง mp3
เป็นเสียงเรียกเข้าได้ -
ไม่รองรับการใช้งานภาษาไทย
|
ข้อมูลโดยรวมทั่วไป
- น้ำหนัก 116 กรัม -
ขนาด 109 x 56 x 19 มิลลิเมตร -
Triple Band 900/1800/1900 - หน้าจอ
TFT 65,536 สี (176x220 pixels) -
ระบบปฏิบัติการ Symbian - หน่วยความจำภายในโทรศัพท์
4 เมกะไบต์ - สามารถใส่การ์ดหน่วยความจำเพิ่มได้
- ปุ่มจอยสติ๊ก 5 ทิศทาง -
กล้องถ่ายรูประดับ VGA (640x480 pixels)
- ซูมแบบดิจิตอลได้ 6 ระดับ -
บันทึกภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงได้ -
สามารถแต่งภาพถ่ายเช่นใส่กรอบรูป ลดขนาด ฯลฯ
- รองรับระบบ Video Streaming
- สมุดโทรศัพท์แบบ multi-field (30
ประเภท ต่อรายชื่อ) - โชว์รูปถ่ายพร้อมหมายเลขเรียกเข้าได้
- เสียงเรียกเข้าแบบ polyphonic รองรับทั้ง
mp3 , wav , amr และ mid - บันทึกเสียงได้ครั้งละ
2 นาที - ฟังเพลง mp3 ได้ -
มีวิทยุ FM stereo ในตัว - ปรับชุดรูปแบบการเรียกเตือนตามสถานการณ์ได้
5 รูปแบบ - รองรับจาวาเทคโนโลยี
- โทรออกด้วยเสียงได้ 30 หมายเลข
- มีระบบ handsfree ในตัว -
รองรับระบบ SMS และ MMS - สามารถรับ-ส่ง
E-mail ได้ในตัว - ปฏิทินแบบ 3
มุมมอง - มีระบบ File Manager สำหรับจัดการข้อมูลภายในเครื่อง
- 3 เกมมาตรฐาน Sitris , TypeGun ,
Mozzies - มีอินฟราเรดพอร์ต และ
bluetooth ในตัว - WAP2.0 และ XHTML
browser - รองรับระบบ Remote Sync.
- เครื่องคิดเลข นาฬิกาปลุก นาฬิกาบอกเวลาจากเมืองต่างๆ
นับพันแห่งทั่วโลก พร้อมทั้งโปรแกรมแปลงสกุลเงินต่างๆ
- battery : Li-ion 1000 mAh -
stand by : 200 ชม. - talk time
: 240 นาที

รายละเอียดทั้งหมดของเครื่อง
Phone Features |
รุ่น |
Siemens SX1 |
ขนาด |
109 x
56 x 19 |
น้ำหนัก |
116 |
ระบบ |
GSM900/1800/1900 |
หน้าจอ |
TFT
65,536 สี |
สมุดโทรศัพท์ |
4
เมกะไบต์ |
กลุ่มรายชื่อ |
มี |
เปลี่ยนภาพพื้นที่หน้าจอ |
ได้ |
เปลี่ยนภาพพักหน้าจอ |
ได้ |
ตารางนัดหมาย |
ปฏิทิน
3 มุมมอง |
Picture CLI |
มี |
การรับ-ส่งข้อมูล |
CSD,GPRS |
การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก |
data
cable , IrDA , Bluetooth |
เกม |
3
เกมมาตรฐาน |
แฮนด์ฟรีในตัว |
มี |
กล้องดิจิตอล |
มี
(ถ่าย video clip ได้) |
วิทยุ FM |
ได้ |
ฟังเพลง |
mp3 ,
wav |
J2ME |
มี |
MMS |
มี |
EMS |
ไม่มี |
E-mail |
มี
(POP3/IMAP4/SMTP) |
WAP browser |
WAP2.0
/ XHTML browser |
เมนูภาษาไทย |
ไม่มี |
อ่านข้อความภาษาไทย |
ไม่ได้ |
พิมพ์ข้อความภาษาไทย |
ไม่ได้ |
ระบบช่วยสะกดคำภาษาไทย |
ไม่มี |
ระบบช่วยสะกดคำภาษาอังกฤษ |
T9 |
สั่งงานด้วยเสียง |
ไม่ได้ |
โทรออกด้วยเสียง |
30
หมายเลข |
บันทึกเสียง |
รายการละ 2 นาที (up to memory) |
profile |
5
รูปแบบ |
เสียงเรียกเข้า |
polyphonic 24 เพลง (midi/wav) + ดาวน์โหลดได้ (up to
memory) |
โปรแกรมแต่งเสียงเรียกเข้า |
ไม่มี |
โปรแกรมแปลงค่าเงิน |
มี |
เครื่องคิดเลข |
มี |
นาฬิกาจับเวลา |
ไม่มี |
ระบบสั่น |
มี |
นาฬิกาปลุก |
มี |
เปลี่ยนอุปกรณ์ |
ไม่ได้ |
talk time |
240
นาที |
stand by |
200
ชม. |
อื่นๆ |
เพิ่มการ์ดหน่วยความจำได้ , ระบบปฏิบัติการ Symbian |
ราคา |
N/A | 
ขอขอบคุณ เว็บไซต์ www.min4.com
ที่เอื้อเฟื้อเนื้อหาบทความทดสอบ และ รูปภาพ
สำหรับ โทรศัพท์มือถือ รุ่นนี้ และ
คุณกานต์ รังคสิริ เว็บมาสเตอร์ของ
www.min4.com
มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม
Oska (Thaimobilecenter Editor) : [email protected]
:: ไปหน้าแรกเว็บไซต์ Thaimobilecenter
| ไปหน้าแรก
Mobile Focus ::
|