TMC Point

  8.03

การออกแบบดีไซน์

  8.5

ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพ

  7.5

คุณสมบัติเครื่อง

  8.5

ฟังก์ชันการใช้งาน

 8.5

เสถียรภาพและประสิทธิภาพ

  8.0

ความคุ้มค่าต่อราคา

  7.5

 
   

Nokia N71 Review & Focus
Open Your World to Mobile Multimedia
Review Date (03-June-2006)

ได้ฤกษ์วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการกันแล้วในประเทศไทย สำหรับ Nokia N71 ซึ่งออกวางจำหน่ายในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับโทรศัพท์มือถือตระกูล N-Series อีกรุ่นก็คือ Nokia N91 สำหรับ Nokia N71 รุ่นนี้นั้น ในช่วงที่วางจำหน่ายแรกๆ ดูเหมือนว่าจะไม่ถูกนึกถึงหรือพูดถึงมากสักเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่เป็นรุ่นใหม่ที่เพิ่งวางจำหน่าย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าในเรื่องความสามารถหรือคุณสมบัติของตัว N71 เองไม่ได้เพิ่มขึ้นมาจาก N-Series รุ่นก่อนหน้าอย่าง N70 แบบชัดเจนเท่าไหร่นัก ที่เห็นได้ชัดก็คงจะเป็นเรื่องของหน้าจอที่ละเอียดสวยงามมากขึ้น, ระบบปฏิบัติการที่ใหม่กว่า และเรื่องของรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนมาเป็นแบบฝาพับ ผู้ใช้จำนวนไม่น้อยจึงยังคงชื่นชอบและพอใจในตัวของ N70 อยู่ แม้ราคาของ N70 จะถูกกว่าไม่มากก็ตามที 

แต่อย่างไรก็ดี ก็มีผู้ใช้จำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ให้ความสนใจในตัวของ N71 มากกว่า เช่นอาจจะชอบ Symbian Smartphone ในสไตล์ของฝาพับ ซึ่งมีให้เลือกอยู่ไม่กี่รุ่นในท้องตลาดปัจจุบัน และรุ่นที่มีอยู่เดิมก็อาจจะยังไม่ถูกใจมากพอ ดังนั้นเมื่อมีข่าวคราวการเปิดตัวของ N71 ออกมาจึงมักจะมีคำถามตามมาเป็นระยะว่าจะวางจำหน่ายในบ้านเราเมื่อไหร่ จนตอนนี้ N71 ก็ได้ฤกษ์วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งขณะที่กำลังทำบทความรีวิวอยู่นี้ N71 ก็ได้วางจำหน่ายมาหลายสัปดาห์แล้วด้วยกัน ดังนั้นหากท่านใดกำลังสนใจ N71 รุ่นนี้อยู่ และอยากทราบว่ามีดีมีด้อยอย่างไรบ้าง คุ้มค่าการรอคอยหรือไม่ ตรงใจท่านหรือไม่อย่างไร ก็ขอเชิญติดตามเนื้อหารีวิวกันต่อได้เลยครับ

อุปกรณ์ที่มีมาให้ในกล่อง

อุปกรณ์ที่มีมาให้ในชุดขายมาตรฐานของ Nokia N71 จะประกอบไปด้วย ตัวเครื่อง Nokia N71, แบตเตอรี่ Li-Ion รุ่น BL-5C ขนาดความจุ 970 mAh จำนวน 1 ก้อน, หูฟังแบบคล้องหูรุ่น HS-23 จำนวน 1 เส้น, Audio Adapter ขนาด 3.5 มิลลิเมตร รุ่น AD-15, สายชาร์จแบตเตอรี่รุ่น AC-4U, การ์ดหน่วยความจำแบบ miniSD Card ขนาด 128 MB, สาย USB Data Cable รุ่น CA-53, แผ่นซีดี Software PC Suite และสุดท้ายคือคู่มือการใช้งานจำนวน 1 เล่ม ซึ่งอุปกรณ์ที่แถมมาให้ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าให้มาค่อนข้างครบถ้วน สามารถรองรับการใช้งานต่างๆ ของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี

เมื่อแรกเห็นตัวเครื่อง

เมื่อได้พบเห็นและสัมผัสกับ Nokia N71 เป็นครั้งแรกก็ทำให้นึกถึงรูปร่างของระฆังขึ้นมาในหัว โดยเฉพาะเมื่อมองดูด้านหน้าแล้วมีลักษณะโดยรวมที่คล้ายระฆัง ประกอบกับตัวเครื่องที่ค่อนข้างหนา ดังนั้นหากจะเรียกชื่อเล่น Nokia N71 ว่ารุ่นระฆังก็อาจจะได้อยู่เหมือนกัน แต่ถึงจะมีรูปร่างคล้ายกับระฆัง โดยส่วนตัวก็คิดว่า Nokia N71 เป็นโทรศัพท์มือถือฝาพับอีกรุ่นหนึ่งที่ออกแบบมาได้ดี ดูหรูหราภูมิฐานไม่น้อย สำหรับโทนสีโดยรวมจะเป็นสีเทาเข้มตัดด้วยสีเงิน ทั้งบรอนซ์เงิน, เงินขัดเงา และโครเมียมมันวาว

ในเรื่องของคุณภาพการประกอบ ความแข็งแรง ความประณีต หรือวัสดุที่ใช้ เมื่อได้ลองสัมผัสแล้วก็ถือว่า Nokia N71 สามารถทำได้ค่อนข้างดี เป็นโทรศัพท์มือถือฝาพับรุ่นหนึ่งที่จับถือแล้วรู้สึกได้ว่าแข็งแรง การประกอบค่อนข้างประณีต วัสดุที่ใช้ก็เป็นวัสดุเกรดดี ไม่น่าจะเกิดการแตกหักได้ง่ายหากไม่เจอกับอุบัติเหตุรุนแรงจริงๆ ประกอบกับน้ำหนักตัวที่ค่อนข้างหนัก จึงทำให้รู้สึกถึงความหนักแน่นมากยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความลำบากในการพกพามากขึ้นอีกสักหน่อย


ที่ด้านหน้าของตัวเครื่องมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับระฆัง ซึ่งหลายคนที่เห็นก็น่าจะคิดเช่นเดียวกัน ไม่แน่ว่าต่อไปอาจจะมีการเรียกชื่อเล่นของ Nokia N71 ว่ารุ่นระฆังก็เป็นได้ โดยที่ด้านหน้าของตัวเครื่องนี้ก็ประกอบไปด้วย หน้าจอขนาดเล็กที่ล้อมกรอบด้วยโลหะขัดมันวาว ซึ่งน่าจะเป็นโลหะสแตนเลส ที่ด้านล่างของหน้าจอจะพบกับปุ่มกดหนึ่ง ซึ่งใช้งานพื้นฐานได้หลายอย่างเช่น เปิดดูข้อความเตือน, เลือก Profiles, เลือกปิดเครื่อง หรือดูบันทึกการโทร เป็นต้น ถัดมาที่ด้านล่างจะเป็นเลนส์ของกล้องดิจิตอลความละเอียดระดับ 2 ล้าน Pixels ซึ่งดูแล้วมีสไตล์การออกแบบที่คล้ายกับ N70 อยู่ไม่น้อย ล้อมกรอบด้วยวัสดุเคลือบโครเมียมมันวาวให้ดูหรูหรา และมีไฟ Flash Light สำหรับให้แสงสว่างขณะถ่ายภาพอยู่ที่ด้านข้างเลนส์


หากใครสังเกตดูสักหน่อย จะพบว่า Nokia N71 มีการออกแบบส่วนของเลนส์กล้องคล้ายกับ Nokia N70 มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะ N71 ก็ถือว่าเป็นรุ่นที่พัฒนาต่อมาจาก N70 นั่นเอง


ปุ่มที่อยู่ด้านล่างของหน้าจอเล็กด้านหน้านี้ กดได้ค่อนข้างยาก เพราะมีลักษณะแบนราบ, เล็ก และอยู่ค่อนข้างลึก บ่อยครั้งจึงต้องออกแรงกดย้ำมากเป็นพิเศษจึงจะเกิดการตอบสนอง แต่ปุ่มนี้ก็ใช้สั่งงานขณะที่ปิดฝาพับได้หลายอย่างเช่น เปิดดูข้อความเตือน, เลือก Profiles, เลือกปิดเครื่อง หรือดูบันทึกการโทร เป็นต้น


เมื่อพลิกมาดูที่ด้านซ้ายของตัวเครื่อง ก็จะพบว่า N71 เป็นโทรศัพท์มือถืฝาพับออีกรุ่นหนึ่งที่ค่อนข้างหนาพอสมควร ซึ่งอาจจะทำให้หลายคนคิดหนักได้เหมือนกัน แต่โดยความเห็นส่วนตัวก็คิดว่าอย่างน้อยก็มีข้อดีหักลบกับความหนาได้บ้าง เช่นออกแบบดูดี, งานประณีต หรือวัสดุที่ใช้มีเกรดดี เป็นต้น ที่ด้านซ้ายของตัวเครื่องนี้ จะประกอบไปด้วย Infrared Port, ปุ่มกดสำหรับใช้งาน Push-to-Talk หรือการสั่งงานด้วยเสียง และที่ด้านล่างจะพบกับลำโพง Loudspeaker


ลำโพง Loudspeaker นี้เท่าที่ทราบมาเป็นลำโพงที่ให้เสียงแบบ Stereo ซึ่งเมื่อฟังดูแล้วไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นเสียง Stereo จริงหรือไม่ แต่อย่างไรก็ดีคุณภาพและพลังเสียงที่ได้ยินนั้นถือว่าค่อนข้างน่าประทับใจไม่น้อยเลยทีเดียว


ที่ด้านบนจะมี Infrared Port และปุ่มกดสำหรับใช้งาน Push-to-Talk หรือการสั่งงานด้วยเสียงอยู่ติดกัน แต่ถึงจะอยู่ชิดติดกัน ปุ่มนี้ก็สามารถกดได้ง่าย ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด


เมื่อพลิกมาดูที่ด้านขวาของตัวเครื่องก็จะไม่พบกับปุ่มกด หรือส่วนเชื่อมต่อใดๆ นอกจากรูสำหรับร้อยสายคล้องที่ด้านริมขอบบน


เมื่อพลิกมาดูที่ด้านบนของตัวเครื่อง ก็จะพบกับส่วนเชื่อมต่อต่างๆ ได้แก่รูสำหรับร้อยสายคล้อง, รูเสียบสายชาร์จแบตเตอรี่, อินเทอร์เฟสการเชื่อมต่ออุปกรณ์แบบ Pop-Port และช่องสำหรับใส่การ์ดหน่วยความจำแบบ miniSD Card ซึ่งสำหรับ Pop-Port นั้นจะมีจุดยางแถมมาให้ด้วย เพื่อใช้สำหรับปิดกั้นฝุ่นละออง หรือสิ่งสกปรกต่างๆ ไม่ให้เข้าไปรบกวนขั้วสัมผัส


จะเห็นว่า N71 ได้นำส่วนของการเชื่อมต่อต่างๆ ทั้งหมดมารวมไว้ที่ส่วนบนของตัวเครื่อง เช่นการนำ Pop-Port มาไว้ที่ส่วนบนของตัวเครื่องก็เป็นอีกสไตล์หนึ่งที่อาจจะมีทั้งผู้ที่ชอบ และผู้ที่ไม่ชอบ แต่โดยส่วนตัวแล้ว สำหรับโทรศัพท์มือถือแบบฝาพับ อยากให้อยู่ที่ด้านล่างเสียมากกว่า เพราะเวลาที่เปิดฝาอยู่จะถอดใส่อุปกรณ์ได้ค่อนข้างลำบาก


ช่องสำหรับใส่การ์ดหน่วยความจำแบบ miniSD Card มีแถบฝาพลาสติกสีดำปิดเอาไว้ ซึ่งเท่าที่ลองใช้งานดูก็พบว่าปิดได้แน่นหนาเรียบร้อยดี และวัสดุก็ค่อนข้างแข็งแรง ไม่น่าจะเกิดความเสียหายได้ง่าย


รูสำหรับร้อยสายคล้องของ N71 จะอยู่ที่มุมด้านบนของตัวเครื่อง ซึ่งก็ไม่ได้มีรูปแบบที่แปลกแหวกแนวไปจากรุ่นทั่วไป แต่อย่างใด


รูสำหรับชาร์จแบตเตอรี่ของ N71 จะเป็นแบบหัวเล็ก ดังนั้นหัวแจ็คของสาย Adapter ชาร์จไปจึงต้องใช้แบบที่เป็นหัวเล็กด้วย


เมื่อพลิกมาดูที่ด้านล่างของตัวเครื่อง ก็จะพบกับปุ่มกดสำหรับเลือกใช้งาน Profiles หรือเปิด-ปิดเครื่อง และที่ด้านล่างของตัวเครื่องนี้เองจะพบว่ามีความหนามากที่สุดเนื่องจากมีลักษณะนูนขึ้นไปตรงกลางมากกว่าส่วนอื่นๆ


ปุ่มกดสำหรับเลือกใช้งาน Profiles หรือเปิด-ปิดเครื่องนี้มีขนาดเล็ก และไม่ค่อยนูนขึ้นมามากนักจึงทำให้กดใช้งานได้ค่อนข้างยาก แต่อาจจะเป็นความตั้งใจของผู้ผลิตเองก็เป็นได้ที่ต้องการใช้ปุ่มนี้ไม่ถูกกดโดยผู้ใช้อย่างไม่ตั้งใจ


ที่ด้านหลังของตัวเครื่อง ก็มีลักษณะเรียบๆ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษนอกจากโลโก้ยี่ห้อ Nokia ที่อยู่ด้านบน และฝาหลัง


ที่ด้านล่างของฝาหลังจะพบกับสลักล็อคฝาหลัง ซึ่งหากผู้ใช้ต้องการที่จะถอดฝาหลังออกมาก็จะต้องทำการกดไปที่สลักล็อคนี้เสียก่อน


เมื่อกางฝาพับออกมา ก็จะมีลักษณะดังภาพ ซึ่งความยาวตั้งแต่หัวจรดท้ายเมื่อกางฝาพับออกแล้วจะมีความยาวค่อนข้างมาก ส่วนดีไซน์นั้นโดยส่วนตัวคิดว่าออกจะดูแปลกๆ ไปสักหน่อย ดูตอนที่ไม่กางฝาพับแล้วรู้สึกดูดีกว่า แต่อย่างไรก็ตามเรื่องของดีไซน์นั้นไม่มีถูกไม่มีผิด ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของแต่ละบุคคลเสียมากกว่า ที่ด้านบนสุดที่ด้านในของฝาพับจะพบกับลำโพงหูฟังสำหรับสนทนา ถัดมาก็จะเป็นเลนส์กล้องสำหรับใช้งาน Video Call ซึ่งในบ้านเราก็ยังใช้งานไม่ได้ ที่ด้านล่างของเลนส์กล้องคือเซนเซอร์สำหรับตรวจวัดระดับแสง ที่ตรงกลางจะพบกับหน้าจอหลักขนาดใหญ่ซึ่งล้อมล้อมด้วยโลหะขัดเงาดูสวยงาม สำหรับที่ส่วนล่างของฝาพับก็จะเป็นส่วนของแผงปุ่มกด ซึ่งประกอบไปด้วยปุ่มมัลติมีเดีย, ชุดปุ่มควบคุมการทำงาน และชุดปุ่มตัวเลข และที่ด้านล่างสุดก็จะพบกับส่วนหนึ่งของลำโพง Loudspeaker และที่ตรงนี้เองก็จะมีไมโครโฟนสำหรับรับเสียงขณะสนทนาอีกด้วย


เลนส์กล้องที่ด้านในฝาพับนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือการใช้งาน Video Call ซึ่งน่าเสียดายที่ระบบเครือข่ายในบ้านเรายังไม่สามารถรองรับกับการใช้งานตรงนี้ได้ ดังนั้นการใช้งานตอนนี้ก็คงจะเป็นการใช้ถ่ายรูปตนเองไปพลางๆ ก่อน ส่วนช่องสี่เหลี่ยมเล็กที่อยู่ด้านใต้ติดกับเลนส์กล้องนี้ก็คือเซนเซอร์รับแสง ที่ใช้ในการวิเคราะห์ระดับความสว่างของแสงในสภาพแวดล้อมเพื่อปรับความสว่างของหน้าจอ และไฟ Backlight ของแผงปุ่มกดให้มีความเหมาะสม และประหยัดพลังงานได้สูงสุดนั่นเอง


ที่ส่วนบนของแผงปุ่มกดจะประกอบไปด้วยปุ่มมัลติมีเดียซึ่งโทรศัพท์มือถือ Smartphone จาก Nokia รุ่นใหม่ๆ เริ่มจะนำปุ่มนี้มาใช้งานกัน ซึ่งปุ่มนี้แม้จะดูเล็กแบนราบแต่ก็สามารถกดได้ง่ายดีไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ส่วนชุดปุ่มในกรอบสี่เหลี่ยมถัดมาด้านล่างจะประกอบไปด้วยปุ่ม Softkey, ปุ่มโทร-รับสาย, ปุ่มวางสาย, ปุ่มควบคุมการทำงานแบบ 5 ทิศทาง, ปุ่ม Edit, ปุ่มเมนู และปุ่มลบ ซึ่งสำหรับปุ่ม Softkey ทั้ง 2 ปุ่มที่อยู่ด้านบนนั้นกดใช้งานได้ไม่สะดวกนักเนื่องจากเวลากดนิ้วมักจะไปติดกับขอบด้านบนของกรอบสี่เหลี่ยมอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นการกดจึงต้องใช้ลักษณะการจิกนิ้วจึงจะกดได้สะดวก


ถัดมาที่ด้านล่างจะเป็นชุดปุ่มกดตัวเลข หรือชุดปุ่มกดตัวอักษร ซึ่งจากการทดสอบใช้งานพบว่ากดใช้งานได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะผู้ที่มีนิ้วมือใหญ่ และโดยเฉพาะปุ่มกดที่อยู่ด้านริมซ้าย และด้านริมขวา จะกดยากขึ้นอีก เพราะที่ขอบริมนั้นแทบจะไม่นูนขึ้นมาให้เห็น เวลากดใช้งานจึงต้องเลี่ยงการกดที่ขอบริมเพื่อการตอบสนองที่ดีขึ้น ถัดจากแผงปุ่มกด ที่ด้านล่างจะเป็นลำโพง Loudspeaker และไมโครโฟน ซึ่งด้านในของลำโพงนี้ไม่ทราบว่ามีการจัดวางอุปกรณ์อย่างไร แต่เท่าที่รับรู้ได้จากการฟังก็คือเสียงที่ออกมามีฟังดูพลังและความไพเราะที่น่าประทับใจอยู่ไม่น้อย เมื่อฟังเปรียบเทียบกับลำโพง Loudspeaker ของโทรศัพท์มือถืออีกหลายๆ รุ่นก็จะพบกับความแตกต่างในจุดนี้ได้ค่อนข้างชัดเจน


การกางฝาพับของ Nokia N71 สามารถทำได้ 2 ระดับคือประมาณ 135 องศา และประมาณ 165-170 องศา ซึ่งเมื่อถึงระดับใดระดับหนึ่งก็จะมีตัวล็อคให้ฝาพับอยู่กับที่ โดยตัวล็อคนี้ก็จะอยู่ตรงแกนของฝาพับนั่นเอง


เมื่อกางฝาพับจนสุด ก็จะทำมุมประมาณ 165-170 องศา แต่ก็ไม่ถึงกับแบนราบเป็น 180 องศา


เมื่อมองดูที่ด้านนอกขณะที่กางฝาพับออก ก็จะมีลักษณะดังภาพ ซึ่งโดยความเห็นส่วนตัวแล้วที่ด้านนอกนี้ดูดีกว่าที่ด้านในอยู่พอสมควร

เริ่มใส่ SIM Card และแบตเตอรี่


หากต้องการใส่ SIM Card หรือแบตเตอรี่ก็จะต้องทำการเปิดฝาหลังเสียก่อน ซึ่งก็เหมือนกับโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่ แม้ว่าฝาหลังของ N71 จะดูเหมือนถูกยึดเอาไว้อย่างแน่นหนาไม่มีอาการไหวคลอนให้เห็น แต่วิธีการเปิดฝาหลังของ N71 นี้ก็ไม่ยากแต่อย่างใด ก่อนอื่นก็ให้นำนิ้วกดลงไปที่สลักล็อคที่ด้านล่างของฝาหลัง ซึ่งอาจจะต้องใช้แรงกดพอสมควร เมื่อกดลงไประดับหนึ่งฝาหลังก็จะแง้มขึ้นมาเล็กน้อย ซึ่งก็เพียงพอที่จะทำการงัดขึ้นมาได้โดยง่าย


ส่วนอีกวิธีหนึ่ง ผู้ใช้อาจจะนำนิ้วโป้งจิกลงไปตรงกลางระหว่างสลักล็อคและฝาหลังให้ลึกระดับหนึ่ง หลังจากนั้นก็ให้ใช้นิ้วโป้งนี้เอง งัดฝาหลังขึ้นมา ซึ่งวิธีนี้ดูเหมือนว่าจะรวดเร็วกว่าวิธีแรกเสียด้วยซ้ำ


เมื่อฝาหลังแง้มขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ผู้ใช้ก็สามารถใช้นิ้วงัดฝาหลังออกมาได้โดยง่ายแล้ว


แบตเตอรี่ของ N71 ได้ถูกออกแบบมาให้อยู่ติดกับกรอบของฝาหลัง ซึ่งก็ถือว่าสะดวก ง่ายและประหยัดเวลาไปอีกแบบ เพราะเมื่อถอดฝาหลังออกมาแล้ว ก็เหมือนกับการถอดก้อนแบตเตอรี่ออกมาในตัวด้วยเลย แต่สำหรับผู้ที่ชอบถอดฝาหลังออกมาอย่างเดียวด้วยเหตุผลอะไรสักอย่าง โดยไม่ต้องการถอดแบตเตอรี่ออกมาด้วย ก็คงจะไม่ค่อยชอบเป็นแน่


เมื่อทำการถอดก้อนแบตเตอรี่ออกจากฝาหลัง ก็จะมีลักษณะดังภาพ ซึ่งก้อนแบตเตอรี่นี้ก็มีลักษณะเหมือนกับก้อนแบตเตอรี่มาตรฐานทั่วไปนั่นเอง


บล็อคสำหรับใส่ก้อนแบตเตอรี่ที่ฝาหลัง เท่าที่ลองถอดและใส่ดู ก็ไม่แน่นหรือไม่หลวมจนเกินไป ถือว่าอยู่ในระดับที่กำลังดี


วิธีการใส่ SIM Card ของ N71 นั้นอาจจะดูแปลกสักหน่อย เพราะใช้วิธีการเสียบเข้าไปในช่อง คล้ายกับการใส่การ์ดหน่วยความจำ ซึ่งแม้จะเป็นวิธีที่แปลกและพบได้ไม่มากนักในโทรศัพท์มือถือทั่วไป แต่โดยความเห็นส่วนตัวคิดว่าเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกรวดเร็วกว่าวิธีการใส่ SIM Card แบบทั่วๆ ไป เช่น วิธีที่ต้องเปิดแผ่นเหล็กขึ้นมา ใส่ SIM Card ให้เข้าล็อค แล้วปิดแผ่นโลหะให้เข้าที่อีกที เป็นต้น


เมื่อใส่ SIM Card และก้อนแบตเตอรี่เสร็จแล้ว ก็ให้ทำการนำฝาหลังไปปิดไว้ให้เรียบร้อยเข้าที่เข้าทางตามเดิมดังภาพ

ความเหมาะมือและน้ำหนัก


อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นคือ N71 นั้นมีความหนา และน้ำหนักที่มากขึ้นมาอีกระดับหนึ่งถ้าเทียบกันกับโทรศัพท์มือถือแบบฝาพับทั่วๆ ไป แต่อย่างไรก็ดี เมื่อได้ลองจับถือดูจริงๆ แล้วกลับไม่ได้รู้สึกใหญ่หนักเทอะทะมากอย่างที่คิด ความรู้สึกที่ได้จะออกไปทางความหนักแน่น แข็งแรง หรือมั่นคงเสียมากกว่า แต่ในเรื่องของความหนาก็ยังรู้สึกได้ว่าหนาไปสักหน่อยอยู่ดี สรุปว่าโดยรวมแล้วหากเป็นคนที่มือใหญ่ การจับถือก็น่าจะกำลังเหมาะมือและรู้สึกมั่นคงแข็งแรงดี ไม่ได้ใหญ่โตมากจนเกินไป แต่ถ้าเป็นคนที่มือเล็กก็คงจะรู้สึกว่า N71 มีขนาดที่ใหญ่และน้ำหนักมากนั่นเอง เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดก็คือไปลองสัมผัสเครื่องจริงด้วยตนเอง


เมื่อเปรียบเทียบกับฝ่ามือใหญ่ๆ ของผู้ชายก็ยังดูใหญ่อยู่บ้าง การใช้งานจริงๆ ก็ยังรู้สึกเทอะทะบ้างเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่ถ้าเป็นผู้หญิงหรือผู้ที่มีมือเล็กๆ ก็คงจะรู้สึกใหญ่เทอะทะไม่น้อยเลยทีเดียว


เมื่อเปรียบเทียบมิติความกว้างยาวของ N71 กับบัตรทั่วไป ก็จะพบว่า N71 มีความยาวที่มากกว่าอยู่พอสมควร ส่วนความกว้างนั้นใกล้เคียงกัน


จากการใช้งานจริงพบว่าเมื่อเปิดฝาพับแล้วจะจับถือได้ไม่ค่อยถนัดหรือกระชับมือเท่าที่ควร อาจจะเพราะว่าเมื่อกางฝาพับออกแล้วจะมีขนาดที่ยาวขึ้นกว่าตอนปิดฝาพับมาก ประกอบกับลักษณะของตัวเครื่องที่ค่อนข้างกว้าง และแนวขอบที่ค่อนข้างเหลี่ยมเสียเป็นส่วนมาก


ในความเห็นส่วนตัว เมื่อมองด้านในมุมตรงๆ เวลาเปิดฝาพับรู้สึกว่าดีไซน์ดูแปลกๆ แต่พอมองในมุมเฉียงๆ แบบนี้ก็ดูดีไม่น้อยเลยทีเดียว แต่เวลาใช้คุยแนบหูคงต้องระมัดระวังจับตัวเครื่องให้แน่นสักหน่อย เพราะรู้สึกว่าเมื่อเปิดกางฝาพับแล้วจะยึดจับได้ไม่ค่อยถนัดมือเท่าไหร่

เริ่มเปิดเครื่อง


วิธีการเปิดเครื่องนั้นก็ไม่ยากแต่อย่างใด ทำได้โดยการกดปุ่มวงกลมขนาดเล็กที่อยู่ด้านล่างค้างไว้ประมาณ 2-3 วินาที เครื่องก็จะเปิดเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้งานต่อไป แต่สำหรับปุ่มนี้ หากเป็นผู้ใช้ที่นิ้วใหญ่ก็อาจจะกดได้ยากสักหน่อย เพราะปุ่มมีขนาดเล็กและไม่นูนขึ้นมามากนัก แต่ก็นับว่าเป็นข้อดีได้เหมือนกัน อย่างน้อยก็ป้องกันไม่ให้ปุ่มถูกกดโดยไม่ได้ตั้งใจนั่นเอง

ความคมชัดและสวยงามของหน้าจอแสดงผล


ในเรื่องของความละเอียดคมชัด หรือสีสันของหน้าจอแสดงผล สำหรับหน้าจอขนาดเล็กที่อยู่ด้านนอกของ N71 นั้นยังทำได้ไม่ค่อยน่าประทับใจสักเท่าไหร่ ด้วยความละเอียดเพียง 96 x 68 Pixels กับความกว้างประมาณ 1.39 นิ้ว จึงยังดูค่อนข้างหยาบไปสักหน่อย ส่วนความสว่างก็ยังไม่ค่อยสว่างมาก และสีสันระดับ 65,536 สีก็ดูค่อนข้างจืดอยู่พอสมควร


สำหรับหน้าจอด้านใน ถือว่าสามารถแสดงผลได้ดีกว่าหน้าจอด้านนอกอย่างเห็นได้ชัด ด้วยความละเอียดระดับ QVGA หรือ 320 x 240 Pixels กว้างประมาณ 2.4 นิ้ว จึงทำให้สามารถแสดงผลได้ละเอียดคมชัด ดูเนียนตา จนแทบมองไม่เห็นจุด Pixels เลยทีเดียว ส่วนความสว่างก็ถือว่าสว่างเพียงพอแม้จะยังไม่ได้ปรับให้สว่างมากที่สุดก็ตาม และสำหรับเรื่องของสีสันนั้นสามารถแสดงสีสันได้ 262,144 สี ซึ่งก็ถือว่ามีความสวยสดใสในระดับที่น่าพอใจ

ปุ่มกด และการตอบสนอง


เท่าที่ทดลองใช้งานปุ่มกดของ N71 ก็พบว่ามีบางปุ่มที่อาจจะกดได้ไม่ค่อยถนัดมือนัก ตั้งแต่ปุ่มกดที่อยู่ด้านล่างของหน้าจอขนาดเล็กที่อยู่ด้านหน้าของตัวเครื่องซึ่งค่อนข้างเล็กแบนราบจึงกดได้ไม่ง่ายนัก ต่อมาคือปุ่ม Softkey ทางด้านบนทั้งซ้ายและขวาซึ่งเวลากดแล้วนิ้วมักจะไปติดกับขอบบนของกรอบสี่เหลี่ยม และสุดท้ายคือปุ่มกดตัวเลขที่ค่อนข้างเรียวเล็กและไม่นูนขึ้นมามากเท่าที่ควร จึงทำให้กดใช้งานได้ไม่คล่องมือสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะตรงขอบของปุ่มตัวเลขด้านริมซ้ายและขวาที่แบนราบกว่าปุ่มที่อยู่ตรงกลาง แต่ถ้าหากเป็นผู้ใช้ที่นิ้วไม่ใหญ่นัก ก็อาจจะกดได้คล่องมือตามปกติก็เป็นได้ สรุปโดยรวมแล้วเรื่องของปุ่มกดของ N71 ก็ยังไม่ค่อยน่าประทับใจสักเท่าไหร่

สำหรับความรวดเร็วในการประมวลผลระหว่างการใช้งานเมนูหรือฟังก์ชันต่างๆ นั้นถือว่าสามารถทำได้ดีน่าพอใจ ไม่มีอาการหน่วงแบบผิดปกติให้เห็น มีการตอบสนองที่ราบรื่นต่อเนื่องเป็นอย่างดี รวมทั้งอาการเครื่องค้างไปเฉยๆ ก็ไม่มีให้เห็นเช่นเดียวกัน


การใช้งานเครื่องในที่มืด หากเซนเซอร์รับแสงตรวจพบและวิเคราะห์ออกมาได้ว่าแสงสว่างในสภาพแวดล้อมไม่เพียงพอต่อการใช้งานหรือการมองเห็น ก็จะเปิดไฟ Backlight ที่ปุ่มกดขึ้นมาดังภาพ ซึ่งความสว่างชัดเจนของปุ่มกดต่างๆ ก็ถือว่าทำได้ดีไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

เมนูและฟังก์ชันการทำงาน

สำหรับ Nokia N71 นั้นทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการ Symbian OS เวอร์ชัน 9.1 และมีรูปแบบของการแสดงผลหรือ User Interface เป็นแบบ Series 60 UI เวอร์ชัน 3rd Edition ซึ่งมีลักษณะโดยรวมคล้ายกันกับ Series 60 เวอร์ชันก่อนหน้านี้ แต่จะมีหน้าตาที่สวยทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งมีฟังก์ชันการทำงานพื้นฐานที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม



เมื่อเครื่องอยู่ในหน้าจอ Standby ผู้ใช้สามารถเรียกใช้งานเมนูหรือฟังก์ชันต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วจากปุ่มกดต่างๆ หรือจากเมนู Active Standby ที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอ ตั้งแต่การกดปุ่มวงกลมขนาดเล็กที่ด้านล่างของฝาพับด้านบนก็จะปรากฏเมนูสำหรับปิดเครื่อง, ล็อคปุ่มกด, ล็อคโทรศัพท์ หรือเลือก Profiles และสำหรับเมนู Active Standby ก็สามารถกดเพื่อเข้าสู่เมนูรายชื่อ, ข้อความ, ปฏิทิน, คลังภาพ, เว็บ หรือเครื่องเล่นเพลงได้อย่างรวดเร็ว แต่ผู้ใช้ก็สามารถปรับเปลี่ยนรายการเมนูเหล่านี้ได้ด้วยตนเองเช่นเดียวกันหากไม่ชอบรายการเมนูที่เครื่องตั้งเอาไว้ให้ นอกจากนั้นเมื่อกดปุ่ม Softkey ทั้ง 2 ปุ่มก็จะเป็นการเข้าสู่เมนูข้อความ และกล้อง ตามลำดับ


เมื่อกดปุ่ม Multimedia Key ที่เป็นปุ่มเดี่ยวๆ อยู่ด้านบนสุดของแผงปุ่มกด ก็จะเป็นการเข้าสู่เมนูต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกเข้าสู่เมนูต่างๆ ได้ด้วยปุ่มควบคุมการทำงานแบบ 5 ทิศทาง ซึ่งได้แก่เว็บ, Radio, เครื่องเล่น, แสดงภาพ และกำหนดค่า ซึ่งสำหรับการกำหนดค่าก็จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถทำการเปลี่ยนแปลงรายการเมนูที่ตนเองต้องการได้นั่นเอง


หน้าแสดงผลเมนูหลักของ Nokia N71 จะเป็นแบบตารางที่มีไอคอนพร้อมกับชื่อของแต่ละเมนู แต่ผู้ใช้ก็สามารถเลือกเปลี่ยนรูปแบบของเมนูให้เป็นแบบรายการได้เช่นเดียวกันหากไม่ชอบเมนูแบบตาราง

เมนูข้อความ

เมนูข้อความ คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชันต่างๆ ที่เกี่ยวกับการรับส่งข้อความเอาไว้ ได้แก่การสร้างข้อความใหม่, การเรียกดูข้อความที่ถูกส่งเข้ามา, โฟลเดอร์ส่วนตัว, ศูนย์ฝากข้อความ, ฉบับร่าง, ข้อความที่ส่ง, ถาดออก และรายงานสถานะการส่งข้อความ


การสร้างข้อความใหม่มีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบหลักคือ ข้อความตัวอักษร, ข้อความมัลติมีเดีย และข้อความอีเมล



สำหรับข้อความตัวอักษรหรือที่รู้จักกันในชื่อของ SMS ซึ่งพิมพ์ข้อความได้สูงสุด 160 ตัวอักษรนั้นก็มีฟังก์ชันสำหรับใช้งานพื้นฐานให้มาอย่างครบถ้วน ตั้งแต่การเลือกใส่ผู้รับ, ระบบสะกดคำอัตโนมัติทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ, การแทรกตัวอย่างข้อความ และการใส่สัญลักษณ์พิเศษ


หากผู้ใช้ต้องการปรับแต่งค่าเกี่ยวกับการใช้งานรับส่งข้อความ ก็สามารถทำได้ เช่น ศูนย์ข้อความที่ใช้, การเข้ารหัสอักขระ, การรับรายงาน, อายุข้อความ หรือการเลือกรูปแบบของการส่งความให้เป็นแบบ ข้อความ, แฟ็กซ์, เพจตามตัว หรืออีเมล เป็นต้น


แต่ละข้อความจะมีรายละเอียดเฉพาะของตนเองที่ผู้ใช้สามารถเรียกดูได้ เช่น หัวข้อ, วันที่, เวลา, ประเภท, ชื่อผู้รับ หรือหมายเลขของผู้รับ เป็นต้น



ยังมีส่วนหลักอื่นๆ อีกหลายส่วนของเมนูข้อความที่มีให้ใช้งาน เช่น ถาดเข้าซึ่งเก็บข้อความที่ถูกส่งเข้ามา, โฟลเดอร์ส่วนตัวซึ่งเก็บตัวอย่างข้อความเอาไว้, ฉบับร่างซึ่งเก็บข้อความที่ยังสร้างไม่เสร็จเอาไว้, ถาดออกซึ่งเก็บข้อความที่ส่งเรียบร้อยแล้วเอาไว้ และรายงานซึ่งเก็บบันทึกรายงานสถานะต่างๆ ของการรับส่งข้อความ


การสร้างข้อความอีกประเภทหนึ่งที่นิยมใช้กันมากก็คือข้อความมัลติมีเดีย หรือที่เรียกกันว่า MMS นั่นเอง ซึ่งกลายเป็นฟังก์ชันพื้นฐานของโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่ในปัจจุบันไปแล้ว



สำหรับข้อความมัลติมีเดียก็สามารถปรับแต่งค่าสำหรับการใช้งานได้ เช่น ขนาดรูปภาพ, โหมดการสร้าง, จุดเชื่อมต่อที่ใช้, การดึงมัลติมีเดีย หรืออายุของข้อความ เป็นต้น


นอกจากจะสามารถปรับแต่งค่าใช้งานสำหรับข้อความตัวอักษร และข้อความมัลติมีเดียได้แล้ว ยังสามารถปรับแต่งค่าใช้งานได้อีกหลายอย่าง เช่น อีเมล, ข้อความบริการ, ข้อความจากระบบ, จำนวนของข้อความที่บันทึก หรือการเลือกประเภทของหน่วยความจำสำหรับการบันทึกข้อความ เป็นต้น ซึ่งสำหรับประเภทของหน่วยความจำที่สามารถเลือกได้จะมีอยู่ 2 ประเภทคือ หน่วยความจำภายในของโทรศัพท์ และการ์ดหน่วยความจำ

เมนูรายชื่อ

เมนูรายชื่อ คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชันการทำงาน หรือการจัดการต่างๆ ที่เกี่ยวกับรายชื่อเอาไว้ เช่น การค้นหารายชื่อ, การเพิ่มรายชื่อ, การเพิ่มกลุ่มผู้โทร, การแก้ไขรายชื่อ, การเพิ่มรายละเอียดของรายชื่อ, การคัดลอกรายชื่อ, การซิงโครไนซ์ หรือการพิมพ์ เป็นต้น



ฟังก์ชันพื้นฐานของการจัดการกับรายชื่อมีมาให้อย่างครบถ้วน ทั้งการค้นหารายชื่อ, การโทรสายสนทนา, สร้างการโทร 1 ต่อ 1, สร้างการโทรกลุ่ม, ส่งคำขอโทรกลับ, แสดงข้อมูลของรายชื่อ หรือเลือกรูปแบบของการแสดงรายชื่อ เป็นต้น และยังสามารถเลือกโทรแบบสายวีดีโอได้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามระบบเครือข่ายในประเทศไทยยังไม่สามารถรองรับการใช้งานฟังก์ชันนี้ได้



การสร้างรายชื่อใหม่ หากใครได้เคยใช้ Symbian Smartphone ของ Nokia มาก่อนก็คงจะคุ้นเคยกันดี ซึ่งแต่ละรายชื่อจะสามารถใส่รายละเอียดปลีกย่อยได้มากมาย ซึ่งได้แก่ คำนำหน้า, ชื่อ, คำต่อท้าย, บริษัท, ตำแหน่ง, ชื่อเล่น, มือถือ, มือถือ (บ้าน), มือถือ (ที่ทำงาน), โทรศัพท์, โทรศัพท์ (บ้าน), โทรศัพท์ (ที่ทำงาน), สายวีดีโอ, สายวีดีโอ (บ้าน), สายวีดีโอ (ที่ทำงาน), โทรศัพท์มือเน็ต, โทรศัพท์เน็ต (บ้าน), โทรศัพท์เน็ต (ที่ทำงาน), สนทนา, มุมมองร่วม, SIP, แฟ็กซ์, แฟ็กซ์ (บ้าน), แฟ็กซ์ (ที่ทำงาน), วิทยุติดตามตัว, อีเมล, อีเมล (บ้าน), อีเมล (ที่ทำงาน), ที่อยู่เว็บ, ที่อยู่เว็บ (บ้าน), ที่อยู่เว็บ (ที่ทำงาน), ที่อยู่, ที่อยู่ (บ้าน), ที่อยู่ (ที่ทำงาน), DTMF, วันเกิด และหมายเหตุ


สำหรับการแสดงภาพของผู้โทร หรือ Picture Caller ID นั้นก็สามารถแสดงได้เช่นเดียวกันเมื่อมีสายเข้า หรือมีการโทรออก แต่คงจะไม่ถูกใจผู้ใช้เท่าไหร่นัก เพราะภาพที่แสดงมีขนาดที่เล็กมาก ซึ่งหากผู้ใช้ที่ต้องการใช้รูปภาพแสดงขนาดใหญ่กว่านี้ก็คงจะต้องหาโปรแกรมมาติดตั้งเพิ่มเติมเอาเองในภายหลัง

เมนูปฏิทิน

เมนูปฏิทิน คือเมนูที่รวมรวมฟังก์ชันการทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิทินหรือตารางนัดหมายเอาไว้ เช่นการสร้างบันทึกนัดหมายการประชุม, สร้างบันทึกช่วยจำ, สร้างบันทึกวันครบรอบ หรือสร้างบันทึกสิ่งที่ต้องทำ เป็นต้น


ผู้ใช้สามารถเลือกมุมมองสำหรับแสดงรายละเอียดของปฏิทินได้หลายรูปแบบ ทั้งการแสดงเป็นเดือน, แสดงเป็นสัปดาห์, แสดงเป็นวัน หรือแสดงสิ่งที่ต้องทำ รวมถึงสามารถค้นหารายการที่บันทึกไว้จากวันที่ได้ด้วย


การใช้งานปฏิทิน ผู้ใช้ก็สามารถปรับแต่งตั้งค่าสำหรับการใช้งานได้ เช่น เสียงปลุกปฏิทิน, มุมมอง, วันที่เริ่มสัปดาห์ หรือหัวเรื่องสัปดาห์ เป็นต้น


การสร้างรายการใหม่ของปฏิทิน สามารถสร้างได้ 4 รูปแบบหลักคือ การประชุม, บันทึก, วันครบรอบ และบันทึกสิ่งที่ต้องทำ

เมนูคลังภาพ

เมนูคลังภาพ คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชันสำหรับเปิดดูและจัดการกับไฟล์มัลติมีเดียประเภทต่างๆ ได้แก่ ภาพและวีดีโอ, แทร็ค, คลิปเสียง, ลิงค์การสตรีม, การนำเสนอ รวมถึงสามารถเลือกแสดงไฟล์ทุกประเภทได้ด้วยเช่นกัน



การเปิดดูรูปภาพหรือวีดีโอจะเป็นลักษณะของอัลบั้มรูปภาพย่อยที่หมุนได้รอบ ซึ่งจากการทดสอบก็สามารถทำงานได้ค่อนข้างรวดเร็วดี ไม่หน่วงมากนัก ยกเว้นหากเป็นไฟล์รูปภาพที่ใหญ่จริงๆ ก็อาจจะใช้เวลาในการแสดงนานสักหน่อย นอกจากนั้นก็ยังมีฟังก์ชันพื้นฐานสำหรับการจัดการภาพและวีดีโอต่างๆ ไว้ให้ เช่น การขยาย, การแสดงสไลด์โชว์, การแสดงรายละเอียดของไฟล์, การแสดงแบบเต็มจอ, การสั่งพิมพ์, การส่ง หรือการตกแต่งแก้ไขรูปภาพด้วยเครื่องมือต่างๆ เป็นต้น



โปรแกรมสำหรับการเปิดเล่นแทร็คเพลงมีหน้าตาที่เรียบง่าย แต่ก็มีฟังก์ชันพื้นฐานสำหรับการฟังเพลงมาให้ค่อนข้างครบถ้วน เช่น การเล่นสุ่ม, การเล่นซ้ำ, การปรับอีควอไลเซอร์ได้หลายรูปแบบ (ค่าที่ตั้งไว้, Acoustic, ขยายเสียงเบส, Hip Hop, ป็อป, R&B และ ร็อค), การสร้างรายการแทร็ค, การตั้งเป็นเสียงเรียกเข้า, การจัดเรียงลำดับการแสดงผลตามศิลปิน หัวเรื่อง ประเภท ผู้เรียบเรียง วันที่ หรือขนาด และการแสดงรายละเอียดของไฟล์นั้น รวมถึงยังสามารถเล่นเพลงขณะที่เปิดใช้งานโปรแกรมอื่นได้ด้วย


นอกจากหมวดของภาพและวีดีโอ และแทร็คแล้ว ยังมีหมวดอื่นๆ ภายในเมนูคลังภาพอีกหลายหมวด ได้แก่ คลิปเสียง, ลิงค์การสตรีม, การนำเสนอ และไฟล์ทั้งหมด

เมนูกล้อง

เมนูกล้อง คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชันการทำงานหรือการจัดการเกี่ยวกับการใช้งานกล้องดิจิตอลเอาไว้ ซึ่งแม้ว่าหากเทียบความหลายหลายของฟังก์ชันการทำงานกับโทรศัพท์มือถือรุ่นที่โดดเด่นเรื่องการถ่ายภาพรุ่นอื่นๆ ยังถือว่าเป็นรองอยู่บ้าง แต่สำหรับฟังก์ชันพื้นฐานที่มีอยู่ใน N71 ก็ถือว่าค่อนข้างครบถ้วนและหลากหลายในระดับหนึ่ง


ผู้ใช้สามารถเลือกโหมดของการถ่ายภาพได้ 6 โหมด คือ อัตโนมัติ, กำหนดเอง, แนวตั้ง, แนวนอน, กีฬา และกลางคืน


นอกจากผู้ใช้จะสามารถเลือกโหมดของการถ่ายภาพได้แล้ว ก็ยังสามารถเลือกใช้งานไฟแฟลช (อัตโนมัติ, ปิด, เปิด), ปรับสมดุลสีขาว (อัตโนมัติ, แสงจ้า, เมฆหนา, แสงไฟทังสเตน, แสงไฟนีออน) และปรับโทนสี (ปกติ, ซีเปีย, ขาวดำ, เนกาทีฟ)



หากผู้ใช้ต้องการที่จะปรับตั้งค่าสำหรับการใช้งานกล้องเพิ่มเติมด้วยตนเองก็สามารถทำได้ ตั้งแต่ คุณภาพของรูปภาพ, ใช้กล้องตัวที่สอง, ถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง, ตั้งตัวจับเวลา, การเพิ่มที่อัลบั้ม, ซูมแบบขยาย, แสดงภาพที่จับ, ชื่อภาพที่ตั้งไว้ และเสียงจับภาพ


สำหรับการถ่ายภาพวีดีโอ ก็มีการเลือกโหมดการถ่ายภาพได้เช่นเดียวกันกับการถ่ายภาพนิ่ง เพียงแต่อาจจะน้อยกว่า รวมถึง การปรับโทนสี หรือการปรับสมดุลสีขาว ก็สามารถทำได้


เช่นเดียวกับการถ่ายภาพนิ่ง การถ่ายภาพวีดีโอผู้ใช้ก็สามารถปรับตั้งค่าสำหรับการใช้งานได้ ตั้งแต่การบันทึกเสียง, คุณภาพวีดีโอ, เพิ่มที่อัลบั้ม, แสดงวีดีโอที่ถ่ายไว้, ชื่อวีดีโอที่ตั้งไว้ และหน่วยความจำที่ใช้

เมนูแต่งภาพ

เมนูแต่งภาพ คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชันหรือโปรแกรมเฉพาะทางที่เอาไว้สำหรับจัดการเกี่ยวกับไฟล์รูปภาพหรือไฟล์วีดีโอเอาไว้ ได้แก่ ตัวกำกับ, RealPlayer, พิมพ์ภาพ และตัวเล่น Flash


โปรแกรมตัวกำกับ เป็นโปรแกรมที่ใช้สำหรับสร้างหรือตัดต่อไฟล์วีดีโอจากไฟล์วีดีโอ, รูปภาพ, รูปแบบ หรือเสียงดนตรี ซึ่งเรียกว่า muvee และผู้ใช้สามารถสร้าง muvee แบบด่วนจากรูปแบบที่มีมาให้แล้วได้ ได้แก่ โก-คาร์ท, ขีดเขียน, เจ้าสัว, ตรึงเฟรม, บันจี้, แบบง่าย, ภาพข่าว, สดใสหน่อย, สบายๆ และออกกำลัง

 
โปรแกรม RealPlayer เอาไว้สำหรับเปิดดูไฟล์วีดีโอ ไฟล์เพลงหรือการเปิดดูรายการมัลติมีเดียแบบ Streaming


นอกจากโปรแกรมตัวกำกับ และโปรแกรม RealPlayer แล้ว ในเมนูแต่งภาพก็ยังมีโปรแกรมพิมพ์ภาพสำหรับสั่งพิมพ์ภาพผ่านทางเครื่องพิมพ์ และโปรแกรมตัวเล่น Flash ซึ่งเอาไว้สำหรับเล่นไฟล์ Flash แต่ก็สามารถรองรับได้เพียงไฟล์ Flash ที่อาจจะมีรายละเอียดไม่มากนัก หรือขนาดที่ไม่ใหญ่จนเกินไป

เมนูนาฬิกา

เมนูนาฬิกา คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชันการกำหนดค่าเกี่ยวกับวันที่หรือเวลาเอาไว้ เช่น การตั้งค่าเวลา, การตั้งเขตเวลา, การตั้งวันที่, การตั้งนาฬิกาปลุก, การตั้งรูปแบบเวลา หรือการตั้งรูปแบบวันที่เป็นต้น


ผู้ใช้สามารถตั้งเวลาสำหรับนาฬิกาปลุกได้ซึ่งถือว่าเป็นฟังก์ชันพื้นฐานของโทรศัพท์มือถือทั่วไปอยู่แล้ว


ผู้ใช้สามารถตั้งค่าเวลา, เลือกเมืองหรือภูมิภาค และสามารถตั้งค่าวันที่ได้ตามปกติ เช่นเดียวกันกับโทรศัพท์มือถือทั่วไป


ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบในการแสดงผลของวันที่ ทั้ง วัน-เดือน-ปี, เดือน-วัน-ปี, ปี-เดือน-วัน และตัวแบ่งวันได้


นอกจากเวลาหลักที่ผู้ใช้ใช้อยู่เป็นประจำแล้ว ก็ยังสามารถเลือกเปรียบเทียบแสดงเวลากับเมืองหรือประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้อีกด้วย ซึ่งในที่นี้มีเมืองหรือประเทศให้เลือกมากมาย โดยเฉพาะเมืองหรือประเทศที่สำคัญทั่วโลก

เมนูบริการ

เมนูบริการ คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชันหรือการจัดการเกี่ยวกับการเรียกใช้บริการออนไลน์ต่างๆ จากผู้ให้บริการเครือข่ายที่ผู้ใช้ใช้อยู่ขณะนั้น โดยรูปแบบของการเรียกใช้บริการก็จะมีลักษณะที่คล้ายกันกับการเรียกดูเว็บไซต์หรือแว็พไซต์ผ่านทางโปรแกรมเบราเซอร์นั่นเอง



โปรแกรมเบราเซอร์ที่ใช้ก็คือ MobileBrowser เวอร์ชัน 3.0 (0550) ซึ่งจะว่าไปแล้วเมนูบริการก็คล้ายกันกับการเปิดดูเว็บไซต์หรือแว็พไซต์นั่นเอง โดยมีทั้งการจัดการบุ๊คมาร์ค, การไปยังที่อยู่เว็บ, การเปิดหน้าค้นหา, การลบคุ้กกี้, หน้าที่บันทึกไว้ และการล้างความจำแคช



สำหรับการตั้งค่าการใช้งานก็เหมือนกันกับการตั้งค่าการใช้งานเว็บนั่นเอง ซึ่งก็ได้แก่ จุดเชื่อมต่อ, โฮมเพจ, โหลดภาพและเสียง, ขนาดแบบอักษร, การเข้ารหัสที่ตั้งไว้, บุ๊คมาร์คอัตโนมัติ, ขนาดจอภาพ, หน้าค้นหา, ความดัง, การแสดงผล, คุกกี้, Java/ECMA สคริป, แจ้งเตือนความปลอดภัย และการส่งค่า DTMF 


เมื่อเปิดดูแล้วก็จะมีลักษณะของการแสดงผลเหมือนกันกับการเปิดดูเว็บไซต์หรือแว็พไซต์เพียงแต่เมนูบริการจะเน้นไปที่การใช้เชื่อมต่อใช้บริการจากผู้ให้บริการเครือข่ายเสียมากกว่า

เมนูส่วนตัว

เมนูส่วนตัว คือเมนูที่รวบรวมโปรแกรมใช้งานเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับผู้ใช้เอาไว้ เช่น เว็บ, บันทึก, ตัวแนะนำ, ไปที่, เครื่องเล่น, Radio และสนทนา รวมถึงโปรแกรมที่ผู้ใช้ทำการติดตั้งเพิ่มเติมด้วยตนเองในภายหลังอีกด้วย


โปรแกรมเว็บก็คือโปรแกรมเบราเซอร์ที่เอาไว้สำหรับเปิดเว็บไซต์ หรือแว็พไซต์ ซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับที่อยู่ในเมนูบริการ นั่นก็คือ MobileBrowser เวอร์ชัน 3.0 (0550) และสามารถรองรับการเปิดดูหน้าเอกสารได้ทั้งแบบ WAP 2.0, XHTML, XHTML MP และ HTML 4.01 ซึ่งก็คือสามารถเปิดหน้าเว็บไซต์แบบทั่วๆ ไปได้ที่เปิดดูในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ทันที เพียงแต่รายละเอียดพิเศษบางอย่างอาจจะไม่สามารถแสดงได้ เช่นไฟล์ Flash เป็นต้น


เบราเซอร์ใน N71 มีความสามารถพิเศษที่น่าสนใจคือในการเลื่อนดูหน้าเว็บที่มีขนาดใหญ่ก็จะมีกรอบที่แสดงตำแหน่งให้ผู้ใช้ได้ทราบว่ากำลังอยู่ ณ ตำแหน่งใดของหน้าเว็บนั้น ซึ่งถือว่าช่วยอำนวยความสะดวก และทำให้การท่องเว็บง่ายขึ้นอีกมากพอสมควร รวมถึงยังมีการบันทึกประวัติการเปิดหน้าเว็บเอาไว้ด้วย ผู้ใช้จึงสามารถเลื่อนไปดูหน้าเว็บที่ตนเองเคยเปิดเอาไว้ก่อนหน้าได้อย่างรวดเร็ว



การตั้งค่าใช้งานสำหรับเว็บเบราเซอร์ก็มีลักษณะที่คล้ายกันกับการตั้งค่าของเบราเซอร์ในเมนูบริการ เนื่องจากเป็นเบราเซอร์ตัวเดียวกันนั่นเอง


ในเมนูบันทึก หลักๆ มีอยู่ด้วยกัน 3 หมวดคือ เบอร์โทรล่าสุด, เวลาการโทร และข้อมูลแพคเก็ต ซึ่งสำหรับเบอร์โทรล่าสุดจะแบ่งเป็นหมวดย่อยอีก 3 หมวดก็คือ เบอร์ที่ไม่ได้รับสาย, เบอร์ที่รับสาย และเบอร์ที่โทรออก โดยมีข้อมูลพื้นฐานแสดงให้เห็นเช่น หมายเลข, วัน และเวลา ของการโทรนั้น 


สำหรับระยะเวลาที่ใช้ไปในการโทรก็มีเก็บบันทึกเอาไว้เช่นกัน โดยแบ่งเป็นเวลาที่โทรครั้งล่าสุด, เวลาของเบอร์ที่โทรออก, เวลาของเบอร์ที่รับสาย และเวลารวมทั้งหมดของทุกสาย



นอกจากสามารถบันทึกประวัติเกี่ยวกับการโทรได้แล้ว ก็ยังสามารถบันทึกประวัติของการใช้งานเชื่อมต่อกับระบบ EDGE หรือ GPRS ได้ด้วย ตั้งแต่ ปริมาณข้อมูลที่ส่ง, ปริมาณข้อมูลที่รับ และช่วงเวลาที่เชื่อมต่อ รวมถึงยังสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้เก็บบันทึกประวัติเก่าเอาไว้กี่วันได้อีกด้วย โดยเลือกได้ตั้งแต่ ไม่มีมีบันทึก, 1 วัน, 10 วัน และ 30 วัน


โปรแกรมตัวแนะนำ คือโปรแกรมที่รวบรวมไฟล์แนะนำการใช้งานพื้นฐานในส่วนต่างๆ ของเครื่อง Nokia N71 ซึ่งแบ่งเป็น ยินดีต้อนรับ, คุณสมบัติ, สาธิต, พิเศษ, อินเตอร์เฟซ, เพลง, ภาพ, การรับส่ง และแนะนำ


ฟังก์ชันไปที่ เป็นฟังก์ชันที่ใช้สำหรับแสดงรายการเมนูลัด หรือชื่อปุ่มลัดต่างๆ


โปรแกรมเครื่องเล่นเพลงก็จะมีลักษณะเดียวกันกับการเปิดฟังเพลงจากคลังภาพซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในส่วนก่อนหน้านี้ การแสดงผลและฟังก์ชันการทำงานก็เหมือนกัน เช่นมีการเล่นสุ่ม, การเล่นซ้ำ หรือการเลือกใช้อีควอไลเซอร์ เป็นต้น



ในโปรแกรม Radio หรือ Visual Radio ก็คือโปรแกรมสำหรับใช้ฟังวิทยุนั่นเอง ซึ่งสามารถรับฟังได้ทั้งจากคลื่นสัญญาณวิทยุโดยตรงแบบ FM Stereo หรือจากระบบ Visual Radio หรือการรับฟังผ่านทางการรับส่งข้อมูลจากเครือข่าย ซึ่งวิธีหลังในปัจจุบันนี้ยังใช้งานได้ไม่สมบูรณ์นัก ถือว่ายังอยู่ในขั้นทดลองเสียมากกว่า โดยฟังก์ชันสำหรับการฟังวิทยุ FM Stereo นั้นก็เป็นเพียงฟังก์ชันพื้นฐานทั่วไปที่มีอยู่ในโทรศัพท์มือถือ Nokia ที่รองรับการฟังวิทยุ FM Stereo อีกหลายๆ รุ่น ไม่ว่าจะเป็นการ ค้นหาสถานีอัตโนมัติ, การบันทึกสถานีวิทยุได้ 20 สถานี, การตั้งค่าความถี่แบบทศนิยม 2 หลัก หรือการเลือกให้เสียงออกมาทางลำโพง Loudspeaker เป็นต้น


สำหรับโปรแกรมข้อความทันใจ ก็คือการสนทนาแบบ Instant Messaging หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าการ Chat แบบ Online นั่นเอง ซึ่งการใช้งานจะต้องมีการตั้งค่าเซิร์ฟเวอร์หรือข้อมูลของผู้ใช้ให้เรียบร้อยเสียก่อนจึงจะสามารถใช้งานได้

เมนูการเชื่อมต่อ

เมนูการเชื่อมต่อ คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชันหรือการกำหนดค่าต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเชื่อมต่อทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Bluetooth, ซิงค์, ตัวเชื่อม, อินฟราเรด, สาย USB, ตัวจัดการอุปกรณ์, โมเด็ม และการสนทนา


ฟังก์ชันหรือการกำหนดค่าต่างๆ เกี่ยวกับการใช้งาน Bluetooth ก็คล้ายคลึงกันกับ Symbian Smartphone รุ่นก่อนหน้านี้ คือมีตั้งแต่การเลือกเปิดปิด, การตั้งค่าการมองเห็นของโทรศัพท์, ชื่อของโทรศัพท์, โหมด SIM ระยะไกล, การจับคู่กับอุปกรณ์ หรือการตั้งผ่านการอนุญาต เป็นต้น


การซิงค์หรือการเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ กับอุปกรณ์ข้างเคียง ก็จะต้องทำการตั้งค่าซิงค์ที่เมนูนี้


ตัวจัดการการเชื่อมต่อ เอาไว้สำหรับแสดงผลรายการของรูปแบบการเชื่อมต่อทั้งหมดที่ผู้ใช้กำลังใช้งานอยู่ขณะนั้น ซึ่งอาจจะมีอยู่หลายประเภท พร้อมทั้งสามารถจัดการกับการเชื่อมต่อแต่ละอันได้ตามที่ต้องการ


หากผู้ใช้ต้องการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านทาง Infrared Port ก็ให้กดเลือกที่เมนูอินฟราเรดเพื่อเปิดใช้งาน Infrared Port ให้เรียบร้อยเสียก่อน เพื่อให้พร้อมสำหรับการใช้งานต่อไป


สำหรับการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านทางสาย USB Data Cable ผู้ใช้สามารถเลือกโหมดการใช้งานได้ทั้งหมด 5 โหมดด้วยกัน ได้แก่ ถามเมื่อเชื่อมต่อ, เครื่องเล่นสื่อ, PC Suite, การถ่ายโอนข้อมูล และ PictBridge



นอกจากการจัดการกับการเชื่อมต่อผ่านทาง Bluetooth, Infrared Port และ USB Data Cable แล้ว ก็ยังมีฟังก์ชันสำหรับการจัดการอุปกรณ์, โมเด็ม และการสนทนา ให้จัดการหรือปรับตั้งค่าใช้งานเพิ่มเติมได้อีกด้วย

เมนูโปรแกรมช่วย

เมนูโปรแกรมช่วย คือเมนูที่รวบรวมโปรแกรมใช้งานที่เป็นประโยชน์ที่ผู้ใช้มักจะได้ใช้ในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ ซึ่งได้แก่ สมุดบันทึก, ตัวแปลง, เครื่องคิดเลข และเครื่องบันทึกเสียง


โปรแกรมสมุดบันทึก ที่มีอยู่นี้มีหน้าตาที่ค่อนข้างเรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน ซึ่งดูไปแล้วก็มีฟังก์ชันการทำงานหลายอย่างที่คล้ายกันกับการพิมพ์ข้อความตัวอักษรนั่นเอง 


โปรแกรมตัวแปลง เป็นโปรแกรมที่เอาไว้สำหรับแปลงค่าในหน่วยต่างๆ ซึ่งก็มีการแปลงค่าอยู่หลากหลายประเภทด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น สกุลเงิน, พื้นที่, พลังงาน, ความยาว, มวล, กำลังไฟฟ้า, ความดัน, อุณหภูมิ, เวลา, ความเร็ว และปริมาตร


โปรแกรมเครื่องคิดเลขที่มีอยู่ใน N71 นั้นเป็นโปรแกรมเครื่องคิดเลขที่มีเพียงฟังก์ชันคำนวณแบบพื้นฐานเท่านั้น หากใช้งานแค่ บวก ลบ คูณ หาร ธรรมดา ก็ใช้งานได้สะดวกรวดเร็วดี แต่ถ้าหากผู้ใช้ต้องการใช้ฟังก์ชันคำนวณชั้นสูง ก็คงจะต้องไปหาโปรแกรมเครื่องคิดเลขที่ซับซ้อนกว่านี้มาติดตั้งเองในภายหลัง


โปรแกรมเครื่องบันทึกเสียงที่มีอยู่ใน N71 นี้ น่าเสียดายที่ยังสามารถบันทึกเสียงได้นานสูงสุดเพียง 1 นาที และมีเพียงฟังก์ชันการทำงานพื้นฐานเท่านั้น ดังนั้นก็เป็นอีกครั้งที่หากผู้ใช้ต้องการที่จะบันทึกเสียงได้นานไม่จำกัดเวลา และมีฟังก์ชันการทำงานหลากหลายกว่านี้ ก็คงจะต้องไปสรรหาโปรแกรมบันทึกเสียงมาติดตั้งกันเองในภายหลังด้วยเช่นกัน

เมนูเครื่องมือ

เมนูเครื่องมือ คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชัน, โปรแกรม, การจัดการ หรือการตั้งค่า ที่เกี่ยวกับการใช้งานเครื่องเอาไว้ ตั้งแต่ วิธีใช้, เสียง, ลักษณะ, รูปแบบ, การตั้งค่า, โทรด่วน, ตัวจัดการ, คำสั่งเสียง, ตัวจัดไฟล์, ความจำ, ถ่ายโอน, สิทธิการใช้ และเกี่ยวกับ


โปรแกรมวิธีใช้ เป็นเมนูที่รวบรวมเอกสารอธิบายหรือแนะนำวิธีการใช้งานฟังก์ชัน, การตั้งค่า, การจัดการหรือการใช้งานโปรแกรม ต่างๆ ทั้งหมดที่มีอยู่ในเครื่อง N71 ซึ่งถือว่าเป็นโปรแกรมที่มีประโยชน์ไม่น้อยสำหรับทั้งผู้ใช้มือใหม่ และมือเก่า


การใช้งานศูนย์ข้อความเสียง เพื่อฝากข้อความเสียง จะต้องมีการระบุหมายเลขของศูนย์ฝากให้เรียบร้อยเสียก่อนจึงจะสามารถใช้งานได้



เช่นเดียวกันกับ Symbian Smartphone อีกหลายๆ รุ่น ที่ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาของการแสดงผลในส่วนการใช้งานต่างๆ ได้ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า Themes นั่นเอง ทำให้ผู้ใช้ไม่รู้สึกเบื่อเมื่อใช้งานไปนานๆ โดยใน N71 นั้นมี Themes ให้เลือกใช้อยู่ 3 แบบคือ ลักษณะ 1, Glass และ Metal ซึ่งจะมีลักษณะดังภาพ และหากผู้ใช้ไม่ชอบ Themes ที่มีอยู่เดิมนี้ก็สามารถหาดาวน์โหลด Themes แบบอื่นๆ มาติดตั้งเพิ่มเติมได้ตามใจชอบ หรือหากขยันหน่อยก็อาจจะใช้โปรแกรมสร้าง Themes ขึ้นมาใช้งานเองเลยก็ได้เช่นกัน


รูปแบบหรือ Profiles เป็นการกำหนดลักษณะการทำงานของเครื่องให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้ใช้ในแต่ละสถานการณ์ โดยใน N71 มี Profiles ให้เลือกใช้งานอยู่ 6 แบบด้วยกัน คือ ทั่วไป, เงียบ, ประชุม, นอกสถานที่, วิทยุติดตามตัว และออฟไลน์ ซึ่งแต่ละรูปแบบผู้ใช้สามารถปรับแต่งค่าการทำงานได้เองตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็น แบบเสียง, แบบเสียงสายวีดีโอ, พูดชื่อผู้โทร, ชนิดเสียงเรียกเข้า, ระดับความดัง, แบบเสียงเตือนข้อความ, แบบเสียงเตือนอีเมล, เตือนแบบสั่น และเสียงปุ่มกด


การตั้งค่าต่างๆ สำหรับการใช้งานเครื่อง N71 ได้แบ่งออกเป็นหลายหมวดหมู่ ได้แก่ โทรศัพท์, โทร, การเชื่อมต่อ, วันที่และเวลา, ความปลอดภัย, โอนสาย, จำกัดการโทร, เครือข่าย และอุปกรณ์เพิ่มพิเศษ


การตั้งค่าทั่วไปของโทรศัพท์ จะประกอบไปด้วยการตั้งค่า ภาษาในโทรศัพท์, ภาษาที่ใช้เขียน, ตัวช่วยสะกดคำ, โลโก้หรือข้อความต้อนรับ, ตั้งค่าเดิมของเครื่อง และปุ่มเสียง


การตั้งค่าโหมดพร้อมทำงาน จะประกอบไปด้วย โหมดสแตนด์บายพิเศษ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนเมนูลัดที่ต้องการได้, การตั้งค่าเมนูสำหรับปุ่มเลือกทางซ้าย และการตั้งค่าเมนูสำหรับปุ่มเลือกทางขวา


การตั้งค่าใช้งานของจอภาพหลักที่ด้านในของตัวเครื่อง มีอยู่ 3 หมวดหลักก็คือ การตั้งค่าตัวตรวจจับแสงซึ่งก็คือการปรับระดับความสว่างของหน้าจอนั่นเอง ถัดมาเป็นการตั้งค่าการหมดเวลาประหยัดพลังงานซึ่งปรับได้ตั้งแต่ 1 นาที ไปจนถึง 30 นาที และสุดท้ายคือการตั้งค่าเวลาแสงสว่างซึ่งปรับได้ตั้งแต่ 5 วินาที ไปจนถึง 60 วินาที


สำหรับการตั้งค่าใช้งานของจอภาพขนาดเล็กที่ด้านนอกของตัวเครื่อง สามารถปรับตั้งค่าได้ดังนี้คือ ปรับตั้งค่าความสว่างของหน้าจอ, ตั้งค่าภาพพื้นหลัง, ตั้งค่าหมดเวลาซึ่งปรับได้ตั้งแต่ 1 นาที ไปจนถึง 30 นาที และตั้งค่าประหยัดพลังงาน


การตั้งค่าการโทรจะประกอบไปด้วย ส่ง ID ผู้โทรเข้าของฉัน, สายเรียกซ้อน, ไม่รับสายด้วย SMS, ตัวอักษรข้อความ, รูปภาพในสายวีดีโอ, เรียกซ้ำอัตโนมัติ, สรุปหลังโทรออก, การโทรด่วน, รับได้ทุกปุ่ม และรับสายหากเปิดฝา


ผู้ใช้สามารถกำหนดจุดเชื่อมต่อข้อมูลที่ต้องการใช้งานได้ เช่น การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต, ข้อความแบบ MMS, การรับส่งข้อมูลแบบ Streaming และการใช้งาน WAP รวมถึงการตั้งค่าข้อมูลแพคเก็ต หรือการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านระบบ EDGE หรือ GPRS ก็สามารถทำได้เช่นกัน


การตั้งค่าวันและเวลานั้นมีลักษณะการตั้งค่าที่เหมือนกันกับการตั้งค่าในเมนูนาฬิกา ซึ่งสามารถตั้งค่าได้ตั้งแต่ เวลา, เขตเวลา, วันที่ และรูปแบบวันที่


ภายในการตั้งค่าโทรศัพท์และซิม จะมีการตั้งค่าความปลอดภัย เช่น คำขอรหัส PIN, รหัส PIN, รหัส PIN2 หรือระยะล็อคอัตโนมัติ เป็นต้น


ในส่วนของการจัดการใบรับรอง จะมีรายการของใบรับรอง หรือการอนุญาตของแอพพลิเคชันต่างๆ ที่อยู่ภายในเครื่อง N71 แสดงให้เห็น ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกดูรายละเอียดของใบรับรองที่ต้องการ พร้อมทั้งจัดการกับใบรับรองนั้นได้


การตั้งค่าการโอนสาย มีการแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ สายสนทนา, สายข้อมูลและวีดีโอ และสายแฟ็กซ์


การตั้งค่าการจำกัดการโทร ถูกแบ่งออกเป็น 5 ประเภทคือ สายโทรออก, สายต่างประเทศ, สายต่างประเทศ ยกเว้นบ้านเกิด, สายเรียกเข้า และสายเรียกเข้าเมื่ออยู่ต่างประเทศ


การตั้งค่าเครือข่าย คือการตั้งค่าพื้นฐานของระบบเครือข่ายที่ใช้งานอยู่ หรือต้องการเลือกใช้งานนั่นเอง ซึ่งได้แก่การเลือกโหมดระบบ ที่ประกอบไปด้วย โหมดคู่, UMTS และ GSM รวมถึงวิธีการของการเลือกระบบ และการแสดงข้อมูลระบบ


สำหรับการตั้งค่าประเภทสุดท้ายก็คือการตั้งค่าเสริม ซึ่งประกอบไปด้วยการตั้งค่าชุดหูฟัง, เครื่องช่วยฟัง, เท็กซ์โฟน, แฮนด์ฟรี Bluetooth และชุดติดรถยนต์


ฟังก์ชันการโทรด่วนก็ถือเป็นอีกฟังก์ชันหนึ่งที่เป็นฟังก์ชันพื้นฐานที่อยู่ในโทรศัพท์มือถืออีกหลายๆ รุ่น ซึ่งสำหรับ N71 ก็สามารถใช้งานโทรด่วนได้เช่นเดียวกัน โดยสามารถกำหนดหมายเลขที่ต้องการโทรด่วนได้ทั้งหมด 8 หมายเลข ซึ่งก็คือปุ่มตัวเลข 2 ถึง 9 นั่นเอง


โปรแกรมตัวจัดการ คือโปรแกรมที่มีไว้เพื่อจัดการกับการติดตั้ง หรือถอนการตั้งแอพพลิเคชันต่างๆ ที่ผู้ใช้นำมาติดตั้งเพิ่มเติม หรือเรียกง่ายๆ ก็คือโปรแกรมที่ผู้ใช้เอามาลงเพิ่มเติมในภายหลังนั่นเอง


ฟังก์ชันคำสั่งเสียง ก็คือการสั่งงานด้วยเสียงพูดของผู้ใช้นั่นเอง โดยการใช้งานก็คือให้กดปุ่มสีดำที่อยู่ติดกับ Infrared Port เอาไว้แล้วพูดออกเสียง เครื่องก็จะนำผู้ใช้เข้าสู่เมนูหรือแอพพลิเคชันที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ใช้สามารถพูดตามรูปแบบเสียงเดิมที่เครื่องมีมาให้ หรือจะเปลี่ยนเสียงใหม่ให้เป็นแบบที่ตนเองถนัดก็ได้เช่นเดียวกัน




โปรแกรมตัวจัดการไฟล์ คือโปรแกรมที่มีไว้สำหรับเปิดดูไฟล์ที่เก็บบันทึกเอาไว้ในหน่วยความจำเครื่อง หรือการ์ดหน่วยความจำ รวมถึงการตรวจสอบพื้นที่ของหน่วยความจำที่เหลือและที่ใช้ไปแล้วว่ามีจำนวนเท่าไหร่ อีกทั้งนอกจากจะเปิดดูไฟล์ได้แล้ว ก็ยังสามารถจัดการกับไฟล์ได้ด้วย เช่น หากเป็นไฟล์รูปภาพก็จะสามารถ ส่ง, แก้ไข, ตั้งเป็นภาพพื้นหลัง, เพิ่มในรายชื่อ, หมุน หรือขยายได้ เป็นต้น


ฟังก์ชันการถ่ายโอนข้อมูลคือฟังก์ชันที่เอาไว้สำหรับถ่ายโอน หรือคัดลอกข้อมูลจากโทรศัพท์มือถืออีกเครื่องหนึ่ง มาเก็บไว้ในเครื่อง N71 ซึ่งข้อมูลที่สามารถถ่ายโอนได้จะมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกันคือ รายชื่อ, รายการปฏิทิน และไฟล์ในคลัง โดยที่สามารถเลือกโอนข้อมูลผ่านทาง Bluetooth หรือ Infrared Port ก็ได้ จึงนับว่าเป็นอีกฟังก์ชันหนึ่งที่มีประโยชน์มาก เช่นหากผู้ใช้ต้องการคัดลอกรายชื่อจำนวนมากจากโทรศัพท์มือถืออีกเครื่องหนึ่ง ก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ต้องมาเสียเวลาสร้างข้อมูลรายชื่อใหม่นั่นเอง


ส่วนสุดท้ายสองส่วนที่อยู่ในในเมนูเครื่องมือก็คือส่วนของสิทธิการใช้งาน ซึ่งมีการใช้คีย์เป็นเครื่องมือหลักในการกำหนดสิทธิการใช้ และเมนูเกี่ยวกับ ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับระบบต่างๆ ที่เป็นเบื้องหลังของการทำงานภายในเครื่อง

คุณสมบัติเด่นที่น่าสนใจ

- หน้าจอ TFT LCD 262,144 สี ความละเอียดระดับ QVGA : หน้าจอแสดงผลของ N71 นั้นเป็นหน้าจอแบบ TFT LCD 262,144 สี และมีความละเอียด 320 x 240 Pixels หรือละเอียดระดับ QVGA ส่วนความกว้างอยู่ที่ประมาณ 2.4 นิ้ว ซึ่งจากการใช้งานก็รู้สึกประทับใจกับความละเอียดคมชัดของหน้าจออยู่ไม่น้อย อาจจะเป็นเพราะว่าจุด 320 x 240 ถูกบีบให้อยู่ในขนาดความกว้างของหน้าจอที่ไม่มากนัก คือ 2.4 นิ้ว จึงทำให้การแสดงผลคมชัดดูเนียนตา แม้จะมองดูใกล้ๆ ก็แทบจะไม่เห็นจุด Pixels เลยทีเดียว ส่วนสีสันก็ถือว่าสวยสดใสดีเช่นกัน สรุปแล้วหน้าจอหลักของ N71 นั้นสามารถแสดงผลได้ค่อนข้างน่าประทับใจ แต่สำหรับหน้าจอแสดงผลขนาดเล็กด้านนอกนั้นมีคุณภาพที่แตกต่างกับหน้าจอหลักด้านในอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมีความละเอียดเพียง 96 x 68 Pixels กับความกว้างของหน้าจอ 1.36 นิ้ว ดูแล้วค่อนข้างหยาบพอสมควร และสีสันก็ไม่สวยสดใสสักเท่าไหร่ ดูจืดกว่าหน้าจอหลักด้านในมากพอสมควร

- ระบบปฏิบัติการ Symbian OS เวอร์ชัน 9.1 Series 60 UI 3rd Edition : ระบบปฏิบัติการที่ใช้ใน Nokia N71 เป็นระบบปฏิบัติการ Symbian OS เวอร์ชันใหม่ ซึ่งก็คือเวอร์ชัน 9.1 และมีลักษณะหน้าตา หรือ User Interface แบบ Series 60 UI 3rd Edition ซึ่งเนื่องจากระบบปฏิบัติการเวอร์ชัน 9.1 นี้เป็นเวอร์ชันใหม่ก็มีทั้งข้อดีและข้อด้อยมาพร้อมกัน ข้อดีก็คือมีระบบการทำงานที่รวดเร็วและเสถียรมากขึ้น เมนูหรือส่วนติดต่อผู้ใช้ต่างๆ ดูสวยงามทันสมัยมากขึ้น รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น หรือมีฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลายมากขึ้น เป็นต้น ส่วนข้อด้อยที่เห็นได้ชัดตอนนี้ก็เห็นจะเป็นโปรแกรมใช้งานที่รองรับกับระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่นี้ ซึ่งช่วงนี้ยังมีการพัฒนาออกมาไม่มากนัก ดังนั้นความหลากหลายของโปรแกรมใช้งานเพิ่มเติมก็อาจจะน้อยกว่าระบบปฏิบัติการเวอร์ชันก่อนสักหน่อย แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้ คงจะมีโปรแกรมที่พัฒนาให้รองรับกับระบบปฏิบัติการใหม่นี้ออกมาอีกมากมายอย่างแน่นอน

- หน่วยความจำภายในขนาด 14.6 MB พร้อมรองรับ miniSD Card : ตามข้อมูลที่เห็นในโปรแกรมตัวจัดการไฟล์ หน่วยความจำภายในเครื่องจะมีทั้งหมดประมาณ 14.6 MB แต่เมื่อดูในเว็บไซต์ของโนเกียระบุไว้ว่ามีอยู่ 10 MB ซึ่งคาดว่าน่าจะหมายถึงพื้นที่ๆ เหลือที่ให้ผู้ใช้ใช้งานได้จริงนั่นเอง ซึ่งหากถามว่าหน่วยความจำขนาด 10 MB นี้เพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่ ก็คงจะไม่พออย่างแน่นอนเมื่อดูกันที่ความสามารถอันหลากหลายของ N71 แต่อย่างไรก็ตาม N71 ก็สามารถใส่การ์ดหน่วยความจำแบบ miniSD Card เพิ่มได้สูงสุดถึง 2 GB ซึ่งก็เหลือเฟือสำหรับการใช้งานทุกประเภท นอกจากนั้นยังสามารถถอดเปลี่ยนการ์ดได้ทันทีโดยไม่ต้องปิดเครื่องก่อน (Hot Swap) ส่วนการ์ดหน่วยความจำที่แถมมาให้พร้อมชุดขายนั้นจะมีขนาด 128 MB ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป แต่หากต้องการใช้งานที่หลากหลาย โดยเฉพาะการเก็บไฟล์ประเภทมัลติมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย, วีดีโอ หรือเพลง ก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องหาซื้อ miniSD Card ที่มีความจุมากกว่า 128 MB มาใส่เพิ่มเติม และช่วงนี้ราคาของการ์ดหน่วยความจำประเภทต่างๆ ได้ปรับราคาลงมาค่อนข้างมากอีกด้วย การตัดสินใจซื้อการ์ดหน่วยความจำขนาดความจุเยอะๆ มาใส่ก็น่าจะไม่ยากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว

- โปรแกรมเล่นไฟล์วีดีโอ และไฟล์เพลง พร้อมลำโพง Loudspeaker ในตัว : สำหรับโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงใน N71 นั้น สามารถรองรับรูปแบบของไฟล์เพลงได้หลากหลาย ได้แก่ WMA, MP3, eAAC+, AAC+, M4A, MPEG-4 ACC LC, AMR-NB, AMR-WB, 64 polyphonic MIDI, RealAudio Voice, RealAudio7 และ RealAudio8 มีฟังก์ชันในการฟังเพลงที่หลากหลาย และสามารถปรับอีควอไลเซอร์ได้ ส่วนอีกโปรแกรมหนึ่งที่มีอยู่ใน N71 ก็คือ RealPlayer Media Player ซึ่งสามารถเล่นได้ทั้งไฟล์เพลงและไฟล์วีดีโอ โดยรองรับไฟล์แบบ MP3, AAC, Real Audio, WAV, Nokia Ring Tones, AMR, AMR-WB, AMR-NB, AU, MIDI, H.263, JPEG, JPEG2000, EXIF 2.2, GIF 87/89, PNG, BMP (W-BMP), MBM, MPEG-4 และ eAAC+ จึงถือว่าโปรแกรมทั้ง 2 โปรแกรมนี้สามารถรองรับการเล่นไฟล์เพลงและไฟล์วีดีโอได้ครบถ้วนเป็นอย่างดี ส่วนคุณภาพเสียงที่ได้ยินจากหูฟังนั้นน่าเสียดายที่ไม่ได้รับหูฟังมาทดสอบด้วย จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าเสียงที่ได้ยินจากหูฟังนั้นมีความไพเราะมากน้อยเพียงใด แต่สำหรับเสียงที่ได้ยินจากลำโพง Loudspeaker นั้นถือว่าค่อนข้างน่าประทับใจ เพราะในเรื่องของพลังเสียง, ความดัง, ความชัดเจน, รายละเอียด หรือความไพเราะ ฟังดูแล้วเหนือกว่าโทรศัพท์มือถืออีกหลายต่อหลายรุ่น ทั้งในการใช้งานดูหนังฟังเพลง และการใช้งานเสียงเรียกเข้า ซึ่งปัจจัยสำคัญอาจจะเป็นเพราะคุณภาพที่ดีของลำโพงที่อยู่ใน N71 ก็เป็นได้

- วิทยุ FM Stereo ในตัว พร้อมรองรับ Visual Radio : นอกจากจะสามารถฟังเพลงจากไฟล์เพลงรูปแบบต่างๆ ได้แล้ว N71 ก็ยังสามารถฟังเพลงหรือรายการต่างๆ ผ่านทางวิทยุ FM Stereo ได้ด้วย ซึ่งวิทยุ FM Stereo ใน N71 นี้ก็มีฟังก์ชันการทำงานพื้นฐานคล้ายกันกับวิทยุ FM Stereo ที่มีอยู่ในโทรศัพท์มือถือค่าย Nokia อีกหลายรุ่น เช่น การค้นหาคลื่นความถี่อัตโนมัติ, การบันทึกสถานีวิทยุได้ 20 สถานี, การเปิดฟังเสียงผ่านทางลำโพง Loudspeaker หรือการตั้งค่าความถี่แบบทศนิยม 2 หลักเป็นต้น และความสามารถที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือสามารถรองรับการใช้งานระบบ Visual Radio ได้ด้วย ส่วนประสิทธิภาพในเรื่องของการรับสัญญาณวิทยุนั้นก็ถือว่าทำได้ชัดเจนปกติดีอย่างที่ควรจะเป็น

- กล้องดิจิตอลในตัว ความละเอียดระดับ 2 ล้าน Pixels : กล้องดิจิตอลของ N71 นั้นมีความละเอียดระดับ 2 ล้าน Pixels หรือสามารถถ่ายภาพได้ด้วยความละเอียดสูงสุดที่ 1600 x 1200 Pixels ซึ่งมีความละเอียดเท่ากันกับรุ่นที่ออกมาก่อนหน้านี้อย่าง N70 ซึ่งคุณภาพของภาพถ่ายที่ได้จาก N71 นั้นถือว่าอยู่ในระดับที่ดี แม้อาจจะยังไม่ดีที่สุดในบรรดาโทรศัพท์มือถือทั้งหมดในท้องตลาดก็ตาม สามารถเก็บรายละเอียดได้ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับกล้องของโทรศัพท์มือถืออีกหลายๆ รุ่น ส่วนสีสันนั้นอยู่ในระดับกลางๆ ออกไปทางดูเป็นธรรมชาติเสียมากกว่า ไม่สดใสเกินไป หรือไม่จืดชืดเกินไป และถ้าหากเปรียบเทียบกับรุ่นก่อนหน้านี้อย่าง N70 จากความรู้สึกส่วนตัวก็ดูเหมือนว่า N71 จะถ่ายภาพได้ดีขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย อาจจะเป็นเรื่องของการเก็บรายละเอียดได้ดีขึ้น หรือสีสันที่ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นนั่นเอง ส่วนการถ่ายภาพวีดีโอนั้น สามารถถ่ายได้ละเอียดสูงสุดที่ระดับ CIF หรือ 352 x 288 Pixels ซึ่งถือว่าละเอียดมากพอสมควรสำหรับโทรศัพท์มือถือ แม้จะมีรุ่นที่สามารถถ่ายได้ที่ความละเอียดระดับ VGA หรือ 640 x 480 Pixels แล้วก็ตาม สำหรับคุณภาพของภาพวีดีโอที่ได้นั้นถือว่าทำได้ดีน่าพอใจเช่นกัน ความละเอียดค่อนข้างดี การเคลื่อนไหวก็ค่อนข้างราบรื่น เพียงแต่การซูมขยายภาพนั้นอาจจะไม่ราบรื่นสักเท่าไหร่ เรื่องสีสันก็จะออกมาในแนวกลางๆ เป็นธรรมชาติเช่นเดียวกันกับภาพนิ่ง สำหรับคุณสมบัติโดยรวมของกล้องดิจิตอลใน N71 จะมีดังต่อไปนี้

- ปรับความละเอียดของภาพถ่ายได้สูงสุดที่ 1600 x 1200 Pixels
- ซูมขยายภาพได้สูงสุด 20 เท่า แบบ Digital Zoom
- มีไฟ Flash Light ในตัว พร้อมรัศมีทำการประมาณ 1.5 เมตร พร้อมโหมดการใช้งานแบบอัตโนมัติ, เปิด และปิด
- เลือกโหมดของการถ่ายภาพได้ 6 โหมด คือ อัตโนมัติ, กำหนดเอง, แนวตั้ง, แนวนอน, กีฬา และกลางคืน
- ปรับสมดุลสีขาว (อัตโนมัติ, แสงจ้า, เมฆหนา, แสงไฟทังสเตน และแสงไฟนีออน)
- ปรับโทนสี (ปกติ, ซีเปีย, ขาวดำ และเนกาทีฟ)
- ปรับคุณภาพของรูปภาพและวีดีโอ
- ตั้งเวลาถ่ายภาพล่วงหน้า (10, 20 และ 30 วินาที)
- ถ่ายภาพวีดีโอได้ที่ความละเอียดสูงสุดที่ 352 x 288 (CIF) และด้วยความละเอียด 176 x 144 (QCIF) หรือ 128 x 96 pixels (SubQCIF) ด้วยความเร็ว 15 เฟรมต่อวินาที
- ถ่ายภาพต่อเนื่องได้เร็วสูงสุด 2 เฟรมต่อวินาที ไปจนถึงช้าสุด 15 นาทีต่อเฟรม

สำหรับตัวอย่างของภาพถ่ายในสถานการณ์ต่างๆ ที่ได้จาก Nokia N71 สามารถชมได้จากภาพตัวอย่างที่ด้านล่างต่อไปนี้


ภาพถ่ายความละเอียด 1600 x 1200 Pixels : คุณภาพสูงสุด, โหมดอัตโนมัติ, ไม่ซูม, สมดุลสีขาวอัตโนมัติ, โทนสีปกติ


ภาพถ่ายความละเอียด 1600 x 1200 Pixels : คุณภาพสูงสุด, โหมดอัตโนมัติ, สมดุลสีขาวอัตโนมัติ, โทนสีปกติ
ซูม 1/4, 2/4, 3/4 และ 4/4 เท่าของระดับการซูมทั้งหมด ตามลำดับ


ภาพถ่ายความละเอียด 1600 x 1200 Pixels : คุณภาพสูงสุด, โหมดอัตโนมัติ, ไม่ซูม, สมดุลสีขาวอัตโนมัติ
โทนสีปกติ, ซีเปีย, ขาวดำ และเนกาทีฟ ตามลำดับ



ภาพถ่ายความละเอียด 1600 x 1200 Pixels : คุณภาพสูงสุด, โหมดอัตโนมัติ, ไม่ซูม, สมดุลสีขาวอัตโนมัติ, โทนสีปกติ 

 
ภาพวีดีโอความละเอียด 352 x 288 (CIF) : คุณภาพสูงสุด, โหมดอัตโนมัติ, สมดุลสีขาวอัตโนมัติ, โทนสีปกติ

- กล้องดิจิตอลสำหรับใช้งาน Video Calling ที่ด้านในของฝาพับ : กล้องดิจิตอลขนาดเล็กที่อยู่ด้านในของฝาพับนั้น สามารถถ่ายภาพได้ความละเอียดสูงสุดที่ 640 x 480 Pixels (VGA) และสามารถซูมแบบ Digital Zoom ได้ 2 เท่า ซึ่งจริงๆ แล้วกล้องตัวนี้ไม่ได้เน้นที่การถ่ายภาพเป็นหลัก แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการใช้งานเป็นกล้องสำหรับการสนทนาพร้อมภาพวีดีโอ (Video Calling) นั่นเอง แต่ระบบเครือข่ายในบ้านเรายังไม่สามารถรองรับกับการใช้งานตรงนี้ได้ ดังนั้นในตอนนี้กล้องตัวนี้จึงเป็นได้แค่กล้องสำหรับใช้ถ่ายรูปตัวเองได้สะดวกมากขึ้นเท่านั้นเอง

- เชื่อมต่อข้อมูลผ่านทาง Bluetooth, Infrared และ USB : ช่องทางการเชื่อมต่อข้อมูลที่มีให้ใน Nokia N71 นั้นมีมาให้อย่างครบถ้วน ทั้งการเชื่อมต่อข้อมูลแบบไร้สายผ่าน Bluetooth หรือ Infrared Port รวมถึงการเชื่อมต่อข้อมูลแบบใช้สายผ่าน USB Data Cable ซึ่งมีอินเทอร์เฟสการเชื่อมต่อแบบ Pop-Port ที่เป็นอินเทอร์เฟสมาตรฐานของโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกียนั่นเอง ซึ่งสำหรับการใช้ Bluetooth หรือ Infrared Port นั้นเป็นไปได้อย่างอิสระ ไม่ต้องมีการติดตั้งอะไรเพิ่มเติม แต่หากต้องการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านสาย USB Data Cable ผู้ใช้ก็ต้องลง PC Suite และ Driver ที่มีอยู่ในแผ่น CD ที่แถมมาให้ ให้เรียบร้อยเสียก่อน

- เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านระบบ WCDMA, EDGE หรือ GPRS : สำหรับการท่องอินเทอร์เน็ตผ่านทาง N71 นั้นสามารถเปิดดูได้ทั้งเว็บไซต์หรือแว็พไซต์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากรองรับทั้ง WAP 2.0, XHTML, XHTML MP, HTML 4.01, cHTML, i-mode HTML, CSS, ECMAScript และ JavaScript รวมถึงสามารถรองรับองค์ประกอบพื้นฐานต่างๆ ของ HTML ได้เช่นแบบฟอร์ม, ตาราง, กรอบเฟรม หรืออิมเมจแม็พ นอกจากนั้นในการเปิดดูหน้าเว็บก็ยังมีตัวช่วยอำนวยความสะดวกที่น่าสนใจอย่างเช่น Page Layout, In-Page Navigation หรือ Adaptive History List เป็นต้น โดยการเชื่อมต่อนั้น สามารถใช้ได้ทั้งระบบ WCDMA 2100 (ซึ่งยังไม่มีในประเทศไทย), EDGE Class 10 และ GPRS Class 10 ส่วนประสิทธิภาพในการใช้งานนั้น ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ไม่มีอาการหน่วงให้เห็น และประมวลผลได้ค่อนข้างเร็ว

คุณสมบัติอื่นๆ ที่น่าสนใจ

- ประสิทธิภาพในการสนทนา : คุณสมบัติเบื้องต้นสำหรับการรองรับระบบสัญญาณของ Nokia N71 นั้นคือ Dual Mode - Tri Band (WCDMA 2100 - GSM 900/1800/1900 MHz) ซึ่งในเบื้องต้นการสแกนหาคลื่นสัญญาณขณะเปิดเครื่องขึ้นมานั้น สามารถทำได้รวดเร็วดี และระหว่างที่อยู่ในสถานะ Standby ไม่พบอาการที่เรียกว่าสัญญาณแกว่งหรือสัญญาณหายแต่อย่างใด ส่วนประสิทธิภาพขณะที่ใช้งานสนทนานั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่ปกติดี เสียงที่ได้ยินดังชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามยังถือว่าไม่ถึงกับดังมากที่สุด

- การรองรับการใช้งานภาษาไทย : ระบบภาษาไทยของ Nokia N71นั้น ก็ถือว่ามีมาให้อย่างครบครันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว โดยไม่ต้องมีการติดตั้งโปรแกรมภาษาไทยหรือฟอนต์ภาษาไทยใดๆ เพิ่มเติม ตั้งแต่การแสดงข้อความหรือตัวหนังสือภาษาไทย, การพิมพ์ข้อความภาษาไทย, ระบบสะกดคำอัตโนมัติภาษาไทย, เมนูใช้งานภาษาไทย รวมถึงแผงปุ่มกดที่มีตัวอักษรภาษาไทยกำกับอยู่ด้วย (หากเป็นเครื่องศูนย์ในไทย) และสำหรับการแสดงผลตัวสระ, พยัญชนะ หรือวรรณยุกต์ ภาษาไทยนั้นมีการจัดเรียงในตำแหน่งที่ปกติดี

- แบตเตอรี่ Lithium Ion รุ่น BL-5C ขนาดความจุ 970 mAh : อัตราความสิ้นเปลืองพลังงานของ Nokia N71 นั้น เท่าที่ทดสอบใช้งานมาระยะหนึ่งถือว่าสามารถจัดสรรพลังงานได้ในระดับพอใช้ สามารถใช้งานทั่วๆ ไปได้นานพอสมควร แต่หากใช้งานต่อเนื่องนานๆ สนทนานานๆ หรือมีการใช้งานเปิดใช้งานฟังก์ชันต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ก็อาจจะต้องมีการชาร์จแบตเตอรี่บ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งส่วนที่ใช้พลังงานมากที่สุดก็น่าจะเป็นส่วนของหน้าจอแสดงผลที่ค่อนข้างใหญ่ ดังนั้นหากผู้ใช้ปรับความสว่างไม่ให้มากจนเกินไป ก็น่าจะช่วยให้ประหยัดพลังงานได้มากขึ้นพอสมควร อย่างไรก็ตาม โดยเฉลี่ยแล้ว จากการใช้งานทั่วไปแบบกลางๆ ไม่หนักไม่เบา ก็พบว่าแบตเตอรี่จะอยู่ได้ประมาณ 2-3 วัน

สรุปส่งท้าย

จากการทดสอบการใช้งานมาได้ประมาณ 1 สัปดาห์ กับ Nokia N71 ก็พอจะมองเห็นอะไรหลายๆ อย่างจากโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ จึงขอสรุปเป็นจุดเด่นและจุดด้อยตามความคิดเห็นส่วนตัวคร่าวๆ ดังนี้

จุดเด่น

- การประกอบตัวเครื่องมีความประณีต, แข็งแรงหนักแน่น, ไม่มีอาการโยกคลอน และวัสดุที่ใช้มีคุณภาพสูง
- เสียงที่ออกมาจากลำโพง Loudspeaker ฟังดูมีพลัง, มีความไพเราะ และคุณภาพเสียงที่ดีน่าประทับใจ
- หน้าจอแสดงผลหลักมีขนาดใหญ่ ความละเอียดคมชัดสูง และมีสีสันสดใส
- กล้องดิจิตอลสามารถถ่ายภาพได้ดี เก็บรายละเอียดได้ค่อนข้างดี สีสันดูเป็นธรรมชาติ ไม่จืดหรือสดใสเกินไป
- ถ่ายภาพวีดีโอได้ค่อนข้างละเอียด คือ 352 x 288 (CIF) และมีคุณภาพค่อนข้างดี
- มีการเชื่อมต่อข้อมูลค่อนข้างครบถ้วนทั้ง Bluetooth, Infrared, USB, WCDMA, EDGE และ GPRS
- รองรับการ์ดหน่วยความจำ miniSD Card ได้สูงสุด 2 GB พร้อมการถอดเปลี่ยนการ์ดแบบ Hot Swap
- ทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการ Symbian OS 9.1 ซึ่งมีประสิทธิภาพโดยรวมดีกว่าระบบปฏิบัติการรุ่นก่อนหน้านี้

จุดด้อย

- ตัวเครื่องมีความหนา, ใหญ่ และมีน้ำหนักตัวมากไปสักหน่อย และขณะกางฝาพับอาจจะจับถือได้ไม่ค่อยถนัดมือมากนัก
- ปุ่มกดตัวเลขค่อนข้างเรียวเล็ก และค่อนข้างฝังตัวอยู่ลึก จึงทำให้กดได้ค่อนข้างยาก
- ปุ่มกดตรงใต้หน้าจอขนาดเล็กด้านนอก และปุ่มกดเปิดปิดเครื่อง กดได้ค่อนข้างยาก
- ไม่มีปุ่มกดเพื่อเข้าใช้งานกล้องดิจิตอล ต้องเข้าจากเมนูเท่านั้น
- ไม่มีปุ่มกดสำหรับเปิดฝาพับ และการเปิดฝาพับด้วยมือข้างเดียวทำได้ยาก จึงมักจะต้องให้มืออีกข้างช่วยเปิดเสมอ
- รูปแสดงผู้โทรเข้ายังมีขนาดเล็กเกินไป
- หน้าจอด้านนอกแสดงผลได้ค่อนข้างหยาบ ไม่ค่อยละเอียดคมชัด รวมถึงสีสันที่ค่อนข้างจืด เมื่อเปรียบเทียบกับหน้าจอหลัก

สรุปแล้ว แม้ว่า Nokia N71 จะมีคุณสมบัติหรือความสามารถพื้นฐานส่วนใหญ่ที่คล้ายคลึงกันกับรุ่นก่อนหน้านี้อย่าง Nokia N70 แต่ก็มีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง ให้เกิดความแตกต่าง หรือดีขึ้นอยู่หลายส่วนด้วยเหมือนกัน เริ่มตั้งแต่ดีไซน์ที่เปลี่ยนมาเป็นแบบฝาพับ, ระบบปฏิบัติการ Symbian OS ที่เปลี่ยนจากเวอร์ชัน 8.1 มาเป็น 9.1 ทำให้ระบบโดยรวมดูมีความเสถียรและมีการทำงานที่ดีขึ้น, หน้าจอที่ละเอียดคมชัดและสวยขึ้น, การเพิ่ม Infrared Port เข้าไป และประสิทธิภาพในการทำงานบางอย่างที่ดีขึ้น เช่นกล้องดิจิตอลที่ถ่ายภาพได้ดูดีขึ้นเล็กน้อย แม้จะมีความละเอียดเท่าเดิมก็ตามที หรือเสียงจากลำโพงที่ฟังแล้วรู้สึกมีพลังและไพเราะมากขึ้น เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี N71 ก็ยังมีจุดด้อยอยู่บ้าง เช่น เรื่องของขนาดหรือน้ำหนักตัวที่มากไปสักหน่อย, ปุ่มกดบางปุ่มที่กดได้ยาก หรือหน้าจอด้านนอกที่แสดงผลได้ค่อนข้างหยาบเป็นต้น

สุดท้ายนี้คงต้องกล่าวว่าจุดเด่นกับจุดด้อยแต่ละอย่างมีความสำคัญกับผู้ใช้แต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นผู้ที่กำลังสนใจ N71 อยู่ หรือกำลังเปรียบเทียบกับโทรศัพท์มือถือรุ่นอื่นๆ อยู่ ก็คงจะต้องพิจารณาข้อดีข้อด้อยของแต่ละรุ่นให้ดี รวมถึงข้อดีข้อด้อยของ N71 ด้วย แล้วพิจารณาดูว่า N71 นั้นเหมาะสมกับตนเองหรือไม่ คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปหรือไม่ หรือมีรุ่นใดที่เหมาะสมกว่า แต่โดยความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว ด้วยความสามารถที่ค่อนข้างครบถ้วนของ N71 ประกอบกับราคาในตอนนี้ (ขณะรีวิว) ที่ไม่สูงไปกว่า N70 มากนัก จึงทำให้ N71 เป็นโทรศัพท์มือถือ Symbian Smartphone ที่น่าสนใจมากอีกรุ่นหนึ่งในขณะนี้เลยทีเดียว หากคุณกำลังมองหา Symbian Smartphone รุ่นใหม่ๆ ที่น่าใช้สักรุ่นในตอนนี้  และมีงบประมาณอยู่พอสมควร ก็คงจะต้องมี N71 เป็นหนึ่งในตัวเลือกด้วยแน่นอนครับ.

คะแนน TMC Point

การออกแบบดีไซน์ : 8.5/10
ใช้งานง่าย : 7.5/10
คุณสมบัติเครื่อง : 8.5/10
ฟังก์ชันการใช้งาน : 8.5/10
เสถียรภาพและประสิทธิภาพในการใช้งาน : 8.0/10
ราคาคุ้มค่า : 7.5/10

คะแนนรวม 8.03/10

โปรดทราบ

* โทรศัพท์มือถือที่ท่านเห็นในบทความรีวิวนี้เป็นเพียงเครื่องทดสอบจากทางศูนย์ เพราะฉะนั้นคุณสมบัติบางอย่างอาจมีความแตกต่างจากเครื่องที่วางจำหน่ายจริงบ้างไม่มากก็น้อย รวมถึงจุดด้อยบางประการที่พบในเครื่องทดสอบ อาจจะถูกแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นในเครื่องที่วางจำหน่ายจริง ดังนั้นหากท่านสนใจซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ ควรตรวจสอบหรือทดลองใช้งานสินค้าด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง *

สรุปคุณสมบัติเครื่อง

ท่านสามารถตรวจสอบคุณสมบัติแบบสรุป (Specification) ของ Nokia N71 ได้โดยการคลิ๊กที่ Link ด้านล่างนี้

Nokia N71 Specification 

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตาม
Oska (Thaimobilecenter Editor) : [email protected]


ผู้สนับสนุนเครื่อง Nokia N71 สำหรับการทดสอบ



ขอขอบคุณ บริษัท เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)
เลขที่ 73 อาคารเอ็ม ลิ้งค์ ชั้น 1 ซ.สุขุมวิท 62 แขวงบางจาก เขตพระโขนง
กรุงเทพฯ 10260 Tel.0-2741-5700 Fax.0-2741-6878
E-mail : [email protected]  

 

:: ไปหน้าแรกเว็บไซต์ Thaimobilecenter | ไปหน้าแรก Mobile Focus ::