Nokia 6610 Focus
& Review
Overview

โนเกีย 6610 เป็นโทรศัพท์อีกรุ่นหนึ่งที่ใช้ระบบปฏิบัติการ
Nokia OS40 เช่นเดียวกับ 6100 หรือ 7210 โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นแฝดคนละฝากับ
7210 ก็ยังได้ เนื่องจาก 6610 กับ 7210 นั้นมีข้อแตกต่างอยู่ที่รูปทรงเท่านั้น
แต่ข้างในนั้นเหมือนกันทุกประการ คือมีวิทยุ
FM stereo ,MMS , เสียงเรียกเข้าแบบ polyphonic
, หน้าจอ 4,096 สี และสามารถดาวน์โหลดจาวาแอพพลิเคชั่น
(J2ME) ต่างๆมาใช้งานในเครื่อง เช่นเกมส์
หรือโปรแกรมคำนวณต่างๆเป็นต้น เพราะฉะนั้นการทดสอบครั้งนี้จะมุ่งประเด็นที่การเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างโทรศัพท์
3 รุ่น ได้แก่ 6100 , 6610 และ 7210 เพื่อผู้ที่กำลังสนใจโทรศัพท์หน้าจอสีจากโนเกียที่เริ่มทยอยเปิดตัวในช่วงนี้ครับ
Physical Aspect

4,096 colors screen จุดเด่นที่สำคัญของ
6610 คือหน้าจอสีระดับ 4,096 สี ทรงสี่เหลียมจัตุรัสที่มีขนาด
128 x 128 พิกเซล และเนื่องจากเป็นหน้าจอแบบ
passive matrix จึงแสดงผลภาพได้แตกต่างจากหน้าจอสีแบบ
TFT ทั่วๆไป โดยภาพเมนูหลักที่ปรากฏจะมีลักษณะเป็นชั้นๆ
(layer) แต่ก็มีข้อเสียคือถ้าสังเกตให้ดีๆมีอาการจอพริ้วเล็กน้อยครับ

4-way scroll key โนเกีย 6610 มีการใช้งานโดยรวมที่ค่อนข้างง่ายจากทั้งซอฟต์แวร์ในตัวเครื่องเอง
และจากปุ่มควบคุมทิศทางแบบสี่ทิศ ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลื่อนเคอร์เซอร์ไปยังตำแหน่งต่างๆของหน้าจอได้ง่ายดายมากขึ้น
เพียงแต่ทิศขวาและซ้ายของปุ่มนี้จะไม่ค่อยได้ใช้มากเท่าไรนัก
เนื่องจากเมนูของ 6610 จะเป็นเมนูแนวดิ่งที่อาศัยการเลื่อนขึ้นลงเท่านั้น
แต่เราก็ยังใช้ประโยชน์ในโหมดพิมพ์ข้อความ
หรือใช้เป็นทางลัดเข้าเมนู "พิมพ์ข้อความ"
และ เรียกดู "ปฏิทิน" อย่างรวดเร็วด้วยการกดปุ่ม
ซ้าย และขวาที่หน้าจอขณะสแตนด์บาย และในส่วนของปุ่มตัวเลขต่างๆก็มีการสกรีนอักษรภาษาไทยกำกับไว้
สำหรับการพิมพ์ข้อความภาษาไทยอีกด้วยครับ

POP-port connector เช่นเคยสำหรับโทรศัพท์จากโนเกียรุ่นใหม่ๆที่เปลี่ยนมาใช้พอร์ตสำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมแบบใหม่
ที่เรียกว่าป๊อบพอร์ต (POP port) โดย POP
port นี้จะช่วยให้ตัวเครื่องสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกรุ่นใหม่ๆได้ภายในพอร์ตเดียว
เช่น สายส่งข้อมูล , กล้องดิจิตอล หรือ MP3
player เป็นต้น อีกทั้งยังจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์เสริมได้ด้วย
และเพื่อเป็นตัวอย่างของการนำโทรศัพท์ไปใช้ร่วมกับอุปกรณ์เสริมด้วย
POP port นี้ เราจึงได้นำกล้องดิจิตอลของโนเกียรุ่น
HS-1C มาทดสอบร่วมกับ 6610 จากที่ได้ทดสอบถ่ายรูปด้วยกล้อง
HS-1C พบว่าประสิทธิภาพของ POP port นั้นเยี่ยมยอดมาก
ตัวกล้องสามารถส่งผ่านไฟล์รูปภาพขนาด 30 กิโลไบต์จากกล้องดิจิตอลสู่มือถือได้ภายในเวลาไม่ถึง
3 วินาที อีกทั้งยังรองรับอุปกรณ์หลายชนิดในขณะเดียวกันด้วยพอร์ตเดียวกัน
โดยเราสามารถต่อแฮนด์ฟรีกับกล้องดิจิตอลได้อีกทอดหนึ่งด้วย
จึงสามารถใช้กล้องดิจิตอลพร้อมกับแฮนด์ฟรีเพื่อฟังวิทยุได้ในขณะเดียวกันครับ

Changable covers โนเกีย 6610 จะมีตัวเครื่องสีมาตรฐานให้เลือก
6 สี และยังสามารถเปลี่ยนหน้ากากทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง
ให้เข้ากับความต้องการของแต่ละคนได้ด้วยตัวผู้ใช้เองครับ

Handsfree speaker ลำโพงของ 6610
ถูกแยกออกเป็น 2 ส่วน คือลำโพงบริเวณหูฟังที่ใช้สำหรับสนทนาโดยเฉพาะ
และอีกลำโพงหนึ่งจะมีไว้สำหรับเสียงเรียกเข้าแบบ
polyphonic กับการฟังวิทยุ FM หรือสนทนาในโหมดแฮนด์ฟรีออกผ่านลำโพง
คุณภาพเสียงของลำโพงอย่างหลังนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี
เนื่องจากมีความดังชัดดีมาก สามารถได้ยินแม้อยู่ในระยะไกล
และยังใช้สนทนาแบบไม่ต้องยกหู หรือฟังวิทยุได้อย่างชัดเจนด้วยครับ
Menu Navigation รูปแบบเมนูของ6610
เป็นเมนูแบบใหม่ตามแบบของ Nokia OS40 เช่นเดียวกับ
6100 และ 7210 โดยใช้เมนูแนวดิ่งพร้อมภาพประกอบเมนูขนาดใหญ่
สามารถเข้าเมนูอย่างรวดเร็วด้วยการระบุตำแหน่ง
(index system) เช่น กดปุ่มเมนูตามด้วยตัวเลข
2-1 เพื่อดูหมายเลขที่ไม่ได้รับสาย เป็นต้น
และสำหรับเครื่องที่นำมาทดสอบครั้งนี้เป็นเครื่องที่มีจำหน่ายจริงในประเทศไทยขณะนี้
มาพร้อมกับเมนูภาษาไทยจึงใช้งานได้ง่ายมากขึ้นครับ
All Features
Integrated stereo FM radio ในบรรดาโทรศัพท์จากโนเกียรุ่นใหม่
3 รุ่น ที่ใช้ OS40 ซึ่งมีวางจำหน่ายในขณะนี้
คือ 6100,6610,7210 จะมีอยู่เพียงรุ่นเดียวเท่านั้นที่ไม่มีวิทยุ
FM ก็คือ 6100 สำหรับ 6610 เครื่องที่เราทำการทดสอบนี้จะมีความสามารถทางด้านวิทยุ
FM เช่นเดียวกับ 7210 คือ มีระบบสเตอริโอ
สามารถฟังเพลงพร้อมกับเล่นเกมหรือสั่งงานอื่นๆในเครื่องได้
และยังสามารถฟังวิทยุออกทางลำโพงด้านข้างตัวเครื่องได้
โดยเราอาจใช้ฟังขณะทำงานที่โต๊ะหรือเมื่อต้องการให้ผู้อื่นร่วมฟังด้วย
แต่ยังมีข้อเสียที่สำคัญคือต้องเสียบสายสมอลทอล์กตลอดเวลาเมื่อต้องการจะเปิดวิทยุฟัง
ถึงแม้เราจะสั่งให้เสียงออกทางลำโพงก็ตาม
เพราะฉะนั้นผู้ใช้จำต้องพกพาสมอลทอล์กติดตัวไปด้วยเสมอครับ

Multiple Entries Phonebook โนเกีย
6610 ได้เตรียมหน่วยความจำในตัวเครื่อง สำหรับจัดเก็บเบอร์โทรและรายละเอียดในการติดต่อต่างๆลงในหน่วยความจำของเครื่อง
เช่น หมายเลขโทรศัพท์ที่บ้าน , ที่ทำงาน ,
ที่อยู่ทางไปรษณีย์ หรือ อี-เมล์ เป็นต้น
ซึ่งผู้ใช้สามารถบันทึกรายละเอียดต่างๆเหล่านี้ของแต่ละคนลงในสมุดโทรศัพท์ได้สูงสุด
300 รายชื่อ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละรายชื่อเราจะใส่รายละเอียดมากน้อยแค่ไหนครับ
ทั้งนี้นอกจากสมุดโทรศัพท์ของ 6610 จะมีขนาดใหญ่แล้ว
ยังมีระบบค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดที่ดี และสามารถแสดงรายชื่อต่างๆที่เก็บอยู่ในซิมการ์ดและหน่วยความจำของเครื่องได้พร้อมกันอีกด้วย
ทำให้การใช้งานสมุดโทรศัพท์ของ 6610 สะดวกรวดเร็วและไม่สับสนครับ
Polyphonic ringing tone โนเกีย
6610 ใช้เสียงดนตรีเรียกเข้าเสมือนจริงแบบ
Polyphonic ซึ่งเล่นจากไฟล์มิดี้ (.mid) ภายในเครื่อง
และด้วยคุณภาพที่ดีของลำโพงบริเวณด้านข้างตัวเครื่อง
จึงทำให้เสียงดนตรีเรียกเข้าของ 6610 มีความดังชัดเจนและสามารถได้ยินในระยะไกล
อีกทั้งยังมีระบบสั่นสะเทือนตามจังหวะเพลง
(Rhythmic vibration) จึงมีความสมจริงมากยิ่งขึ้น
สำหรับจำนวนเสียงเพลงเรียกเข้ามาตรฐานจะมีทั้งหมด
11 เพลง และมีเสียงเพลงเรียกเข้าที่ติดตั้งมาให้ล่วงหน้าอีก
20 เพลง (สามารถลบได้) นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถดาวน์โหลดเสียงดนตรีเรียกเข้าแบบใหม่ๆผ่าน
WAP browser หรือ จะไปหาจากในอินเทอร์เน็ตและโหลดเข้าเครื่องผ่านสายดาต้าด้วยโปรแกรม
PC suite5.0 ที่แถมมาให้กับเครื่องก็ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ตัวเครื่องจะมีหน่วยความจำส่วนกลางสำหรับจัดเก็บไฟล์ต่างๆ
เช่น เสียงเรียกเข้า , ภาพพื้นหลัง หรือโปรแกรมที่ดาวน์โหลดมาจำนวน
725 กิโลไบต์ แต่ข้อเสียที่สำคัญทางด้านเสียงเรียกเข้าของ
6610 (และรุ่นที่ใช้ OS40) ก็คือผู้ใช้จะไม่สามารถนำไฟล์เสียงดนตรีเรียกเข้าที่อยู่ใน
gallery มากำหนดเป็นเสียงเรียกเข้าเฉพาะสำหรับแต่ละกลุ่มรายชื่อได้
โดยจะเลือกได้เพียง 11 เพลงมาตรฐานที่มีในเครื่องเท่านั้นครับ
Gallery แกลลอรี่คือสถานที่เก็บไฟล์รูปภาพ
เสียงเรียกเข้า หรือไฟล์อื่นๆที่ผู้ใช้นำเข้ามาในเครื่อง
โดยภายในแกลลอรี่จะประกอบไปด้วยโฟลเดอร์ต่างๆ
เช่น Images สำหรับเก็บรูปภาพ และ Tones สำหรับเก็บไฟล์เสียงเรียกเข้า
นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถที่จะสร้างโฟลเดอร์ใหม่ๆเพิ่มเติมสำหรับจัดระเบียบข้อมูลต่างๆภายในเครื่องได้
แต่ประสิทธิภาพของแกลลอรี่ใน OS40 ทุกตัว
จะมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เนื่องจากไม่สามารถส่งข้อมูลไปยังอุปกรณ์ภายนอกได้
ไม่ว่าจะเป็นทางอินฟราเรดพอร์ต หรือทางสายดาต้าผ่าน
PC suite โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผมได้มีโอกาสทดสอบกับกล้องดิจิตอล
HS-1C เมื่อได้ทำการถ่ายรูปเสร็จเรียบร้อย
รูปภาพจะปรากฏที่หน้าจอโทรศัพท์อัตโนมัต สำหรับให้ผู้ใช้กดบันทึกลงเครื่อง
แต่ทว่าเมื่อบันทึกลงไปแล้วไฟล์เหล่านี้ (ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายหรือเสียงเรียกเข้า)
จะไม่สามารถนำออกมาจากเครื่องได้ด้วยพอร์ตต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นอินฟราเรดพอร์ต หรือทาง POP-port
แม้ว่าจะใช้ Nokia PC suite5.0 ก็ตาม จะมีเพียงวิธีเดียวเท่านั้นคือการส่งไฟล์ในเครื่องแนบไปกับข้อความ
MMS ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก
และยุ่งยากกว่าด้วยครับ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าไฟล์ต่างๆที่อยู่ในเครื่อง
เหมาะสำหรับการนำมาใช้กับเครื่องตนเองเท่านั้นเนื่องจากตัวระบบปฏิบัติการ
OS40 ไม่ยืดหยุ่นเพียงพอต่อการจัดการข้อมูลครับ
Multimedia Messaging โนเกีย 6610
รองรับมาตรฐานใหม่ของการรับ-ส่งข้อความในรูปแบบมัลติมีเดีย
(MMS) ที่ผู้ใช้สามารถแนบรูปภาพขนาดใหญ่สุดคือ
640 x 480 พิกเซล ที่เป็นไฟล์ภาพแบบ JPEG,
GIF87a, GIF89a, WBMP หรือ PNG และสามารถรับภาพ/เสียงเรียกเข้า
เพื่อนำมาใช้เป็นภาพพื้นหลังหรือเสียงเรียกเข้าในตัวเครื่องได้
แต่ MMS client ของ 6610 ยังคงมีข้อจำกัดอยู่บางประการ
คือไม่สามารถแนบรูปภาพมากกว่า 1 รูป ต่อข้อความและไม่สามารถเพิ่มสไลด์แผ่นต่อๆไปเพื่อทำภาพต่อเนื่องเหมือนกับบางยี่ห้อได้ครับ
Nokia's smart messaging ทางด้านการรับ-ส่งข้อความสั้น
(SMS) ยังคงมีความสามารถในการรับ-ส่ง picture
message (ภาพขาว-ดำ) กับเครื่องรุ่นเก่า โดยมีรูปภาพมาตรฐานให้เลือกในเครื่อง
10 ภาพ สามารถบันทึกข้อความเข้าลงในหน่วยความจำของเครื่องได้สูงสุด
150 ข้อความ หรือ 50 รูปภาพ พร้อมทั้งระบบช่วยสะกดคำ
T9 ภาษาอังกฤษ (ไม่มี T9 ภาษาไทย) และระบบพิมพ์ข้อความภาษาไทย
ซึ่งค่อนข้างลำบากเล็กน้อยเนื่องจากในโหมดพิมพ์ข้อความจะไม่มีการแสดงผลว่าแต่ละปุ่มประกอบด้วยตัวอักษรใดบ้างครับ
Operator logo & Wallpaper
ภาพโลโก้เครือข่าย (operator logo) และภาพพื้นหลังที่หน้าจอ
(wallpaper) เป็นจุดสร้างความสนใจและช่วยลดความซ้ำซากจำเจของผู้ใช้ได้เป็นอย่างมาก
โดยผู้ใช้สามารถที่จะดาวน์โหลดรูปภาพจากทาง
WAP browser หรือนำภาพจาก PC ลงเครื่องเพื่อติดตั้งที่หน้าจอได้ด้วย
นอกจากนี้ในตัวเครื่องจะมาพร้อมกับรูปภาพมาตรฐานที่ติดตั้งมาให้
13 ภาพ กับเสียงเรียกเข้าอีก 20 เพลง ให้เลือกใช้ครับ
Java applications จุดเด่นของ 6610
และมือถือที่ใช้ Nokia OS40 ทุกรุ่นก็คือความสามารถในการนำแอพพลิเคชั่นภายนอกที่เขียนด้วยภาษาจาวา
(java) มาติดตั้งและใช้งานในเครื่องได้ วิธีการนำเข้าแอพพลิเคชั่นเหล่านี้สามารถทำได้โดยใช้
Nokia PC suite ส่งโปรแกรมเข้าเครื่องผ่านสายดาต้า
หรือจะดาวน์โหลดเข้าเครื่องโดยตรงผ่านทาง
WAP browser ก็ได้ ตัวอย่างแอพพลิเคชั่นที่ติดตั้งภายในเครื่องมาให้ล่วงหน้าคือ
โปรแกรมแปลงค่าเงิน และ เกมส์มาตรฐานที่มีอยู่ในเครื่อง
2 เกมส์ ซึ่งความสามารถนี้อีกหน่อยจะเป็นที่นิยมและมีแอพพลิเคชั่นรองรับมากขึ้น
ในอนาคตอันใกล้นี้เราจะได้เห็นโปรแกรมประยุกต์ต่างๆมากมายให้ได้ทดลองดาวน์โหลดกันครับ
J2ME Games ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าแอพพลิเคชั่นบางอย่างใน
6610 จะเป็นจาวาแอพพลิเคชั่น ซึ่งเกมส์ใน
6610 ก็เช่นเดียวกัน โดยเราสามารถที่จะดาวน์โหลดเกมส์ใหม่ๆสำหรับ
6610 ที่เขียนขึ้นด้วยภาษาจาวามาติดตั้งในเครื่องได้
ภายใต้พื้นที่หน่วยความจำส่วนกลางขนาด 725
กิโลไบต์ หรือจำนวนไม่เกิน 6 แอพพลิเคชั่นเท่านั้นครับ
Month view calendar ปฏิทินของ
6610 จะเป็นปฏิทินแบบ 2 มุมมอง คือ แบบเดือน
(6 สัปดาห์) และแบบรายวัน โดยเราสามารถจดนัดหมายต่างๆลงในปฏิทินและสั่งให้เครื่องทำการเรียกเตือนเมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ได้
นอกจากนั้นยังสามารถจดรายการ สิ่งที่ต้องทำ
(to do list) ได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ปฏิทินของ
6600 ยังมีข้อเสียที่สำคัญคือไม่สามารถแสดงรายการที่เราบันทึกทั้งหมดไว้ได้
(view all) ซึ่งผู้ใช้จะต้องใช้วิธีการเลือกดูทีละวันแทนครับ
สำหรับจำนวนที่สามารถจดบันทึกนั้นได้แก่ นัดหมายในปฏิทิน
250 รายการ และบันทึกสิ่งที่ต้องทำ (to do
list) ได้อีก 30 รายการครับ


WAP browser 1.2.1 อีกหนึ่งช่องทางที่สำคัญสำหรับการนำเข้าข้อมูลต่างๆลงเครื่อง
6610 ก็คือการดาวน์โหลดข้อมูลผ่านทาง WAP
browser ทั้งภาพพื้นหลังหรือเสียงเรียกเข้า
รวมทั้งยังใช้เเพื่อการเปิดดูข่าวสารทั่วๆไปได้อย่างคล่องแคล่วผ่านปุ่มควบคุม
4 ทิศทางด้วยครับ
Extras feature ลูกเล่นเสริมต่างๆที่มีในเครื่องได้แก่
นาฬิกาปลุกระบบ snooze (สามารถปลุกได้แม้ขณะปิดเครื่อง)
, เครื่องคิดเลข , นาฬิกาจับเวลาถอยหลัง ,
นาฬิกาจับเวลา และ profile สำหรับปรับเปลี่ยนการตั้งค่าตามสถานการณ์ต่างๆ
อีก 5 รูปแบบ
My Experience

จากประสบการณ์ที่ได้ทดลองใช้งาน 6610 พร้อมกล้องดิจิตอล
HS-1C อยู่ 5 วัน สิ่งที่ผมค่อนข้างประทับใจคือรูปแบบการใช้งานที่เรียบง่ายและมีความสามารถมากมาย
แต่ยังรู้สึกเสียดายกับ OS40 ที่มีขีดจำกัดหลายสิ่งหลายอย่าง
โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งข้อมูลจากในโทรศัพท์มือถือออกไปสู่อุปกรณ์ภายนอก
หรือการที่ไม่สามารถใช้เสียงเรียกเข้าที่ดาวน์โหลดมากำหนดให้กับกลุ่มรายชื่อ
แต่ถ้ากล่าวถึงตัวเครื่องโดยรวมแล้ว ก็นับว่ารองรับการใช้งานทั่วๆไปจนถึงระดับกลางได้อย่างยอดเยี่ยม
มีสิ่งบันเทิงหลายสิ่งหลายอย่างสำหรับผู้ใช้
เช่นวิทยุ FM และ เกมส์ที่สามารถดาวน์โหลดมาเพิ่มเติมได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากล่าวถึงเรื่องการรับสัญญาณของตัวเครื่องแล้ว
จัดว่าอยู่ในระดับดีมาก เนื่องจากบริเวณที่ผมพักอาศัยสัญญาณจะขาดหายเป็นช่วงๆตลอดเวลา
โดยตลอดมาเครื่องที่นำมาทดสอบณ.สถานที่นี้เกือบ
20 รุ่น มีเพียงไม่ถึง 3 เครื่องเท่านั้นที่สามารถใช้งานได้ดีไม่มีอาการเสียงก้องหรืออีกฝ่ายไม่ได้ยิน
ซึ่ง 6610 ก็เป็นหนึ่งในสามรุ่นที่ทำคะแนนด้านนี้ได้ดีมากครับ
สำหรับระยะเวลาการใช้สายด้วยแบตเตอรี่รุ่นใหม่
(BLD-3) พบว่าสามารถเปิดเครื่องติดต่อกันได้นาน
39 ชั่วโมง และระหว่างนั้นสามารถใช้สายสนทนาได้เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น
1 ชั่วโมง 52 นาทีครับ
สรุป

กล่าวโดยรวมแล้ว 6610 เป็นโทรศัพท์ที่แตกต่างจาก
7210 เพียงรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น แต่ซอฟท์แวร์ภายในและความสามารถต่างๆนั้นล้วนเหมือนกันทุกประการ
ซึ่งเป็นโทรศัพท์ที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการมือถือที่มีเทคโนโลยีระดับต้นจนถึงระดับกลาง
ไม่ถึงกับ advance มาก เพราะระบบปฏิบัติการที่ใช้ยังคงมีข้อจำกัดบางประการอยู่
และสำหรับผู้ที่ต้องการโทรศัพท์หน้าจอสี มีเสียงดนตรีเรียกเข้าเพราะๆ
ฟังวิทยุ FM หรือดาวน์โหลดเกมส์ใหม่ๆมาเล่นได้
โนเกีย 6610 จะเป็นโทรศัพท์ที่ตอบสนองความต้องการของคุณได้เป็นอย่างดีมากครับ

Strength
|
Weakness
|
- สามารถดาวน์โหลด java
application ได้ -
เสียงเรียกเข้า mono/polyphonic
- หน้าจอสี 4,096
สี - รับ-ส่งข้อความพร้อมภาพแบบ
MMS ได้ - ดาวน์โหลดภาพและเสียงเรียกเข้าผ่าน
WAP ได้
|
- แต่งเสียงเรียกเข้าไม่ได้
- สั่งงานด้วยเสียงไม่ได้
/อัดเสียงไม่ได้ -
เสียงเรียกเข้าที่ดาวน์โหลดมา
ใช้กับ caller group ไม่ได้
- หน่วยความจำส่วนกลางมีขนาดเล็ก
|
ข้อมูลโดยรวมทั่วไป
- น้ำหนัก 84 กรัม -
ขนาด 106 x 45 x 17.5 มิลลิเมตร -
Triple Band 900/1800/1900 - หน้าจอ
4,096 สี - เปลี่ยนหน้ากากได้
- อ่านและพิมพ์ข้อความภาษาไทยได้
- วิทยุ FM stereo ในตัว -
ลำโพง handsfree ในตัวสำหรับเสียงเรียกเข้า,ฟังวิทยุ
- POP-port (พอร์ตต่อกับอุปกรณ์ภายนอกชนิดใหม่)
- สมุดโทรศัพท์ 300 รายชื่อ (9 fields)
- ตั้งกลุ่มรายชื่อได้ 5 กลุ่ม
(แยกเสียงเรียกเข้าตามกลุ่มได้) -
เสียงเรียกเข้าแบบ polyphonic 11 เพลงมาตรฐาน
และติดตั้งล่วงหน้า 20 เพลง (ลบได้) -
ปฏิทินแบบเดือน (6 สัปดาห์) - เปลี่ยนภาพพื้นหลังได้
- รับและส่ง MMS ได้ในตัว -
ดาวน์โหลด java application มาติดตั้งในเครื่องได้
(725 Kb.) - WAP browser 1.2.1
(ใช้ดาวน์โหลดเสียงเรียกเข้า, ภาพพื้นหลัง
และ operator logo ได้) - มีอินฟราเรดพอร์ตในตัว
- ปรับเปลี่ยนการตั้งค่าตามสถานการณ์ได้
5 รูปแบบ (profile) - เปิดดูภาพ
JPG , GIF ได้ในเครื่องโดยตรง -
นาฬิกาปลุก , เครื่องคิดเลข , นาฬิกาจับเวลา
- battery : Li-ion (BLD-3) 720 mAh
- stand by : 150 - 300 ชม. -
talk time : 2 - 5 ชม.

รายละเอียดทั้งหมดของเครื่อง
Phone Features |
รุ่น |
Nokia 6610 |
ขนาด |
106 x
45 x 17.5 |
น้ำหนัก |
84 |
ระบบ |
900/1800/1900 |
หน้าจอ |
Passive matrix 4,096 สี |
สมุดโทรศัพท์ |
300
รายชื่อ (10 ประเภทต่อรายชื่อ) |
กลุ่มรายชื่อ |
5
กลุ่ม |
เปลี่ยนภาพพื้นที่หน้าจอ |
ได้ |
เปลี่ยนภาพพักหน้าจอ |
ไม่ได้ |
ตารางนัดหมาย |
month
view (6 สัปดาห์) 250 นัดหมาย |
Picture CLI |
ไม่ได้ |
การรับ-ส่งข้อมูล |
CSD/HSCSD/GPRS |
การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก |
IrDA/USB port |
เกม |
2
เกมส์มาตรฐาน + ดาวน์โหลดได้สูงสุด 6 ไฟล์ |
แฮนด์ฟรีในตัว |
มี |
กล้องดิจิตอล |
ไม่มี |
วิทยุ FM |
ได้ |
ฟังเพลง |
ไม่ได้ |
J2ME |
มี |
MMS |
มี |
EMS |
ไม่มี |
E-mail |
ไม่มี |
WAP browser |
เวอร์ชั่น 1.2.1 |
เมนูภาษาไทย |
มี |
อ่านข้อความภาษาไทย |
ได้ |
พิมพ์ข้อความภาษาไทย |
ได้ |
ระบบช่วยสะกดคำภาษาไทย |
ไม่มี |
ระบบช่วยสะกดคำภาษาอังกฤษ |
T9 |
สั่งงานด้วยเสียง |
ไม่ได้ |
โทรออกด้วยเสียง |
ไม่ได้ |
บันทึกเสียง |
ไม่ได้ |
profile |
5
แบบ |
เสียงเรียกเข้า |
polyphonic 11 เพลง + ดาวน์โหลดได้
(ขึ้นอยู่กับหน่วยความจำ) |
โปรแกรมแต่งเสียงเรียกเข้า |
ไม่มี |
โปรแกรมแปลงค่าเงิน |
มี |
เครื่องคิดเลข |
มี |
นาฬิกาจับเวลา |
มี |
ระบบสั่น |
มี |
นาฬิกาปลุก |
มี |
เปลี่ยนอุปกรณ์ |
หน้ากาก , ปุ่มกด |
talk time |
2-5
ชั่วโมง |
stand by |
150 -
300 ชั่วโมง |
อื่นๆ |
ฟังวิทยุ FM ได้ |
ราคา |
N/A | 
ขอขอบคุณ เว็บไซต์ www.min4.com
ที่เอื้อเฟื้อเนื้อหาบทความทดสอบ และ รูปภาพ
สำหรับ โทรศัพท์มือถือ รุ่นนี้ และ
คุณกานต์ รังคสิริ เว็บมาสเตอร์ของ
www.min4.com
มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม
Oska (Thaimobilecenter Editor) : [email protected]
:: ไปหน้าแรกเว็บไซต์ Thaimobilecenter
| ไปหน้าแรก
Mobile Focus ::
|