Nokia 6500 Classic Review & Focus
The
perfect fusion of form and function
Review
Date (14-October-2007)
เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่ถูกถามถึงมากในช่วงนี้
สำหรับ Nokia 6500 Classic ซึ่งได้ฤกษ์วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยไปเมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้เอง
ด้วยราคาเปิดตัวตามศูนย์อยู่ที่ประมาณ 12,200
บาท โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ 6500 Classic
น่าจะเป็นกลุ่มผู้ใช้ที่เน้นในเรื่องของการออกแบบดีไซน์เป็นหลัก
และยอมให้เรื่องความหลากหลายในการใช้งานเป็นรองได้บ้าง
ด้วยตัวเครื่องที่บางเฉียบแต่ยังคงความแข็งแรงไว้
ซึ่งหากเทียบกับโทรศัพท์มือถือดีไซน์บางๆ
ก่อนหน้านี้ของโนเกียอย่าง Nokia 6300 ที่ว่าบางอยู่แล้ว
แต่กลับพบกว่า 6500 Classic บางกว่า 6300
เสียอีก อีกทั้งชิ้นงานโดยรวมถือว่ากิน 6300
อยู่ไม่น้อย ทั้งความประณีตและวัสดุที่นำมาใช้ประกอบเป็นตัวเครื่อง
สำหรับอีกรุ่นหนึ่งที่มีรหัสเดียวกันคือ
Nokia 6500 Slide นั้น ในขณะนี้ก็ได้วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการแล้วเช่นกัน
ซึ่งสำหรับ 6500 Slide จะมีความแตกต่างจาก
6500 Classic ตรงที่ 6500 Slide จะเป็นโทรศัพท์มือถือแบบฝาสไลด์
ซึ่งก็น่าใช้ไปอีกแบบ เรียกได้ว่าใครชอบแบบบางๆ
ก็ต้อง 6500 Classic แต่ถ้าใครชอบแบบสไลด์ก็ต้อง
6500 Slide นั่นเอง ส่วนความสามารถโดยทั่วไปของ
6500 Classic นั้นจะเป็นโทรศัพท์มือถือที่รองรับระบบเครือข่ายได้ทั้ง
WCDMA และ GSM ในตัวเดียวกัน, หน้าจอ TFT
16 ล้านสี ความละเอียดระดับ QVGA, หน่วยความจำภายใน
1 GB, มี EDGE/GPRS, มี Bluetooth/microUSB,
ดูหนังฟังเพลงได้ หรือมีกล้องดิจิตอลความละเอียด
2 ล้านพิกเซลในตัว เป็นต้น ซึ่งก็ถือว่า 6500
Classic มีความสามารถอยู่พอตัวเลยทีเดียว
สำหรับรายละเอียดปลีกย่อย หรือการใช้งานจริงๆ
จะมีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไรนั้น คงต้องติดตามอ่านกันต่อในบทความรีวิวที่ด้านล่างนี้
Nokia 6500 Classic Video Review & Focus
|
วิดีโอรีวิว Nokia
6500 Classic ตอนที่ 1
ข้อมูลเบื้องต้น
|
|
|
|
วิดีโอรีวิว Nokia
6500 Classic ตอนที่ 2
ลักษณะทางกายภาพ
|
|
|
|
วิดีโอรีวิว Nokia
6500 Classic ตอนที่ 3
เมนูใช้งานหลัก
|
อุปกรณ์ที่มีมาให้ในกล่อง
 อุปกรณ์มาตรฐานของ
Nokia 6500 Classic ที่เป็นเครื่องศูนย์ไทยนั้นจะประกอบไปด้วย ตัวเครื่อง
Nokia 6500 Classic, แบตเตอรี่ Li-Ion รุ่น
BL-6P ขนาดความจุ 830 mAh จำนวน 1 ก้อน, ที่ชาร์จแบตเตอรี่รุ่น
AC-6U จำนวน 1 เส้น, สาย microUSB Cable รุ่น
CA-101 จำนวน 1 เส้น, หูฟังรุ่น HS-82 จำนวน
1 เส้น, ซองหนัง จำนวน 1 ชิ้น, แผ่นซีดีซอฟต์แวร์
PC Suite จำนวน 1 แผ่น, สายคล้องตัวเครื่อง
จำนวน 1 เส้น และสุดท้ายคือ คู่มือการใช้งานภาษาไทย/อังกฤษ
จำนวน 1 เล่ม ซึ่งจากอุปกรณ์มาตรฐานที่แถมมาให้กับ
Nokia 6500 Classic นี้ก็ถือว่าครบถ้วนเพียงพอต่อการใช้งานเป็นอย่างดี
เมื่อแรกเห็นตัวเครื่อง
รูปลักษณ์โดยทั่วไปของ Nokia 6500 Classic
จะเป็นโทรศัพท์มือถือแบบแท่งที่มีความบางเฉียบเป็นจุดเด่นที่สำคัญ
และโทนสีของตัวเครื่องจะออกไปในแนวสีดำเข้มขรึมตัดกับเส้นสายสีเงินหรือโครเมียมมันวาว
การออกแบบดีไซน์ดูดีมีราคา โดยเฉพาะเมื่อได้ลองสัมผัสกับตัวเครื่องจริงๆ
จะพบว่าคุณภาพชิ้นงานของ 6500 Classic นั้นอยู่ในระดับที่สูงกว่าโทรศัพท์มือถือทั่วๆ
ไปอยู่พอสมควร ทั้งในเรื่องของวัสดุที่นำมาใช้
หรือความประณีตในรายละเอียดต่างๆ แม้ว่าตัวเครื่องจะเล็กและบาง
แต่กลับรู้สึกหรือสัมผัสได้ถึงความแน่นหนาแข็งแรง
 ที่ด้านหน้าของตัวเครื่อง
การออกแบบดีไซน์โดยรวมจะมีลักษณะเหมือนกับโทรศัพท์มือถือทรงแท่งโดยทั่วไป
แต่วัสดุที่นำมาใช้นั้นจะอยู่ในระดับคุณภาพที่สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
โดยเฉพาะกรอบบริเวณรอบๆ หน้าจอแสดงผลนั้นจะทำมาจากโลหะอลูมินัมซึ่งช่วยเพิ่มความหรูหรา
และในขณะเดียวกันก็ยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงด้วย
สำหรับองค์ประกอบที่เห็นตรงด้านหน้านี้ ที่ด้านบนสุดจะเป็นลำโพงหูฟังสำหรับใช้งานขณะสนทนา
ซึ่งมีลักษณะเรียวยาวพร้อมการตัดขอบด้วยสีเงิน
ส่วนถัดมาจะเป็นหน้าจอแสดงผลซึ่งมีความกว้างประมาณ
2 นิ้ว ซึ่งด้านล่างของหน้าจอจะมีโลโก้ยี่ห้อโนเกียเป็นโลหะสีบรอนซ์เงินสวยงามนูนขึ้นมา ถัดที่บริเวณตรงกลางจะเป็นส่วนของปุ่มกดควบคุมการทำงานต่างๆ
ตั้งแต่ปุ่มเลือกซ้าย-ขวา, ปุ่มรับสาย-โทรออก,
ปุ่มวางสาย และปุ่มควบคุมการทำงานแบบ 5 ทิศทาง
และส่วนล่างสุดคือส่วนของปุ่มกดตัวเลขซึ่งจัดเรียงตามรูปแบบปกติที่สามารถพบเห็นได้ในโทรศัพท์มือถือทั่วไป
 บริเวณปุ่มเลือกซ้าย-ขวา,
ปุ่มรับสาย-โทรออก, ปุ่มวางสาย และปุ่มตกลง
จะทำด้วยวัสดุพลาสติกสีดำมันคุณภาพสูง ส่วนวงแหวนเลือกทิศทางจะทำด้วยวัสดุพลาสติกคุณภาพสูงเช่นกันแต่จะเคลือบด้วยพื้นผิวแบบโครเมียมมันวาวอีกชั้นหนึ่ง
สำหรับที่ด้านล่างซึ่งเป็นแผงปุ่มกดตัวเลขก็จะทำด้วยวัสดุพลาสติกสีดำมันคุณภาพสูงเช่นเดียวกัน
แต่ก็จะคั่นแต่ละแถวไว้ด้วยขอบโครเมียมที่นูนขึ้นมาจากแนวระนาบเล็กน้อย
ซึ่งบรรดาปุ่มกดเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้รูปลักษณ์ของ
6500 Classic นี้ดูดีและหรูหรามากขึ้น
 ที่ด้านหลังของตัวเครื่อง
หากสังเกตที่ตัวเครื่องส่วนบนจะพบว่าทำมาจากโลหะอลูมินัมเช่นเดียวกับที่ด้านหน้า
ซึ่งโลหะอลูมินัมนี้สามารถกลมกลืนเข้ากับพื้นผิวของฝาหลังที่เป็นพลาสติกสีดำมันได้เป็นอย่างดี
ซึ่งสำหรับองค์ประกอบที่พบในด้านหลังของตัวเครื่องนี้เริ่มไล่จากด้านบนจะพบกับไฟแฟลชสำหรับกล้องดิจิตอล,
เลนส์กล้องดิจิตอล, ลำโพง, โลโก้ยี่ห้อโนเกียซึ่งเป็นโลหะสีเงินนูนขึ้นมาที่บริเวณตรงกลาง
และสุดท้ายคือฝาหลังสีดำมัน ซึ่งช่วยให้ตัวเครื่องดูเข้มขรึมแต่ก็มีความหรูหราอยู่ด้วย
แต่พื้นผิวแบบนี้จะเกิดรอยเปื้อน รอยมัน หรือรอยขีดข่วนได้ง่าย
ผู้ใช้จึงต้องดูแลรักษาให้ดีมากเป็นพิเศษ
 ไฟแฟลชของ
6500 Classic จะเป็นไฟแฟลชแบบคู่ซึ่งน่าจะให้ความสว่างได้ดียิ่งขึ้นกว่าไฟแฟลชแบบเดี่ยว
ส่วนที่บริเวณตรงกลางจะเป็นเลนส์กล้องดิจิตอลขนาด
2 ล้านพิกเซลซึ่งล้อมรอบด้วยกรอบโครเมียมที่นูนขึ้นมาเล็กน้อย
และที่ด้านขวาของเลนส์กล้องจะเป็นลำโพงในตัว
ซึ่งมีไว้สำหรับให้เสียงต่างๆ เช่น เสียงเรียกเข้า
หรือเสียงเพลง เป็นต้น ส่วนที่บริเวณตรงกลางจะเป็นโลโก้ยี่ห้อโนเกียซึ่งเป็นโลหะสีเงินนูนขึ้นมาซึ่งช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับตัวเครื่องได้อีกเล็กน้อย
 ที่ด้านขวาของตัวเครื่องไม่มีองค์ประกอบที่เป็นส่วนควบคุม,
ส่วนแสดงผล หรือส่วนเชื่อมต่อใดๆ จะมีก็เพียงพื้นผิวเรียบๆ
ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากความบางของตัวเครื่องนั่นเอง
โดย 6500 Classic จะมีความหนาเพียง 9.5 มิลลิเมตรเท่านั้น โดยที่บริเวณด้านบนจะทำด้วยโลหะอลูมินัม
ส่วนด้านล่างก็จะเป็นพลาสติกสีดำมัน
 ที่ด้านซ้ายของตัวเครื่องก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับทางด้านซ้าย
นั่นคือไม่มีองค์ประกอบที่เป็นส่วนควบคุม,
ส่วนแสดงผล หรือส่วนเชื่อมต่อใดๆ จะมีก็เพียงพื้นผิวเรียบๆ
เท่านั้น
 เมื่อพลิกมาดูที่ด้านบนของตัวเครื่องก็ออกแบบมาอย่างเรียบๆ
เช่นกัน แต่ก็ยังมีส่วนเชื่อมต่อประเภทหนึ่งติดตั้งเอาไว้ด้วย
นั่นคือส่วนเชื่อมต่อแบบ microUSB ซึ่งมีไว้สำหรับการใช้งานเชื่อมต่อข้อมูลด้วยสาย
Data Cable นั่นเอง โดยช่อง microUSB
นี้จะมีฝายางปิดเอาไว้ด้วย เพื่อกันฝุ่นละอองเข้าไปรบกวนส่วนประกอบต่างๆ
ที่อยู่ด้านใน
 สุดท้าย
เมื่อพลิกมาดูที่ด้านล่างของตัวเครื่องก็ถูกออกแบบมาให้ดูเรียบๆ
อีกเช่นเดียวกัน มีอุปกรณ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่ปรากฏอยู่ที่ด้านล่างนี้
นั่นคือไมโครโฟนที่เอาไว้ใช้งานขณะสนทนา,
สั่งงานด้วยเสียง หรือบันทึกเสียงนั่นเอง
เริ่มใส่ซิมการ์ด
และแบตเตอรี่
 การใส่ซิมการ์ด
และแบตเตอรี่สำหรับ Nokia 6500 Classic นั้นไม่ได้มีความยุ่งยากแต่อย่างใด
มีวิธีการคล้ายกับโทรศัพท์มือถือทั่วๆ ไป
ขั้นแรกให้ทำการเปิดฝาหลักออกมาก่อน
โดยใช้นิ้วโป้งกดลงไปที่บริเวณฝาหลังด้วยแรงพอสมควร
แล้วออกแรงดันไปที่ด้านท้ายของตัวเครื่องตามภาพ
หากทำได้ถูกต้อง ฝาหลังก็จะเลื่อนออกมาได้ตามปกติ
แต่จากการทดลองเปิดฝาหลังของเครื่องทดสอบนี้พบว่าฝาหลังค่อนข้างแน่น
จึงต้องออกแรงกดและดันมากพอสมควร หากไม่ต้องการออกแรงมากก็อาจจะเปลี่ยนเป็นใช้นิ้วโป้งทั้งสองข้างแทน
ก็น่าจะช่วยได้มากพอสมควร
 เมื่อเปิดฝาหลังออกมาก็จะพบกับส่วนสำหรับใส่ซิมการ์ด
และแบตเตอรี่ดังภาพ ซึ่งมีลักษณะหน้าตาคล้ายคลึงกับโทรศัพท์มือถือทั่วๆ
ไป ส่วนฝาหลังที่ถอดออกมานั้นทำมาจากพลาสติกที่มีพื้นผิวสีดำมัน
ซึ่งแม้จะเป็นพลาสติกแต่ดูแล้วก็เป็นพลาสติกที่มีคุณภาพสูง
ดูแข็งแรงทนทานดี ไม่น่าที่จะเกิดการแตกหักเสียหายได้ง่าย
 การใส่ซิมการ์ดให้สังเกตที่ช่องตรงด้านบนซ้าย
ซึ่งเป็นช่องที่มีแผ่นโลหะปิดเอาไว้ โดยวิธีการใส่แผ่นซิมการ์ดนั้นให้ทำการดันแผ่นซิมการ์ดเข้าไปในช่องดังกล่าวให้ถูกทิศทาง
โดยสังเกตได้จากรอยบากที่ปั๊มเป็นสัญลักษณ์เอาไว้
ซึ่งต้องออกแรงพอสมควรเนื่องจากช่องนี้ค่อนข้างแน่น
และด้วยลักษณะของการใส่ซิมการ์ดแบบนี้ หากถอดใส่ซิมการ์ดบ่อยๆ
ขั้วโลหะที่อยู่ภายในก็จะมีโอกาสเสียดสีกับผิวสัมผัสโลหะของซิมการ์ดได้มากขึ้น
จึงเป็นไปได้ว่าจะมีความเสี่ยงที่อายุการใช้งานของซิมการ์ดจะลดลงกว่าปกติบ้างไม่มากก็น้อย
 การใส่แบตเตอรี่ควรใส่ซิมการ์ดให้เรียบร้อยเสียก่อนเนื่องจากช่องใส่ซิมการ์ดจะอยู่ในระนาบเดียวกันกับก้อนแบตเตอรี่
โดยเมื่อใส่ซิมการ์ดเรียบร้อยแล้ว ก็ให้นำก้อนแบตเตอรี่มาวางไว้ให้ถูกตำแหน่งภายในช่อง
โดยสังเกตทิศทางจากขั้วโลหะที่อยู่บริเวณด้านบนของช่องใส่
เมื่อวางก้อนแบตเตอรี่ได้อย่างถูกทิศทางแล้วก็ให้ดันก้อนแบตเตอรี่ลงไปในช่องให้เรียบร้อย
 เมื่อทำการใส่ซิมการ์ด
และแบตเตอรี่เรียบร้อยดีแล้ว ที่ด้านหลังของตัวเครื่องก็จะมีลักษณะดังภาพ
จากนั้นก็ให้นำฝาหลังมาปิดเอาไว้ตามปกติเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดใช้งานเครื่องต่อไป
ความเหมาะมือ
ขนาด และน้ำหนัก
 สำหรับตัวเครื่องของ
Nokia 6500 Classic นั้นมีขนาดที่ค่อนข้างบางมาก
โดยมีความหนาเพียง 9.5 มิลลิเมตรเท่านั้น
ส่วนความสูง และความกว้างถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติของโทรศัพท์มือถือทรงแท่งทั่วๆ
ไป ไม่มีปัญหาทั้งผู้ที่มีฝ่ามือขนาดเล็กหรือฝามือขนาดใหญ่ แต่ด้วยความบางและพื้นผิวที่ค่อนข้างมันนี้เองที่ทำให้การจับถือนั้นไม่กระชับเท่าที่ควร
มีความลื่นอยู่ค่อนข้างมาก การยึดเกาะไม่ค่อยดีนัก
หากถืออย่างไม่ระมัดระวังตัวเครื่องก็อาจจะหลุดจากมือได้โดยง่าย
ส่วนน้ำหนักตัวระดับ 95 กรัมนั้นถือว่าไม่เบาเสียทีเดียวสำหรับโทรศัพท์มือถือทรงแท่งที่บางเฉียบแบบนี้
แต่ก็ได้มาซึ่งวัสดุชั้นดีที่สัมผัสได้ถึงความแน่นหนาแข็งแรง
 ขนาดความสูง
และความกว้างของ Nokia 6500 Classic เมื่อนำมาเทียบกับ
Nokia 6120 Classic (เครื่องทางซ้าย) และ
Nokia 2630 (เครื่องทางขวา) จะเห็นว่า 6500
Classic มีความสูงที่มากกว่า และมีความกว้างที่น้อยกว่าอยู่เล็กน้อย
แต่โดยรวมก็ถือว่าไม่ห่างกันซักเท่าไหร่
 ส่วนความหนานั้นแน่นอนว่า
6500 Classic มีความหนาน้อยกว่าอีก 2 รุ่นดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัด
ซึ่งความบางนี้เองที่ถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญของ
6500 Classic รุ่นนี้
เริ่มเปิดเครื่อง
 เมื่อทำการใส่ซิมการ์ด
และแบตเตอรี่เรียบร้อยดีแล้ว ก็พร้อมที่จะทำการเปิดเครื่องเพื่อใช้งาน
โดยวิธีการเปิดเครื่องของ Nokia 6500 Classic
นั้นสามารถทำได้ไม่ยาก โดยกดปุ่มเปิด-ปิดเครื่องซึ่งเป็นปุ่มเดียวกันกับปุ่มวางสายค้างไว้ประมาณ
2-3 วินาที หลังจากนั้นเครื่องก็จะทำการสตาร์ทตัวเอง
และปรากฏเป็นหน้าจอสแตนด์บายขึ้นมา ซึ่งสำหรับความเร็วในการสตาร์ทตัวเองของ
6500 Classic ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง ไม่ช้าไม่เร็วมากเป็นพิเศษ
ความคมชัดและสวยงามของหน้าจอแสดงผล
 หน้าจอแสดงผลของ
6500 Classic จะเป็นหน้าจอแบบ TFT LCD 16
ล้านสี ความละเอียดระดับ QVGA (320x240 Pixels)
ซึ่งถือว่ามีความละเอียดสูง สว่างชัดเจน และมีสีสันที่สดใสเป็นอย่างดี
แสดงผลได้ดีทั้งในที่มืด หรือที่แจ้ง แต่อย่างไรก็ดี
ความกว้างของหน้าจอจะอยู่ที่ประมาณ 2 นิ้วเท่านั้น
ทำให้การแสดงผลอาจจะไม่ใหญ่เต็มตามากนักสำหรับผู้ใช้บางราย
แต่อย่างไรก็ตามด้วยขนาดความกว้างที่มีเพียง
2 นิ้วก็มีข้อดีในตัวเองคือ ทำให้การแสดงผลในระดับ
QVGA ดูมีความละเอียดมากขึ้นนั่นเอง
สรุปแล้วหน้าจอแสดงผลของ 6500 Classic นั้นก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีน่าพอใจ
ปุ่มกด และการตอบสนอง
 ปุ่มกดทุกปุ่มของ
Nokia 6500 Classic แม้จะทำมาจากพลาสติกแต่ก็ดูเหมือนจะเป็นพลาสติกที่มีคุณภาพสูงขึ้นกว่าที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือทั่วไปอีกระดับหนึ่งอีกทั้งมีความนุ่มนวลในการกดปุ่มที่ค่อนข้างดี
ไม่แข็งกระด้าง สามารถตอบสนองได้รวดเร็วตามปกติ
ปุ่มควบคุมการทำงานต่างๆ ไม่เล็กจนเกินไป
สามารถกดใช้งานได้ง่าย ส่วนปุ่มตัวเลขอาจจะชิดติดกันไปสักนิด
แต่ก็มีแถบโครเมียมที่นูนขึ้นมา ช่วยให้สามารถสัมผัส
หรือแยกแยะแต่ละปุ่มออกจากกันได้ไม่ยาก สรุปแล้วปุ่มกดของ
6500 Classic นั้นสามารถใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ส่วนความเร็วในการประมวลผลนั้นโดยทั่วไปถือว่ามีความรวดเร็วในระดับที่ปกติดี
แต่ในบางฟังก์ชันที่ต้องมีการประมวลผลข้อมูลสูงก็จะเกิดอาการหน่วงได้บ้าง
เช่น การถ่ายและบันทึกข้อมูลภาพความละเอียด
2 ล้านพิกเซลจะค่อนข้างช้า หรือการเปิดดูแกลลอรี่ที่มีรูปภาพหรือไฟล์จำนวนมาก
เป็นต้น
เมนูและฟังก์ชันการทำงาน
รูปแบบการแสดงผล หรือ User Interface ของ
Nokia 6500 Classic จะเป็นแบบ Nokia Series
40 เวอร์ชัน 5 (Series 40 5th Edition) ซึ่งที่หน้าจอสแตนด์บายสามารถรองรับการปรับใช้งานหน้าจอสแตนด์บายแบบแอคทีฟได้ด้วย
 ที่หน้าจอหลัก จะมีการแสดงรายละเอียดหลายอย่าง
เริ่มตั้งแต่ที่ด้านบนสุดจะมีการแสดงระดับสัญญาณ,
ระดับพลังงานแบตเตอรี่, ชื่อโปรไฟล์, นาฬิกา,
ชื่อเครือข่าย และวันที่ ส่วนที่ด้านล่างจะเป็นเมนูสำหรับปุ่มเลือกทางซ้าย
และขวา รวมถึงการเข้าถึงเมนูหลักอีกด้วย
 เมื่อกดปุ่มตัวเลือกตรงกลางที่หน้าจอสแตนด์บาย
จะปรากฏเมนูหลักของ Nokia 6500 Classic ให้เห็น
ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 9 เมนูหลักคือ ข้อความ,
รายชื่อ, บันทึก, การตั้งค่า, คลังภาพ, สื่อ,
นัดหมาย, แอปพลิเคชัน และเว็บ
เมนูข้อความ
เมนูข้อความ คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชันต่างๆ
ที่เกี่ยวกับการรับส่งข้อความเอาไว้ เช่น
การสร้างข้อความใหม่, ถาดเข้า, ศูนย์อีเมล,
ฉบับร่าง, ถาดออก, ข้อความส่งออก หรือข้อความที่จัดเก็บ
เป็นต้น
สามารถสร้างข้อความได้ 4 รูปแบบคือ ข้อความตัวอักษร,
ข้อความอีเมล, ข้อความด่วน และข้อความคลิปเสียง
โดยมีฟังก์ชันพื้นฐานมาให้อย่างครบถ้วน คล้ายกับโทรศัพท์มือถือ
Series 40 รุ่นอื่นของโนเกีย
สามารถเลือกใช้งานได้
2 ภาษาคือภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยมีระบบสะกดคำอัตโนมัติ
และอักขระพิเศษมาให้เช่นเดียวกันกับรุ่นอื่นๆ
 สามารถนำต้นแบบข้อความที่มีอยู่แล้วมาใช้งานได้ทันที
และสามารถสร้างต้นแบบข้อความของตนเองขึ้นมาใหม่ได้
 สามารถใส่รอยยิ้ม
หรือตัวอักษรกระพริบไว้ในข้อความได้
สามารถกำหนดค่าใช้งานสำหรับระบบการสะกดคำอัตโนมัติได้
ผู้ใช้สามารถตั้งค่าการใช้งานเกี่ยวกับการรับ-ส่งข้อความได้ด้วยตนเอง
ลักษณะของการบันทึกเสียงเมื่อทำการสร้างข้อความคลิปเสียง

 ในเมนูข้อความจะแยกโฟลเดอร์หลักๆ
สำหรับการใช้งานไว้หลายโฟลเดอร์ เช่น แม่แบบข้อความ,
ถาดเข้า, ฉบับร่าง, ถาดออก, ข้อความส่งออก,
ข้อความที่จัดเก็บ หรือผลการส่ง เป็นต้น

 สามารถตั้งค่าสำหรับการใช้งานเกี่ยวกับการรับ-ส่งข้อความได้หลายอย่าง
เช่น การสนทนา, ข้อความเสียง, ข้อความข้อมูล,
คำสั่งขอบริการ, ลบข้อความ, ข้อความตัวอักษร,
ข้อความมัลติมีเดีย หรือข้อความอีเมล เป็นต้น
เมนูรายชื่อ
เมนูรายชื่อ คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชันการทำงาน
หรือการจัดการต่างๆ ที่เกี่ยวกับรายชื่อเอาไว้
เช่น การค้นหารายชื่อ, การเพิ่มรายชื่อ, การเพิ่มกลุ่มผู้โทร,
การแก้ไขรายชื่อ, การเพิ่มรายละเอียดของรายชื่อ
หรือการคัดลอกรายชื่อ เป็นต้น
ในเมนูรายชื่อจะมีการแบ่งเป็นโฟลเดอร์หลักเอาไว้หลายโฟลเดอร์เพื่อให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น
เช่น ชื่อ, ซิงโครไนส์, การตั้งค่า, กลุ่ม,
โทรด่วน, ลบ, ย้าย หรือคัดลอก เป็นต้น
 สามารถเพิ่มรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละรายชื่อได้มากมาย
ตั้งแต่ หมายเลข, ที่อยู่อีเมล, วิดีโอ, โทนเสียง,
แบ่งดูวิดีโอ SIP, ที่อยู่เว็บ, บริษัท, ชื่อทางการ,
ชื่อเล่น, ที่อยู่ไปรษณีย์, ID ผู้ใช้, วันเกิด,
บันทึก หรือรูปภาพ เป็นต้น
 สามารถกำหนดได้ว่าจะใช้หน่วยความจำใดในการจัดเก็บรายชื่อ
ไม่ว่าจะเป็น เครื่องและซิม, โทรศัพท์ หรือซิมการ์ด
สามารถกำหนดรูปแบบของการแสดงผลรายชื่อได้
 สามารถตรวจสอบสถานะของหน่วยความจำที่เหลือ
หรือที่ใช้ไปแล้วได้ ทั้งหน่วยความจำภายในตัวเครื่อง
และหน่วยความจำภายในซิมการ์ด
สร้างกลุ่มผู้โทรด้วยตนเองได้อย่างอิสระ
 กำหนดหมายเลขโทรด่วน,
สั่งลบรายชื่อจากหน่วยความจำเครื่องหรือซิมการ์ด,
สั่งย้ายรายชื่อจากเครื่องไปซิมการ์ดหรือจากซิมการ์ดไปเครื่อง,
สั่งคัดลอกรายชื่อจากเครื่องไปซิมการ์ดหรือจากซิมการ์ดไปเครื่อง
เมนูบันทึก
เมนูบันทึก คือเมนูที่มีไว้สำหรับเก็บบันทึกข้อมูลการใช้งานเกี่ยวกับการโทร
หรือการใช้ข้อมูลของผู้ใช้เอาไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ
เช่นเบอร์โทรล่าสุด, เวลาการโทร หรือข้อมูลแพคเก็ต
เป็นต้น
สามารถเลือกดูบันทึกทุกรูปแบบในหน้าเดียวกันได้
มีบันทึกการโทรที่สำคัญมาให้อย่างครบถ้วน
ทั้งการบันทึกเบอร์ที่ไม่ได้รับสาย, เบอร์ที่ได้รับสาย
และเบอร์ที่โทรออก
หากต้องการลบข้อมูลก็สามารถทำได้ ทั้งรายการโทรทั้งหมด,
เบอร์ที่ไม่ได้รับสาย, สายที่ได้รับ, เบอร์ที่โทรออก
และผู้รับข้อความ
 มีการบันทึกข้อมูลของเวลาที่ใช้ในการโทร,
ข้อมูลแพ็คเก็ต และเวลาที่ใช้ในการเชื่อมต่อข้อมูล
นอกจากจะมีการบันทึกข้อมูลการโทร หรือบันทึกการเชื่อมต่อข้อมูลแบบแพ็คเก็ตแล้ว
ก็ยังมีการบันทึกการใช้งานข้อความ หรือการบันทึกการซิงโครไนส์มาให้ด้วย
 สามารถแสดงภาพผู้โทรได้
แต่ขนาดจะค่อนข้างเล็กมาก
เมนูการตั้งค่า
เมนูการตั้งค่า คือเมนูที่รวบรวมการตั้งค่าใช้งานส่วนต่างๆ
ของตัวเครื่อง โดยการตั้งค่าของ Nokia 6500
Classic จะแบ่งเป็น รูปแบบ, ลักษณะ, แบบเสียง,
จอแสดงผล, วันและเวลา, ทางลัด, ซิงค์และสำรอง,
การเชื่อมต่อ, การโทร, ตั้งค่าเครื่อง, การอัพเดทโทรศัพท์,
การตั้งค่าป้องกัน และการตั้งค่าเรียกคืนจากโรงงาน
 ผู้ใช้สามารถเลือกรูปแบบหรือ
Profile ได้หลายรูปแบบ โดย Profile มาตรฐานที่มีมาให้จะประกอบไปด้วย
ทั่วไป, ไม่มีเสียง, ประชุม, นอกตึก, ส่วนตัว
1, ส่วนตัว 2 และบนเครื่อง ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปกำหนดคุณสมบัติของแต่ละ
Profile ได้ตามต้องการ
Nokia 6500 Classic มี Themes มาตรฐานมาให้เลือกใช้ทั้งหมด 7 แบบด้วยกัน
ได้แก่ Black, Bronze, Nokia, Palm, Silver,
Velvet และ Wave

 การตั้งค่าแบบเสียง
สามารถทำได้ทั้งเสียงเรียกเข้า, เสียงเตือน,
เสียงเตือนข้อความ, เสียงเตือนอีเมล และเสียงสนทนา
พร้อมทั้งสามารถกำหนดกลุ่มของผู้โทรที่จะใช้งานได้อีกด้วย
 หากต้องการเปลี่ยนภาพพื้นหลัง
หรือ Wallpaper ก็สามารถทำได้ โดยอาจเลือกรูปภาพจากแกลลอรี่
หรือถ่ายภาพใหม่ นอกจากนั้นหากเป็นภาพพื้นหลังของ
Themes ที่มีมากับเครื่อง ผู้ใช้ก็สามารถกำหนดรูปแบบของเอฟเฟคได้ด้วย
 สามารถเปิด-ปิดการใช้งานโหมดสแตนด์บายแบบพิเศษได้
รวมถึงสามารถกำหนดค่าต่างๆ ได้ด้วย เช่นการกำหนดเมนูหรือฟังก์ชันที่จะใช้งาน
หรือการกำหนดค่าให้กับปุ่มสำรวจ เป็นต้น
สามารถกำหนดสีของตัวอักษรที่แสดงที่หน้าจอได้
รวมถึงสามารถเลือกเปิด-ปิดการใช้งานไอคอนปุ่มสำรวจได้
สามารถกำหนดรูปแบบของภาพพักหน้าจอได้ตามต้องการ
สามารถกำหนดขนาดของตัวอักษรที่จะแสดงในเมนูหรือฟังก์ชันต่างๆ
ได้
 สามารถกำหนดค่าได้ทั้งวันที่,
เวลา, เขตเวลา และเวลาตามฤดูกาล
สามารถเลือกรูปแบบของการแสดงผลวันที่และเวลาได้ตามต้องการ
รวมถึงการรับข้อมูลวันที่และเวลาแบบอัตโนมัติ
 สามารถกำหนดค่าให้กับปุ่มกดต่างๆ
ได้ ไม่ว่าจะเป็น ปุ่มเลือกด้านซ้าย, ปุ่มเลือกด้านขวา,
ปุ่มสำรวจ หรือปุ่มสแตนด์บายแบบพิเศษ
สามารถซิงโครไนส์ข้อมูลกับโทรศัพท์มือถือ
หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ได้
 สามารถเลือกเปิด-ปิดการใช้งาน
Bluetooth ได้ รวมถึงสามารถตั้งค่าสำหรับการใช้งานได้
เช่น การมองเห็นโทรศัพท์, การค้นหาอุปกรณ์เสียง,
อุปกรณ์ที่จับคู่ หรือการตั้งชื่อโทรศัพท์
เป็นต้น
ลักษณะของการตั้งค่าการใช้งานข้อมูลแบบแพ็คเก็ต
ลักษณะของการตั้งค่าการโทร เช่น การโอนสาย,
การเลือกรับสายได้ทุกปุ่ม, การเรียกซ้ำอัตโนมัติ
หรือความชัดเจนเสียง
ลักษณะของการตั้งค่าเครื่อง ซึ่งมีทั้ง
การตั้งค่าภาษา, สถานะหน่วยความจำ, ล็อคปุ่มกดอัตโนมัติ
หรือป้องกันปุ่มกด
ลักษณะของโปรแกรมที่ใช้ตรวจสอบสถานะของหน่วยความจำภายในเครื่องว่าเหลืออยู่เท่าไหร่
หรือใช้ไปแล้วเท่าไหร่
ลักษณะของการตั้งค่าการสั่งงานด้วยเสียง
และข้อความต้อนรับ
ลักษณะของฟังก์ชันสำหรับการอัพเดทซอฟต์แวร์โทรศัพท์
สามารถเลือกโหมดเครือข่ายได้ 3 รูปแบบคือ
โหมดคู่, UMTS และ GSM
 ลักษณะของการตั้งค่าอุปกรณ์
และการตั้งกำหนดค่า
ลักษณะของการตั้งค่าป้องกัน เช่น รหัส
PIN, การจำกัดการโทร, จำกัดเบอร์ หรือเฉพาะกลุ่ม
 หากต้องการเรียกคืนค่าดั้งเดิมที่มาจากโรงงานก็สามารถทำได้
เมนูคลังภาพ
เมนูคลังภาพ คือเมนูที่รวบรวมไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ
เอาไว้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งได้แก่ รูปถ่าย, วิดีโอคลิป,
ไฟล์เพลง, ลักษณะ, กราฟิก, โทนเสียง, เสียงบันทึก
และไฟล์ที่ได้รับ
นอกจากจะสามารถเปิดดูรูปภาพหรือรูปถ่ายได้แล้ว
ยังสามารถใช้รูปภาพดังกล่าวเป็นภาพพื้นหลัง,
ภาพพักหน้าจอ, ภาพรายชื่อ, ภาพรายชื่อใหม่
หรือภาพกลุ่มได้ นอกจากนั้นก็ยังมีฟังก์ชันสำหรับแก้ไขรูปภาพมาให้ด้วย
เช่น ปรับความคมชัด, ใส่ข้อความ, ใส่เฟรม,
ใส่ภาพตัดปะ, ใส่ภาพ หรือตัดภาพ เป็นต้น
ลักษณะของเครื่องเล่นคลิปวิดีโอ ซึ่งสามารถรองรับการแสดงผลภาพวิดีโอแบบเต็มหน้าจอได้
เครื่องเล่นเพลงสามารถกำหนดรูปแบบของเสียงเพลงได้ด้วยอีควอไลเซอร์
ไม่ว่าจะเป็น ปกติ, ป๊อป, ร็อค, แจ๊ส, คลาสสิค
หรือจะกำหนดค่าของอีควอไลเซอร์ด้วยตนเองก็สามารถทำได้
ในอีควอไลเซอร์ชุดที่ 1 หรือชุดที่ 2
 สามารถกำหนดรูปร่างหน้าตาของเครื่องเล่นเพลงได้
4 รูปแบบคือ ค่าที่ตั้งไว้, Bubble Steel,
Brown Golden และ Outer Space
 ลักษณะของเครื่องเล่นเพลง
ซึ่งรองรับการเล่นสุ่ม, เล่นซ้ำ, ปรับอีควอไลเซอร์,
ขยายเสียงสเตอริโอ และมีรูปร่างหน้าตาที่สวยงามไม่น้อย
 นอกจากที่กล่าวไว้ข้างต้น
ในเมนูคลังภาพก็ยังมีเมนูย่อยอีกหลายเมนู
ไม่ว่าจะเป็น ลักษณะ, กราฟิก, โทนเสียง, เสียงบันทึก
และไฟล์ที่ได้รับ
เมนูสื่อ
เมนูสื่อ คือเมนูที่รวบรวมโปรแกรมเกี่ยวกับเรื่องของมัลติมีเดียเอาไว้
ได้แก่ กล้องดิจิตอล, วิดีโอ, เครื่องเล่นเพลง
และเครื่องบันทึก
 ลักษณะของหน้าจอเมื่อเข้าไปในฟังก์ชันกล้องดิจิตอล
สามารถเลือกเปิด-ปิดไฟแฟลช หรือกำหนดให้ทำงานแบบอัตโนมัติได้
สามารถตั้งเวลาถ่ายภาพล่วงหน้าได้ 3 ระดับ
คือ 3, 5 และ 10 วินาที
สามารถเลือกใช้เอฟเฟ็กต์ได้ 6 รูปแบบ
คือ ปกติ, สีลวงตา, เฉดสีเทา, ซีเปีย, เนกาทีฟ
และโซลาไรส์
สามารถปรับค่าสมดุลสีขาวได้ 5 รูปแบบ
คือ อัตโนมัติ, แสงแดด, ทังสเตน, นีออน และเส้นขอบฟ้า
 ปรับคุณภาพของรูปภาพได้
3 ระดับ คือ สูง, ปกติ และธรรมดา
ปรับความละเอียดของรูปภาพได้ 7 ระดับ
คือ 1600x1200, 1280x960, 1152x864, 800x600,
640x480, 320x240 และ 160x120 พิกเซล
สำหรับการถ่ายวิดีโอ สามารถกำหนดความยาวได้
2 ระดับคือ ค่าที่ตั้งไว้ และค่าสูงสุด สามารถกำหนดคุณภาพของวิดีโอได้
3 ระดับ คือ สูง, ปกติ และธรรม สามารถกำหนดความละเอียดของวิดีโอได้
2 ระดับ คือ 176x144 และ 128x96 พิกเซล
สามารถกำหนดได้ว่าจะให้แสดงภาพตัวอย่างเมื่อทำการถ่ายภาพไปแล้วหรือไม่

 ลักษณะของโปรแกรมเครื่องเล่นเพลง
จะมีหน้าตาเหมือนกับการเปิดไฟล์เพลงในคลังภาพ
โดยมีฟังก์ชันพื้นฐานสำหรับการเล่นเพลงมาให้ค่อนข้างครบถ้วน
เช่น การเล่นสุ่ม, การเล่นซ้ำ, อีควอไลเซอร์,
การขยายเสียงสเตอริโอ รวมถึงการค้นหาเพลงจากชื่อศิลปิน,
อัลบั้ม หรือประเภท เป็นต้น
 การบันทึกเสียง
สามารถบันทึกได้นานสูงสุดครั้งละ 1 ชั่วโมง
เมนูนัดหมาย
เมนูนัดหมาย คือเมนูที่รวบรวมโปรแกรมอรรถประโยชน์ต่างๆ
หรือโปรแกรมจำพวก Organizer เอาไว้ให้ได้ใช้งาน
เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้แก่
นาฬิกาปลุก, ปฏิทิน, สิ่งที่ต้องทำ, บันทึก,
เครื่องคิดเลข, ตัวนับถอยหลัง และนาฬิกาจับเวลา
ลักษณะของฟังก์ชันนาฬิกาปลุก ซึ่งสามารถกำหนดให้ปลุกซ้ำได้

ลักษณะของปฏิทิน ซึ่งสามารถสร้างบันทึกได้
5 รูปแบบ คือ เตือนความจำ, นัดหมาย, โทร,
วันเกิด และบันทึก
ปฏิทินสามารถกำหนดมุมมองให้เป็นแบบเดือน,
แบบสัปดาห์ หรือแบบวันได้ นอกจากนั้นยังสามารถกำหนดวันเริ่มสัปดาห์ให้เป็นวันเสาร์,
วันอาทิตย์ หรือวันจันทร์ได้
ลักษณะของการบันทึกสิ่งที่ต้องทำ
ลักษณะของโปรแกรมจดบันทึก
 ลักษณะของโปรแกรมเครื่องคิดเลข
ซึ่งนอกจากจะมีเครื่องคิดเลขแบบธรรมดาแล้ว
ยังมีเครื่องคิดเลขวิทย์ และเครื่องคิดเลขเงินกู้มาให้ใช้งานด้วย
 ลักษณะของฟังก์ชันนาฬิกานับเวลาถอยหลัง
และฟังก์ชันนาฬิกาจับเวลา
เมนูแอปพลิเคชัน
เมนูแอปพลิเคชัน คือเมนูที่รวบรวมแอปพลิเคชันต่างๆ
ไว้มากมาย สำหรับการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป
โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ แอปพลิเคชันเกมส์
และแอปพลิเคชันรวม
สำหรับ 6500 Classic จะมีเกมส์ติดตั้งเอาไว้ให้เล่นทั้งหมด
4 เกมส์ คือ Golf Tour, Rally 3D, Snake III
และ Sudoku
ลักษณะหน้าตาของเกมส์ Golf Tour
ลักษณะหน้าตาของเกมส์ Rally 3D
ลักษณะหน้าตาของเกมส์ Snake III
ลักษณะหน้าตาของเกมส์ Sudoku
สำหรับในส่วนของแอปพลิเคชันรวมจะประกอบไปด้วยเมนูย่อยคือ
ดาวน์โหลด, ตัวแปลง, เวลาทั่วโลก และ Opera
Mini
ลักษณะหน้าตาของโปรแกรมดาวน์โหลด
 ลักษณะหน้าตาของโปรแกรมตัวแปลง
ซึ่งสามารถแแปลงหน่วยต่างๆ ได้หลายรูปแบบ
เช่น อุณหภูมิ, สกุลเงิน, การทำอาหาร, น้ำหนัก,
ความยาว, พื้นที่ หรือปริมาตร เป็นต้น
ลักษณะหน้าตาของโปรแกรมเวลาทั่วโลก ซึ่งมีไว้สำหรับเปรียบเทียบเวลาของเมืองสำคัญต่างๆ
ทั่วโลก
 ลักษณะหน้าตาของโปรแกรม
Opera Mini ซึ่งเป็นโปรแกรมเบราเซอร์มีไว้สำหรับการเปิดเว็บต่างๆ
โดยจะใช้งานได้มีประสิทธิภาพ หรือมีลูกเล่นมากกว่าโปรแกรมเบราเซอร์แบบปกติของโนเกีย
เมนูเว็บ
เมนูเว็บ คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชันต่างๆ
ที่เกี่ยวกับการเปิดเว็บเอาไว้ เช่น การเปิดเว็บ,
การบุ๊คมาร์ค, การนำทาง, การตั้งค่าจุดเชื่อมต่อ
เป็นต้น
 สามารถตั้งค่าการใช้งานได้หลายอย่าง
เช่น ตั้งค่าเบราเซอร์, ตั้งค่าการป้องกัน
หรือตั้งค่าถาดรับบริการ เป็นต้น
สามารถตั้งค่าเกี่ยวกับการแสดงผล หรือตัวอักษรได้
เช่น การตัดคำ, ขนาดอักษร, การแสดงภาพ หรือการเข้ารหัสตัวอักษร
เป็นต้น
 สามารถแสดงผลแบบเต็มหน้าจอได้

สามารถตั้งค่าคุ้กกี้, การรัน WMLScript หรือถาดรับบริการได้
คุณสมบัติเด่นที่น่าสนใจ
- หน้าจอ TFT LCD 16.7 ล้านสี ความละเอียดระดับ
QVGA : หน้าจอแสดงผลของ Nokia
6500 Classic ถือว่าเป็นหน้าจอที่มีความละเอียดสูง
และแสดงสีสันได้สดใส ด้วยความละเอียดระดับ
QVGA หรือ 320x240 Pixels ซึ่งเทียบเท่ากับความละเอียดหน้าจอ
PDA Phones ทั่วไป แต่ถูกบีบให้มีความกว้างยาวของหน้าจอที่น้อยลงเหลือเพียง
2 นิ้ว
จึงส่งผลให้ภาพที่ได้ดูละเอียดคมชัดมากยิ่งขึ้น
แต่การแสดงผลโดยรวมอาจจะไม่ใหญ่เต็มตามากเท่าที่ควร
ส่วนเรื่องของสีสันนั้นสามารถแสดงสีสันได้ถึง 16.7
ล้านสี ซึ่งทำให้แสดงเฉดสีได้สดใสสมจริงมากเป็นพิเศษ
และสุดท้ายเรื่องระดับความสว่างของหน้าจอ
เท่าที่ได้ใช้งาน ความสว่างก็ถือว่าค่อนข้างมากพอสมควร
การใช้งานทั่วๆ ไปจึงไม่มีปัญหาในการมองเห็น
มีความสว่างชัดเจนเป็นอย่างดี
แต่ถ้าหากอยู่ในที่มีแสงจ้ามาก เช่นกลางแดด
ก็อาจจะมองเห็นได้ยากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติ
- หน่วยความจำภายในขนาด 1 GB : หน่วยความจำภายในของ Nokia 6500
Classic
นั้นมีมาให้มากถึง 1 GB ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูง
หากเทียบกับหน่วยความภายในของโทรศัพท์มือถือทั่วไป
จึงตัดปัญหาเรื่องหน่วยความจำสำหรับการเก็บข้อมูลไปได้
และน่าจะเพียงพอต่อการเก็บข้อมูลต่างๆ
ได้เป็นอย่างดี เช่น ไฟล์เพลง, ไฟล์วีดีโอ, ภาพถ่าย หรืออื่นๆ
ได้ดี แต่อย่างไรก็ตาม 6500 Classic นั้นไม่สามารถใส่การ์ดหน่วยความจำเสริมเพิ่มเติมอีกได้
ซึ่งค่อนข้างน่าเสียดายอยู่ไม่น้อย นั่นอาจจะเป็นเพราะข้อจำกัดในเรื่องขนาดของตัวเครื่องก็เป็นได้
ดังนั้นหากผู้ใช้ต้องการเก็บข้อมูลจำนวนมากจริงๆ
ก็อาจจะเป็นปัญหาได้อยู่เหมือนกัน
- เชื่อมต่อข้อมูลผ่าน Bluetooth หรือ microUSB Data Cable : ช่องทางการเชื่อมต่อข้อมูลที่มีให้ใน
Nokia 6500 Classic นั้นมีมาให้อย่างครบถ้วน ทั้งการเชื่อมต่อข้อมูลแบบไร้สายผ่าน
Bluetooth เวอร์ชัน 2.0 รวมถึงการเชื่อมต่อข้อมูลแบบใช้สายผ่าน
Data Cable ซึ่งมีอินเทอร์เฟสการเชื่อมต่อแบบ
microUSB โดยอินเทอร์เฟสแบบ microUSB ของ
6500 Classic นี้สามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งการโอนถ่ายข้อมูล,
การชาร์จแบตเตอรี่ หรือการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมได้ในพอร์ตเดียวกัน ส่วนการใช้ Bluetooth นั้นเป็นไปได้อย่างอิสระ ไม่ต้องมีการติดตั้งอะไรเพิ่มเติม
- เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน WCDMA,
EDGE หรือ GPRS : การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านระบบเครือข่ายของ
Nokia 6500 Classic สามารถรองรับทั้งระบบ WCDMA
(อัพโหลด/ดาวน์โหลด = 128/384 กิโลบิตต่อวินาที), EDGE
Class 32 (ดาวน์โหลด/อัพโหลด = 296 / 177.6
กิโลบิตต่อวินาที) และ GPRS Class 32
(53.6 กิโลบิตต่อวินาที) ซึ่งน่าเสียดายที่ตอนนี้ระบบเครือข่ายในประเทศไทยยังไม่รองรับระบบ
WCDMA ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายระดับ 3G ซึ่งมีความเร็วในการเชื่อมต่อข้อมูลสูง
แต่อย่างไรก็ดี ผู้ใช้ก็สามารถใช้งานระบบ
EDGE ได้ ซึ่งแม้จะช้ากว่า WCDMA แต่ก็เร็วกว่าระบบ
GPRS มากพอสมควร แต่การใช้ระบบ EDGE นั้นสามารถใช้งานได้แค่บางพื้นที่เท่านั้น
เช่นในกรุงเทพฯ รอบใน หากไม่สามารถใช้ระบบ
EDGE ก็คงจะต้องหันมาพึ่งระบบ GPRS ซึ่งค่อนข้างช้ากว่ามาก
ส่วนเบราเซอร์ที่ใช้ท่องอินเทอร์เน็ตใน 6500
Classic นั้นสามารถเปิดได้ทั้ง Wap Page หรือ
Web Page ซึ่งเป็นโปรแกรมเบราเซอร์ประสิทธิภาพสูงอย่าง
Opera Mini นั่นเอง
- กล้องดิจิตอลในตัว ความละเอียดระดับ
2 ล้าน Pixels : ความสามารถเด่นอีกอย่างหนึ่งของ
Nokia 6500 Classic ก็คือกล้องดิจิตอลที่สามารถถ่ายภาพได้ที่ความละเอียด
2 ล้าน Pixels หรือถ่ายภาพได้ความละเอียดสูงสุดที่
1600x1200 Pixels ซึ่งจากการทดสอบถ่ายภาพพบว่าสามารถเก็บรายละเอียดได้แค่ในระดับพอใช้
และแน่นอนกว่ายังแพ้กล้องดิจิตอลจริงๆ
อยู่มาก ยกตัวอย่างเช่นหากสังเกตที่ตัวอักษรบนหนังสือ
จะพบว่ามีการแตกพร่าหรือมัวค่อนข้างมาก ส่วนสีสันก็ถือว่าอยู่ในโทนที่เป็นธรรมชาติ
ไม่จัดจ้าน หรือจืดชืดจนเกินไป และเมื่อเทียบกับกล้องดิจิตอลระดับ
2 ล้าน Pixels ในโทรศัพท์มือถือบางรุ่นที่มีจุดเด่นในเรื่องการถ่ายภาพ
ก็อาจจะด้อยกว่าอยู่พอสมควร สรุปแล้วคือถ้าพูดถึงการเก็บรายละเอียดถือว่ายังไม่น่าพอใจเท่าใดนัก
แต่ถ้าเป็นเรื่องของสีสันถือว่าพอใช้ได้ และสำหรับการถ่ายภาพวิดีโอของ
6500 มีความละเอียดสูงสุดอยู่ที่ระดับ QCIF
หรือ 176x144 Pixels เท่านั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับธรรมดาทั่วๆ
ไป คุณภาพของภาพวิดีโอที่ได้ถือว่าพอใช้ มีความไหลลื่นและเก็บรายละเอียดได้พอสมควร
สำหรับความสามารถและคุณสมบัติต่างๆ
โดยละเอียดในกล้องดิจิตอลของ Nokia 6500 Classic จะมีดังต่อไปนี้
- กำหนดความละเอียดของภาพถ่ายได้ 7 ระดับ
คือ 1600x1200, 1280x960, 1152x864, 800x600,
640x480, 320x240 และ 160x120 พิกเซล (JPEG) -
ไฟแฟลชในตัวแบบคู่ (Dual LED Flash) พร้อมการปรับโหมดการใช้ไฟแฟลชได้
3 รูปแบบ (เปิด, ปิด และอัตโนมัติ) - กำหนดคุณภาพของภาพถ่ายได้
3 ระดับ (สูง, ปกติ, ธรรมดา) - ซูมภาพได้
8 ระดับ (Digital Zoom) - โหมดถ่ายภาพทิวทัศน์,
โหมดถ่ายภาพในที่มืด (Night Mode), โหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง
(Multi-Shot) - ตั้งเวลาถ่ายภาพล่วงหน้า
(Self-Timer : 3, 5, 10 วินาที) - กำหนดความละเอียดของภาพวิดีโอได้
2 ระดับ คือ 176x144 พิกเซล (QCIF) และ
128x96 พิกเซล (SQCIF) (3GPP, H.263) -
กำหนดความยาวของภาพวิดีโอได้ 2 ระดับ (ค่าที่ตั้งไว้
และค่าสูงสุด) - กำหนดคุณภาพของภาพวิดีโอได้
3 ระดับ (สูง, ปกติ และธรรมดา) - กำหนดเอฟเฟคให้กับรูปภาพได้
6 รูปแบบ (ปกติ, สีลวงตา, เฉดสีเทา, ซีเปีย,
เนกาทีฟ และโซลาไรส์) - กำหนดค่าสมดุลสีขาวได้
5 รูปแบบ (อัตโนมัติ, แสงแดด, ทังสเตน, นีออน
และเส้นขอบฟ้า) - กำหนดการแสดงภาพตัวอย่างได้
5 รูปแบบ (ไม่แสดงตัวอย่าง, 3 วินาที, 5 วินาที,
10 วินาที และจบดูตัวอย่างด้วยตัวเอง)
สำหรับตัวอย่างภาพถ่ายที่ได้จากกล้องดิจิตอลของ
Nokia 6500 Classic จะมีดังต่อไปนี้


 ภาพถ่ายความละเอียด
1600x1200 Pixels : โหมดการถ่ายภาพแบบอัตโนมัติ
: คุณภาพสูง
 ภาพถ่ายความละเอียด
1600x1200 Pixels : โหมดการถ่ายภาพแบบทิวทัศน์
: คุณภาพสูง

ทดสอบการถ่ายภาพโดยการปรับเอฟเฟค
เป็นแบบ ปกติ, สีลวงตา, เฉดสีเทา, ซีเปีย,
เนกาทีฟ และโซลาไรส์ ตามลำดับ
 ทดสอบการถ่ายภาพโดยการปรับค่าสมดุลสีขาวเป็นแบบ อัตโนมัติ,
แสงแดด, ทังสเตน, นีออน และเส้นขอบฟ้า ตามลำดับ
 ทดสอบการซูมขยายภาพ
1X, 4X และ 8X ตามลำดับ
 ทดสอบการถ่ายภาพโดยไม่เปิดใช้ไฟแฟลช
และเปิดใช้ไฟแฟลช
 ภาพวิดีโอความละเอียด
176x144 Pixels (QCIF)
- โปรแกรมเล่นไฟล์เพลง และไฟล์วิดีโอ
พร้อมลำโพง Loudspeaker ในตัว: การเล่นไฟล์เพลงใน Nokia
6500 Classic นั้นให้เสียงออกมาแบบ Stereo รองรับไฟล์แบบ
MP3, AAC, AAC+, eAAC+ และ WMA ซึ่งหากใช้หูฟังก็จะสามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจน
แต่ถ้าหากเปิดฟังผ่านทางลำโพง Loudspeaker
ที่มีอยู่เพียงลำโพงเดียวก็จะไม่สามารถรับรู้ได้ถึงความแตกต่าง
และคุณภาพด้อยกว่าฟังผ่านทางหูฟังค่อนข้างมาก
นอกจากนั้นยังมีอีควอไลเซอร์ให้เลือกใช้ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งรูปแบบของเสียงเพลงได้ตามต้องการ
ซึ่งในเครื่องมีรูปแบบตั้งมาให้แล้ว 5 รูปแบบด้วยกันคือ
ปกติ, ป๊อป, ร็อค, แจ๊ส และคลาสสิค โดยนอกจากนี้ยังมีอีก
2 รูปแบบที่ผู้ใช้สามารถปรับแต่งได้เองได้ตามใจชอบ
สำหรับการเล่นไฟล์วิดีโอนั้นสามารถรองรับการเล่นไฟล์วิดีโอแบบ
3GPP, H.263 video และ MPEG-4 ส่วนเรื่องของความดังที่ออกมาจากลำโพง
Loudspeaker นั้นถือว่ามีความดังชัดเจนเป็นอย่างดี
แต่หากเปิดในระดับสูงสุดจะสังเกตได้ถึงอาการแตกของลำโพง
คุณสมบัติอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- วัสดุ การประกอบ ความแข็งแรง และน้ำหนัก : วัสดุที่นำมาใช้กับ Nokia 6500
Classic นั้นเป็นการผสมผสานระหว่างวัสดุที่เป็นโลหะอลูมินัม
กับพลาสติกคุณภาพสูง ซึ่งการประกอบนั้นก็สามารถทำได้อย่างแน่นหนาแข็งแรงเป็นอย่างดี
มีความละเอียดประณีตสูง แต่พื้นผิวส่วนที่เป็นพื้นผิวดำมันจะเกิดรอยเปื้อน
หรือรอยขีดข่วนได้ง่าย ดังนั้นการใช้งานต้องดูแลรักษากันมากเป็นพิเศษ
การจับถือยังไม่ถนัดหรือเหมาะมือมากนักเนื่องจากพื้นผิวของตัวเครื่องค่อนข้างลื่นประกอบกับตัวเครื่องที่ค่อนข้างบาง
หากถือไม่ระวังอาจจะเกิดการตกหล่นได้ง่าย
ส่วนปุ่มกดนั้นถือว่ามีความนุ่มนวล และกดได้ง่าย ไม่มีอาการโยกคลอนแบบผิดสังเกต โดยรวมน่าจะกดใช้งานได้ดีทั้งผู้ที่มีนิ้วมือใหญ่
หรือนิ้วมือเล็ก
- ประสิทธิภาพในการสนทนา : คุณสมบัติเบื้องต้นสำหรับการรองรับระบบสัญญาณของ
Nokia 6500 Classic นั้นคือ Dual Mode - Quad Band (WCDMA
850/2100 - GSM 850/900/1800/1900
MHz) ซึ่งในเบื้องต้นการสแกนหาคลื่นสัญญาณขณะเปิดเครื่องขึ้นมานั้น
สามารถทำได้รวดเร็วดี และระหว่างที่อยู่ในสถานะ
Standby ไม่พบอาการที่เรียกว่าสัญญาณแกว่งหรือสัญญาณหายแต่อย่างใด ส่วนประสิทธิภาพขณะที่ใช้งานสนทนานั้น
ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เสียงที่ได้ยินดังชัดเจนเป็นอย่างดี
- ความเสถียรของระบบ และความเร็วในการประมวลผล
: ความเสถียร และความรวดเร็วในการประมวลผลของ
Nokia 6500 Classic นั้น โดยทั่วไปถือว่ามีระดับความเร็ว
หรือมีความเสถียรอยู่ในระดับที่ปกติดี แต่ในบางฟังก์ชันที่ต้องมีการประมวลผลข้อมูลสูงก็จะเกิดอาการหน่วงได้บ้าง
เช่น การถ่ายและบันทึกข้อมูลภาพความละเอียด
2 ล้านพิกเซลจะค่อนข้างช้า หรือการเปิดดูแกลลอรี่ที่มีรูปภาพหรือไฟล์จำนวนมาก
เป็นต้น
- การรองรับการใช้งานภาษาไทย :
ระบบภาษาไทยของ 6500 Classic นั้น ก็ถือว่ามีมาให้อย่างครบครันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
โดยไม่ต้องมีการติดตั้งโปรแกรมภาษาไทยหรือฟอนต์ภาษาไทยใดๆ
เพิ่มเติม
ตั้งแต่การแสดงข้อความหรือตัวหนังสือภาษาไทย,
การพิมพ์ข้อความภาษาไทย, ระบบสะกดคำอัตโนมัติภาษาไทย,
เมนูใช้งานภาษาไทย รวมถึงแผงปุ่มกดที่มีตัวอักษรภาษาไทยกำกับอยู่ด้วย
(หากเป็นเครื่องศูนย์ในไทย)
และสำหรับการแสดงผลตัวสระ, พยัญชนะ
หรือวรรณยุกต์ ภาษาไทยนั้นมีการจัดเรียงในตำแหน่งที่ปกติดี
- อัตราความสิ้นเปลืองพลังงาน :
แบตเตอรี่ของ 6500 Classic นั้นเป็นแบตเตอรี่แบบ Lithium Ion
รุ่น BL-6P ขนาดความจุ 830 mAh ซึ่งอัตราความสิ้นเปลืองพลังงานของ 6500
Classic นั้น เท่าที่ทดสอบใช้งานมาระยะหนึ่งพบว่ามีอัตราความสิ้นเปลืองพลังงานในระดับปานกลาง
ไม่มากไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น กรณีหากใช้งานฟังก์ชันที่ต้องอาศัยพลังงานสูง
เช่น ดูหนังฟังเพลง, ถ่ายภาพ หรือเชื่อมต่อผ่าน
Bluetooth ก็จะทำให้สิ้นเปลืองพลังงานจากแบตเตอรี่มากเป็นพิเศษตามปกติ
ซึ่งเท่าที่ใช้งานแบบค่อนข้างหนัก แบตเตอรี่จะอยู่ได้ประมาณ
2-3 วัน แต่ถ้าหากไม่ค่อยได้ใช้งานมากนัก
แบตเตอรี่ก็จะอยู่ได้ประมาณ 3-4 วัน
สรุปส่งท้าย
จากการทดสอบการใช้งานมาได้ประมาณ 1 สัปดาห์ กับ Nokia 6500 Classic ก็พอจะมองเห็นอะไรหลายๆ
อย่างจากโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ จึงขอสรุปเป็นจุดเด่นและจุดด้อยตามความคิดเห็นส่วนตัวคร่าวๆ
ดังนี้
จุดเด่น
- ตัวเครื่องหนาเพียง 9.5 มิลลิเมตร -
ชิ้นงาน, วัสดุที่ใช้, การประกอบ, ความแข็งแรง หรือความประณีต
อยู่ในระดับคุณภาพสูง - รองรับได้ทั้งระบบเครือข่ายแบบ
WCDMA (UMTS) และ GSM - มีหน่วยความจำภายในมากถึง
1 GB -
หน้าจอมีความละเอียดสูง สีสันสดใส - มีการเชื่อมต่อที่ค่อนข้างครบถ้วนทั้ง
EDGE, GPRS, Bluetooth -
กล้องดิจิตอลในตัว ความละเอียดระดับ 2 ล้านพิกเซล
พร้อมไฟแฟลช - เสียงลำโพงค่อนข้างดังชัดเจน -
ปุ่มกดค่อนข้างมีความนุ่มนวล ไม่แข็งกระด้าง
จุดด้อย
- ตัวเครื่องจับถือได้ไม่กระชับถนัดมือเท่าที่ควร
ค่อนข้างลื่น ยึดเกาะได้ไม่ดีนัก -
บริเวณพื้นผิวที่มีลักษณะดำมันจะเกิดรอยเปื้อน
หรือรอยขีดข่วนได้ง่าย - ไม่สามารถใส่การ์ดหน่วยความจำเพิ่มได้ - ความกว้างของหน้าจอไม่มากเท่าที่ควร -
การประมวลผลบางฟังก์ชันยังไม่เร็วเท่าที่ควร
เช่น การประมวลผลขณะถ่ายและบันทึกไฟล์รูปภาพ
เป็นต้น - ลำโพงมีอาการเสียงแตกเมื่อปรับความดังของเสียงในระดับสูงสุด -
ไม่มีวิทยุ FM ในตัว - การเสียดสีในช่องใส่ซิมการ์ดอาจทำให้อายุการใช้งานของซิมการ์ดลดลงหากถอดใส่ซิมการ์ดบ่อยๆ
คะแนน TMC Point
การออกแบบดีไซน์ : 9.5/10
ใช้งานง่าย : 8.0/10
คุณสมบัติเครื่อง : 8.0/10
ฟังก์ชันการใช้งาน : 8.0/10
เสถียรภาพและประสิทธิภาพในการใช้งาน : 7.5/10
ราคาคุ้มค่า : 7.5/10
คะแนนรวม 8.08/10
โปรดทราบ
* โทรศัพท์มือถือที่ท่านเห็นในบทความรีวิวนี้เป็นเพียงเครื่องทดสอบจากทางศูนย์
เพราะฉะนั้นคุณสมบัติบางอย่างอาจมีความแตกต่างจากเครื่องที่วางจำหน่ายจริงบ้างไม่มากก็น้อย
รวมถึงจุดด้อยบางประการที่พบในเครื่องทดสอบ
อาจจะถูกแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นในเครื่องที่วางจำหน่ายจริง
ดังนั้นหากท่านสนใจซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้
ควรตรวจสอบหรือทดลองใช้งานสินค้าด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง
*
สรุปคุณสมบัติเครื่อง
ท่านสามารถตรวจสอบคุณสมบัติแบบสรุป (Specification) ของ Nokia
6500 Classic ได้โดยการคลิ๊กที่ Link ด้านล่างนี้
Nokia
6500 Classic Specification
ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตาม
Oska (Thaimobilecenter Editor) : [email protected]
:: ไปหน้าแรกเว็บไซต์ Thaimobilecenter
| ไปหน้าแรก
Mobile Focus ::
|