BenQ P50 WiFi PDA Phone Focus
& Review (10-October-2005)
หากใครได้ติดตามข่าวคราวในวงการโทรศัพท์มือถือมาโดยตลอด ก็คงจะทราบว่าเมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน
ที่ผ่านมา บริษัท BenQ ได้เข้าซื้อกิจการด้านโทรศัพท์มือถือของ
บริษัท Siemens ซึ่งถือว่าเป็นข่าวที่ผู้คนให้ความสนใจกันมา
เนื่องจาก Siemens นั้นถือว่าเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ
ของโลกเลยทีเดียว และการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้
ก็น่าจะส่งผลดีกลับมายังผู้บริโภคบ้างไม่มากก็น้อย
สำหรับในวันนี้ ทางทีมงาน Thaimobilecenter
ก็ได้รับการอนุเคราะห์เครื่อง BenQ P50 มาจาก
บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด ซึ่งต้องขอขอบพระคุณไว้
ณ ที่นี้ อย่างไรก็ตามเครื่องที่ได้มาครั้งนี้
เป็นเพียงเครื่องทดสอบเท่านั้น ดังนั้นสภาพเครื่องอาจจะดูโทรมไปบ้าง
ตามสไตล์ของเครื่องทดสอบขนานแท้ ซึ่งหากเป็นเครื่องที่จำหน่ายจริง
จะดูสมบูรณ์กว่านี้อย่างแน่นอน
BenQ P50 นั้นเป็นโทรศัพท์มือถือประเภทที่เรียกว่า
PDA Phone ซึ่งยังคงทำงานด้วยระบบปฏิบัติการ
Windows Mobile 2003SE อยู่ ในขณะที่ Windows
Mobile 5.0 นั้นได้เปิดตัวไปได้ระยะหนึ่งแล้ว
และจากการติดตามพบว่า BenQ P50 ยังเปิดตัวได้ค่อนข้างเงียบเหงาไปสักหน่อยสำหรับผู้ใช้ทั่วไป
ส่วนมากจะมีการพูดคุยกันในกลุ่มของผู้ที่นิยม
PDA Phone หรือ Smart Phone เสียมากกว่า
แต่ด้วยความสามารถอันหลากหลายในตัวของ BenQ
P50 แล้ว จึงน่าแปลกใจว่าเพราะเหตุใดรุ่นนี้จึงไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันมากนัก
ดังนั้นครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกท่านจะได้ทำความรู้จักกับ
BenQ P50 ให้มากขึ้น
อุปกรณ์ที่มีมาให้ในกล่อง
ในการทดสอบครั้งนี้ ทางทีมงานได้รับตัวเครื่องมาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แต่เท่าที่ทราบ อุปกรณ์มาตรฐานของ BenQ P50
นั้นจะประกอบไปด้วย ตัวเครื่อง, แบตเตอรี่,
สายชาร์จ, ปากกา Stylus, สาย USB Data Cable,
หูฟัง, ซองหนัง, ผ้าเช็ดทำความสะอาดเครื่อง,
แผ่นฟิล์มกันรอยสำหรับหน้าจอ, คู่มือการใช้งาน
และ CD Software
 แบตเตอรี่
Li-Ion ขนาด 1240 mAh
 สายชาร์จแบตเตอรี่
หรือ Wall Charge
 ปากกา
Stylus สำหรับใช้สั่งงานผ่านหน้าจอ Touchscreen
 สาย
USB Data Cable ซึ่งด้านหนึ่งเป็น Port แบบ
miniUSB ซึ่งหากทำการต่อสายนี้เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์
นอกจากจะใช้งานเชื่อมต่อข้อมูลได้แล้ว ก็ยังสามารถใช้ประจุไฟให้กับแบตเตอรี่ได้อีกด้วย
 หูฟังแบบ
Stereo
 ซองหนังสำหรับ
BenQ P50 โดยเฉพาะ
 ผ้าที่ทำมาจากวัสดุสังเคราะห์พิเศษ
สำหรับเช็ดทำความสะอาดตัวเครื่อง หน้าจอ หรืออุปกรณ์อื่นๆ
โดยเฉพาะ
 ฟิล์มกันรอย
สำหรับแปะไว้ที่หน้าจอ ซึ่งถือว่ามีความจำเป็น
เนื่องจากเป็นหน้าจอแบบ Touchscreen ซึ่งต้องมีการสัมผัสที่หน้าจอมากกว่าโทรศัพท์มือถือทั่วๆ
ไป
 คู่มือการใช้งาน
มีทั้ง User Manual และ Quick Start Guide
 แผ่น
CD Software และ Driver ต่างๆ เพื่อการใช้งานเครื่อง
BenQ P50 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
เมื่อแรกเห็นตัวเครื่อง
เมื่อได้เห็นและสัมผัสกับ BenQ P50 เป็นครั้งแรกก็พบว่าเป็น
PDA Phone ที่มีขนาดค่อนข้างยาว นั่นคงเป็นเพราะว่า
BenQ P50 มี Keyboard แบบ QWERTY ติดมาด้วย
ซึ่งไม่สามารถเลื่อนพับเก็บได้ เป็นแบบติดอยู่กับที่
พื้นที่ด้านล่างนี้จึงทำให้ตัวเครื่องโดยรวมยาวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
แต่อย่างไรก็ตามลักษณะดีไซน์ของตัวเครื่องก็มีความลงตัวของมันเอง
ไม่รู้สึกว่าขัดหูขัดตาแต่อย่างใด และบอดี้สีดำที่ทำให้
BenQ P50 มีเอกลักษณ์ไปในทางเข้มขรึมแข็งแกร่ง
น่าจะเหมาะกับสุภาพบุรุษเป็นพิเศษเลยทีเดียว การประกอบและวัสดุก็รู้สึกได้ถึงความมั่นคงแข็งแรงดีไม่น้อย
ซึ่งได้ยินมาว่ามีการทดสอบความแข็งแรงโดยการปล่อยทิ้งมาจากระยะสูงท่วมหัวมาลงบนพื้นแข็งๆ
แล้วเสียด้วย ซึ่งผลการทดสอบที่ได้ปรากฏว่าเครื่องใช้งานได้เหมือนเดิมตามปกติ
ก็ถือว่าเป็นผลการทดสอบที่น่าประทับใจอยู่ไม่น้อย
 ตัวเครื่องด้านหน้า
ที่ด้านบนจะเห็นลำโพงเสียงสนทนา และไฟ LED
สองดวง ซึ่งเอาไว้แสดงสถานะการทำงานแบบต่างๆ
ของเครื่อง เช่นสีฟ้าจะบอกถึงว่ากำลังใช้
Bluetooth, สีแดงหมายถึงมี Missed Call หรือสีเขียวที่แสดงถึงสถานะ
Standby ตามปกติเป็นต้น ถัดมาที่ด้านล่าง
ก็มีตั้งแต่ชุดปุ่มควบคุมการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นปุ่มรับสาย-โทรออก,
ปุ่ม Softkey ซ้ายและขวา, ปุ่ม Joystick แบบ
5 ทิศทาง และปุ่มสำหรับวางสาย สุดท้ายถัดมาด้านล่างอีกก็ถือว่าเป็นจุดเด่นอีกจุดของ
BenQ P50 นั่นก็คือ Keyboard ในตัวแบบ QWERTY
ซึ่งส่วนนี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเครื่องดูยาวกว่ารุ่นอื่นๆ
ในโทรศัพท์มือถือประเภท PDA Phones ในท้องตลาดบ้านเรา
และที่ด้านล่างสุดจะเห็นเป็นช่องวงรีเล็กๆ
ซึ่งก็คือไมโครโฟนนั่นเอง
 มาดูที่ด้านซ้ายของตัวเครื่องกันบ้าง
ปุ่มที่แยกออกมาเดี่ยวๆ อยู่ด้านบนก็คือปุ่มสำหรับการบันทึกเสียง
ส่วนปุ่มที่อยู่คู่กันถัดมาด้านล่างก็คือปุ่มเพิ่มลดระดับเสียง
และสุดท้ายปุ่มที่มีเครื่องหมายลูกกุญแจอยู่ก็คือปุ่มเลื่อนสำหรับการล็อคก้อนแบตเตอรี่
ซึ่งจากการทดสอบ หากไม่เลื่อนไว้ที่ตำแหน่งล็อค
จะไม่สามารถเปิดใช้งานเครื่องได้
 ดูกันชัดๆ
สำหรับสลักล็อคของก้อนแบตเตอรี่ ซึ่งถือว่าช่วยให้การล็อคมีความมั่นคงแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
และหากไม่ทำการล็อคที่ตำแหน่งนี้ ก็จะไม่สามารถเปิดใช้งานเครื่องได้
 ปุ่มเพิ่มลดระดับเสียง
และปุ่มบันทึกเสียงค่อนข้างมีความมั่นคงแข็งแรง
แม้จะเล็ก แต่ก็สามารถกดใช้งานได้ไม่ยาก
 พลิกมาที่ด้านขวาของตัวเครื่อง
ที่ด้านบนก็จะพบกับส่วนที่เอาไว้สำหรับเชื่อมต่อหูฟังขนาด
2.5 มิลลิเมตร และสาย miniUSB ซึ่งมีฝาปิดที่ทำมาจากโลหะปิดไว้อยู่อย่างมิดชิด
ถัดมาที่ด้านล่าง เป็นปุ่มสำหรับเรียกใช้งานโปรแกรมสำหรับการถ่ายภาพ
รวมถึงใช้เป็นปุ่ม Shutter ขณะถ่ายภาพอีกด้วย
 ฝาปิดโลหะซึ่งสามารถปิดได้สนิทและมีความแข็งแรงเป็นอย่างดี
เมื่อเปิดออกมาก็ไม่ต้องกลัวว่าจะหลุดหายไปไหน
เนื่องจากมีการเชื่อมติดไว้กับตัวเครื่องอยู่แล้วนั่นเอง
 ปุ่มกดสำหรับเข้าใช้งานโปรแกรมถ่ายภาพ
และเป็นปุ่ม Shutter ในตัว ถึงแม้จะมีขนาดรีเล็ก
แต่ก็มีความมั่นคงแข็งแรงและกดได้ไม่ยาก
 ที่ด้านบนของตัวเครื่อง
ที่ด้านซ้ายสุดคือช่องเสียบสำหรับเก็บปากกา
Stylus ซึ่งถือว่าเก็บได้อย่างแน่นหนาดี อยู่ดีๆ
คงไม่มีการหลุดออกมาได้อย่างแน่นอน ถัดมาตรงกลางคือ
Infrared Port ซึ่งเป็นแบบอิสระ และปุ่มสุดท้าย
ที่แสดงด้วยเครื่องหมายที่คุ้นเคยกันดีนั่นคือปุ่มสำหรับเปิด-ปิดเครื่องนั่นเอง
 ปากกา
Stylus ถูกเก็บไว้อย่างแน่นหนา ที่ด้านข้างของตัวเครื่อง
จึงรับประกันได้ว่า ไม่มีการหลุดออกมาง่ายๆ
อย่างแน่นอน
 ที่ด้านล่างของตัวเครื่อง
ที่ด้านซ้ายก็จะพบกับรูเสียบสายชาร์จ ถัดมาจะเห็นรูเล็กๆ
ที่ด้านบน ซึ่งก็คือรูที่ใช้สำหรับ Reset
เครื่องนั่นเอง และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้สำหรับโทรศัพท์มือถือระดับนี้ก็คือช่องสำหรับใส่
SD Card ซึ่งหากไม่ได้ใส่ Card ไว้ ก็จะมีฝาเลื่อนมาปิดไว้
จึงดูเรียบร้อยและสามารถกันฝุ่นละอองเข้าไปภายในได้เป็นอย่างดี
 เมื่อใส่
SD Card เข้าไป ตัวการ์ดจะโผล่พ้นออกมาให้เห็นเล็กน้อย
โดยการถอดและใส่นั้นก็ไม่ยาก เมื่อกดลึกเข้าไปหนึ่งครั้งก็จะเป็นการล็อคให้เข้าที่
และเมื่อกดลึกเข้าไปอีกครั้งหนึ่งก็จะเป็นการคลายล็อค
 สุดท้าย
พลิกมาดูที่ด้านหลังของตัวเครื่อง ที่ด้านบนสุดด้านขวาที่มีจุกยางปิดอยู่
เมื่อเปิดดูจะเป็นที่ต่อเสาอากาศภายนอก ซึ่งการใช้งานปกติคงจะไม่ต้องใช้
ถัดมาก็เป็นส่วนของกล้องดิจิตอล ที่ประกอบไปด้วย
ไฟ LED Flash, เลนส์กล้อง และยังมีลำโพง Loudspeaker
อยู่ในตำแหน่งใกล้ๆ กันอีกด้วย ซึ่งดูไปแล้วก็เป็นการออกแบบที่ลงตัวดีพอสมควร
แต่อย่างไรก็ตาม BenQ P50 นั้นไม่มีกระจกสะท้อนภาพขนาดเล็กสำหรับใช้งานขณะถ่ายภาพตนเองมาให้ด้วย
ลำพังตรงพื้นที่ตรงกลางก็คงจะไม่ได้ออกแบบมาเพื่องานนี้
เนื่องจากดูแล้วสะท้อนแทบไม่เห็น (รอยที่เห็นตรงกลาง
คาดว่าเป็นรอยตำหนิที่เกิดจากการใช้งานทดสอบอย่างสมบุกสมบันที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ซึ่งหากเป็นเครื่องใหม่แกะกล่องจะไม่มีรอยตำหนินี้อย่างแน่นอน)
ถัดมาที่พื้นที่ด้านล่าง ก็จะเป็นก้อนแบตเตอรี่ซึ่งถือว่าเป็นฝาหลังไปด้วยในตัว
และที่ด้านล่างสุดก็จะเป็นสลักสำหรับล็อคก้อนแบตเตอรี่นั่นเอง
 รอยที่เห็นตรงกลาง
หากเป็นเครื่องใหม่แกะกล่องจะไม่มีให้เห็นอย่างแน่นอน
เนื่องจากรอยที่เห็นนี้เป็นตำหนิที่เกิดจากการทดสอบใช้งานมาหลายมืออย่างสมบุกสมบันตามสไตล์เครื่องทดสอบขนานแท้
 สลักล็อคก้อนแบตเตอรี่ที่ล็อคได้อย่างแน่นหนาดี
ยิ่งเมื่อใช้งานคู่กับสลักล็อคที่ด้านข้างของตัวเครื่อง
ก็ทำให้เรื่องก้อนแบตเตอรี่หลุดออกมาจากตัวเครื่องนั้นลืมไปได้เลยทีเดียว
เริ่มใส่ SIM Card และแบตเตอรี่
 การใส่
SIM Card ก่อนอื่นก็ให้ทำการถอดก้อนแบตเตอรี่ออกมาเสียก่อน
โดยการดันปลดสลักล็อคที่ด้านล่างของตัวเครื่องดังภาพ
(รวมถึงสลักล็อคที่ด้านข้างของตัวเครื่องด้วย)
แล้วงัดก้อนแบตเตอรี่ออกมาเบาๆ
 เมื่อถอดก้อนแบตเตอรี่ออกมาแล้ว
ก็จะพบกับช่องสำหรับใส่ SIM Card
 ก้อนแบตเตอรี่ที่ถอดออกมามีขนาดค่อนข้างใหญ่
และเป็นแบตเตอรี่แบบ Li-Ion ความจุ 1240
mAh
 การใส่
SIM Card นั้นก็ทำได้ไม่ยาก มีขั้นตอนคล้ายกับโทรศัพท์มือถือทั่วไป
โดยให้ใส่ SIM Card เข้าไปยังตำแหน่งที่ถูกต้องดังภาพ
ความเหมาะมือและน้ำหนัก
 อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นแล้วว่า
ตัวเครื่อง BenQ P50 นั้นค่อนข้างยาวกว่าปกติ
เนื่องจากมี Keyboard ที่อยู่ด้านล่างเพิ่มเข้ามา
และมีหน้าจอที่ใหญ่ขนาดประมาณ 2.83 นิ้วในอัตราส่วนเดิมๆ
ที่ไม่ได้สั้นลงไปกว่าหน้าจอความละเอียด 240
x 320 Pixels ของ PDA Phones ตัวอื่นๆ ในท้องตลาดแต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้จับดูจริงๆ แล้วก็พบว่าความยาวระดับนี้
ไม่ได้ก่อให้เกิดอุปสรรคในการใช้งานแต่อย่างใด
กลับยึดจับถือได้อย่างมั่นคงเป็นอย่างดี ประกอบด้วยที่แถบรอบๆ
ด้านข้างของตัวเครื่องนั้นมีลักษณะเหมือนแถบลายหยักอยู่รอบๆ
นูนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งจึงช่วยให้การยึดจับมีความกระชับมากยิ่งขึ้นอีกด้วย แต่ถ้าหากเป็นคนที่มือเล็ก
เช่นผู้หญิงส่วนใหญ่ ก็อาจจะดูใหญ่ไปเทอะทะไปสักหน่อย
ส่วนเรื่องของน้ำหนักนั้น ก็ถือว่าหนักเอาเรื่องเลยทีเดียว
ด้วยระดับ 170 กรัม หากเทียบกับโทรศัพท์มือถือทั่วไป
แต่ถ้าหากเทียบกับ PDA Phones ด้วยกัน ก็ยังถือว่าไม่ทิ้งห่างกันเท่าไหร่
และด้วยน้ำหนักตัวขนาดนี้ ก็ไม่แปลกใจว่าทำไมเมื่อถือจับใช้งานดูแล้วจึงรู้สึกมั่นคงแข็งแรงเป็นอย่างดี
 ขนาดเมื่อเทียบกับฝ่ามือใหญ่ๆ
ของผู้ชายก็ดูกำลังดี แต่ถ้าเป็นฝ่ามือเล็กๆ
ก็อาจจะดูใหญ่เทอะทะพอสมควร และเมื่อเทียบขนาดกับ
Symbian Smart Phone รุ่นยอดนิยมอย่าง Nokia
6630 ก็พบว่ามีความยาวมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด
 ปากกา
Stylus เมื่อจับใช้งานดูแล้วยังรู้สึกว่าเล็กไปสักหน่อย
และไม่สามารถยืดให้ยาวขึ้นได้
 การใช้งานในลักษณะของ
PDA โดยการใช้ปากกา Stylus สั่งงานผ่านทางหน้าจอ
Touchscreen นั้นฝั่งมือที่จับตัวเครื่องถือว่าจับได้เหมาะมือดี
แต่ดังที่กล่าวไปข้างต้นคือปากกา Stylus นั้นมีขนาดเล็กไปสักหน่อย
การจับปากกาจึงไม่ค่อยถนัดมือเท่าที่ควร
ความคมชัดและสวยงามของหน้าจอแสดงผล
 หน้าจอของ
BenQ P50 เป็นหน้าจอแบบ TFT LCD Touchscreen ที่มีความละเอียด
240 x 320 Pixels หรือ QVGA ซึ่งมีขนาด 2.83
นิ้ว โดยเป็นความละเอียดที่มักจะนำมาใช้กับโทรศัพท์มือถือประเภท
PDA Phones กันมาก ซึ่งสำหรับหน้าจอของ BenQ
P50 นี้ก็สามารถแสดงผลได้ดีในระดับที่น่าพอใจ
สีสันมีความสดใส ความสว่างเพียงพอต่อการใช้งาน
และความละเอียดก็อยู่ในระดับที่ดี ดังนั้นในเรื่องของหน้าจอแสดงผลของ
BenQ P50 นั้นถือว่าสอบผ่านไปได้อย่างสบายๆ
การใช้งานเกี่ยวกับการโทร
มีผู้ใช้หลายๆ รายของโทรศัพท์มือถือแบบ
PDA Phones บางรุ่นจะบ่นในเรื่องปัญหาของสัญญาณ
ว่าสัญญาณขาดๆ หายๆ บ้าง สัญญาณแกว่งไปแกว่งมาบ้าง
แต่จากการทดสอบเรื่องสัญญาณโทรศัพท์ของ BenQ
P50 โดยทดสอบทั้ง SIM Card ของค่าย AIS และ
DTAC ผลที่ออกมาก็เป็นปกติดี ไม่มีการแกว่งของสัญญาณหรือการขาดหายของสัญญาณแบบผิดปกติแต่อย่างใด
สำหรับการโทรออกนั้นก็ได้เปรียบกว่า PDA Phones
รุ่นอื่นที่ไม่มี Keyboard ในตัวอยู่สักหน่อย
ตรงที่สามารถกดปุ่มตัวเลขที่ Keyboard ได้ทันที
ไม่ต้องหยิบปากกา Stylus มาจิ้ม Virtual Keypad
ที่หน้าจอเพื่อโทรออกให้ยุ่งยาก และท่าทางความถนัดเวลาถือแนบหูขณะสนทนานั้นก็รู้สึกทะมัดทะแมงดีใช้ได้
ไม่รู้สึกขัดเขินอะไร สุดท้ายก็คือเรื่องความชัดเจนและคุณภาพเสียง
จากการทดสอบโทรออกหรือรับสายคุยกับฝั่งปลายทางอยู่หลายต่อหลายครั้งก็สรุปได้ว่าเสียงที่ได้ยินขณะสนทนามีความชัดเจนดี
ไม่มีเสียงก้องสะท้อนที่ผิดปกติใด ทั้งฝั่งผู้รับและฝั่งผู้โทร
สรุปแล้ว BenQ P50 สามารถรองรับการใช้งานเกี่ยวกับการโทรได้เป็นอย่างดี
คล่องตัว และมีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจ
ปุ่มกด และการตอบสนอง
 จากการทดสอบใช้งานอยู่ระยะหนึ่ง
ปุ่มกดทุกปุ่มของ BenQ P50 นั้นสามารถกดได้ง่าย
และตอบสนองได้ดี ทั้งปุ่มที่อยู่ด้านข้างของตัวเครื่อง
หรือที่อยู่ด้านหน้าของตัวเครื่อง ยกตัวอย่างเช่นปุ่มกดของ
Keyboard ที่ด้านหน้าของตัวเครื่องนั้น แม้ว่าแต่ละปุ่มจะดูเล็กและเรียงชิดติดกัน
แต่ด้วยความนูนของแต่ละปุ่ม ที่ช่วยให้แต่ละปุ่มนั้นแยกกันอย่างชัดเจน ทำให้สามารถกดได้ง่ายไม่ว่าจะเป็นคนนิ้วใหญ่หรือนิ้วเล็กก็ตาม
และอีกอย่างก็คือปุ่มทุกปุ่มล้วนแล้วแต่รู้สึกได้ถึงความแข็งแรงมั่นคงในระดับที่กำลังดีไม่กดยากหรือกดง่ายจนเกินไป
ซึ่งคงต้องยกให้ในเรื่องของคุณภาพการผลิต
เมนูและฟังก์ชันการทำงาน
 ระบบปฏิบัติการ
Windows Mobile 2003SE ที่ใช้กับ BenQ P50
หรือ PDA Phones รุ่นอื่นๆ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการเดียวกันนี้
ต่างก็มี User Interface ที่ค่อนข้างคล้ายกับระบบปฏิบัติการ
Windows ที่ใช้กันบนเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่หลายส่วน
จึงน่าจะทำความเข้าใจค่อนข้างง่ายสำหรับผู้ใช้ที่ไม่เคยใช้โทรศัพท์มือถือประเภทนี้มาก่อน
 เมื่อมีการเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์
เช่นเชื่อมต่อผ่านทางสาย miniUSB ก็จะมีไอคอนแสดงสถานะ
PC Connection ที่แถบด้านบนของหน้าจอ รวมถึงการแสดงชื่อของเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ
 การตั้งค่าพื้นฐานของการใช้งานเกี่ยวกับเสียงสามารถเข้าถึงได้ทันที
โดยการเลือกที่ไอคอนที่อยู่ตรงแถบด้านบน
 การตั้งค่าวันที่และเวลาของเครื่อง
สามารถทำได้ทันทีโดยการเลือกที่ตัวเลขที่แสดงเวลาตรงแถบด้านบน
ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเวลาหลักของเครื่อง, การเทียบเวลาโลก,
การตั้งปลุก หรือหากจะตั้งเวลาโดยใช้นาฬิกาแบบเข็มก็ทำได้เช่นกัน
 การใส่ข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของเครื่องนั้นก็มีประโยชน์ไม่น้อย
เช่นในกรณีที่หากลืมเครื่องหรือทำเครื่องหายไว้ที่ไหน
ข้อมูลเหล่านี้ก็จะสามารถบ่งบอกตัวตนของเจ้าของได้เป็นอย่างดี
การตามหาเจ้าของก็จะเป็นไปได้โดยง่าย

 การส่งข้อความทั้งแบบ
MMS, SMS หรือ Email นั้นจะมีลักษณะที่คล้ายกับแบบฟอร์มการรับส่งอีเมลทั่วไป
คือมีส่วนของ "To" คือการระบุว่าจะส่งไปให้ใคร
และส่วนของ "Subject" คือการระบุว่าหัวข้อเรื่องคืออะไร
ซึ่งหากเป็นการรับส่ง Email ก็จะต้องมีการตั้งค่า
Email Account ขึ้นมาใหม่เสียก่อน
 Tasks
คือรายการงานหรือรายการนัดหมายต่างๆ ที่บันทึกเอาไว้
ซึ่งสามารถใส่ข้อมูลได้ตั้งแต่ รายละเอียดทั่วไป,
พิมพ์โน้ตเป็นตัวอักษร, เขียนบันทึกด้วยลายมือ รวมถึงหากต้องการบันทึกเสียงเอาไว้ก็สามารถทำได้เช่นกัน
 หากเลือกที่คำว่า
New ที่ด้านล่างซ้ายของหน้าจอหลัก ก็จะเป็นการเลือกสร้างงานแบบต่างๆ
ขึ้นมาใหม่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการนัดหมาย,
ข้อมูลผู้ติดต่อ, เอกสาร Excel, ข้อความ,
จดบันทึก, งานที่ต้องทำ และเอกสาร Word
 เมื่อเลือกที่ไอคอนรูปโทรศัพท์มือถือที่อยู่ทางด้านล่างขวา
ก็จะเป็นการปรับเปลี่ยนการแสดงผลให้เป็นแบบแนวนอน
ซึ่งมีประโยชน์ในการใช้งานหลายอย่างที่ต้องการๆ
แสดงผลในแนวกว้างมากเป็นพิเศษ เช่นเอกสาร
Excel, วีดีโอคลิป หรือหน้าเว็บไซต์ต่างๆ
เป็นต้น
 เมื่อเลือกที่ไอคอนรูปสัญลักษณ์
Bluetooth ที่อยู่ทางด้านล่างขวา ก็จะเป็นการตั้งค่าสำหรับการใช้งาน
Bluetooth
 เมื่อเลือกที่ไอคอนรูปเสาอากาศที่อยู่ทางด้านล่างขวา
ก็จะเป็นการตั้งค่าสำหรับการใช้งานระบบ WiFi
หรือ Wireless LAN
 เมื่อเลือกที่ไอคอนรูปแบตเตอรี่ที่อยู่ทางด้านล่างขวา
ก็จะเป็นการตั้งค่าต่างๆ เกี่ยวกับการใช้พลังงานแบตเตอรี่ของเครื่อง
 เมื่อเลือกที่เมนู
ActiveSync ก็จะปรากฏหน้าจอแสดงสถานะของการเชื่อมต่อและตัวเลือกต่างๆ
สำหรับการเชื่อมต่อข้อมูล
 ปฏิทินสามารถแสดงผลได้หลายรูปแบบ
ตั้งแต่รายวัน, รายสัปดาห์, รายเดือน ไปจนถึงรายปี
ซึ่งสามารถตั้งค่าการแสดงผลเพิ่มเติมได้ เช่นจะให้วันใดเป็นวันแรกของสัปดาห์
หรือจะให้แสดงผลกี่วันใน 1 สัปดาห์เป็นต้น
 ข้อมูลของผู้ติดต่อแต่ละรายการนั้นสามารถบันทึกได้ละเอียดหลายประเภทข้อมูล
ตั้งแต่ ชื่อ-นามสกุล, อาชีพ, แผนก,
บริษัท, เบอร์โทรที่ทำงาน, เบอร์แฟกซ์ที่ทำงาน,
ที่อยู่ของที่ทำงาน, อีเมล, เบอร์โทรศัพท์มือถือ,
เว็บไซต์ส่วนตัว และอื่นๆ อีกหลายอย่าง

 ฺBrowser
สำหรับการท่องอินเทอร์เน็ตของ BenQ P50 นั้นก็ใช้โปรแกรม
Pocket Internet Explorer ตามมาตรฐานทั่วไป
ซึ่งสามารถเปิดดูเว็บไซต์แบบเดียวกันกับที่ดูผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ทันที
โดยมีการแสดงผลที่ถูกต้องใกล้เคียงกันมาก
จะต่างกันก็เพียงที่จะต้องเลื่อน Scroll Bar
บ่อยสักหน่อยเท่านั้นเอง แต่อย่างไรก็ตามผู้ใช้ก็สามารถเลือกให้แสดงผลแบบ
Column เดี่ยวๆ ได้ด้วย ทำให้ไม่ต้องเลื่อนไปทางซ้ายและขวา
แต่การแสดงผลก็จะผิดเพี้ยนจากปกติไปมากพอสมควร
นอกจากนั้นการตั้งค่าต่างๆ ก็มีหลายส่วนที่คล้ายกับ
Browser ของเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่นการตั้งค่า
Home Page, ภาษาที่ใช้, History, ค่าความปลอดภัย
หรือ Cookies เป็นต้น
 หากต้องการแสดงผลหน้าเว็บเพจแบบแนวนอน
ก็สามารถทำได้เช่นกัน
 เมื่อเลือกไปที่เมนู
Phone ก็จะแสดงแผงปุ่มกดตัวเลขแบบ Visual
ให้เห็น เพื่อใช้งานโทรออกไปยังหมายเลขต่างๆ
และหากต้องการตรวจสอบประวัติการโทรต่างๆ เช่นหมายเลขที่รับสาย,
หมายเลขที่โทรออก หรือหมายเลขที่ไม่ได้รับสาย
ก็สามารถเข้าดูได้โดยเลือกที่ปุ่ม Call History
รวมถึงหากต้องการใช้งานหมายเลขโทรด่วน ก็สามารถเลือกไปที่ปุ่ม
Speed Dial ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

 โปรแกรม
Pocket Word เป็นโปรแกรมที่มีไว้สำหรับการพิมพ์เอกสาร
คล้ายๆ กับโปรแกรม Microsoft Word ที่ใช้กันทั่วไปในเครื่องคอมพิวเตอร์
ซึ่งแม้ว่าโปรแกรม Pocket Word จะไม่ได้มีฟังก์ชันการทำงานที่พิเศษมากมายเหมือนกับที่ใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่บรรดาฟังก์ชันพื้นฐานต่างๆ
สำหรับการพิมพ์งาน ก็ถือว่ามีมาให้อย่างครบถ้วนเลยทีเดียว
 เมื่อเลือกที่เมนู
Pictures ก็จะเป็นการใช้งานโปรแกรมสำหรับเปิดดูรูปภาพที่บันทึกเอาไว้ที่หน่วยความจำภายในตัวเครื่อง
หรือการ์ดหน่วยความจำ โดยที่โปรแกรมนี้สามารถที่จะรองรับการแก้ไขรูปภาพได้ในตัวอีกด้วย
เช่นการหมุนภาพ, การตัดภาพ, การปรับความสว่าง
หรือ การปรับค่าความต่างสี เป็นต้น และการแสดงผลแต่ละภาพ
ก็ยังสามารถเลือกให้แสดงผลแบบเต็มหน้าจอ หรือเลือกให้แสดงผลแบบสไลด์โชว์ก็ได้เช่นกัน

 โปรแกรม
Windows Media ใน BenQ P50 นั้นก็มีลักษณะหน้าตาที่ค่อนข้างคล้ายกับโปรแกรม
Windows Media Player ในระบบปฏิบัติการ Microsoft
Windows ที่ใช้กันในเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งหลักๆ
แล้วก็เป็นโปรแกรมที่เอาไว้สำหรับใช้งานดูหนังฟังเพลงนั่นเอง
 Photo
Caller ID หรือการแสดงรูปภาพขณะมีสายเรียกเข้า ถือได้ว่ากลายเป็นคุณสมบัติมาตรฐานของโทรศัพท์มือถือยุคปัจจุบันไปเสียแล้ว
BenQ P50 นั้นก็มีมาให้เช่นกัน และสามารถตั้งค่าการใช้งานได้อย่างหลากหลาย
ตั้งแต่รูปภาพที่จะนำมาใช้, ขนาดของรูปภาพที่จะแสดง,
รูปแบบ สี และขนาดของตัวอักษรที่จะแสดง รวมถึงการเลือกเสียงเรียกเข้าเฉพาะหมายเลขก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
 โปรแกรมใช้งานมาตรฐานที่มีมาให้
รวมถึงโปรแกรมใช้งานต่างๆ ที่ติดตั้งลงไปใหม่
จะสามารถเข้าใช้งานได้โดยผ่านเมนู Programs
 เกมส์ที่มีมาให้ภายในเครื่องจะประกอบไปด้วยเกม
Jawbreaker และเกม Solitaire ซึ่งหลายคนคงจะคุ้นเคยกันดี
 โปรแกรมเครื่องคิดเลขที่มีมาให้นั้นมีเพียงแค่ฟังก์ชันการทำงานพื้นฐานทั่วไป
ซึ่งถ้าหากต้องการฟังก์ชันการทำงานที่มากกว่านี้
ก็คงจะต้องมีการติดตั้งโปรแกรมพิเศษเพิ่มเติมด้วยตนเองในภายหลัง
 โปรแกรม
File Explorer นั้นก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับโปรแกรม
File Explorer ที่ใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไป
ซึ่งโปรแกรมนี้ก็เอาไว้สำหรับใช้งานจัดการไฟล์ต่างๆ
ที่บันทึกไว้ในหน่วยความจำเครื่อง หรือการ์ดหน่วยความจำนั่นเอง
 การค้นหาข้อมูลอะไรสักอย่างที่เก็บบันทึกไว้
หากทำการค้นหาด้วยตนเองคงจะยุ่งยากไม่น้อย
ดังนั้นจึงมีโปรแกรม Find ติดตั้งไว้ภายในเครื่อง
เพื่อช่วยในการค้นหาข้อมูลประเภทต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว
ตั้งแต่ ปฏิทิน, ข้อมูลผู้ติดต่อ, ระบบช่วยเหลือ,
ข้อความ, ข้อมูลที่ขนาดใหญ่กว่า 64 KB, จดบันทึก,
Excel, Outlook, Word, ข้อมูลงาน หรือจะเลือกค้นหาข้อมูลทุกประเภทในคราวเดียวก็ได้เช่นกัน
 โปรแกรม
Java Manager เป็นโปรแกรมที่เอาไว้จัดการเกี่ยวกับ
Java Applications ประเภทต่างๆ ที่อยู่ภายในเครื่อง
 โปรแกรม
MSN Messenger คงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเป็นโปรแกรมสนทนาออนไลน์
(Chat) ที่นิยมใช้กันทั่วไปอยู่แล้ว
 โปรแกรม
Pocket Excel เปรียบเสมือนการย่อโปรแกรม Microsoft
Excel ที่ใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์มาไว้บนโทรศัพท์มือถือก็ว่าได้
เนื่องจากมีลักษณะการทำงานพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน
เพียงแต่ฟังก์ชันการทำงานบางอย่างจะถูกตัดทอนลงไปบ้างพอสมควร
เพื่อความเหมาะสมในการนำมาใช้งานภายใน PDA
Phone นั่นเอง


 โปรแกรม
PocketStudio ถือว่าเป็นโปรแกรมที่เป็นศูนย์กลางสำหรับการใช้งานกล้องดิจิตอลก็ว่าได้
ซึ่งโปรแกรมนี้มีความสามารถมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดดูและแก้ไขรูปภาพ,
การตั้งค่าสำหรับการถ่ายภาพนิ่ง หรือ การตั้งค่าสำหรับการถ่ายภาพวีดีโอ
เป็นต้น
 ส่วนหนึ่งของ
Programs ที่มีมาให้ในเครื่อง ก็คือโปรแกรม
Set Ringtone ซึ่งก็ตรงไปตรงมา คือใช้สำหรับการตั้งค่าเสียงเรียกเข้านั่นเอง
 เครื่องระดับนี้
คงจะขาดไม่ได้ในเรื่องการสั่งงานด้วยเสียง
ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่การโทรออกด้วยเสียง,
การเข้าใช้งานเมนูต่างๆ ด้วยเสียง รวมถึงการตั้งค่าต่างๆ
ของการสั่งงานด้วยเสียง
 โปรแกรม
Universal
Remocon ถือได้ว่าเป็นจุดเด่นที่น่าสนใจอีกอย่างของ
BenQ P50 เลยทีเดียว เนื่องจากเป็นโปรแกรมที่ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้เครื่อง
BenQ P50 ตัวนี้ สั่งงานควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าได้มากมายหลายประเภทหลายยี่ห้อ
เปรียบเสมือนมีรีโมทคอนโทรลพกติดตัวไปทุกหนทุกแห่งก็ว่าได้
ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ BenQ P50 สามารถสั่งงานได้นั้น
ก็มีตั้งแต่ โทรทัศน์, เครื่องเล่นดีวีดี,
เครื่องเล่นวีดีโอ,เครื่องเล่นซีดี, เครื่อบปรับอากาศ,
เครื่องเสียง, เครื่องเล่นวีซีดี และอื่นๆ
อีกหลายอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นการประยุกต์ใช้ประโยชน์จาก
Infrared Port ที่ติดมากับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกรุ่นทุกยี่ห้อจะสามารถควบคุมผ่าน
BenQ P50 ตัวนี้ได้ คงจะควบคุมได้เฉพาะยี่ห้อหรือรุ่นที่นิยมใช้งานกันแพร่หลายเป็นหลักเสียมากกว่า
 การตั้งค่าของการใช้งานเบื้องต้น
นั้นมีตั้งแต่การตั้งค่าปุ่มกด, ตั้งค่า Keyboard,
ตั้งค่าเมนู, ตั้งค่าข้อมูลเจ้าของเครื่อง,
ตั้งค่ารหัสผ่าน, ตั้งค่าพื้นฐานของเครือข่าย,
ตั้งค่าเสียง, ตั้งค่าการสั่งงานด้วยเสียง
และการตั้งค่าการแสดงผล
 การตั้งค่าปุ่มควบคุมการทำงาน
ซึ่งมีอยู่ 6 ปุ่มหลัก
 การตั้งค่าการใช้งาน
Keyboard รวมถึงการกำหนดคุณภาพของการบันทึกเสียง
 การตั้งค่าเมนูที่ต้องการให้แสดงผลที่เมนูหลัก
 การตั้งรหัสผ่านเพื่อความปลอดภัย
หรือป้องกันผู้อื่นไม่ให้เข้าใช้งานเครื่องได้
 การตั้งค่าพื้นฐานสำหรับระบบเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่ใช้งาน
ซึ่งจะเห็นว่า BenQ P50 นั้นรองรับระบบสัญญาณเครือข่ายแบบ
Quad Band หรือ 4 คลื่นความถี่ นั่นคือ GSM
850/900/1800/1900 MHz นั่นเอง
 การตั้งค่ารูปแบบของเสียงและการเตือนต่างๆ
 ลักษณะหน้าตาของการแสดงผลของเครื่องโดยรวม
เช่นเมนูใช้งานหรือภาพพื้นหลัง สามารถปรับเปลี่ยนได้ด้วย
Themes ซึ่งมีอยู่หลายแบบ
 ส่วนของการตั้งค่าเกี่ยวกับระบบการทำงานของเครื่องนั้นก็มีมาให้อย่างครบถ้วน
ตั้งแต่ การแสดงข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับเครื่อง,
ไฟ Backlight, ใบรับรอง, เวลาและวันที่, ข้อมูลเชิงเทคนิคของตัวเครื่อง,
หน่วยความจำ, พลังงานแบตเตอรี่, ภาษาที่ใช้,
หน้าจอ และการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานในส่วนต่างๆ
ของเครื่อง
 หน้าจอแสดงข้อมูลเบื้องต้นของตัวเครื่อง
เช่น เวอร์ชันของระบบปฏิบัติการ, หน่วยประมวลผล,
หน่วยความจำภายใน หรือการ์ดหน่วยความจำเป็นต้น
 ส่วนของการตั้งค่าการทำงานของไฟ
Backlight สำหรับแผงปุ่มกดและหน้าจอ

 ส่วนของ
Device Information เป็นการแสดงข้อมูลเชิงเทคนิค
ของส่วนประกอบต่างๆ ภายในเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น
หน่วยประมวลผล, หน่วยความจำ, ระบบ, หน้าจอ
และ Radio Stack เช่นในส่วนของหน่วยประมวลผล
(CPU) จากข้อมูลจะเห็นว่าเป็น Intel(R) PXA27x
ความเร็วสัญญาณนาฬิกา 416 MHz เป็นต้น
 ส่วนของเมนู
Memory จะบอกข้อมูลที่เกี่ยวกับหน่วยความจำที่ใช้งานทั้งหมด
ทั้งในส่วนของหน่วยความจำหลัก และการ์ดหน่วยความจำเสริม
เช่นทั้งหมดมีพื้นที่อยู่เท่าไหร่, ใช้ไปแล้วเท่าไหร่
หรือเหลือพื้นที่ว่างเท่าไหร่ เป็นต้น รวมทั้งยังมีส่วนของ
Running Programs ซึ่งเป็นส่วนที่คล้ายๆ กับ
Task Manager ในคอมพิวเตอร์ทั่วไป นั่นคือเป็นส่วนที่แสดงรายการของโปรแกรมหรือแอพพลิเคชันที่กำลังเปิดใช้งานอยู่
ซึ่งถ้าหากผู้ใช้ต้องการที่จะหยุดการทำงานของโปรแกรมตัวใด
ก็สามารถเข้ามาจัดการตรงนี้ได้
 ส่วนของ
Regional Settings นั้นก็คือส่วนสำหรับการตั้งค่าเกี่ยวกับภาษาหรือสัญชาติ
เช่นการเลือกประเทศ, รูปแบบของตัวเลข, หน่วยวัด,
สกุลเงิน, รูปแบบของเวลา หรือรูปแบบของวัน
เป็นต้น
 เมนู
Screen เป็นการตั้งค่าใช้งานเกี่ยวกับหน้าจอแสดงผล
ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดรูปแบบทิศทางของการแสดงผลให้เป็นแนวนอนหรือแนวตั้ง,
การตั้งค่าการใช้งานหน้าจอแบบสัมผัส หรือการกำหนดค่าสำหรับการแสดงผลตัวอักษรต่างๆ
 เมนู
Self Test เป็นส่วนที่ใช้ทดสอบระบบการทำงานในส่วนต่างๆ
ของเครื่อง ว่าสามารถทำงานได้ปกติดีหรือไม่
ตั้งแต่เรื่องของเสียง, การสั่น, การแสดงผล,
ไฟ Backlight, แบตเตอรี่, ปุ่มกด, ไฟ LED,
การสั่งงานแบบสัมผัสหน้าจอ, การอ่าน-เขียนไฟล์,
การ์ดหน่วยความจำเสริม, USB, Infrared, Bluetooth,
Wireless LAN, กล้องดิจิตอล และ ROM
 การตั้งค่าเกี่ยวกับการเชื่อมต่อต่างๆ
ถูกรวบรวมแยกเอาไว้ที่ส่วนของ Connections
Settings เช่น Bluetooth, Infrared, GPRS
หรือ Wireless LAN
 ในเมนู
Help นั้นก็มีลักษณะที่คล้ายๆ กับโปรแกรม
Help ในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไป นั่นคือจะเป็นการแนะนำหรือสอนวิธีการใช้งานเบื้องต้น
ในส่วนต่างๆ ของเครื่อง ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานมากเลยทีเดียว
คุณสมบัติเด่นที่น่าสนใจ
- ระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows
Mobile 2003 SE : หรืออาจจะเรียกแบบเต็มๆ
ว่า Microsoft Windows Mobile 2003 Pocket
PC Phone Edition Second Edition ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่
BenQ P50 เลือกใช้ ถึงแม้ว่าขณะนี้กระแสของระบบปฏิบัติการตัวใหม่อย่าง
Microsoft Windows Mobile 5.0 กำลังมาแรง
และกำลังคาดว่าจะเข้ามาแทนที่ในไม่ช้า แต่ระบบปฏิบัติการเวอร์ชัน
2003 SE นี้ก็สามารถรองรับการใช้งานในปัจจุบันได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องดีอยู่แล้ว
ดังนั้นคงไม่ต้องกังวลกับเรื่องของความเก่าหรือใหม่ของระบบปฏิบัติการแต่อย่างใด
และที่สำคัญ ระบบปฏิบัติการเวอร์ชัน 5.0 นั้นก็ยังไม่ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายในตอนนี้อีกด้วย
ซึ่งผิดกับเวอร์ชัน 2003 SE ที่ในขณะนี้มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว
- หน่วยประมวลผลกลาง Intel PXA272 416MHz
: หน่วยประมวลผลกลาง (Processor, CPU) ของ
BenQ P50 นั้นมีความเร็วในการประมวลผลมากถึง
414MHz จึงไม่น่าแปลกใจที่จากการทดลองใช้งานหลายๆ
อย่าง สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วทันใจ
ไม่รู้สึกหน่วง อาจจะมีหน่วงบ้างก็เป็นส่วนที่ต้องมีการดึงข้อมูลเยอะๆ
เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
- หน้าจอแสดงผลแบบ QVGA TFT LCD Touchscreen
: หน้าจอแสดงผลของ BenQ P50 นั้นเป็นแบบ TFT
LCD Touchscreen มีความละเอียดระดับ QVGA
นั่นคือ 240 x 320 Pixels, แสดงสีได้ 65,536
สี และมีขนาด 2.83 นิ้ว ซึ่งจากการใช้งาน
ก็ถือว่ามีความคมชัดสวยงามอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
มีสีสันที่สวยงาม ความสว่างพอเพียง และความละเอียดคมชัดก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่หน้าจอชนิดและขนาดนี้ควรจะทำได้
สรุปแล้วเรื่องของหน้าจอก็สอบผ่านไปได้อย่างสบายๆ
- กล้องดิจิตอลในตัว ความละเอียดระดับ
1.3 ล้าน Pixels : โทรศัพท์มือถือยุคปัจจุบัน
หากไม่มีกล้องดิจิตอลติดมาด้วย อาจจะดูเหมือนตกยุคไปเลยก็ว่าได้
ซึ่ง BenQ P50 ก็ไม่ได้มองข้ามสิ่งนี้ไป โดยได้ติดกล้องดิจิตอลความละเอียด
1.3 ล้าน Pixels ไว้ให้ใช้งาน ซึ่งความละเอียดระดับนี้ก็ถือว่ากำลังดี
ไม่มากไม่น้อยเกินไปสำหรับโทรศัพท์มือถือทั่วไปในปัจจุบัน
และสำหรับความสามารถพื้นฐานหรือความสามารถพิเศษต่างๆ
ของกล้องดิจิตอลตัวนี้ ก็มีดังต่อไปนี้
- ซูมขยายภาพได้สูงสุด 4 เท่า แบบ Digital
Zoom โดยเลือกได้ 2 แบบคือ 2 เท่า และ 4 เท่า -
มีไฟ LED Flash ในตัว ช่วยให้ความสว่างขณะถ่ายรูปในที่มืด -
กำหนดความละเอียดของรูปภาพได้ 5 ระดับ คือ
1280 x 960, 640 x 480, 320 x 240, 176 x
144 และ 96 x 96 Pixels - สามารถปรับค่าความสว่าง
(Brightness) และค่าความต่างสี (Contrast)
ได้ - สามารถปรับค่า White Balance ได้
6 รูปแบบ คือ Auto, Night, Dusk, Sunlight,
Cloudy และ Fluorescent - สามารถกำหนด
Special Effect ได้ 6 รูปแบบ คือ Sepia, Black
and White, Negative, Aqua, Cool และ Green -
ตั้งเวลาถ่ายภาพล่วงหน้าได้ 2 แบบ คือ
2 และ 10 วินาที - สามารถตกแต่งแก้ไขรูปภาพได้ด้วยโปรแกรม
Pocket Studio เช่นการปรับขนาดภาพ, การใส่ตัวอักษร,
การใส่กรอบ, การหมุนภาพ, การวาดตกแต่งภาพ
หรือการใส่ Special Effects เพิ่มเติมได้อีก
9 รูปแบบ เป็นต้น - ถ่ายภาพวีดีโอได้ไม่จำกัดเวลา
(ขึ้นอยู่กับขนาดของหน่วยความจำที่เหลือ)
ซึ่งสามารถตั้งค่าความละเอียดได้ 2 ระดับ
คือ 320 x 240 และ 176 x 144 Pixels, มีโหมดการบันทึกภาพวีดีโอ
2 รูปแบบคือ Portrait และ Landscape, ปรับค่าความสว่าง
(Brightness) และค่าความต่างสี (Contrast),
ปรับค่า White Balance และเลือก Scene ได้
6 รูปแบบ
จากคุณสมบัติพื้นฐานและคุณสมบัติพิเศษในการใช้งานกล้องดิจิตอลของ
BenQ P50 ที่กล่าวมาข้างต้น ก็ถือว่าเป็นอีกรุ่นที่มีลูกเล่นเกี่ยวกับกล้องดิจิตอลไม่ด้อยไปกว่ารุ่นไหนเลยทีเดียว
ส่วนคุณภาพของรูปภาพที่ถ่ายออกมานั้น อาจจะให้สีสันที่จืดไปสักนิด
แต่โดยรวมยังถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
อย่างไรก็ตาม การประเมินด้วยสายตาของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน
ดังนั้นจึงมีรูปถ่ายตัวอย่างบางส่วนที่ถ่ายโดย
BenQ P50 มาให้ทุกท่านได้ชมกันอีกด้วย
 ตัวอย่างภาพถ่ายในโหมด
Auto โดยมีค่า Brightness และ Contrast อยู่ในระดับปานกลาง
 ตัวอย่างภาพถ่ายที่มีการปรับค่า
White Balance เป็นแบบ Night, Dusk, Sunlight,
Cloudy และ Fluorescent ตามลำดับ
 ตัวอย่างภาพถ่ายที่มีการซูมภาพ
Digital แบบ 2 เท่า และ 4 เท่า ตามลำดับ
 ตัวอย่างภาพถ่ายที่มีการปรับค่า
Brightness ให้อยู่ในระดับต่ำสุด และระดับสูงสุด
ตามลำดับ
 ตัวอย่างภาพถ่ายที่มีการปรับค่า
Contrast ให้อยู่ในระดับต่ำสุด และระดับสูงสุด
ตามลำดับ
 ตัวอย่างภาพถ่ายที่มีการปรับค่า
Special Effect แบบ Sepia, White, Negative,
Aqua, Cool และ Green ตามลำดับ
 ตัวอย่างภาพถ่ายที่มีการใส่กรอบ
(Frame) แบบ Bubble, Stamp, Gallery และ Heart
ตามลำดับ
 ตัวอย่างภาพถ่ายเพิ่มเติมในการตั้งค่าแบบปกติ
(ในโหมด Auto โดยมีค่า Brightness และ Contrast
อยู่ในระดับปานกลาง)
- ดูหนังฟังเพลงด้วย Windows Media
Player : การใช้งานดูหนังฟังเพลงของ BenQ
P50 นั้นจะใช้โปรแกรม Windows Media Player
เวอร์ชัน 10 ที่มีลักษณะคล้ายๆ กับที่ใช้กันในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไป
โดยสามารถรองรับรูปแบบของไฟล์บันเทิงมัลติมีเดียทั้งด้านภาพและเสียงได้หลากหลายรูปแบบ
ตั้งแต่ไฟล์วีดีโอแบบ MPEG4, H.263 หรือ WMV
รวมถึงไฟล์เสียงแบบ MP3, WAV, WMA, AMR หรือ
MIDI ซึ่งจากการทดสอบการฟังเสียงเพลงจากลำโพง
Loudspeaker ก็พบว่ามีเสียงที่ไพเราะชัดเจนในระดับที่น่าพอใจ
ถึงแม้จะมีโทรศัพท์มือถือบางรุ่นที่เสียงจากลำโพงใสและหนักแน่นกว่านี้บ้างก็ตาม
แต่ก็ถือว่าไม่ได้แตกต่างกันมากนัก และเมื่อเร่งเสียงจนถึงระดับสูงสุดก็ไม่เกิดอาการเสียงแตกให้ได้ยินอีกด้วย
อย่างไรก็ตามในการทดสอบครั้งนี้ ทางทีมงานไม่ได้รับหูฟังมาด้วย
จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าเสียงที่ได้ยินจากหูฟังนั้นจะไพเราะหนักแน่นเพียงไร
แต่ก็คงจะดีกว่าฟังจากลำโพง Loudspeaker อย่างแน่นอน
- เสียงเรียกเข้า Polyphonic 64 ชิ้นเครื่องดนตรี
รองรับไฟล์ MP3 : เสียงเรียกเข้าของ BenQ
P50 นั้นใช้เสียงเรียกเข้าแบบ Polyphonic
Ringtones 64 ชิ้นเครื่องดนตรี ซึ่งคงจะไม่พลาดในการรองรับการนำไฟล์
MP3 มาทำเป็นเสียงเรียกเข้าอย่างแน่นอน รวมถึงการแสดงรูปภาพขณะมีสายเรียกเข้าอีกด้วย
โดยจากการลองเปิดฟังเสียงดู ก็ได้คุณภาพที่ไม่แตกต่างจากการฟังเพลงจากลำโพง
Loudspeaker แต่อย่างใด เนื่องจากใช้ลำโพงเดียวกันนั่นเอง
ซึ่งก็คือมีคุณภาพเสียงและความชัดเจนหนักแน่นอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ไม่มีอาการเสียงแตกให้ได้ยินเมื่อเร่งเสียงจนสุด
- เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน WiFi (WLAN)
และ GPRS : การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายที่
BenQ P50 ถือว่าเป็นจุดแข็งอีกประการของรุ่นนี้เลยทีเดียว
เริ่มจากการรองรับการเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายแบบ
WLAN หรือ Wireless LAN ซึ่ง BenQ P50 มีติดตั้งมาให้พร้อมใช้งานได้ทันทีอย่างง่ายดาย
ไม่ต้องมีการตั้งค่าพิเศษอะไรมากมาย โดยถ้าหากถือเครื่อง
BenQ P50 เข้าไปยังบริเวณที่มีสัญญาณจาก Access
Point หรือ Hot Spot เครื่องก็จะสามารถตรวจพบได้โดยอัตโนมัติเนื่องจากมีการ
Scan สัญญาณแบบอัตโนมัติอยู่แล้ว โดยหากผู้ใช้เปิดการทำงานของ
WLAN เอาไว้ ไฟ LED แสดงสถานะการทำงานที่ด้านขวาบนของตัวเครื่องก็จะกระพริบเป็นสีเขียว
ส่วนเรื่องของความร้อนหรืออุณหภูมิที่มักจะเกิดขึ้นกับโทรศัพท์มือถือที่มี
WLAN หลายๆ รุ่นนั้น จากการทดสอบพบว่า BenQ
P50 สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี
เนื่องจากไม่เกิดปัญหาเรื่องความร้อนแต่อย่างใด
ซึ่งคงต้องยกความดีความชอบให้ผู้ออกแบบระบบของ
BenQ P50 นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามการเปิดใช้งาน
WLAN เอาไว้นั้นก็จะทำให้อัตราการสิ้นเปลืองแบตเตอรี่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติพอสมควร
ส่วนเรื่องของความเร็วที่ได้นั้นก็แน่นอนว่าต้องรวดเร็วทันใจมากกว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน
GPRS อย่างเห็นได้ชัด แต่การใช้ GPRS ก็ยังมีข้อได้เปรียบคือสามารถนำไปใช้งานได้ทุกที่ๆ
มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือนั่นเอง อาจจะช้ากว่ามากพอสมควร
แต่ถ้าพูดถึงเรื่องสถานที่ในการใช้งาน ก็ถือว่าเป็นข้อดีที่พอจะมาหักลบกันได้
โดย BenQ P50 นั้นเลือกใช้ GPRS Class 10
ซึ่งถือว่าเป็น Class ที่มีประสิทธิภาพในเรื่องของความเร็วมากที่สุดสำหรับโทรศัพท์มือถือทั่วไปในปัจจุบัน
สำหรับ Browser ที่ใช้ท่องอินเทอร์เน็ตนั้น
คือ Pocket Internet Explorer ซึ่งสามารถรองรับการแสดงผลเว็บเพจแบบ
HTML ได้เป็นอย่างดี แทบจะเหมือนกับเปิดดูผ่านทางเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไปเลยทีเดียว
สามารถเลือกการแสดงผลได้หลายรูปแบบ เช่นการปรับการแสดงผลให้เหมาะสมกับหน้าจอที่มีความละเอียดระดับ
QVGA หรือจะเลือกให้แสดงผลรายละเอียดเต็มแบบที่แสดงผ่านทาง
Browser ของเครื่องคอมพิวเตอร์ก็สามารถทำได้
แต่ผู้ใช้ก็ต้องมีการเลื่อน Scroll Bar กันบ่อยสักหน่อยหากต้องการดูรายละเอียดต่างๆ
ให้ครบหมดทั้งหน้า และสุดท้าย หากเครื่อง
BenQ P50 มีการเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่กำลังเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอยู่
เช่นขณะเสียบสาย miniUSB กับเครื่องคอมพิวเตอร์
ก็สามารถใช้งานท่องอินเทอร์เน็ตผ่าน BenQ
P50 ได้ทันทีอีกด้วย
- การเชื่อมต่อข้อมูลไร้สายผ่าน Bluetooth,
Infrared และ miniUSB : เครื่อง BenQ
P50 นี้ถือว่าได้ใส่เทคโนโลยีการเชื่อมต่อทั้งแบบไร้สายและมีสายมาให้อย่างครบถ้วนเลยทีเดียว
นอกจาก WiFi และ GPRS ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว
ก็ยังมีการเชื่อมต่อข้อมูลผ่าน Bluetooth,
Infrared Port และสาย miniUSB ซึ่งเหมาะสำหรับการโอนย้ายไฟล์ข้อมูลในระยะใกล้ๆ
เช่นการ Sync ข้อมูลต่างๆ ระหว่าง BenQ P50
กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น โดย Bluetooth
และ Infrared นั้นก็ใช้งานได้ง่ายไม่ต่างกับโทรศัพท์มือถือรุ่นอื่นๆ
เนื่องจากเทคโนโลยีการเชื่อมต่อทั้งสองแบบนี้เป็นเทคโนโลยีเชื่อมต่อที่อุปกรณ์ส่วนมากมีมาตรฐานเดียวกันอยู่แล้ว
แต่ถ้าหากต้องมีการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านสาย
miniUSB ก็ต้องมีการลง Driver ในเครื่องคอมพิวเตอร์เสียก่อน
โดยอาจจะแผ่นโปรแกรม หรือดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของ
BenQ ก็ได้ ซึ่งก็ไม่ได้ยุ่งยากแต่อย่างใด
- หน่วยความจำ SDRAM 64 MB และ Flash
ROM 64 MB : หน่วยความจำภายในตัวเครื่องของ
BenQ P50 นั้นมีมาให้ 64 MB ซึ่งส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้สำหรับการทำงานของระบบ
จึงเหลือให้ใช้งานจริงอยู่ที่ 57.75 MB ซึ่งหากเป็นการใช้งานทั่วๆ
ไป ลงโปรแกรมหรือเก็บข้อมูลที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก
ก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานแบบสบายๆ อย่างไรก็ตามการใช้งานจริง
คงจะต้องมีไฟล์ใหญ่ๆ มากมายที่ต้องใช้งานกันค่อนข้างแน่
เช่นไฟล์เพลง, ไฟล์รูปภาพ หรือไฟล์วีดีโอ
ซึ่ง BenQ P50 ก็สามารถรองรับการ์ดหน่วยความจำเสริมภายนอกแบบ
SD Card ได้ ซึ่งช่วยให้การบันทึกข้อมูลมีอิสระมากขึ้นอีกหลายเท่าตัวเลยทีเดียว
และก็เหมือนกับโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์พกพาอีกหลายรุ่นที่นอกจากจะรองรับ
SD Card ได้แล้ว BenQ P50 ยังสามารถรองรับการ์ดหน่วยความจำแบบ
MMC Card ได้อีกด้วย
คุณสมบัติอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- แบตเตอรี่แบบ Li-Ion ความจุ 1240 mAh : แบตเตอรี่ของ
BenQ P50 นั้นมีขนาดความจุที่ค่อนข้างมาก
และมากกว่าโทรศัพท์มือถือแบบ PDA Phones อีกหลายรุ่น
โดยมีขนาดความจุ 1240 mAh ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่า
BenQ P50 นั้นมีคุณสมบัติที่ต้องใช้พลังงานมากอยู่ในตัว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ WiFi ที่การใช้งานจะต้องสิ้นเปลืองพลังงานของแบตเตอรี่มากเป็นพิเศษ
หรือการใช้งาน Bluetooth ก็มีผลทำให้แบตเตอรี่หมดเร็วขึ้นเช่นกัน
ซึ่งหากเปิดใช้งาน WiFi กับ Bluetooth เอาไว้ตลอด
แบตเตอรี่ก็อาจจะใช้ได้ไม่เกิน 1 วัน แต่ถ้าหากการใช้งานส่วนใหญ่
ปิดการทำงานทั้งสองอย่างนี้เอาไว้ หรือเปิดเพียงแค่
Bluetooth อย่างเดียว แบตเตอรี่ก็จะใช้งานได้
2 วันสบายๆ แต่โดยรวมๆ แล้วยังคงรู้สึกว่าแบตเตอรี่ค่อนข้างหมดไวไปสักหน่อย
ใช้งานได้ไม่นานเท่าที่หวังไว้ จึงยังไม่ค่อยพอใจในส่วนของแบตเตอรี่สักเท่าไหร่
- การรองรับการใช้งานภาษาไทย :
โดยปกติเดิมๆ แล้ว ระบบปฏิบัติการ Windows
Mobile 2003 SE ที่ BenQ P50 ใช้งานอยู่นี้
จะไม่มีระบบภาษาไทยติดตั้งมาให้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามผู้ซื้อก็คงไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะไม่สามารถใช้งานภาษาไทยได้
เนื่องจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยก็จะแถมโปรแกรมภาษาไทยมาให้พร้อมสรรพอยู่แล้ว
เช่นถ้าหากซื้อเครื่องของศูนย์ MFA (Mobile
From Advance) ก็จะมี CD โปรแกรมภาษาไทย และ โปรแกรม
Talking Dictionary ซึ่งทำใช้สามารถใช้งานภาษาไทยได้เป็นอย่างดี
ไม่ว่าจะเป็นการอ่านข้อความภาษาไทย, พิมพ์ข้อความภาษาไทย
หรือแปลศัพท์ภาษาไทย/อังกฤษ เป็นต้น
สรุปส่งท้าย
จากการทดสอบการใช้งานมาได้ประมาณ 1 สัปดาห์ กับ BenQ P50 ก็พอจะมองเห็นอะไรหลายๆ
อย่างจาก PDA Phone รุ่นนี้ จึงขอสรุปเป็นจุดเด่นและจุดด้อยตามความคิดเห็นส่วนตัวคร่าวๆ
ดังนี้
จุดเด่น
- การประกอบมีความมั่นคงแข็งแรงแน่นหนาเป็นอย่างดี -
วัสดุที่นำมาประกอบมีคุณภาพสูง และชิ้นงานมีความละเอียดปราณีต -
หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) มีความเร็วในการประมวลผลสูงถึง
416 MHz ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็วทันใจ -
มีเทคโนโลยีการเชื่อมต่อข้อมูลครบถ้วน ทั้ง
WiFi, GPRS, Bluetooth, Infrared Port และ
miniUSB Data Cable - การใช้งาน WiFi ทำได้ค่อนข้างง่าย
ไม่ต้องมีการตั้งค่าอะไรให้ยุ่งยากมากจนเกินไป - มีฟังก์ชันรีโมทคอนโทรลที่ทำงานผ่าน
Infrared Port ทำให้สามารถควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าได้หลายชนิด
หลายรุ่น หลายยี่ห้อ - มี Keyboard แบบ
QWERTY จึงช่วยอำนวยความสะดวกในความพิมพ์ข้อความ
หรือกดหมายเลขโทรออก - มีกล้องดิจิตอลความละเอียดระดับ
1.3 ล้าน Pixels ในตัว ซึ่งสามารถถ่ายภาพได้ดีน่าพอใจ
และมีฟังก์ชันการทำงานหลากหลาย - มีเสถียรภาพในการใช้งานค่อนข้างสูง
ไม่พบปัญหาเครื่องค้าง หากไม่มีการลงโปรแกรม
หรือเปิดใช้งานโปรแกรมมากจนเกินไป - เสียงเพลงและเสียงเรียกเข้ามีความไพเราะคมชัด
และไม่มีอาการเสียงแตกให้ได้ยินแม้เร่งเสียงจนถึงระดับสูงสุด
จุดด้อย
- ตัวเครื่องมีความยาวมากไปสักหน่อย -
วัสดุหรือบอดี้บางส่วนเกิดรอยขีดข่วนได้ค่อนข้างง่าย
และพื้นผิวที่เป็นสีดำอาจจะเกิดรอยนิ้วมือหรือรอยเปื้อนได้ง่าย -
อัตราการสิ้นเปลืองพลังงานของแบตเตอรี่ค่อนข้างสูง
มักจะต้องมีการชาร์จไฟใหม่อยู่บ่อยครั้ง -
ปากกา Stylus ที่แถมมาให้สั้นไปสักนิด และไม่สามารถยืดหดได้
ผู้ใช้ที่มือใหญ่อาจจะจับใช้งานได้ไม่ถนัดเท่าที่ควร -
สีสันของภาพที่ถ่ายได้จากกล้องดิจิตอล ดูจืดไปเล็กน้อย
สรุปแล้ว BenQ P50 รุ่นนี้ถือว่าเป็นโทรศัพท์มือถือประเภท
PDA Phones ที่น่าสนใจมากที่สุดรุ่นหนึ่งในขณะนี้
ด้วยคุณสมบัติที่มีมาให้แทบจะเรียกได้ว่าครบถ้วนสมบูรณ์แบบเลยทีเดียว
โดยเฉพาะเรื่องของการเชื่อมต่อที่มีทั้ง WiFi,
GPRS, Bluetooth, Infrared Port และ miniUSB
Data Cable รวมถึงคุณสมบัติที่น่าสนใจอีกหลายอย่างเช่น
หน่วยประมวลผลความเร็ว 416MHz, หน้าจอความละเอียด
240 x 320 Pixels, กล้องดิจิตอลความละเอียดระดับ
1.3 ล้าน Pixels, การดูหนังฟังเพลงผ่านโปรแกรม
Windows Media Player, รองรับการ์ดหน่วยความจำแบบ
SD/MMC Card, Keyboard ในตัวแบบ QWERTY
และที่สำคัญคือทำงานด้วยระบบปฏิบัติการ Windows
Mobile 2003 SE จึงช่วยใช้การใช้งานมีความยืดหยุ่นเป็นพิเศษตามสไตล์ของโทรศัพท์มือถือประเภท
PDA Phones ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานเป็น PDA
หรือการลงโปรแกรมเพิ่มเติมตามต้องการได้มากมาย
นอกจากนั้นในเรื่องของรูปลักษณ์ภายนอก ทั้งในเรื่องของดีไซน์
วัสดุ ความแข็งแรงแน่นหนา และความละเอียดปราณีตของชิ้นงาน
ถือว่าสอบผ่านไปได้อย่างสบายๆ แม้ว่าอาจจะมีจุดด้อยอยู่บ้างเช่นเรื่องอายุการใช้งานของแบตเตอรี่
หรือเรื่องสีสนของภาพที่ถ่ายได้ แต่ก็ยังถือว่าเป็นข้อด้อยที่ยังพอยอมรับได้หากเทียบกับข้อดีที่มีอยู่มากมาย
ส่วนตัวแล้วยังค่อนข้างแปลกใจที่ BenQ P50
เป็นโทรศัพท์มือถือที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนัก
แต่เชื่อว่าหลังจากใครได้อ่านบทความรีวิวทดสอบนี้แล้ว
และกำลังมองหา PDA Phones ดีๆ ไว้ใช้งานสักตัวหนึ่ง
คงจะนำ BenQ P50 ไว้เป็นหนึ่งในตัวเลือกของตนเองอย่างแน่นอน
คะแนน TMC Point
การออกแบบดีไซน์ : 8.5/10
ใช้งานง่าย : 7.5/10
คุณสมบัติเครื่อง : 8.5/10
ฟังก์ชันการใช้งาน : 8.0/10
เสถียรภาพและประสิทธิภาพในการใช้งาน : 8.0/10
ราคาคุ้มค่า : 7.0/10
คะแนนรวม 7.91/10
สรุปคุณสมบัติเครื่อง
ท่านสามารถตรวจสอบคุณสมบัติแบบสรุป (Specification) ของ BenQ
P50 ได้โดยการคลิ๊กที่ Link ด้านล่างนี้
BenQ
P50 Specification
ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตาม
Oska (Thaimobilecenter Editor) : [email protected]
ผู้สนับสนุนเครื่อง
BenQ P50 สำหรับการทดสอบ

ขอขอบคุณ
บริษัท
ดิจิตอล โฟน จำกัด 404
พหลโยธินเซ็นเตอร์ ชั้น 8 ถนนพหลโยธิน
เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
:: ไปหน้าแรกเว็บไซต์ Thaimobilecenter
| ไปหน้าแรก
Mobile Focus ::
|