ทำไมมือถือ 5G รุ่นเรือธง ถึงมีราคาแพง? เจาะลึกเบื้องหลังปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุน และราคาของมือถือเรือธง 5G
ปี 2020 ถือว่าเป็นปีที่สมาร์ทโฟน 5G กำลังได้รับความนิยมจากทั้งผู้บริโภค และผู้พัฒนาสมาร์ทโฟน ซึ่งจะเห็นได้จากการที่สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ เริ่มรองรับการเชื่อมต่อบนเครือข่าย 5G ตั้งแต่แกะกล่อง แต่หนึ่งในสิ่งที่หลายคนน่าจะสังเกตเห็นด้วยก็คือ สมาร์ทโฟนระดับเรือธง (Flagship) ที่รองรับ 5G มีราคาวางจำหน่ายที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นอื่นๆ ที่ไม่ได้รองรับ 5G ซึ่งหากเราลองไล่ดูรายชื่อสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่น 5G ที่วางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ก็มักจะมีราคาวางจำหน่ายอยู่ระหว่าง 26,000 - 40,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงพอสมควร แต่เพราะเหตุใดมือถือระดับเรือธงที่รองรับ 5G ถึงมีราคาวางจำหน่ายที่สูงขึ้น? เบื้องหลังอาจอยู่ที่ฮาร์ดแวร์ชิ้นสำคัญอย่าง SoC (System on Chip) ก็เป็นได้ครับ
Snapdragon 865 ตัวการที่ทำให้มือถือ 5G ราคาแพงขึ้น?
XDA-Developers เว็บไซต์ที่รวบรวมนักพัฒนาจากทั่วทุกมุมโลก ได้เปิดเผยบทวิเคราะห์เกี่ยวกับสมาร์ทโฟนเรือธงในปี 2020 ที่มีราคาวางจำหน่ายสูงขึ้นเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับในปี 2019 โดยระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นผลมาจากชิปเซ็ต Snapdragon 865 ซึ่งเป็น SoC รุ่นใหม่ล่าสุดจากแบรนด์ Qualcomm ที่มีการอัปเกรดใหม่ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น CPU ที่แรงขึ้น 25%, กราฟิกที่ประมวลผลได้เร็วขึ้น 20%, AI ที่ทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิม 2 เท่า รวมไปถึงการรองรับการเชื่อมต่อบนเครือข่าย 5G
แต่อย่างไรก็ดี Qualcomm Snapdragon 865 เป็นชิปเซ็ตที่ไม่มีการติดตั้งโมเด็มสำหรับเชื่อมต่อบนเครือข่ายมือถือมาให้ภายในตัว จึงทำให้ต้องติดตั้งชิปโมเด็มแยกอย่าง Snapdragon X55 เพื่อช่วยให้สมาร์ทโฟนสามารถต่อเครือข่าย 4G และ 5G ได้ด้วย ซึ่งต่างจาก SoC รุ่นก่อนๆ ของ Qualcomm ที่มีการติดตั้งชิปโมเด็มมาให้ในตัว
ArsTechnica สื่อต่างประเทศอีกหนึ่งราย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แบรนด์สมาร์ทโฟนที่ต้องการผลิตสมาร์ทโฟนเรือธงทีใช้ชิปเซ็ต Snapdragon 865 จำเป็นที่จะต้องซื้อชิปโมเด็ม Snapdragon X55 แยกต่างหาก แต่จุดที่น่าสนใจก็คือ หากใช้ชิปโมเด็มรุ่นนี้เพียงอย่างเดียว จะทำให้ใช้งาน 5G ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากตัวชิปรองรับคลื่น 5G ในช่วงความถี่ sub-6GHz เท่านั้น (ช่วงความถี่ที่ต่ำกว่า 6GHz) ดังนั้นหากแบรนด์สมาร์ทโฟนรายไหนต้องการให้มือถือต่อ 5G บนคลื่น mmWave ได้ด้วย ก็จำเป็นต้องซื้อเสารับสัญญาณ (RF) QTM525 หรือ QTM527 จาก Qualcomm เพิ่มเติม ซึ่งฮาร์ดแวร์ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่แบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจำเป็นต้องจ่าย หากต้องการผลิตสมาร์ทโฟนเรือธงที่ใช้ชิปตัวล่าสุดจาก Qualcomm ซึ่ง ArsTecnica ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ส่งผลให้ราคาวางจำหน่ายของสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นราว 200 - 300 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,300 - 9,500 บาทเลยทีเดียว
หากว่ากันตามจริงแล้ว ราคาวางจำหน่ายของสมาร์ทโฟนระดับเรือธงที่ใช้ชิปเซ็ตจากแบรนด์ Qualcomm ไม่ได้เพิ่มขึ้นเฉพาะปี 2020 แต่จริงๆ แล้วมีการเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดเนื่องด้วยค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนต้องจ่ายให้กับ Qualcomm นอกเหนือจากค่าชิปเซ็ต ยกตัวอย่างเช่น ในชิปเซ็ตรุ่น Snapdragon 845 เคยมีรายงานออกมาว่า ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนต้องจ่ายค่าลิทสิทธิให้กับ Qualcomm เป็นจำนวน 45 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,400 บาท เพื่อใช้ชิปเซ็ตรุ่นดังกล่าว หรือในรุ่น Snapdragon 855 และ 855+ ที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม 53 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 บาท เป็นค่าลิทสิทธิ
Lei Jun ซีอีโอของ Xiaomi เป็นหนึ่งในแบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่ออกมายอมรับว่า ชิปเซ็ต Snapdragon 865 ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่น Mi 10 เป็นเม็ดเงินราว 70 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,200 บาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับการวิเคราะห์ของ TechInsights ที่ลองคำนวนต้นทุนการผลิตของ Mi 10 5G ซึ่งพบว่า ชิปเซ็ต Snapdragon 865 มีราคาอยู่ที่ราว 81 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,600 บาท ขณะที่ชิปโมเด็มมีราคาอยู่ที่ราว 33.50 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 844 บาท ส่วนอุปกรณ์เกี่ยวกับการรับสัญญาณ มีราคาอยู่ที่ 33.50 ดอลลาร์สหรัฐ 2,000 บาท ซึ่งจะเห็นว่าการที่ผลิตสมาร์ทโฟนเรือธงรองรับ 5G สักเครื่อง ผู้ผลิตต้องจ่ายเงินให้กับชิ้นส่วนซึ่งเป็นหัวใจหลักของสมาร์ทโฟนไปแล้วกว่า 5,000 บาท
นอกจากชิปเซ็ต Snapdragon 865 แล้ว ชิ้นส่วนต่างๆ ภายในสมาร์ทโฟนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อต้นทุนการผลิต และราคาขาย เนื่องจากชิปโมเด็ม 5G ที่ใช้ร่วมกับ Snapdragon 865 จำเป็นต้องใช้เสารับสัญญาณเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้กินพื้นที่ฮาร์ดแวร์ภายในตัวเครื่องมากขึ้นตามไปด้วย ท้ายที่สุดแล้วทำให้สมาร์ทโฟนจำเป็นต้องมีตัวเครื่องที่ใหญ่ขึ้น, หน้าจอแสดงผลที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงปริมาณแบตเตอรี่ที่มากกว่าเดิม
แม้ว่าสมาร์ทโฟนเรือธง 5G จะมีราคาวางจำหน่ายที่อาจดูสูง แต่ในตอนนี้แบรนด์ผู้ผลิตก็เริ่มผลิตมือถือ 5G ราคาประหยัดให้เห็นบ้างแล้ว โดยหันไปใช้ิปเซ็ตรุ่นระดับกลางที่มีความสามารถรองรับ 5G ได้ อย่างเช่น Snapdragon 765 หรือ Dimensity 800 / 1000 แทน เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่ต้องการสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G รวมทั้งปี 2020 เป็นปีที่เริ่มเปลี่ยนถ่ายจากยุค 4G ไป 5G จึงอาจทำให้ราคาฮาร์ดแวร์ต่างๆ ยังคงสูงอยู่ ซึ่งหาก 5G เป็นที่แพร่หลายแล้ว ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า เราอาจได้กลับมาใช้สมาร์ทโฟนเรือธงราคาประหยัด หรือเห็นนักฆ่าเรือธงอีกครั้งบนตลาดสมาร์ทโฟนก็เป็นได้ครับ
ที่มา : XDA-Developers, ArsTechnica, Techinsights
วันที่ : 27/5/2563
