หน้าแรกมือถือ > รวมข่าวมือถือ > หน้าบทความ ข่าวมือถือ
   
Date : 25/4/2568

รู้จัก Doomscrolling ทำไมเราถึงเลื่อนฟีดไปเรื่อย ๆ ทั้งที่มันทำให้เรารู้สึกแย่?

 

ในยุคที่ข่าวสารไหลเร็วกว่า 5G และอัลกอริทึมรู้จักเราดีกว่าตัวเราเอง หลายคนอาจเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ “ขอเช็กโซเชียลแป๊บนึง” แต่พอรู้ตัวอีกทีเวลาก็ผ่านไปเป็นชั่วโมงแล้ว แถมเรายังหงุดหงิดจากข่าวแย่ ๆ และคอนเทนต์ที่เราไม่ชอบใจอีกต่างหาก แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น เราก็ละสายตาากหน้าจอไม่ได้สักที ถ้าเคยเป็นแบบนี้ นั่นแหละคืออาการของ Doomscrolling ครับ

 

Doomscrolling คืออะไร?

Doomscrolling (หรือบางทีก็เรียก Doomsurfing) เป็นคำที่เกิดขึ้นจากการผสมคำว่า doom ที่แปลว่า “หายนะ” กับคำว่า scrolling หรือ “การเลื่อนหน้าจอ” หมายถึงพฤติกรรมการเสพข่าวหรือเนื้อหาบนโซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์ต่างๆ แบบต่อเนื่อง โดยเฉพาะข่าวร้าย ข่าวเครียด ข่าวที่ทำให้รู้สึกหดหู่ หรือเนื้อหาทางลบ แต่ถึงจะรู้สึกไม่ดี ก็ยังเลื่อนไปเรื่อย ๆ อย่างหยุดไม่ได้

ที่น่าสนใจคือ Doomscrolling ไม่ใช่แค่อาการติดโซเชียล แต่เป็นรูปแบบหนึ่งของการเสพสื่อที่สะท้อนสภาพจิตใจและสังคมในยุคปัจจุบัน

 

ทำไมเราถึงมีพฤติกรรม Doomscrolling?

1. สมองมนุษย์มีแนวโน้ม "อยากรู้" เรื่องแย่มากกว่าเรื่องดี

อาจจะฟังดูแปลก เพราะไม่ว่าใคร ๆ ก็ชอบอะไรดี ๆ กันทั้งนั้น แต่การศึกษาหลายชิ้นในด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมชี้ว่า สมองเราถูกตั้งโปรแกรมให้จับสัญญาณของภัยคุกคามได้ไวเพื่อความอยู่รอดในยุคดึกดำบรรพ์ การรู้ว่า เพราะในยุคนั้น การรู้ว่า "มีเสืออยู่หลังพุ่มไม้" สำคัญกว่าการรู้ว่า "วันนี้อากาศดี" แม้เราจะหลุดจากยุคนั้นมาไกลมากแล้ว แต่สมองของเราก็ยังคงติดพฤติกรรมนี้มาด้วย ดังนั้น สำหรับมนุษย์อย่างเรา ๆ แล้ว ข่าวร้ายจึงกระตุ้นความสนใจได้มากกว่าข่าวดี และยังกระตุ้นให้เรารู้สึก "ยังมีอะไรแย่ ๆ อีกไหมที่เรายังไม่รู้" จนทำให้ติดการเสพข่าวในเชิงลบไปโดยไม่รู้ตัว

2. ความเครียดทำให้เรายิ่งติดเนื้อหาลบ

ฟังดูย้อนแย้ง แต่เป็นเรื่องจริง เพราะเมื่อเราเครียดหรือรู้สึกไม่มีอำนาจควบคุมสิ่งต่าง ๆ เรามักเสพข้อมูลเพิ่มเพื่อหาความรู้สึก "ควบคุมได้" หรือ "เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น" แต่ยิ่งเสพ ก็ยิ่งเจอข่าวร้าย และยิ่งทำให้จิตใจห่อเหี่ยวลงไปกว่าเดิม กลายเป็นการวนลูปแบบไม่จบสิ้น

3. อัลกอริทึมก็มีส่วน

แพลตฟอร์มโซเชียลอย่าง Facebook, X (Twitter), TikTok หรือ YouTube ต่างออกแบบให้เรา "อยู่กับมันให้นานที่สุด" และยิ่งถ้าเราชอบคลิกดูข่าวเครียด, ดูคลิปดราม่า หรือแชร์เรื่องหนัก ๆ ระบบจะเข้าใจว่า "เราสนใจคอนเทนต์แบบนี้" แล้วจัดเนื้อหาแนวเดียวกันมาให้เรื่อย ๆ แบบไม่มีที่สิ้นสุด

4. กลัวตกข่าว

ในยุคที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว การ “กลัวตกกระแส” หรือที่เรียกว่า FOMO (Fear of Missing Out) คือแรงกระตุ้นสำคัญในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวด่วน, ข่าวช็อกโลก หรือเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ที่กำลังเป็นประเด้นในสังคม หลายคนจะรู้สึกว่าต้องตามให้ทัน ไม่งั้นจะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ยิ่งส่งเสริมให้เราตกอยู่ในวังวน Doomscrolling ได้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีก
 

ผลกระทบของ Doomscrolling

แม้จะดูเหมือนเป็นแค่พฤติกรรมเล็ก ๆ แต่ผลกระทบระยะยาวของ Doomscrolling นั้นหนักกว่าที่คิด โดยเฉพาะในด้านจิตใจและพฤติกรรมประจำวันของเรา ซึ่งก็คือ:

1. รู้สึกวิตกกังวลมากขึ้น
การเจอข้อมูลเชิงลบซ้ำ ๆ ทำให้เกิดภาวะวิตกกังวลโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะถ้าเจอข่าวซ้ำในหลายช่องทาง สมองจะยิ่งจดจำ และทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งนั้น น่ากลัว หรือเป็นเรื่องใหญ่กว่าความเป็นจริงได้

2. นอนไม่หลับ
เชื่อว่าหลาย ๆ คนมักจะเลื่อนฟีดก่อนนอนกันเป็นประจำ และถ้าเจอคอนเทนต์แย่ ๆ หรือประเด็นที่ทำให้คิดมาก ก็อาจส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพการนอน ยังไม่รวมแสงสีฟ้าจากหน้าจอที่ทำให้วงจรการนอนหลับของเราผิดเพี้ยนไปอีกด้วย

3. รู้สึกสิ้นหวัง
เมื่อเห็นปัญหาที่ดูใหญ่เกินตัวซ้ำ ๆ โดยไม่มีทางออก เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ, สงคราม, การเมือง ฯลฯ เราอาจเริ่มรู้สึกว่าปัญหาเหล่านี้มันน่าสิ้นหวัง ทำอะไรไปก็คงไม่มีทางดีขึ้น หากเราอินกับมันมากก็อาจทำให้เราหมดไฟในการใช้ชีวิตไปได้เลยทีเดียว

4. มองโลกในแง่ลบมากขึ้น
ด้วยวังวนพลังงานลบของ Doomscrolling อาจทำให้เรามองโลกในแง่ลบมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์, หน้าที่การงาน และสุขภาพจิตโดยรวม
 

จะหลุดจากวังวน Doomscrolling ได้อย่างไร?

หากสังเกตตัวเองแล้วว่าเริ่มมีพฤติกรรม Doomscrolling หรืออยากป้องกันตัวเองเอาไว้ก่อน แนะนำให้ลองใช้เทคนิคพวกนี้ดูครับ:

1. จำกัดเวลาเสพข่าว/โซเชียล

ตั้งเวลาให้ตัวเอง เช่น ไม่เสพข่าว/โซเชียลเกิน 15 นาทีตอนเช้า และจะไม่เล่นมือถือเลยหลัง 3 ทุ่ม ซึ่งเราจะต้องมีวินัยต่อตัวเองด้วยถ้าต้องการเลิก Doomscrolling อย่างจริงจัง

2. ตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า “ได้อะไรจากการดูสิ่งนี้ต่อ?”

ถ้าคำตอบคือ “ไม่รู้” ก็แปลว่าควรหยุดได้แล้ว เก็บมือถือแล้วลุกไปทำอย่างอื่นดีกว่า

3. ติดตามแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ และคัดกรองเนื้อหา

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียจะคัดคอนเทนต์ที่มัน “คิดว่าเราชอบ” มาให้ เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้อัลกอริทึมเลือกให้เรา เราต้องเลือกเสพเนื้อหาที่มีคุณภาพและหลากหลายด้วยตัวเองครับ

4. สร้างสมดุลด้วยคอนเทนต์เชิงบวก

เสพข่าวดีบ้าง ดูอะไรเบาสมอง คลิปสัตว์น่ารัก อย่างลูกหมาลูกแมว หมูเด้ง หรือเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจ เป็นต้น

5. ทำกิจกรรมออฟไลน์บ้าง

อย่าอยู่กับหน้าจอมากเกินไป ควรออกไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ในโลกความจริงบ้าง เช่น เดินเล่น, อ่านหนังสือ หรืองานอดิเรก (ที่ไม่ใช่การเล่นมือถือ) จะช่วยให้เราหลุดจากโลกดิจิทัลและกลับมาอยู่กับปัจจุบันได้
 

Doomscrolling ไม่ใช่เรื่องผิด แต่รู้เท่าทันไว้ดีกว่า

พฤติกรรม Doomscrolling คือผลลัพธ์จากทั้งธรรมชาติของมนุษย์และโครงสร้างของแพลตฟอร์มดิจิทัลในยุคนี้ สิ่งสำคัญไม่ใช่การ “เลิกใช้โซเชียล” ไปเลย แต่คือการรู้เท่าทัน และตั้งขอบเขตให้กับสิ่งที่เสพในแต่ละวัน

บางครั้ง แค่เราเลิกไถฟีด แล้วหลับตาลงสักครู่ ก็อาจช่วยให้ใจเราสงบขึ้นแบบที่ไม่ต้องรู้อะไรเพิ่มเลยก็ได้ครับ

 

นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com


วันที่ : 25/4/2568

Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy