หน้าแรกมือถือ > รวมข่าวมือถือ > หน้าบทความ ข่าวมือถือ
   
Date : 25/3/2564

LG จากแบรนด์มือถือที่เคยนำเทรนด์ Android จนวันนี้อาจต้องยุบกิจการมือถือ

 

 

"LG Electronics อาจตัดสินใจปิดตัวธุรกิจมือถือ (LG Electronics May Close Down Mobile Phone Business)"

 

พาดหัวข่าวใหญ่จากสื่อต่างประเทศ Bloomberg ที่ได้รายงานเรื่องราวล่าสุดเกี่ยวกับ LG โดยอ้างอิงข้อมูลจากสื่อในประเทศเกาหลีใต้อย่าง DongA ที่ได้รับข้อมูลมาจากแหล่งข่าววงในอีกทอด ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงกระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่เคยมีข่าวลืออย่างหนาหูว่า LG เตรียมวางมือจากอุตสาหกรรมมือถือภายในปี 2022 หลังยอดขายตกต่ำอย่างหนัก แต่เพราะเหตุใด LG ถึงกลายเป็นแบรนด์ที่อาจต้องจำใจโบกมือลา ? ไปหาคำตอบกันดีกว่าครับ

 

"Bootloop" จุดเริ่มต้นฝันร้ายของ LG

LG G Pro 2

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 LG ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในธุรกิจมือถือ เพราะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2013 ถึง 6% คิดเป็นเม็ดเงินรวมกว่า 3.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แถมยังทำยอดขายสมาร์ทโฟน 4G ไปได้ถึง 5 ล้านเครื่องในช่วงไตรมาสแรกของปี 2014 เรียกได้ว่าเป็นสถิติใหม่ของบริษัทเลยทีเดียว ซึ่งสองตัวแปรสำคัญที่ทำให้ LG ทำยอดขายได้มากถึงขนาดนี้ก็เป็นเพราะ LG G Pro 2 มือถือจอใหญ่สไตล์ Phablet ที่กำลังไปได้สวยในตลาดประเทศบ้านเกิดอย่างเกาหลีใต้ รวมถึงกลยุทธ์ด้านการทำตลาดที่ใช้เงินน้อยแต่หวังผลได้

LG ดูจะไปได้สวยในธุรกิจสมาร์ทโฟน แต่ 4 ปีให้หลังมีรายงานยอดขายประจำปี 2018 ถูกเปิดเผยออกมาให้ทราบว่า ยอดขายของบริษัทลดลงถึง 26% เมื่อเทียบแบบปีต่อปี และยังเป็นยอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ซึ่งประเด็นนี้ส่งผลกระทบต่อความกังวลของนักลงทุนเป็นอย่างมาก

 

ตัวอย่างคลิปที่แสดงให้ถึงอาการ Bootloop ของ LG G4

จุดเริ่มต้นของสาเหตุที่ทำให้ยอดขายมือถือ LG ลดลงอย่างต่อเนื่อง น่าจะเกิดมาจากปัญหาใหญ่ของมือถือเรือธงประจำปี 2015 อย่าง LG G4 ที่แม้ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนที่มีคุณสมบัติน่าสนใจรอบด้าน ทั้ง ตัวเครื่องที่มีความโค้งแบบ Slim Arc เพื่อช่วยให้จับได้ถนัดมือ, หน้าจอ Quantum LCD ที่ช่วยให้แสดงผลได้ดีขึ้นคล้ายกับเทคโนโลยี Triluminos ของ Sony ไปจนถึงดีไซน์ฝาหลังที่มีความพรีเมียมด้วยฝาหลังแบบหนังแท้ แต่หนึ่งในสิ่งที่ LG G4 พกติดตัวมาด้วยนั่นก็คือ "Bootloop" ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากส่วนประกอบด้านฮาร์ดแวร์ของสมาร์ทโฟนที่ประกอบติดกันไม่สนิท ส่งผลให้ตัวเครื่องเกิดอาการ “บูทวน” ไม่สามารถเข้าใช้งานได้ แม้ว่าจะพยายามรีสตาร์ทกี่รอบ ก็จะค้างอยู่แค่หน้าโลโก LG เท่านั้น

 

ปัญหา Boot Loop บน LG G4 ไม่ได้เกิดขึ้นแค่มือถือแค่บางเครื่อง แต่มีรายงานจากหลาย ๆ ประเทศที่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า LG G4 ของพวกเขาก็มีปัญหานี้เช่นเดียวกัน ซึ่งหลังจากที่ LG รับทราบเนื่องราวดังกล่าว ก็เสนอบริการซ่อมแซมเครื่องที่มีปัญหาให้แบบฟรี ๆ เครื่องที่ยังไม่แสดงอาการ ก็สามารถเข้ารับบริการจากศูนย LG ใกล้บ้าน เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน 

เรื่องราวทุกอย่างดูจะคลี่คลายไปได้ด้วยดี แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมีรายงานจากผู้ใช้บางส่วนว่า แม้จะเปลี่ยนเครื่องใหม่เป็นเครื่องที่สามแล้ว ก็ยังเจอปัญหา Bootloop ซ้ำซาก อีกทั้ง LG ก็ปฏิเสธการแก้ไขให้กับ LG G4 ที่หมดประกันไปแล้วด้วย ทำให้ผู้ใช้ในสหรัฐฯ รวมตัวฟ้องร้องแบบกลุ่ม (Class Action) ต่อศาลแคลิฟอร์เนีย เพื่อให้ LG ออกมารับผิดชอบต่อปัญหาดังกล่าว 

จากปัญหาของ LG G4 ทำให้มีกระแสข่าวออกมาว่า ยอดขายของมือถือรุ่นนี้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2015 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ทางบริษัทคาดหวังเอาไว้ ส่งผลให้ LG ต้องเร่งแผนพัฒนาสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ทันที เพื่อกระตุ้นยอดขายของธุรกิจฝั่งมือถือ (ในปีเดียวกัน LG เปิดตัว LG V10 ช่วงปลายปี ซึ่งก็มีผู้ใช้บางส่วนพบว่า ยังคงพบปัญหา Bootloop เช่นกัน)

 

พลิกแนวคิดกับดีไซน์ใหม่

ในปี 2016 LG ลองแก้มือใหม่ ด้วยการส่ง LG G5 สมาร์ทโฟนที่พลิกดีไซน์การออกแบบในยุคนั้น ด้วยการมาพร้อมกับตัวเครื่องสไตล์ Modular ที่เราสามารถถอดส่วนที่เป็นชิ้นส่วนแบตเตอรี่ที่ด้านล่างของตัวเครื่อง เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับโมดูลอื่น ๆ ได้ เช่น Hi-Fi Plus โมดูล DAC สำหรับช่วยขับเสียงคุณภาพสูง หรือ Cam Plus โมดูลที่เพิ่มปุ่มชัตเตอร์ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมการถ่ายภาพได้ราวกับกล้องใหญ่

 

แม้แนวคิดของ LG G5 ดูล้ำ และน่าสนใจพอสมควร แต่จากรีวิวของสื่อต่างประเทศเปิดเผยว่า LG G5 มีจุดที่ต้องพิจารณาในเรื่องของ ชิ้นส่วนด้านล่างตัวเครื่องที่ปิดไม่สนิทเป็นชิ้นเดียวกัน ซึ่งอาจส่งผลให้ฝุ่น หรือน้ำเข้าตัวเครื่องได้ง่าย รวมทั้ง LG G5 ยังเปิดราคาวางจำหน่ายมาค่อนข้างสูงเทียบชั้นกับคู่แข่งในยุคนั้นอย่าง Galaxy S7 แต่ในเรื่องของสเปกกลับไม่สูงตามไปด้วย เพราะยังคงเลือกใช้จอ IPS ในขณะที่คู่แข่งรายอื่นปรับไปใช้หน้าจอ AMOLED หรือ Super AMOLED ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่กว่า 

นอกจากนี้ LG G5 ยังเจอปัญหาล็อตใหญ่ เพราะผู้ใช้งานจาก Reddit กล่าวว่า พวกเขาได้เจอปัญหา ปุ่มปิด-ปิด เสีย, ลำโพงแตก, Bootloop, โมดูล Cam Plus ใช้งานไม่ได้, GPS อ่อน ไปจนถึงแบตเตอรี่ที่หมดเร็วจนเกินไป เพราะใช้งานได้แค่ “เกือบ 3 ชั่วโมงเท่านั้น” 

ในช่วงกลางปี 2016 ทาง LG ก็ได้ออกมาประกาศผลประกอบการให้ทราบ ซึ่งก็เป็นไปตามคาดว่า LG G5 ทำยอดขายไม่ได้ตามเป้าหมายที่หวังไว้ โดยสาเหตุจากที่หลายฝ่ายวิเคราะห์กัน น่าจะเป็นผลมาจาก ปัญหา Bootloop ที่หลายฝ่ายยังคงกังวลอยู่, สเปกที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากรุ่นที่แล้วมากนัก ไปจนถึงดีไซน์ตัวเครื่อง


LG G6 กับโปรแถมทีวีสุดฮือฮา

ต่อมาในปี 2017 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่อีกครั้ง เพราะ LG เลิกใช้ดีไซน์มือถือที่ถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนด้านล่างได้ แต่นำเทรนด์ดีไซน์มือถือยุคใหม่ในปัจจุบันด้วย LG G6 มือถือเรือธงที่มาพร้อมกับหน้าจอไร้ขอบแบบ FullVision Display ที่สามารถแสดงผลตามอัตราส่วนแบบ 18:9 พร้อมเทคโนโลยี Dolby Vision แบบเดียวกันกับที่ใช้บนโทรทัศน์ รวมถึงกล้องหลังคู่  และบอดี้กันน้ำกันฝุ่น เรียกได้ว่าการกลับมาในครั้งนี้ จุดประกายความหวังของ LG ได้ดีทีเดียว

LG G6 มีการนำเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทยด้วย โดยเปิดราคาวางจำหน่ายที่ 24,990 บาท พร้อมโปรแรงด้วยการแถมโทรทัศน์ LED TV ขนาด 43 นิ้ว รุ่น 43LJ500T ราคากว่า 13,900 บาท ให้แบบฟรี ๆ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา เราก็ไม่ได้เห็นมือถือเรือธงของ LG เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยแบบจริงจังอีกเลย

 

หลังจากปี 2017 LG ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์มือถือใหม่ ด้วยการออกเรือธงที่มีชื่อ ThinQ ต่อท้ายเหมือนกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะของ LG ด้วยการออก LG G7 ThinQ เรือธงสเปกแรงรุ่นล่าสุดที่มาพร้อมกับจุดเด่นด้านหน้าจอแสดงผล และระบบเสียง แต่สิ่งที่ LG G7 ThinQ ขาดเสน่ห์ไปก็คือ ดีไซน์ เพราะมาพร้อมกับจอรอยบากที่ดูคล้ายกับ iPhone X รวมถึงมือถือ Android รุ่นอื่น ๆ ในยุคเดียวกันอย่าง HUAWE P20 หรือ OnePlus 6 อีกทั้งยังมีการปรับลดสเปกแบตเตอรี่ให้มีความจุน้อยลงกว่าเดิมด้วย

 

ถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจ

V60 ThinQ

แม้ว่าในช่วงหลัง LG จะลองปรับกลยุทธ์ใหม่ด้วยการปรับดีไซน์ของมือถือตระกูล V Series อย่าง LG V50 ThinQ และ V60 ThinQ ด้วยความสามารถด้านการเชื่อมต่อเข้ากับจอที่แสดงผลที่สอง ทำให้สามารถใช้พื้นที่หน้าจอได้มากขึ้นราวกับมือถือจอพับได้ รวมถึง LG Velvet สมาร์ทโฟนระดับรองท็อปที่เน้นเจาะกลุ่มตลาดสมาร์ทโฟนระดับกลางโดยเฉพาะ แต่ด้วยสเปกของ LG ที่ไม่ค่อยแตกต่างจากเรือธงรุ่นอื่น ๆ บนท้องตลาดมากนัก รวมถึงราคาวางจำหน่ายที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับมือถือแบรนด์จีนที่ทำราคาได้ดีกว่า ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับโลก หรือแม้แต่ประเทศบ้านเกิด เริ่มลดน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งในปัจจุบัน LG เป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนระดับที่ 9 ของโลก ทำยอดขายลดลงจากปี 2020 อยู่ที่ 24.7 ล้านเครื่อง และครองส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 2% เท่านั้น

 

Kwon Bong-seok 

ในช่วงเดือนมกราคม ปี 2021 มีรายงานจาก The Elec สื่อจากประเทศเกาหลีใต้ ที่เปิดเผยว่า Kwon Bong-seok ซีอีโอของ LG ได้ยื่นจดหมายภายในถึงพนักงานในบริษัท ที่มีใจความสำคัญว่า "มันถึงเวลาแล้ว" (it's about time) ที่บริษัทจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทิศทางของธุรกิจสมาร์ทโฟนใหม่ เนื่องจากสถานการณ์ของคู่แข่งบนตลาดระดับโลกที่ดุเดือด ส่งผลให้ LG จำเป็นต้องตัดสินใจ และมองหาทางออกที่ดีที่สุด โดยทางออกเหล่านี้มีทั้งขายกิจการ, ถอนตัว ไปจนถึงลดขนาดของแผนกมือถือ

หลังจากข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมาไป ก็มีรายงานออกมาทันทีว่า LG กำลังเจรจากับ Vingroup บริษัทจากเวียดนาม เพื่อทำการขายธุรกิจสมาร์ทโฟน แต่ดีลดังกล่าวดูเหมือนจะไปไม่ได้สวยเท่าไหร่นัก เพราะล่าสุดมีข่าวออกมาอีกรอบว่า LG อาจจำเป็นต้องตัดสินใจปิดแผนกมือถือตามทางออกที่ Kwon Bong-seok บอกไว้ตั้งแต่ต้น โดยรายงานจาก The Koreal Herald สื่อจากเกาหลีใต้ ระบุว่า LG ได้เจรจรากับบริษัทอื่น ๆ นอกจาก Vingroup ด้วย แต่ดีลไม่คืบหน้าแต่อย่างใด ซึ่งหนึ่งในบริษัทที่ LG เจรจาด้วยนั่นก็คือแบรนด์รถยนต์อย่าง Volkswagen ดังนั้น จึงอาจส่งผลให้ LG ต้องเลือกปิดกิจการสมาร์ทโฟน พร้อมกับย้ายพนักงานไปอยู่ฝ่ายอื่นแทน

 

การตัดสินใจครั้งนี้ของ LG อาจเป็นเรื่องที่ถูกต้องก็เป็นได้ เพราะ LG ไม่ได้ผลิตแค่สมาร์ทโฟนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ที่ทำยอดขายได้มากกว่าธุรกิจสมาร์ทโฟน แต่หากมือถือ LG หายไปจากท้องตลาดจริงก็น่าใจหายไม่แพ้กัน เพราะหากว่ากันตามจริงแล้ว LG ถือเป็นแบรนด์ที่อยู่คู่วงการมือถือมาอย่างยาวนาน และก็มีมือถือหลายรุ่นที่ยังคงอยู่ในความทรงจำใครหลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็น มือถือฝาพับสุดชิคอย่าง LG Lollipop ที่มีไฟแจ้งเตือน LED อยู่ด้านนอกฝาพับ หรือจะเป็น  LG Chocolate มือถือที่มีดีไซน์สุดโดเด่นด้วยตัวเครื่องที่มีลักษณะคล้ายกับแท่งช่องโกแลต  มิหนำซ้ำในยุคที่เปลี่ยนถ่ายสมาร์ทโฟน ทาง LG ก็ยังขึ้นเป็นผู้นำเทรนด์ของโลก Android หลายอย่าง ทั้งการริเริ่มนำดีไซน์หน้าจอแบบ 18:9 หรือจอแบบไร้ขอบมาใช้งานเป็นแบรนด์แรก ๆ กับรุ่น LG G6 รวมถึงการนำกล้องเลนส์มุมกว้างพิเศษมาใช้งานตั้งแต่ปี 2016 ก่อนที่หลายแบรนด์จะเริ่มขยับตาม ซึ่งหลังจากนี้ เราก็คงต้องติดตาม และเอาใจช่วย LG กันต่อไปครับ

 

ข้อมูลอ้างอิง : PhoneArena (1), (2), Android Authority, 9to5Google, BusinessKorea, GSMArena, Bloogberg, Business Insider, LGNewsRoom, Android Police, Korea Herald, ARStechnica (1), (2)


วันที่ : 25/3/2564

Tags :
  

Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy