หน้าแรกมือถือ > รวมข่าวมือถือ > หน้าบทความ ข่าวมือถือ
Thailand Web Stat
   
Date : 17/6/2564

RAM มือถือแบบ LPDDR4x กับ LPDDR5 คืออะไร ต่างกันอย่างไร ? และควรเลือกซื้อมือถือที่มี RAM เท่าไหร่ ?

 

นอกจากชิปเซ็ตประมวลผล หน้าจอแสดงผล หน่วยความจำภายใน แบตเตอรี่ และกล้องถ่ายภาพแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของสมาร์ทโฟนนั่นก็คือ หน่วยความจำแรม (RAM) ซึ่งในวันนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับเทคโนโลยีหนึ่งที่ถือเป็นส่วนสำคัญของสมาร์ทโฟน และจะขาดไปไม่ได้โดยเด็ดขาด โดย RAM มือถือคืออะไร มีกี่ประเภท และควรมี RAM เท่าไรถึงจะพอ ? ไปหาคำตอบกันเลยครับ

 

หน่วยความจำแรม (RAM) คืออะไร?


แรม หรือหน่วยความจำเข้าถึงแบบสุ่ม (Random Access Memory) มีหน้าที่ อ่าน/เขียน ข้อมูล หรือพักข้อมูลไว้ก่อนส่งต่อให้กับหน่วยประมวลผล ซึ่งเมื่อผู้ใช้ออกจากโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันใด ๆ RAM ก็จะพักข้อมูลส่วนนั้นไว้ก่อน จากนั้นเมื่อผู้ใช้เข้าใช้งานแอปพลิเคชันนั้น ๆ อีกครั้ง RAM ก็จะดึงข้อมูลล่าสุดส่งให้หน่วยประมวลผลช่วยให้การเข้าใช้งานดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง และรวดเร็วกว่าเดิม

หากยังมองไม่เห็นภาพ ลองนึกภาพถึงโต๊ะทำงานตัวหนึ่งที่มีพนักงานนั่งทำงานอยู่ โดย RAM ก็คือพื้นที่หน้าโต๊ะสำหรับวางเอกสาร ส่วนลิ้นชักคือ ROM สำหรับเก็บเอกสารต่าง ๆ ที่เราต้องการ ซึ่งเมื่อมีคนมาสั่งให้เราหาเอกสารชุดหนึ่ง (สมมติว่าเป็นแอปฯ Facebook) พนักงานคนดังกล่าวก็จะไปค้นแอปฯ Facebook ในลิ้นชักมาวางบนหน้าโต๊ะ เพื่อให้ผู้ใช้หยิบข้อมูลที่ต้องการไปใช้ได้อย่างสะดวก ซึ่งหากเรามีแต่ลิ้นชักเก็บของ การเรียกใช้แอปฯ Facebook แต่ละครั้งก็ต้องเสียเวลาไปควานหาตัวแอปฯ ในลิ้นชักทุกครั้ง ซึ่งนับว่าเป็นกระบวนการที่เสียเวลาพอสมควร 

โดยหน่วยความจำแรม (RAM) ที่ใช้งานบนสมาร์ทโฟนจะเป็นแบบ LPDDR (Low Power Double Data Rate) ซึ่งจุดเด่นของ RAM แบบ LP ก็คือการประหยัดพลังงาน ซึ่งเหมาะกับการใช้งานบนสมาร์ทโฟนที่มีพลังงานแบตเตอรี่จำกัด ซึ่งเทคโนโลยี LP นี้เพิ่งถูกพัฒนามาเพิ่มเติม เพื่อปรับใช้กับ RAM สำหรับสมาร์ทโฟนเท่านั้น

 

ประเภทของ LPDDR RAM บนสมาร์ทโฟน

สำหรับหน่วยความจำแรมแบบ LPDDR ที่ใช้งานกันบนสมาร์ทโฟนตั้งแต่ยุคแรก จนถึงยุคปัจจุบัน มีประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนี้

LPDDR1 - ความเร็วบัส 200 MHz, อัตราการส่งข้อมูล 400 MT/s และอัตราการใช้พลังงาน 1.8 V
LPDDR2 - ความเร็วบัส 400 MHz, อัตราการส่งข้อมูล 800 MT/s และอัตราการใช้พลังงาน 1.2 V
LPDDR3 - ความเร็วบัส 800 MHz, อัตราการส่งข้อมูล 1600 MT/s และอัตราการใช้พลังงาน 1.2 V
LPDDR4 - ความเร็วบัส 1600 MHz, อัตราการส่งข้อมูล 3200 MT/s และอัตราการใช้พลังงาน 1.1 V
LPDDR4x - ความเร็วบัส 2133 MHz, อัตราการส่งข้อมูล 4267 MT/s และอัตราการใช้พลังงานสูงสุด 1.8 V
LPDDR5 - ความเร็วบัส 3200 MHz, อัตราการส่งข้อมูล 6400 MT/s และอัตราการใช้พลังงานสูงสุด 1.8 V



ส่วนหน่วยความจำแบบ LPDDR RAM ที่ใช้งานบนสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะประกอบไปด้วย RAM สองประเภทหลัก คือ LPDDR4x และ LPDDR5 ซึ่งความแตกต่างของหน่วยความจำแรมทั้งสองแบบนี้เราจะอธิบายในหัวข้อถัดไปครับ

 

LPDDR4x กับ LPDDR5 ต่างกันอย่างไร?


สำหรับหน่วยความจำ RAM แบบ LPDDR4x ในปัจจุบันถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้น, ระดับกลาง หรือแม้แต่มือถือตัวท็อปบางรุ่นก็ยังคงใช้ RAM ประเภทนี้อยู่เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งหยิบยกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในช่วงปี 2017 และมีอัตราการรับส่งข้อมูลที่รวดเร็ว ส่วน RAM แบบ LPDDR5 มีการเปิดตัวเมื่อปี 2019 จึงทำให้มือถือที่ใช้ RAM ประเภทนี้ส่วนมากจะเป็นสมาร์ทโฟนระดับรองท็อป ไปจนถึงสมาร์ทโฟนระดับเรือธงนั่นเอง
สำหรับความแตกต่างของ LPDDR4x และ LPDDR5 อยู่ที่ปัจจัยด้านความเร็วในการประมวลผล, อัตราการส่งข้อมูล และอัตราการใช้พลังงาน ซึ่ง LPDDR5 สามารถทำงานได้ดีกว่าในทุก ๆ ด้าน ทั้งยังประหยัดพลังงานมากกว่าด้วย หากยกตัวอย่างเปรียบเทียบง่าย ๆ เช่น สมาร์ทโฟนที่ใช้งาน RAM ขนาด 8GB แบบ LPDDR4x สามารถเปิดแท็บเว็บไซต์ได้ประมาณ 30 หน้า จากนั้นเครื่องจะมีอาการหน่วงช้า หรือเมื่อกลับไปเปิดแท็บเดิม หน้าเว็บนั้นจะถูกโหลดใหม่อีกครั้ง แต่สมาร์ทโฟน RAM 8GB แบบ LPDDR5 สามารถเปิดแท็บเว็บไซต์ได้ถึง 50 หน้า โดยไม่มีอาการค้าง หรือหน่วงช้า และหน้าเว็บเดิมก็ไม่ต้องโหลดใหม่ด้วย เป็นต้น แต่สำหรับ RAM แบบ LPDDR5 ที่ยังใช้งานกันไม่ค่อยแพร่หลายเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูง และยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ แบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนหลาย ๆ แบรนด์จึงจำเป็นต้องใช้งาน RAM แบบ LPDDR4x ไปก่อน

 

RAM เท่าไหร่ถึงจะพอ ? 

จากการค้นคว้าของ Gary Sims จาก Android Authority ที่ได้สร้างแอพลิเคชันเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบปริมาณ RAM ที่แอปพลิเคชันต่าง ๆ ใช้ก็พบว่า RAM ขนาด 8GB ก็เพียงพอต่อการเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน 10 แอปฯ และสลับไปมาโดยไม่ต้องเริ่มใหม่ แต่ต้องไม่ลืมว่า แอปพลิเคชัน และระบบปฏิบัติการ Android ก็อาจมีอัตราการบริโภค RAM มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นแม้ว่าในตอนนี้ RAM 8GB อาจเพียงพอต่อใช้งานในระดับสูง เช่น การเปิดใช้งานหลายแอปพลิเคชันพร้อมกัน, การเล่นเกมกราฟิกสูงที่กินพื้นที่ RAM เยอะ หรือการใช้แอปพลิเคชันตัดต่อคลิปวิดีโอความละเอียดสูง เป็นต้น แต่ในอนาคตอันใกล้ก็อาจต้องขยับไปใช้งาน RAM 12GB เป็นพื้นฐานก็เป็นได้ หลังสมาร์ทโฟนเรือธงหลาย ๆ รุ่นเริ่มปรับไปใช้ RAM LPDDR5 ขนาด 12GB เป็นพื้นฐานแล้ว

ในส่วนของมือถือที่มี RAM ขนาด 3GB - 4GB ก็ถือว่ายังคงเพียงพอต่อการใช้งานทั่วไปในปัจจุบันเช่นเดียวกัน เนื่องจากระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชันใหม่ ๆ มีอัตราการบริโภค RAM ที่น้อยลง พร้อมระบบจัดสรร RAM ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากที่ Gary Sims ได้ทำการทดสอบ และค้นคว้าก็พบว่า Google Pixel 3 XL ที่แม้จะมี RAM ที่สามารถใช้ได้จริงราว ๆ 3GB แต่สามารถเปิดแอปพลิเคชันทั่วไปได้ประมาณ 8 แอปฯ โดยที่ไม่มีแอปฯ ใดถูกปิดตัวลง

เป็นอย่างไรบ้างครับกับข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยความจำแรม (RAM) ทั้งแบบ LPDDR4x และ LPDDR5 ที่ถือเป็น RAM 2 ประเภทหลักที่ใช้งานอยู่ในตลาดสมาร์ทโฟน ณ ปัจจุบัน ซึ่งถ้าหากพิจารณาจากข้อมูลแล้วก็แน่นอนว่า RAM แบบ LPDDR5 มีความเร็วแรงในการเขียน/อ่านข้อมูล และประหยัดพลังงานมากกว่าค่อนข้างเยอะทีเดียว และสำหรับท่านใดที่จะเลือกซื้อสมาร์ทโฟนในอนาคตก็อย่าพิจารณาแต่ความจุเพียงอย่างเดียว แต่ควรดูประเภทของ RAM ประกอบด้วยนะครับ

 

 


วันที่ : 17/6/2564

Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy