แกะดูไส้ใน Samsung Galaxy S20 Ultra ซ่อมเองได้หรือไม่? มีอะไรซ่อนอยู่ข้างในบ้าง?
iFixit มักจะออกมาทำคลิปทดสอบการแกะสมาร์ทโฟนเพื่อตรวจสอบชิ้นส่วนภายใน พร้อมให้คะแนนความยากง่ายในการซ่อมให้เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งล่าสุดก็ได้ทำคลิปทดสอบการแกะมือถือรุ่นท็อปในปีนี้อย่าง Samsung Galaxy S20 Ultra ให้ได้เห็นกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไปดูกันดีกว่าว่าภายใต้ตัวเครื่อง Galaxy S20 Ultra จะมีส่วนประกอบใดบ้าง การจะแกะเครื่องต้องทำอย่างไร และสมาร์ทโฟนเครื่องนี้จะซ่อมยากขนาดไหน? ไปดูกันเลยครับ
สำหรับการแกะเครื่อง Galaxy S20 Ultra ก็เหมือนกับมือถือ Samsung รุ่นใหม่ทั่วๆ ไป โดยเราจะต้องใช้เครื่องเป่าลมร้อนเพื่อละลายกาว และนำตัวดูดสูญญากาศเพื่อดึงฝาหลัง พร้อมกับใช้แผ่นเซาะขอบด้านข้าง ซึ่งทาง iFixit พบว่า กาวของรุ่นนี้มีความเหนียวกว่ามือถือ Samsung รุ่นอื่นๆ ซึ่งทำให้เราอาจทำให้เราต้องใช้เครื่องเป่าลมร้อนนานกว่าปกติ และอาจต้องใช้แรงดึงฝาหลังมากกว่าเดิมกันสักเล็กน้อยครับ
เมื่อแกะฝาหลังออกมา เราจะพบกับโมดูลกล้องขนาดใหญ่ที่มีความนูน (Camera Bump) ออกจากตัวเครื่องค่อนข้างมาก ถัดลงมาเป็นโมดูลสำหรับการชาร์จแบตเตอรี่แบบไร้สาย (Charge Coil) ที่ปกปิดแผงเมนบอร์ดเอาไว้ โดยการเปิดเข้าไปดูแผงเมนบอร์ดนั้น เราต้องใช้ไขควงแกะแผ่น Charge Coil รวมถึงเสารับสัญญาณ/ลำโพง ก็จะพบกับฮาร์ดแวร์ภายในทั้งหมดของ Galaxy S20 Ultra ซึ่ง iFixit ระบุว่า มีการจัดวางโมดูลต่างๆ เหมือนกับ Note10+ 5G ทุกประการ เพียงแค่ไม่มีปากกา S Pen เท่านั้น
เปรียบเทียบขนาดเซ็นเซอร์กล้องตัวหลัก
บน : Samsung Galaxy S20 Ultra | ล่าง iPhone 11 Pro
มาดูที่โมดูลกล้องความละเอียด 108 ล้านพิกเซลที่ Samsung นำมาใช้เป็นครั้งแรกกับสมาร์ทโฟนรุ่นนี้กันบ้าง iFixit เปิดเผยว่า ตัวเซ็นเซอร์มีพื้นที่มากกว่าเซ็นเซอร์ 12 ล้านพิกเซลของ iPhone 11 Pro ถึง 2 เท่า แต่ก็แลกมาด้วยขนาดพิกเซลที่เล็กลงตามไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อย แต่ทาง Samsung ก็แก้ปัญหานี้ด้วยการใส่เทคโนโลยี nona-binning ที่เป็นการรวมพิกเซล 9 พิกเซลเข้าด้วยกันเป็นพิกเซลเดียวแบบ 3x3
ต่อกันที่กล้องเลนส์ซูมแบบ Periscope ที่เป็นการวางกล้องในแนวยาว ทำให้มีพื้นที่สำหรับใส่เลนส์ซูมเข้าไปบนมือถือที่มีความบางเพียง 8.8 ได้อย่างลงตัว โดยกล้องตัวนี้ประกอบไปด้วยปริซึมเพื่อช่วยขยายกำลังในการซูมภาพ และยังมีระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบ OIS ในตัวอีกด้วย นอกจากนี้ กล้องตัวดังกล่าวยังรองรับการซูมภาพแบบไม่สูญเสียรายละเอียดถึง 4 เท่า และซูมได้ไกลถึง 100 เท่า
แกะดูข้างในกันต่อ สำหรับแผงเมนบอร์ดของ Galaxy S20 Ultra จะประกอบไปด้วยชินส่วนหลักๆ 7 ชิ้น ได้แก่
- RAM แบบ LPDDR5 ขนาด 12GB ที่วางอยู่เหนือชิปเซ็ต Snapdragon 865 (ถ้าในบ้านเราก็จะเป็น Exynos 990)
- หน่วยความจำแบบ UFS 3.0 ขนาด 128GB
- ชิปโมเด็ม Qualcomm SDX55M สำหรับต่อ 5G
- RF Front-End จากแบรนด์ Skyworks
- ชิป Qorvo QM78092 Front-End
- ชิป power management IC MAX77705C จากแบรนด์ Maxim
- ชิป 5G power amplification modules จากแบรนด์ Qualcomm ได้แก่ QPM5677 และ QPM6585
และเมื่อพลิกแผงเมนบอร์ดมาอีกฝั่งหนึ่ง ก็จะพบกับฮาร์ดแวร์รวมกันอีก 6 ตัว ได้แก่
- Qualcomm SDR865 RF Tranceiver
- ชิป Wi-Fi และบลูทูธจากแบรนด์ Murata
- ชิป IC Power Management PM8250 จาก Qualcomm
- ชิป IC Power Management PMX55 จาก Qualcomm
- ชิป IC Power Management PM8150C จาก Qualcomm
- ชิป Front-end QDM4870 จากแบรนด์ Qualcomm
ในส่วนของแบตเตอรี่ มีการทากาวเอาไว้ที่ด้านล่าง ต้องใช้ตัวดูดสูญญากาศสำหรับช่วยดึงออก หรือจะหยอด Isopropyl Alcohol เข้าไปสักหน่อย จะช่วยให้แกะแบตเตอรี่ได้ง่ายขึ้น
สำหรับแบตเตอรี่ของ Galaxy S20 Ultra ให้ความจุมาที่ 5000mAh แรงดัน 3.86V พร้อมค่าพลังงานต่อชั่วโมงที่ 19.30Wh ส่วนข้างๆ แบตเตอรี่ติดตั้งเสารับสัญญาณขนาดเล็กเอาไว้ด้วย
การถอดหน้าจอ ก็จำเป็นต้องใช้ตัวดูดสูญญากาศสำหรับช่วยดึงออก และค่อยๆ ใช้แผ่นแซะขอบด้านข้างออก โดยเมื่อแกะออกมาก็จะพบกับบอร์ดที่ประกอบไปด้วยโมดูล 2 ตัว ได้แก่ Qualcomm QBT2000 3D Sonic Sensor controller สำหรับควบคุมตัวสแกนลายนิ้วมือแบบ Ultra Sonic และ Samsung S6SY79AX 6877DW3 ส่วนโครงสร้างฮาร์ดแวร์ของตัวหน้าจอนั้น iFixit ระบุว่า ไม่ต่างจาก Galaxy Note10+ เท่าไหร่ แต่จะมีสายสีแดงที่ระบุว่าหน้าจอรุ่นนี้รองรับค่า Refresh Rate ระดับ 120Hz
และนี่คือทั้งหมดของชิ้นส่วน Galaxy S20 Ultra ที่ทาง iFixit สามารถแกะได้ แต่ในเรื่องของการซ่อมแซมแล้วทาง iFixit ให้คะแนนไป 3 เต็ม 10 โดยให้เหตุผลว่า การแกะชิ้นส่วนจะต้องแกะฝาหลังที่มีกาวค่อนข้างเยอะ แถมยังต้องระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้กับฝาหลังที่เป็นกระจก ส่วนแบตเตอรี่แม้ว่าจะแกะได้ก็จริง แต่การติดกาวกลับเข้าไปใหม่ก็ทำได้ยากกว่าที่เคย เพราะต้องจัดการสายต่างๆ ที่ต้องเชื่อมต่อกับตัวเมนบอร์ดด้วย อีกทั้งหากเกิดปัญหาเกี่ยวกับหน้าจอ ก็จำเป็นต้องรื้อสมาร์ทโฟนค่อนข้างเยอะ หรืออาจต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนเกือบครึ่งเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ดี iFixit ก็ให้คำชมว่า การไขถอดชิ้นส่วนต่างๆ สามารถใช้ไขควงเพียงแค่ตัวเดียวได้ รวมทั้งฮาร์ดแวร์ต่างๆ ส่วนมากจะเป็น Modular ทำให้เราสามารถซื้อเพียงแค่ฮาร์ดแวร์ชิ้นนั้นมาถอดเปลี่ยนสลับได้เลย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนยกชุด
ทั้งนี้การแกะเครื่องเพื่อทำการซ่อมแซมด้วยตนเองโดยผู้ไม่ชำนาญการ อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ตัวเครื่อง รวมถึงประกันได้ ดังนั้นหากตัวเครื่องยังอยู่ในระยะเวลาการรับประกัน ทางทีมงานแนะนำให้เข้าศูนย์บริการเพื่อรับบริการหลังการขายจากช่างผู้ชำนาญการโดยตรงจะดีกว่าครับ
ที่มา : iFixit
วันที่ : 6/3/2563
