พาทัวร์ HarmonyOS ระบบปฏิบัติการมือถือแห่งอนาคตของ Huawei....ใหม่จริงหรือ?
ชื่อของ HarmonyOS ระบบปฏิบัติการน้องใหม่จาก Huawei เป็นสิ่งที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่ปี 2019 หลังทาง Huawei มีการเปิดเผยรายละเอียดแบบคร่าวๆ ให้ทราบ พร้อมทั้งมีการผลักดัน HUAWEI Mobile Service (HMS) เพื่อนำมาใช้งานกับสมาร์ทโฟน Huawei แทนที่ GMS และคาดว่าจะเป็นส่วนสำคัญสำหรับขับเคลื่อน HarmonyOS ในอนาคต
จวบจนปัจจุบัน แม้ว่าจะยังไม่มีมือถือรุ่นไหนของ Huawei ที่วางจำหน่ายพร้อมติดตั้งระบบปฏิบัติการ HarmonyOS มาให้จากโรงงาน แต่ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาทาง Huawei ก็ได้มีการปล่อยทดสอบ HarmonyOS ให้กับนักพัฒนา รวมถึงผู้ใช้บางราย และได้เดินทางมาถึงเวอร์ชัน 2.0 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทาง Richard Yu หนึ่งในผู้บริหาร Huawei เคยกล่าวว่า HarmonyOS จะไม่เหมือนกับ Android หรือ iOS อย่างแน่นอน แต่ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS มีหน้าตาเป็นอย่างไร และมีการทำงานแบบใด เราไปดูกันดีกว่าครับ
ก่อนจะลง HarmonyOS ได้ ต้องทำอะไรบ้าง?
สื่อต่างประเทศอย่าง Ars Technica ที่เข้าร่วมการทดสอบระบบปฏิบัติการ HarmonyOS เปิดเผยว่า HarmonyOS เปิดให้ทดสอบแบบจำกัดเฉพาะในประเทศจีน และจำกัดการทดสอบแค่นักพัฒนาเท่านั้น ทำให้จำเป็นต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิเข้าถึง HarmonyOS รวมถึง SDK (Software Developer Kit : ชุดซอฟท์แวร์สำหรับพัฒนาระบบต่างๆ) ของ Huawei โดยเฉพาะ ซึ่งจะต่างจากระบบปฏิบัติกร Android หรือ iOS ที่สามารถดาวน์โหลด SDK จาก Google หรือ Apple ได้ทันทีผ่านหน้าเว็บไซต์
แต่การลงทะเบียนเพื่อดาวน์โหลด HarmonyOS ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ Huawei จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เข้าร่วมก่อน โดยทาง Ars Technica กล่าวว่า ผู้ใช้จำเป็นต้องอัปโหลดเอกสารยืนยันตัวตน เช่น พาสสปอร์ต หรือใบขับขี่ ที่สามารถมองเห็นรายละเอียดส่วนบุคคลได้อย่างชัดเจน รวมทั้งยังจำเป็นต้องอัปโหลดเอกสารเกี่ยวกับบัญชีธนาคาร เช่น หน้าบัตรเครดิต ขึ้นบนเว็บไซต์ลงทะเบียน Huawei.com เพื่อยืนยันตัวตนว่าเป็นนักพัฒนาจริงหรือไม่ โดย Huawei จะใช้เวลาตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้ด้วยตนเองเป็นเวลา 2 วันทำการ ซึ่งประเด็นนี้ทาง Ars Technica มองว่า อาจเป็นการเก็บข้อมูลส่วนตัวที่ดูเกินความจำเป็นไปสักหน่อย และกระบวนการยืนยันตัวตนก็ค่อนข้างใช้เวลาพสมควร
หน้าตาของ HarmonyOS
หลังจากส่งเอกสาร และผ่านขั้นตอนยืนยันตัวตนเป็นที่เรียบร้อย ก็จะถึงเวลาที่เราได้สัมผัส HarmonyOS ตัวเป็นๆ เสียที แต่การทดสอบใช้งาน HarmonyOS ของทาง Ars Technica เป็นการรันผ่านตัวจำลองแบบระยะไกล (Remote Emulator) คล้ายๆ กับการเล่นเกมบนคลาวด์ ซึ่งหมายความว่า อาจมีอาการหน่วง หรือกระตุกให้เห็นบ้างเนื่องจากสัญญาณอินเทอร์เน็ต
Ars Technica เล่าว่า ระบบ HarmonyOS ที่เขาได้ทดลองใช้อยู่นั้น น่าจะรันผ่าน Emulator ที่ไหนสักที่ในประเทศจีน เพราะตัวเครื่องมีซิมการ์ด และเชื่อมต่อบนเครือข่าย 华为内网 หรือ Huawei Intranet โดยระหว่างใช้งาน HarmonyOS ผู้ใช้จะไม่สามารถเปิดใช้งาน Location Service รวมถึงเข้าใช้งานเบราเซอร์ได้
หน้าตาของ HarmonyOS ตามความคิดของ Ars Technica มองว่า แทบจะเหมือนกับ EMUI ที่ใช้บนมือถือ Android ของ Huawei ในปัจจุบัน ต่างกันตรงที่หน้า About Phone จะโชว์ชื่อเป็น HarmonyOS เท่านั้น แต่จุดที่น่าสนใจก็คือ เมื่อลองรันแอปพลิเคชันสำหรับตรวจสอบตัวเครื่องอย่างเช่น DevInfo กลับพบว่า HarmonyOS ที่ใช้งานอยู่แท้จริงแล้วเป็นระบบปฏิบัติการ Android 10, ไส้ในต่างๆ ของระบบปฏิบัติการ Android ก็ยังคงมีให้เห็นบน HarmonyOS เช่น com.Android.systemui.overlay หรือ Android Services Library รวมทั้งยังมีฟีเจอร์ Android ที่ยังคงหลงเหลืออยู่อย่างเช่น ADB ซึ่งเป็นฟีเจอร์ Android Debug Bridge นั่นเอง
ในส่วนของฟีเจอร์อื่นๆ ก็ถือว่าใกล้เคียงกับ Android มาก ไม่ว่าจะเป็น Gestures, การตั้งค่า, ระบบอนุญาตเข้าถึงสิทธิต่างๆ, ระบบจ่ายเงินผ่าน NFC, Dark Mode ไปจนถึงแถบคีย์ลัด และการแจ้งเตือน รวมทั้งใน AppGallery ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของ Huawei ก็มีแอปพลิเคชันให้ดาวน์โหลดอย่างหลากลาย ซึ่ง Ars Technica ตั้งข้อสงสัยว่า หาก HarmonyOS เป็นระบบใหม่ที่ไม่ใช่ระบบ Android และยังไม่มีการปล่อยให้ผู้ใช้ทั่วไปได้ดาวน์โหลด แล้วนักพัฒนาใช้เวลาอันรวดเร็วในการพัฒนาแอปฯ เหล่านี้ได้อย่างใด
บทสรุป HarmonyOS
โดยสรุปแล้ว Ars Technica ปักใจเชื่อว่า จริงๆ แล้ว HarmonyOS ก็คือระบบปฏิบัติการที่ถูก Fork ออกมาเท่านั้น เหมือนกับระบบ Fire OS ของ Amazon ซึ่งแม้จะฟังดูเป็นชื่อระบบปฏิบัติการใหม่ แต่ไส้ในก็ยังคงเป็น Android แต่อย่างไรก็ตาม การที่ Huawei ยังคงพัฒนา HarmonyOS โดยยึดระบบ Android ก็พอเข้าใจได้ เนื่องจาก Android เป็นระบบ Open Source ที่ใครก็สามารถนำไปใช้งานได้ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านมาตรฐานทางการค้าของสหรัฐฯ
หากมองอีกมุมหนึ่ง HarmonyOS ก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงตั้งไข่ ซึ่งการพัฒนาช่วงแรกอาจจะยังต้องค่อยเป็นค่อยไป และยังห่างจากคำว่าระบบปฏิบัติการใหม่ที่แตกต่างจาก Android และ iOS เหมือนกับระบบปกิบัติการมือถือของค่ายอื่นอย่างเช่น Windows Phone เป็นอย่างมาก ซึ่งก็คงต้องติดตาม และเอาใจช่วยกันต่อไปครับ
ข้อมูลอ้างอิง : Ars Technica
นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com
วันที่ : 3/2/2564
