รู้จัก Huawei Mobile Services (HMS) บนสมาร์ทโฟน Mate 30 Series ทีเด็ดค่าย Huawei เส้นทางสายใหม่สู่อนาคต
นับว่าเป็นสิ่งที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นตามลำดับ สำหรับ Huawei Mobile Services (HMS) โดยเฉพาะเมื่อเริ่มได้รับการยกมาพูดถึงอย่างเป็นทางการบนเวทีใหญ่ของงาน Huawei Developer Conference (HDC.2019) พร้อมกับการเปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่ของ Huawei เองอย่าง HarmonyOS ในวันที่ 9 สิงหาคม 2019 ที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากการเปิดตัวสมาร์ทโฟนเรือธงตัวท็อปตระกูลใหม่ล่าสุดอย่าง Mate 30 Series เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งถูกประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าสมาร์ทโฟนในตระกูล Mate 30 นั้นจะใช้ Huawei Mobile Services (HMS) แทน Google Mobile Services (GMS) จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการตั้งคำถามมากมายจากผู้บริโภคอย่างเราๆ ว่า HMS นั้นคืออะไร แตกต่างจาก GMS อย่างไร และสามารถทดแทนกันได้หรือไม่ ดังนั้นในวันนี้เราจะพาทุกท่านมารู้จักกับ HMS กันให้มากขึ้น
Huawei Mobile Services (HMS) คืออะไร?
ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับ HMS เราต้องมาทำความเข้าใจในเรื่องพื้นฐานกันก่อนว่าสมาร์ทโฟนรุ่นก่อนหน้านี้ของ Huawei เอง รวมถึงสมาร์ทโฟน Android ในตลาดปัจจุบันแทบทั้งหมด ระบบภายในนั้นใช้การทำงานผสานกันของ AOSP (Android Open Source Project) กับ GMS (Google Mobile Services) หรืออาจจะเรียกสั้นๆ ว่า AOSP+GMS แต่พอมาใน Huawei Mate 30 Series แม้โดยพื้นฐานจะทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการ Android เหมือนกันเนื่องจากเป็นระบบเปิด (Open Source) ที่ใครก็สามารถนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเองได้ แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ Mate 30 Series ใช้การทำงานผสานกันในรูปแบบของ AOSP+HMS (Huawei Mobile Services) แทน ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องพุ่งเป้าความสนใจมาที่ HMS นั่นเอง
Huawei Mobile Services (HMS) ก็คือชุดของบริการ (Services) และแอปพลิเคชัน (Applications) ที่เปิดให้บรรดานักพัฒนา (Developers) สามารถนำไปใช้พัฒนาแอปพลิเคชันของตนเองได้ ภายใต้ระบบนิเวศ (Ecosystem) ของ Huawei เอง ส่วนในด้านของผู้ใช้งานทั่วไปก็สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ผ่านทางแอปพลิเคชันหลักๆ ของ HMS ซึ่งในด้านของนักพัฒนา เรียกว่านี่คือแพลตฟอร์มอันเป็นหัวใจหลักสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันของ Huawei เลยทีเดียว
เพื่อให้เข้าใจภาพรวมมากขึ้น โครงสร้างโดยรวมของ HMS นั้นก็จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ ที่ทำงานร่วมกันดังภาพด้านบน ส่วนแรกคือ ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ซึ่งมีหน้าที่ใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ ของ HMS กับแอปพลิเคชัน 3rd Party ส่วนที่สองคือ HMS Core ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลาง และส่วนที่สามคือ ผู้พัฒนา กับพันธมิตร ที่คอยพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือบริการต่างๆ มาให้พวกเราใช้งานกัน
แอปพลิเคชันของ HMS มีอะไรบ้าง?
ส่วนแรกที่อยากจะแนะนำกันก็คือแอปพลิเคชันที่มาพร้อมกับ Huawei Mobile Services (HMS) หรือที่เรียกว่า HMS Apps ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มของแอปพลิเคชันที่สามารถตอบโจทย์ทุกการใช้งานของผู้ใช้สมาร์ทโฟนได้อย่างครบครัน และแน่นอนว่าถูกติดตั้งมาให้เรียบร้อยแล้วในสมาร์ทโฟน Huawei Mate 30 Series ได้แก่
HUAWEI AppGallery ซึ่งมีผู้ใช้งานจริงต่อเดือนตั้งแต่เปิดตัวแบบ Global Launch ในเดือนเมษายน 2018 มากกว่า 390 ล้านคน ใน 170 ประเทศทั่วโลก พร้อมทั้งยอดดาวน์โหลดสะสมพุ่งแตะ 180 พันล้านครั้ง ภายใน 1 ปี
HUAWEI Browser ซึ่งมีผู้ใช้งานจริงต่อเดือนมากกว่า 200 ล้านคน
HUAWEI Mobile Cloud ซึ่งมีผู้ใช้งานจริงต่อเดือนมากกว่า 160 ล้านคน
HUAWEI Themes ซึ่งมีผู้ใช้ง่านจริงต่อเดือนมากกว่า 70 ล้านคน
HUAWEI Music ซึ่งมีผู้ใช้งานจริงต่อเดือนมากกว่า 150 ล้านคน
HUAWEI Video ซึ่งมีผู้ใช้งานจริงต่อเดือนมากกว่า 130 ล้านคน
HUAWEI Reader ซึ่งมีเนื้อหาคุณภาพสูงให้แก่ผู้ใช้งานมากกว่า 1 ล้านเล่ม
HUAWEI Assistant ซึ่งมีผู้ใช้งานจริงต่อเดือนมากกว่า 140 ล้านคน
โดยขณะนี้ HMS มีผู้ใช้งานจริงต่อเดือน (Monthly Active Users) ทั่วโลกมากถึง 570 ล้านคน และหากดูจำนวนการใช้งานของแต่ละแอปพลิเคชัน ก็จะพบว่ามีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่าที่หลายคนคิดไว้ดังข้อมูลข้างต้น
สำหรับ HUAWEI AppGallery ถือเป็นศูนย์กลางของการค้นหา และดาวน์โหลดแอปพลิเคชันในแพลตฟอร์มของ HMS ซึ่งเข้ามาแทนที่ Google Play Store ของ GMS โดย AppGallery นั้นสามารถเป็นได้ทั้งศูนย์กลางแอปพลิเคชันสำหรับผู้ใช้งานในประเทศจีน และในขณะเดียวกันก็สามารถเป็นศูนย์กลางแอปพลิเคชันสำหรับผู้ใช้งานในประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ด้วย อีกทั้งแอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ทโฟน Mate 30 Series เวอร์ชันแต่ละประเทศนั้น ก็จะถูกคัดเลือกอย่างเหมาะสม เช่น จะถูกเลือกตามความนิยมของประเทศนั้นๆ, บริการที่มีอยู่ในประเทศนั้นๆ หรือแอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนามาเพื่อใช้งานในประเทศนั้นๆ
Huawei ได้ทดสอบเปรียบเทียบความเร็วของของ Application Store ของตัวเองอย่าง AppGallery กับ App Store ก็ได้ผลลัพธ์คือ AppGallery นั้นมีความเร็วของการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมากกว่า App Store อยู่ราว 127% ในกรณีที่ทำงานอยู่บนระบบเครือข่าย 4G
ไอคอนของตัว AppGallery จะปรากฎอย่างชัดเจนอยู่บนหน้าหลักของ Huawei Mate 30 Pro และจะเห็นว่าไม่มีไอคอนของ Google Play Store หรือแอปพลิเคชันของ Google เหมือนกับรุ่นก่อนหน้านี้ (เครื่องในภาพเป็นเครื่องเวอร์ชันที่จำหน่ายในประเทศจีน)
ตัวอย่างหน้าตาของ AppGallery บนสมาร์ทโฟน Huawei Mate 30 Pro (เครื่องในภาพเป็นเครื่องเวอร์ชันที่จำหน่ายในประเทศจีน)
ด้านแอปพลิเคชันแบบ 3rd Party นอกประเทศจีน ที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้ระบบนิเวศ (Ecosystem) ของ HMS นั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบรรดานักพัฒนาทั่วโลกก็หันมาพัฒนาแอปพลิเคชันภายในระบบนิเวศของ HMS มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน จนล่าสุดมีนักพัฒนาเข้ามาลงทะเบียนใช้งานระบบนิเวศของ HMS มากถึง 1.01 ล้านคนแล้ว
บริการ HMS Core สำหรับนักพัฒนามีอะไรบ้าง?
ระบบนิเวศของ HMS นั้นเรียกได้ว่าเป็นระบบเปิดอย่างเต็มรูปแบบ อ้าแขนรับนักพัฒนาอย่างเต็มที่ โดยหากดูจากภาพโครงสร้างโดยรวม ก็จะมีหลายองค์ประกอบที่ทำงานผสานเข้าด้วยกันภายใต้ระบบนิเวศนี้ ตั้งแต่บริการของ HMS, แอปพลิเคชันของ HMS, ชิปประมวลผลของ Huawei, อุปกรณ์, ระบบคลาวด์, บริการ HMS Core, เครื่องมือ รวมทั้งแพลตฟอร์มที่ใช้สำหรับพัฒนาตัว IDE (Integrated Development Environment) และทดสอบระบบ นอกจากนี้ HMS ก็จะทำงานร่วมกับแอปพลิเคชัน และบริการแบบ 3rd Party ในรูปแบบของระบบนิเวศ HMS ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ภายใต้ระบบนิเวศ HMS นี้มีบริการมากถึง 51 ตัว และ API (Application Program Interfaces) มากถึง 885 ตัว ที่เปิดให้นักพัฒนาสามารถเข้าถึงได้
ในฝั่งของนักพัฒนาก็ต้องอาศัยตัวกลางอย่าง HMS Core ทั้งในด้านของความสามารถของ HMS Core เอง และบริการต่างๆ (Services) ซึ่งในงาน Huawei Developer Conference 2019 ที่ผ่านมา ทาง Huawei ก็ได้เปิดตัวบริการของ HMS Core รวม 14 ตัวด้วยกัน ซึ่งแบ่งออกเป็นบริการพื้นฐาน 9 ตัว กับบริการเพื่อการเติบโตทางธุรกิจอีก 5 ตัว ดังนี้
9 บริการพื้นฐานของ HMS Core (Essential Services)
- Account Kit
- Map Kit
- Site Kit
- Drive Kit
- Message Kit
- Game Service
- Location Kit
- Scan Kit
- Awareness Kit
ซึ่งสำหรับตัว HUAWEI Map Kit นั้น จากเดิมที่เปิดให้เข้าถึงเฉพาะนักพัฒนาในประเทศจีน ก็จะเริ่มเปิดให้นักพัฒนาทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้หลังเดือนตุลาคม 2019 เป็นต้นไป ดังนั้นนักพัฒนาจึงสามารถนำความสามารถด้านแผนที่ของ Map Kit ไปต่อยอดในการพัฒนาแอปพลิเคชันของตนเองได้อีกมาก
5 บริการเพื่อการเติบโตทางธุรกิจของ HMS Core (Growth Services)
- Push Kit
- Analytics Kit
- In-App Purchases
- Wallet Kit
- Ads Kit
โดยปัจจุบันมีแอปพลิเคชันมากกว่า 45,000 ตัว ที่ผสานเข้ากับ HMS Core เรียบร้อยแล้ว หรือหากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็จะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 65% ต่อปีเลยทีเดียว
และเพื่อกระตุ้นให้นักพัฒนาทั่วโลกหันมาสร้างแอปพลิเคชันระดับคุณภาพภายใต้ระบบนิเวศของ HMS ทาง Huawei จึงได้เพิ่มการลงทุนจากเดิมที่ 1 พันล้านหยวน ให้เป็น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในโครงการที่เรียกว่า Shining Star ซึ่งส่วนใหญ่ของการลงทุนกว่า 80% นั้นมีเป้าหมายเพื่อการสร้างแรงจูงใจ และผลักดันนวัตกรรมเพื่อนักพัฒนาทั่วโลก รวมถึงช่วยส่งเสริมความต้องการด้านเงินทุนสำหรับการพัฒนา และการทำตลาด
นอกจากนี้ Huawei ก็ยังมีส่วนของ DigiX Innovation Studio ซึ่งจะช่วยกระจายการสนับสนุนไปสู่นักพัฒนาทั่วโลก ด้วย DigiX Labs รวม 8 แห่ง ที่กระจายตัวอยู่ใน 6 ภูมิภาคหลักทั่วโลก เพื่อช่วยสนับสนุนนักพัฒนาทั่วโลกทั้งในด้านนวัตกรรม, การทดสอบอุปกรณ์, การพัฒนาขีดความสามารถ, เครื่องมือ และอีกมากมาย
สรุปส่งท้ายสำหรับ HMS บนสมาร์ทโฟน Huawei Mate 30 Series
แน่นอนว่าในด้านของคุณสมบัติ และฟีเจอร์ต่างๆ บนสมาร์ทโฟนเรือธงตระกูลท็อปใหม่ล่าสุดอย่าง Huawei Mate 30 Series นั้นได้สร้างปรากฏการณ์ และมาตรฐานใหม่ๆ ให้กับวงการสมาร์ทโฟนโลก ทั้งในด้านของการถ่ายภาพ, ดีไซน์, วิศวกรรมฮาร์ดแวร์, นวัตกรรมด้านซอฟต์แวร์, การเชื่อมต่อ และอีกมากมาย แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดก็เห็นจะเป็นการเบนเข็มมาใช้งาน HMS แทน GMS เป็นครั้งแรก เรียกว่าเป็นทางออกของ Huawei ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับฝั่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งทาง Huawei เองได้ชูว่านี่คือการคิดใหม่ทำใหม่ สำหรับไลฟ์สไตล์ในยุคดิจิทัล กับสิ่งที่ชาญฉลาดกว่า, เร็วกว่า และดีกว่า ด้วยประสบการณ์ AI สำหรับชีวิตยุคดิจิทัลที่ไร้รอยต่อของผู้ใช้งานทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าความคุ้นเคยของผู้ใช้งานทั่วไปก็ยังคงอยู่ในฝั่งของ GMS โดยเฉพาะบรรดาแอปพลิเคชันต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้งานกันอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันธนาคาร, โซเชียล, ความบันเทิง, เกม และอื่นๆ ซึ่งในขณะนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกพัฒนาภายในแพลตฟอร์มของ HMS นั่นคือยังไม่ได้ถูกบรรจุไว้ใน HUAWEI AppGallery ดังนั้นจึงยังคงมีข้อจำกัดด้านการใช้งานอยู่พอสมควร แต่สัญญาณที่ดีล่าสุดก็คือ เริ่มมีแอปพลิเคชันในบ้านเราพัฒนาแอปพลิเคชันไปลงใน AppGallery บ้างแล้ว เช่นแอปพลิเคชันธนาคารที่นิยมใช้งานกันอย่าง K PLUS หรือ TMB Touch ซึ่งก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อีกทั้งบรรดาธนาคารอื่นๆ ในบ้านเรานอกจากกสิกรไทย กับทหารไทย รวมถึงบรรดาผู้ให้บริการเครือข่ายในบ้านเราทั้ง AIS, TrueMove H และ dtac ก็มีข่าวว่ากำลังเร่งพัฒนาแอปพลิเคชันของตนเองมา AppGallery ให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้เช่นเดียวกัน และหากมีการผลักดันอย่างต่อเนื่อง ก็น่าที่จะมีแอปพลิเคชันยอดนิยมในบ้านเรา มาลงใน AppGallery มากขึ้นเรื่อยๆ และในกรณีที่บางแอปพลิเคชันไม่ต้องพึ่งพา GMS หรือมี API เป็นของตัวเอง เช่น Facebook, Instagram, Messenger, WhatsApp หรือแม้แต่แอปพลิเคชันบางตัวของ Google เองอย่าง Google Chrome หรือ Google Maps เราก็ยังพอจะดาวน์โหลดจาก App Store ทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่ AppGallery มาใช้งานได้เช่นกัน เพียงแต่บางฟังก์ชันอาจจะใช้งานได้ไม่เต็ม 100%
แต่หากในอนาคต Huawei และสหรัฐอเมริกา สามารถเจรจาตกลงจนสามารถกลับมาจับมือกันใหม่ได้ Mate 30 Series รวมถึงสมาร์ทโฟน Huawei รุ่นอื่นๆ หลังจากนี้ ก็จะสามารถกลับมาใช้งาน GMS (Google Mobile Services) ได้ตามปกติทันที ซึ่งเราเองก็หวังให้เป็นเช่นนั้น
แม้เราจะสามารถหาวิธีติดตั้ง GMS (Google Mobile Services) รวมถึง Google Play Store ด้วยตนเองได้ในภายหลัง แต่สุดท้ายแล้วเราก็ไม่สามารถมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลได้อย่างเต็มที่ รวมถึงบัญชี Google ของเราเองอาจโดนบล็อก เนื่องจากทาง Google เองก็สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย (หากตั้งใจตรวจสอบ) หรืออาจโดนบุคคลที่สามนำบัญชี Google ของเราไปใช้โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตได้ทุกเมื่อ เรียกว่าดูจะมีความเสี่ยงอยู่พอสมควร
และแน่นอนว่าทาง Huawei เองก็เข้าใจในประเด็นเหล่านี้เป็นอย่างดี ก่อนหน้านี้จึงได้เปิดให้ลงทะเบียนความสนใจ Huawei Mate 30 Series ล่วงหน้า โดยยังไม่ใช่การลงทะเบียนเพื่อสั่งซื้อแต่อย่างใด แต่เหมือนเป็นการสำรวจเพื่อให้ทราบว่าผู้ลงทะเบียนเข้าใจ และยอมรับในสิ่งที่เป็นของ Mate 30 Series ได้หรือไม่ โดยเฉพาะการใช้งาน HMS แทน GMS นั่นก็หมายความว่าแอปพลิเคชันต่างๆ ของ Google ที่คุ้นเคยกัน จะไม่ได้ถูกติดตั้งไว้ให้ในสมาร์ทโฟน Mate 30 Series ซึ่งดูไปแล้วก็เหมือนกับการศึกษาดูใจของคู่รัก ว่าจะสามารถยอมรับกับข้อดีข้อเสีย หรือเงื่อนไขของอีกฝ่ายได้หรือไม่ ก่อนที่จะตัดสินใจแต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกันนั่นเอง เรียกว่าถ้ารักกันจริงก็ค่อยมาคุยเรื่องสินสอดทองหมั้นกัน ดังนั้นหากท่านใดกำลังสนใจอยากจับจองเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน Huawei Mate 30 หรือ Mate 30 Pro ก็ควรศึกษาข้อมูลให้แน่ใจเสียก่อน
โดย Huawei Mate 30 Pro เปิดราคาจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยออกมาแล้วที่ 28,990 บาท มีให้เลือกทั้งหมด 2 เฉดสี ได้แก่ สีเทา และสีดำ เปิดให้สั่งจองล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 โดยผู้ที่สั่งจองในช่วงเวลาดังกล่าว จะได้รับฟรี DJI Osmo Mobile 3 Combo มูลค่า 4,090 บาท พร้อมประกันตัวเครื่องนาน 2 ปี และประกันจอแตกอีก 90 วัน
นอกจากนี้ ยังมีโปรโมชั่นร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายด้วยราคาพิเศษเพียง 18,990 บาท พร้อมรับฟรี DJI Osmo Mobile 3 Combo มูลค่า 4,090 บาท ซึ่งหากท่านใดอยากครอบครองสมาร์ทโฟนที่ดีที่สุด ณ ชั่วโมงนี้ของ Huawei อย่าง Mate 30 Pro รุ่นนี้ ก็แวะไปสั่งจองกันได้เลยครับ
นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com
พรีวิว Huawei Mate 30 | Mate 30 Pro มีอะไรใหม่ พร้อมสรุปทุกการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ล่าสุด
วันที่ : 29/10/2562
