หน้าแรกมือถือ > รวมข่าวมือถือ > หน้าบทความ ข่าวมือถือ
   
Date : 30/12/2563

วิธีอ่านสเปกมือถือฉบับมือใหม่! ควรดูที่ตรงไหน? ศัพท์เทคนิคแต่ละอย่างคืออะไร? เราสรุปมาให้แล้ว!

 

ในระยะเวลาที่ผ่านมา แบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนได้ทำการเปิดตัวมือถือรุ่นใหม่ๆ ให้เห็นกันหลายต่อหลายรุ่น ซึ่งแต่ละรุ่นต่างก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป บางรุ่นอาจจะมาพร้อมกับจุดเด่นที่หน้าจอแสดงผล บางรุ่นอาจมีจุดเด่นด้านชิปเซ็ตประมวลผล บางรุ่นโดดเด่นด้วยจอ Refresh Rate สูง หรือบางรุ่นก็ชูจุดเด่นด้านกล้องถ่ายภาพ แต่เชื่อว่าหลายท่านอาจจะยังไม่รู้ว่า สเปกแต่ละอย่างของสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน มีความหมายว่าอะไร? การเลือกซื้อสมาร์ทโฟนแต่ละเครื่องต้องดูที่อะไรบ้าง? วันนี้เรามาลองเรียนรู้วิธีการอ่านสเปกมือถือด้วยตัวเองกันดีกว่าครับ

 

หน้าจอแสดงผล แต่ละแบบ ต่างกันอย่างไร?

หน้าจอสมาร์ทโฟนก็เปรียบเสมือนประตูพาผู้ใช้ไปสู่โลกภายนอก เพราะการใช้งานสมาร์ทโฟนหลักๆ แล้วจะเกี่ยวกับหน้าจอทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น การเลื่อนฟีด Facebook, การเล่นเกม รวมถึงการรับชมคอนเทนต์ต่างๆ ดังนั้นหน้าจอจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนสักเครื่อง แต่หากเราสังเกตจะเห็นว่า สมาร์ทโฟนแต่ละรุ่นใช้แพนแนลจอ หรือชนิดของจอไม่เหมือนกัน โดยในปัจจุบันมีการใช้แพนแนลจอหลักๆ อยู่ทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่ IPS, OLED, AMOLED และ Super AMOLED ซึ่งจุดเด่นของหน้าจอแต่ละแบบมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้ครับ

 

  • IPS - หน้าจอแสดงผลที่มีการพัฒนาต่อยอดมาจาก TFT LCD โดยปรับปรุงในเรื่องของการแสดงสีสันที่สดใสมากขึ้น พร้อมกับเพิ่มมุมมองการแสดงผลให้กว้างขึ้น และใช้พลังงานน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหน้าจอแบบ TFT โดยในปัจจุบันหน้าจอ IPS จะถูกใช้อย่างแพร่หลายกับสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับท็อปในบางแบรนด์ แต่คุณภาพของการแสดงผลอาจมีความแตกต่างกันในมือถือแต่ละรุ่นขึ้นอยู่กับการปรับจูนทางด้านซอฟท์แวร์ รวมถึงฮาร์ดแวร์
  • OLED - หน้าจอแสดงผลที่มีลักษณะคล้ายกับแผ่นฟิล์มบางๆ สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาแสง Backlight เหมือนกับจอ IPS โดยแสงที่เปล่งออกมาจะมีอยู่ 3 สี ได้แก่ แดง, เขียว และน้ำเงิน (RGB) โดยหน้าจอ OLED มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในสมาร์ทโฟนระดับเรือธง เนื่องจากหน้าจอประเภทนี้มีความยืดหยุ่นสูง, ประหยัดพลังงาน, แสดงผลสีดำได้แบบดำสนิท เนื่องจากหน้าจอจะไม่มีการเปล่งแสงเมื่อแสดงสีดำ, ค่า Contrast ที่สูง, มองเห็นในที่แสงจ้าได้ชัดเจน และยังมีจุดเด่นด้านความสว่างอีกด้วย โดยปกติแล้วเราจะเห็นหน้าจอประเภท OLED ในกลุ่มสมาร์ทโฟนเรือธง รวมถึงสมาร์ทโฟนระดับรองท็อป
  • AMOLED - จริงๆ แล้วหน้าจอ AMOLED ก็คือหน้าจอ OLED นั่นเอง แต่คำว่า AM ที่อยู่ด้านหน้านั้นหมายถึงเทคโนโลยี Active Matrix โดยจะมีแผ่น Film Trasnistor สำหรับควบคุมการเปิด-ปิด ของแต่ละพิกเซล ส่งผลให้ประยหัดพลังงานมากกว่าจอ OLED และยังมีความบางกว่าเมื่อเทียบกับแพนแนลจอประเภทอื่นๆ โดยหน้าจอประเภทนี้จะถูกใช้กับสมาร์ทโฟนตระกูลเรือธงเป็นหลัก รวมถึงมือถือซีรีส์รองท็อป
  • Super AMOLED -  สำหรับ Super AMOLED เป็นหน้าจอที่พัฒนาต่อยอดมจาก AMOLED อีกขั้น โดยมีการฝังเลเยอร์สำหรับตรวจจับการสัมผัสเอาไว้บนหน้าจอ ช่วยให้การตอบสนองต่อการสัมผัสดีมากยิ่งขึ้น รวมถึงยังมีการปรับปรุงในเรื่องของ Contrast และการแสดงสีสัน พร้อมคุณสมบัติในการปรับการแสดงผลให้เข้ากับสภาพแสงโดยรอบ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้มองเห็นได้อย่างชัดเจน และสบายตา โดยส่วนมากเราจะเห็นหน้าจอ Super AMOLED ใช้กับสมาร์ทโฟน Samsung ทั้งรุ่นท็อป และรุ่นระดับกลางนั่นเอง

 

Refresh Rate / Touch Sampling Rate คืออะไร?

นอกเหนือจากชนิดหน้าจอแล้ว ปัจจุบันหน้าจอสมาร์ทโฟนได้มีเทคโนโลยีใหม่อีกสองอย่างถูกใช้ในวงกว้างมากขึ้นก็คือ Refresh Rate และ Touch Sampling Rate ระดับสูง โดย Refresh Rate ก็คือจำนวนภาพที่หน้าจอสามารถแสดงผลได้ภายใน 1 วินาที ซึ่งยิ่งตัวเลขของ Refresh Rate ยิ่งเยอะ ก็จะช่วยให้การแสดงผลมีความลื่นไหลมากยิ่งขึ้น ลองนึกภาพสมุดภาพเคลื่อนไหว หรือ Flipbook ยิ่งวาดรูปลงบนหน้ากระดาษเยอะเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้ภาพขณะเล่นมีความเนียนตามากยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันมีการนำหน้าจอ Refresh Rate ระดับสูงมาใช้งานกับสมาร์ทโฟนเรือธง และรุ่นรองท็อป ที่ระดับ 90Hz, 120Hz และ 144Hz ส่วนมือถือทั่วไปจะมีค่า Refresh Rate ในระดับ 60Hz - 90Hz

อีกหนึ่งสิ่งที่คู่มากับ Refresh Rate ก็คือ Touch Sampling หรือความไวต่อการตอบสนองการสัมผัส ซึ่งยิ่งตัวเลขยิ่งเยอะ ก็จะช่วยให้การทัชสกรีน หรือการกดปุ่มต่างๆ ภายในเกมมีความไว หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า ติดนิ้ว มากยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบัน Touch Sampling Rate บนสมาร์ทโฟนระดับกลาง - ท็อปจะอยู่ที่ 240Hz ส่วนค่า Touch Sampling Rate ที่สูงที่สุดในปัจจุบัน (อ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2020) มีค่าสูงสุดอยู่ 480Hz (ใช้งานในรุ่น Xiaomi Mi 11)

SoC ชิปเซ็ตประมวลผล คืออะไร?

SoC (System On a Chip) หรือชิปเซ็ตประมวลผล หรือ CPU ที่ใครหลายๆ คนรู้จัก เป็นหัวใจหลักสำคัญของสมาร์ทโฟนก็ว่าได้ เพราะสมาร์ทโฟนรุ่นนั้นๆ จะมีความเร็วแรง หรือมีความสามารถพิเศษอย่างไรบ้างนั้น จะขึ้นอยู่กับ SoC ที่สมาร์ทโฟนรุ่นนั้นเลือกใช้เป็นหลัก 

ภายใน SoC จะประกอบไปด้วยฮาร์ดแวร์สำคัญทั้งหมด 6 อย่างด้วยกัน ซึ่งฮาร์ดแวร์เหล่านี้จะถูกติดตั้งมาให้ภายใน SoC เฉพาะรุ่นนั้นๆ ไม่สามารถถอดมาอัปเกรดได้เหมือนกับคอมพิวเตอร์ โดยฮาร์ดแวร์แต่ละตัว มีหน้าที่การทำงานดังนี้


 

  • CPU - หัวใจหลักของ SoC ทำหน้าที่ในการประมวลผล และรันโค้ดต่างๆ เกี่ยวกับแอปพลิเคชัน รวมถึงระบบระบบปฏิบัติการ 
  • GPU - ทำหน้าที่ประมวลผลงานต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับกราฟิก เช่น การเรนเดอร์ภาพ 2D สำหรับใช้งานแอปพลิเคชันทั่วไป หรือเรนเดอร์ภาพ 3D สำหรับการเล่นเกม เป็นต้น
  • ISP - Image Proccesing Unit หรือ IPS เป็นหน่วยประมวลผลภาพถ่าย ทำหน้าที่แปลงข้อมูลที่ได้รับมาจากกล้องของมือถือ ให้เป็นไฟล์ภาพ และวิดีโอ
  • NPU - Neural Processing Unit - เป็นหน่วยประมวลผลเกี่ยวกับงานต่างๆ ทีมีความข้องเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ Machine Learning โดยเฉพาะ เช่น การประมวลผลเกี่ยวกับการปรับแต่งภาพถ่าย หรือการทำ Vocie Recognition ซึ่งโดยปกติแล้วเราจะเห็นหน่วยประมวลผลตัวนี้กับ SoC รุ่นไฮเอนด์เท่านั้น เช่น Kirin 980 หรือ Exynos 990 เป็นต้น
  • Modems - ทำหน้าที่ในการรับสัญญาณ ไม่ว่าจะเป็น 4G, 5G, WiFi หรือ Bluetooth ซึ่งหากใครต้องการใช้สมาร์ทโฟน 5G ก็อาจต้องลองดูสเปกของ SoC นั้นๆ ด้วยว่า มีการติดตั้งโมเด็ม 5G มาให้ด้วยหรือไม่

 

สำหรับผู้ผลิต SoC ที่ใช้บนสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จะมีทั้งหมด 4 แบรนด์ ได้แก่ Qualcomm, Samsung, HiSilicon และ MediaTek โดยแต่ละแบรนด์ก็จะมีชื่อเรียก และแบ่งเกรดชิปเซ็ตโดยใช้ตัวอักษร หรือตัวเลขเป็นตัวกำกับ โดยเราสามารถดูได้ง่ายๆ ดังนี้

 

Qualcomm (Snapdragon)

  • Snapdragon 8xx - ชิปเซ็ตระดับท็อปที่มีความเร็วแรง มักถูกใช้กับสมาร์ทโฟนระดับเรือธง และมือถือเกมมิ่งเป็นหลัก
  • Snapdragon 75x ถึง 76x - ชิปเซ็ตระดับรองท็อปที่ปรับลดสเปกบางส่วนมาจากชิปรุ่นเรือธง แต่ยังคงจุดเด่นในเรื่องของความเร็วด้านการประมวลผล
  • Snapdragon 690, 720 ถึง 73x - ชิปเซ็ตระดับกลางที่มีจุดเด่นด้านการประหยัดพลังงาน ตอบโจทย์การใช้งานทั่วไป
  • Snapdragon 4xx - ชิปเซ็ตสำหรับสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้น เน้นในเรื่องของการประหยัดพลังงานเป็นหลัก

 

Exynos

  • Exynos 99x ถึง Exynos 10xx - ชิปเซ็ตระดับท็อปสำหรับสมาร์ทโฟนระดับเรือธง ใช้ในสมาร์ทโฟน Samsung เป็นส่วนใหญ่
  • Exynos 980 - ชิปเซ็ตระดับรองท็อป ใช้กับสมาร์ทโฟนบางรุ่น
  • Exynos 96xx - ชิปเซ็ตระดับกลาง มักจะใช้กับสมาร์ทโฟน A Series เป็นหลัก
  • Exynos 7xxx - ชิปเซ็ตระดับเริ่มต้น มักจะใช้กับสมาร์ทโฟนราคาประหยัด

 

MediaTek

  • Dimensity 8xx - 1xxx ชิปเซ็ตตัวท็อปในระดับกลาง ใช้กับสมาร์ทโฟนแบรนด์จีนบางรุ่น
  • Helio Gxx - ชิปเซ็ตที่ถูกออกแบบมาเพื่อการเล่นเกมโดยเฉพาะ (Gaming) มักมีการใช้งานกับสมาร์ทโฟนระดับกลาง
  • Helio P9x - ชิปเซ็ตระดับกลางตัวท็อป มีจุดเด่นในเรื่องของประสิทธิภาพการทำงาน (Premium Performace) เป็นหลัก
  • Helio P6x ถึง  P7x - ชิปเซ็ตระดับกลาง
  • Helio P1x ถึง P3x - ชิปเซ็ตระดับเริ่มต้น

 

Kirin

  • Kirin 980, 990 และ 9000 - ชิปเซ็ตระดับท็อปสุด ใช้งานกับมือถือเรือธง เช่น P Series และ Mate Series ของ Huawei และมือถือระดับรองท็อปบางรุ่นอย่างเช่น Huawei nova 5T
  • Kirin 985 - ชิปเซ็ตระดับรองท็อป มักถูกใช้กับสมาร์ทโฟนตระกูล nova Series รุ่นท็อป
  • Kirin 7xx-8xx - ชิปเซ็ตระดับกลาง มักถูกใช้กับสมาร์ทโฟนตระกูล nova Series ของ Huawei


 

RAM คืออะไร? ควรมีเท่าไหร่?

RAM หรือ Random Access Memory มีหน้าที่ในการเก็บข้อมูลที่เราเรียกมาใช้งานเอาไว้ชั่วคราว เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถใช้งานแอปพลิเคชันโดยไม่ต้องรอโหลดใหม่ ซึ่งยิ่ง RAM มีพื้นที่เยอะ ก็จะส่งผลให้มีพื้นที่ในการพักแอปพลิเคชันเยอะขึ้นตามไปด้วย 

หากใครยังไม่เห็นภาพ ให้ลองนึกภาพโต๊ะทำงาน โดย RAM คือ พื้นที่หน้าโต๊ะทำงาน, ROM (พื้นที่เก็บข้อมูล) คือ ลิ้นชัก, คนนั่งเฝ้าโต๊ะก็คือ ระบบ ส่วนเราเป็นผู้ใช้ สมมุติว่าเราต้องการเล่น Facebook ระบบก็จะไปทำการค้นหาในลิ้นชักว่า แอปพลิเคชัน Facebook เก็บไว้ตรงไหน พอหาเจอก็จะนำมาวางไว้บนโต๊ะ เพื่อให้ผู้ใช้อย่างเรามองเห็น และหยิบจับไปใช้งานได้อย่างสะดวก ซึ่งยิ่งมี RAM มากเท่าไหร่ ก็จะมีพื้นที่หน้าโต๊ะสำหรับวางของต่างๆ ที่เราหยิบมาจากลิ้นชักมากเท่านั้น แต่หากมือถือมี RAM ที่น้อยก็อาจมีพื้นที่หน้าโต๊ะไม่มีเพียงต่อของที่เราหยิบมาจากลิ้นชัก จึงทำให้ในบางครั้งเกิดอาการแอปฯ ค้าง หรือแอปฯ เด้ง นั่นเอง โดยมือถือในปี 2021 ควรจะมี RAM อยู่ที่เท่าไหร่นั้น สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่


 

ROM คืออะไร ควรเลือกแบบไหน?

ROM หรือหน่วยความจำภายในของสมาร์ทโฟนที่เปรียบเสมือนโกดังเก็บของ มีหน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็น ไฟล์, รูป, แอปพลิเคชัน หรือระบบปฏิบัติการ โดยยิ่งมี ROM มากเท่าไหร่ ก็เหมือนกับมีขนาดของโกดังใหญ่ขึ้นมากเท่านั้น 

ในปัจจุบันหน่วยความจำภายในบนสมารืทโฟนจะแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ก็คือ eMMC และ UFS โดย eMMC ส่วนมากจะใช้กับสมาร์ทโฟนราคาประหยัด เนื่องจากมีความในการอ่านเขียนที่ไม่สูงมาก และมีข้อจำกัดด้านเทคนิคที่ไม่สามารถอ่าน-เขียน ได้ในเวลาเดียวกัน จึงอาจส่งผลให้เกิดความช้าได้ ส่วน UFS เป็นหน่วยความจำที่พัฒนาต่อยอดมาจาก eMMC อีกขั้น มีความเร็วในการอ่านเขียนข้อมูลที่สูงกว่า รองรับคำสั่งได้หลายคำสั่งในเลาเดียวกัน และจัดการพลังงานได้ดีกว่า ซึ่งปัจจุบัน UFS เดินทางมาถึงเวอร์ชัน 3.1 แล้ว โดยส่วนมากจะใช้บนสมาร์ทโฟนระดับเรือธง แต่หากใครที่ต้องการความรวดเร็วด้านการอ่านเขียนข้อมูลในราคาที่ย่อมเยากว่า อาจลองมองหามือถือที่ใช้ UFS 2.1 เพราะในปัจจุบันมีการใช้อย่างแพร่หลายทั้งในมือถือเรือธง และมือถือระดับกลาง

 

แบตเตอรี่ ควรมีเท่าไหร่?

แบตเตอรี่เปรียบเสมือนอาหารที่มอบพลังงานให้แก่สมาร์ทโฟน ยิ่งมีแบตเตอรี่ปริมาณความจุเยอะ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้สมาร์ทโฟนใช้พลังงานได้ยาวนานมากขึ้น ส่วนระบบชาร์จ ในปัจจุบันมีการพัฒนาระบบชาร์จให้สามารถจ่ายกำลังไฟได้มากขึ้น ช่วยให้ชาร์จแบตเตอรี่กลับเข้าสู่ตัวเครื่องได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม โดยในส่วนของระบบชาร์จเร็วนั้นส่วนมากจะใช้ตัวเลขกำกับ ตามด้วยตัวอักษร W ยิ่งตัวเลขเยอะ ยิ่งมีกำลังจ่ายไฟที่มาก ซึ่งช่วยให้แบตเตอรี่เต็มเร็วมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ดี ปริมาณแบตเตอรี่ที่มาก อาจไม่ได้ทำให้สมาร์ทโฟนใช้ได้ยาวนานกว่ามือถือที่มีแบตเตอรี่น้อยกว่าเสมอไป เพราะยังมีปัจจัยสำคัญอีกหลายอย่างที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานแบตเตอรี่ ไม่ว่าจะเป็น ซอฟท์แวร์จัดการแบตเตอรี่ภายในตัวเครื่อง, ความคมชัดของหน้าจอ, ค่า Refresh Rate ของหน้าจอ, อุณหภูมิภายนอกขณะใช้งาน ไปจนถึงการจัดการพลังงานของ SoC อีกทั้ง ปริมาณแบตเตอรี่ที่มากขึ้น ก็ส่งผลต่อน้ำหนัก และขนาดของตัวเครื่องด้วย โดยหากท่านเป็นผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนอย่างหนักหน่วงตลอดเวลา ทีมงานแนะนำให้เลือกมือถือที่มีแบตเตอรี่ขนาด 4500mAh ขึ้นไปในปี 2021 และรองรับเทคโนโลยีชาร์จเร็วอย่างน้อย 18W เพื่อรองรับการใช้งานยาวนานตลอดวัน ส่วนหากใครที่ใช้มือถือระหว่างวันไม่มากนัก มือถือที่มีแบตเตอรี่ 3500mAh ขึ้นไปก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจครับ

 

กล้องถ่ายภาพ ควรมีกี่ตัว? แต่ละตัวต่างกันอย่างไร?

กล้องถ่ายภาพของสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน มีจุดที่ต้องสังเกตหลักๆ สองอย่างก็คือ ความละเอียด และเลนส์ถ่ายภาพ โดยความละเอียดของเซ็นเซอร์รับภาพที่มาก ก็จะช่วยให้ไฟล์ภาพที่ถ่ายออกมามีขนาดใหญ่ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในด้านอื่นๆ เช่น การคร็อปภาพเฉพาะส่วนให้มีความคชัด หรือการ Print ภาพขนาดใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ เซ็นเซอร์รับภาพที่มีความละเอียดสูงก็มักจะถูกใช้ร่วมกับเทคโนโลยี Pixel Bining หรือการรวมพิกเซลเล็กให้เป็นพิกเซลใหญ่ เพื่อช่วยรับแสงได้มากขึ้น แต่คุณภาพของภาพจะมีความคมชัดหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความละเอียดของเซ็นเซอร์อย่างเดียว เพราะยังมีปัจจัยสำคัญอย่าง ขนาดของเซ็นเซอร์ ด้วย สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

สำหรับเลนส์การถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟนนั้น จะแบ่งประเภทตามองศาในการรับภาพ หรือหน้าที่ในการถ่ายภาพของเลนส์นั้นๆ เป็นหลัก โดยสามารถจำแนกได้ง่ายๆ ดังนี้

  • เลนส์ Wide - เลนส์มุมกว้างสำหรับถ่ายภาพทั่วไป ปกติจะถูกใช้กับกล้องตัวหลักที่มีความละเอียดสูง
  • เลนส์ Ultra Wide - เลนส์มุมกว้างพิเศษสำหรับช่วยเก็บภาพในมุมกว้าง เช่น ภาพวิวทิวทัศน์ เป็นต้น ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีองศาในการรับภาพอยู่ที่ 119-123 องศา
  • เลนส์ Macro - เลนส์สำหรับถ่ายภาพในระยะใกล้ โดยปกติจะสามารถโฟกัสวัตถุได้ใกล้สุดที่ 2.5 - 4 เซนติเมตร
  • เลนส์ Telephoto - เลนส์สำหรับช่วยซูมภาพระยะไกล
  • เลนส์ Periscope - เลนส์ซูมรูปแบบใหม่ที่วางกลไกในแนวนอน อาศัยแสงที่ตกกระทบจากกระจกหลายๆ ชิ้นที่ติดตั้งเอาไว้ในชุดโมดูลกล้อง ช่วยให้ซูมภาพได้ไกลมากกว่าเลนส์ Telephoto
  • เลนส์ Depth - กล้องสำหรับตรวจจับระยะชัดตื้น มีหน้าที่ในการทำงานร่วมกับการถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ
  • เลนส์ ToF (Time-of-Flight) - กล้องตรวจจับระยะชัดตื้นที่ทำงานได้รวดเร็ว และแม่นยำกว่าเลนส์ Depth 

ดังนั้น หากท่านเป็นผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ ทีมงานแนะนำให้ลองดูมือถือที่มีกล้องเลนส์ Ultra Wide เนื่องจากสามารถเก็บภาพได้กว้างกว่ากล้องแบบอื่นๆ ส่วนหากท่านที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ Portrait หรือการถ่ายภาพซูมระยะไกล ทีมงานแนะนำให้เลือกมือถือที่มีกล้อง Telephoto เนื่องจากซูมได้คมชัดกว่า หรือหากใครที่ชอบการถ่ายภาพในระยะใกล้ ก็อาจเลือกมือถือที่มีกล้อง Macro ครับ

 

ระบบปฏิบัติการ และ Custom UI

สำหรับสมาร์ทโฟนทั่วๆ ไปมักจะใช้ระบบปฏิบัติการ Android เป็นพื้นฐานเหมือนกันทั้งหมด โดยจะมีเพียงแค่ iPhone ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS ของตนเองเพียงรายเดียวเท่านั้น แต่แม้ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน Android เหมือนกัน แต่ละรุ่นก็มีความแตกต่างในเรื่องของ UI ที่แบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนนำมาครอบทับอีกชั้น ซึ่ง UI ของแต่ละแบรนด์ก็จะมีลูกเล่นด้านการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป และมีรอบการอัปเดตซอฟท์แวร์ที่ต่างกัน โดยในปัจจุบันมี Custom UI ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งหมด 6 แบบ ได้แก่ 

 

  • OneUI - ใช้กับสมาร์ทโฟน Samsung
  • OxygenOS - ใช้กับสมาร์ทโฟน OnePlus
  • Miui - ใช้กับสมาร์ทโฟน Xiaomi
  • ColorOS - ใช้กับสมาร์ทโฟน OPPO
  • Realme UI - ใช้กับสมาร์ทโฟน realme
  • FuntouchOS - ใช้กับสมาร์ทโฟน Vivo
  • OriginOS - ใช้งานกับสมาร์ทโฟน Vivo รุ่นใหม่ (ใช้บน Vivo X60 Series เป็นรุ่นแรก)
  • EMUI - ใช้กับสมาร์ทโฟน Huawei, Honor

 

มือถือ 5G รุ่นไหน น่าสนใจบ้าง?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจในปี 2021 ก็คือ 5G โดยในปัจจุบันมีการเปิดให้บริการ 5G ในบ้านเราแล้วผ่านเครือข่าย AIS และ TrueMove H ส่วนทางค่าย dtac ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการเปิดให้บริการ 5G ในเร็วๆ นี้ โดยในตลาดประเทศไทย มีการนำสมาร์ทโฟน 5G เข้ามาวางขายอย่างหลากหลาย ซึ่งมีให้เลือกตั้งแต่รุ่นระดับกลางที่มีราคาเข้าถึงง่าย ไปจนถึงรุ่นระดับเรือธงที่มีฟีเจอร์ครบเครื่องตอบโจทย์ทุกการใช้งาน สำหรับมือถือ 5G ทุกรุ่นที่วางจำหน่ายในประเทศไทย ณ ตอนนี้ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่นี่ (ข้อมูลอัปเดต ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2020) 

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับวิธีอ่านสเปกมือถือในเบื้องต้น ซึ่งแม้ว่าจะมีรายละเอียดที่ค่อนข้างเยอะ แต่หากเราเข้าใจแล้วจะทำให้ทราบในเบื้องต้นว่ามือถือรุ่นนั้นๆ มีสเปกอยู่ในระดับใด และตอบโจทย์การใช้งานเราหรือไม่ ทีมงานหวังว่า Guideline นี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจในสมาร์ทโฟนทุกท่านนะครับ สำหรับวันนี้ต้องขอตัวลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สวัสดีครับ

 

นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com


วันที่ : 30/12/2563

Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy