หน้าแรกมือถือ > รวมข่าวมือถือ > หน้าบทความ ข่าวมือถือ
   
Date : 29/1/2561

รู้จักกับระบบกล้องคู่ (Dual-Camera) บนสมาร์ทโฟน มีทั้งหมดกี่รูปแบบ แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร?

 

นอกเหนือจากดีไซน์หน้าจอเต็มพื้นที่แบบ 18:9 หรือ Full View ที่ถูกนำไปใช้บนสมาร์ทโฟนอย่างแพร่หลายแล้ว ในปัจจุบันมือถือหลายต่อหลายรุ่นต่างก็เลือกติดตั้งระบบกล้องคู่ (Dual-Camera) เพื่อเป็นฟีเจอร์ชูโรงด้วย ไม่ว่าจะเป็นมือถือระดับกลางไปจนถึงมือถืิอระดับเรือธง แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าสมาร์ทโฟนจะมาพร้อมกับกล้องคู่เหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วระบบภายในอาจมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ขึ้นอยู่ว่ากล้องตัวที่สองที่ติดตั้งเพื่อเสริมประสิทธิภาพของกล้องตัวหลักนั้น มีการเลือกใช้เลนส์ หรือเซ็นเซอร์รับภาพแบบใด ซึ่งส่งผลไปจนถึงความสามารถในการถ่ายภาพแต่ละรูปแบบด้วย

ดังนั้นในวันนี้ทางทีมงาน Thaimobilecenter จะพาทุกท่านไปรู้จักกับระบบกล้องคู่แต่ละรูปแบบ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร และสามารถทำอะไรได้บ้าง หากพร้อมแล้ว ไปติดตามกันเลยครับ

 

กล้องตัวที่สองแบบ Depth Sensor

มาเริ่มกันที่ระบบกล้องคู่แบบพื้นฐานกันก่อน โดยระบบนี้กล้องตัวหลักจะทำงานควบคู่กับกล้องตัวรองที่เป็นเซ็นเซอร์รับภาพแบบ Depth Sensor ซึ่งทำหน้าที่คอยตรวจวัดระยะด้านหน้าแบบ 3 มิติ พร้อมกับคอยตรวจสอบว่า วัตถุต่างๆ ที่อยู่ด้านหน้านั้น มีระยะห่างจากกันมากน้อยเพียงใด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้สำหรับแยกตัวแบบออกจากแบ็คกราวเพื่อสร้างระยะชัดตื้น (Depth of field) คล้ายๆ กับกล้อง DSLR อย่างไรก็ดี ด้วยความที่กล้องมือถือนั้นมีขนาดเซ็นเซอร์ และเลนส์ที่เล็กกว่ากล้อง DSLR เป็นอย่างมาก ทำให้การสร้างระยะชัดตื้นอาจไม่สามารถทำได้เทียบเท่ากับกล้อง DSLR มากนัก ดังนั้นระบบกล้อง Depth Sensor จะทำหน้าที่ตรวจจับขอบของตัวแบบที่อยู่ด้านหน้า จากนั้นจะทำการเบลอส่วนที่ไม่ใช่ขอบที่อยู่ด้านหลัง เพื่อสร้าางภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอที่หลายท่านรู้จักกันนั่นเอง

แม้จะฟังดูเป็นระบบที่ค่อนข้างมีความน่าสนใจ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากเป็นการถ่ายภาพแผ่นป้ายเหมือนกับรูปด้านบน ระบบ Depth Sensor จะเริ่มเผยให้เห็นจุดอ่อนแล้ว ด้วยการเบลอส่วนขอบบนแผ่นป้ายไปด้วย เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของการวัดระยะระหว่างวัตถุกับฉากหลังที่ค่อนข้างห่าง นอกจากนี้การเบลอฉากหลังยังไม่ค่อยเป็นธรรมชาติมากเท่าที่ควร ต่างจากกล้อง DSLR ที่จะมีการไล่ระดับความเบลอตามระยะห่างของฉากหลังกับวัตถุที่มีผู้ถ่ายจับจุดโฟกัส ทำให้ภาพที่ได้ดูมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า

สำหรับระบบกล้องคู่ในรูปแบบดังกล่าวเคยได้รับความนิยมในอดีตกับรุ่น HTC One m8 ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2014 โดยในปัจจุบันก็ยังคงมีมือถือที่ใช้ระบบกล้องคู่แบบ Depth Sensor ให้เห็นบ้างประปราย อย่างเช่น Honor 6X หรือ Lenovo K8 Plus

 

กล้องตัวที่สองแบบ Monochrome

ระบบกล้องคู่ที่เลือกใช้กล้องตัวที่สองเป็นแบบ Monochrome หรือเซ็นเซอร์รับภาพขาวดำ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งระบบที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยระบบนี้กล้องทั้งสองตัวจะมีการเลือกใช้เซ็นเซอร์รับภาพ, รูรับแสง, เลนส์ และระบบโฟกัสภาพที่เหมือนกันทั้งคู่ แต่จุดที่แตกต่างกันตรงที่ เซ็นเซอร์รับภาพของกล้องตัวที่ 2 จะขาดฟิลเตอร์ RGB ซึ่งนั่นหมายความว่ากล้องตัวที่สองจะไม่สามารถเก็บภาพสีได้ แต่ก็มีประโยชน์ตรงที่สามารถเก็บแสงได้มากกว่า เนื่องจากไม่มีฟิลเตอร์คอยบล็อกตัวเซ็นเซอร์เหมือนกล้องตัวหลักนั่นเอง

สำหรับการทำงานของระบบนี้ กล้องทั้งสองตัวจะนำภาพที่เก็บได้มาผสานรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว จะช่วยให้ภาพที่ได้มีรายละเอียดมากขึ้น รวมถึงช่วยลด Noise มากกว่าเดิม หรือหากผู้ใช้ต้องการเก็บภาพจากกล้อง Monochrome เพียงตัวเดียวก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้ภาพที่ได้มีคุณภาพมากกว่าภาพสีเล็กน้อย

ตัวอย่างสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบนี้ที่เราเห็นได้ชัดนั่นก็คือ สมาร์ทโฟนตระกูล P และ Mate จากค่าย Huawei ในรุ่น P9 Series , P10 Series , Mate 9 Series และ Mate 10 Series ที่เลือกใช้เซ็นเซอร์รับภาพสี RGB + เซ็นเซอร์รับภาพขาวดำ Monochrome รวมไปถึงมือถือของแบรนด์ลูกอย่าง Honor และสมาร์ทโฟนจาก Nokia อย่าง Nokia 8

 

กล้องตัวที่สองแบบ Wide-Angle

สำหรับสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบนี้เป็นลำดับแรกๆ นั่นก็คือ LG G5 ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2016 โดยกล้องของ LG G5 นั้น แบ่งออกเป็นกล้องตัวหลักความละเอียด 16 ล้านพิกเซล ทางยาวโฟกัส 29 มม. รูรับแสงกว้าง f/1.8 ส่วนกล้องตัวรองมาพร้อมกับความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ทางยาวโฟกัส 12 มม. รูรับแสงกว้าง f/2.4 ซึ่งด้วยการที่กล้องตัวที่สองมาพร้อมกับทางยาวโฟกัส 12 มม. นี่เอง (ทางยาวโฟกัสตัวเลขยิ่งน้อย องศาภาพจะยิ่งกว้าง) ทำให้ LG G5 สามารถเก็บภาพวิวทิวทัศน์ด้านหน้าได้กว้างกว่าปกติ โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องถอยหลังออกมาแต่อย่างใด รวมทั้งยังมีประโยชน์ในเรื่องของการเก็บภาพในมุมมองแปลกๆ ที่ไม่ค่อยได้เห็นมากนักด้วย

ระบบกล้องคู่แบบ Wide-Angle จะถูกใช้งานกับสมาร์ทโฟนจากค่าย LG เป็นส่วนมาก แต่ก็มีสมาร์ทโฟนบางรุ่น บางแบรนด์ที่เริ่มใช้ระบบนี้บ้างแล้วเช่นเดียวกัน อย่างเช่น Moto X4 มือถือระดับกลางรุ่นล่าสุดจากค่าย Moto เป็นต้น  อย่างไรก็ดี กล้องคู่แบบ Wide-Angle มีจุดที่ต้องพิจารณาอยู่เล็กน้อย เนื่องจากในรุ่น LG G5 และ LG V20 นั้น ภาพที่ได้จากกล้องตัวที่สองซึ่งเป็นเลนส์ Ultra Wide-Angle เกิดอาการบิดเบี้ยว (Distortion) ที่บริเวณขอบของภาพคล้ายกับถ่ายด้วยกล้อง Go Pro แต่ทาง LG ก็ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในรุ่น LG V30 เรือธงตัวล่าสุดก็ได้มีการแก้ไขให้เกิดอาการบิดเบี้ยวน้อยลงกว่าเดิมแล้ว

 

กล้องตัวที่สองแบบ Telephoto

ระบบนี้ถือว่าเป็นระบบที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ด้วยการเลือกติดตั้งกล้องตัวที่สองแบบ Telephoto ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่สามารถซูมเพื่อไปเก็บวัตถุที่อยู่ไกลๆ ได้แบบไม่สูญเสียรายละเอียด และมีความคมชัดมากกว่าการซูมภาพแบบ Digital Zoom บนสมาร์ทโฟนทั่วๆ ไป


ตัวอย่างภาพที่ได้จากการซูมด้วยเลนส์ Telephoto 

นอกเหนือจากการเก็บภาพซูมแล้ว เลนส์แบบ Telephoto ยังเหมาะกับการนำไปถ่ายภาพบุคคลหรือภาพ Portrait เนื่องจากภาพที่ได้จะไม่ค่อยปรากฏอาการบิดเบี้ยวมากนัก เมื่อเทียบกับเลนส์ Wide-Angle นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นในเรื่องของการถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอ เนื่องจากเลนส์ Telephoto สามารถเก็บข้อมูลระยะชัดตื้นระหว่างตัวแบบกับฉากหลังคล้ายกับระบบ Depth Sensor ได้ด้วย ทำให้การตัดขอบ รวมถึงการเบลอฉากหลังค่อนข้างเนียนตา และดูเป็นธรรมชาติ

อย่างไรก็ดี จุดที่น่าสังเกตของระบบกล้องคู่ในรูปแบบนี้นั่นก็คือ กล้องตัวที่สองค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพต่างจากกล้องตัวหลักพอสมควร ซึ่งจะเห็นได้จาก iPhone 7 Plus ที่กล้อง Telephoto นั้นมีขนาดรูรับแสงที่ f/2.8 ส่วนกล้องหลังมารพร้อมกับรูรับแสงกว้างถึง f/1.8 นอกจากนี้ กล้องตัวที่สองก็ไม่มี OIS (ระบบป้องกันภาพสั่นไหว ติดตั้งมาให้ด้วย ซึ่งแม้ในรุ่น iPhone X เรือธงรุ่นล่าสุด จะติดตั้ง OIS มาให้ในกล้อง Telephoto แล้ว แต่ขนาดของรูรับแสงยังคงห่างกับกล้องตัวหลักอยู่เช่นเดิม รวมไปถึง Samsung Galaxy Note 8 ที่กล้องตัวที่สองมีขนาดรูรับแสงแคบกว่ากล้องตัวหลักด้วยเช่นเดียวกัน และด้วยขนาดรูรับแสงที่ต่างกันนี่เอง ทำให้การถ่ายภาพ Portrait ในสภาวะแสงน้อย ทำได้ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากรูรับแสงของกล้องค่อนข้างแคบ ทำให้เก็บแสงได้ไม่เพียงพอ

 

อย่างไรก็ตาม ระบบกล้องคู่ที่กล่าวไปด้านต้นต่างก็มีจุดเด่นกันคนละแบบ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้เองด้วยว่า โดยปกติแล้วชื่นชอบในการถ่ายรูปประเภทใดเป็นหลัก แต่ในปีนี้เราเริ่มเห็นกระแสข่าวของมือถือกล้อง 3 ตัวอย่างเช่น Huawei P11 (หรือ P20) และกล้อง 5 ตัวบน Nokia 10 กันบ้างแล้ว ซึ่งไม่แน่ว่าทั้งสองสิ่งนี้อาจเป็นมาตรฐานใหม่ที่เข้ามาแทนที่ระบบกล้องคู่ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็เป็นได้ครับ

 

ที่มา : GSMArena

 


วันที่ : 29/1/2561

Tags :
  

Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy