7 เทคนิคถ่ายรูปอาหารด้วยมือถือให้ดูดีน่ากิน แชร์ลงโซเชียลแล้วเพื่อนหิวตาม!
ปัจจุบันนี้การถ่ายรูปอาหารจานเด็ด และแชร์ลงบนโลกโซเชียล กลายเป็นงานอดิเรกของใครหลายๆ คนไปแล้ว และอุปกรณ์ในการแชะแล้วแชร์ก็จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากสมาร์ทโฟนคู่ใจ อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจรู้สึกว่ารูปอาหารที่ถ่ายเองนั้น ดูไม่สวยงามน่ากินเหมือนของจริงที่วางอยู่บนโต๊ะ และไม่ดึงดูดสายตาเอาเสียเลย แต่ก็อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะในวันนี้เรามีเทคนิคถ่ายรูปอาหารด้วยมือถือขั้นพื้นฐาน มาให้ทุกคนได้ลองนำไปใช้กันครับ
1. เน้นแสงธรรมชาติ
แสงคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการถ่ายรูป และแสงที่ดีที่สุดคือแสงจากธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ไฟเสริมในการถ่ายรูปอาหาร เพราะจะทำให้สีสันของอาหารผิดเพี้ยนไป หากเป็นไปได้ แนะนำให้นั่งโต๊ะข้างหน้าต่างเพื่ออาศัยแสงแดดจากนอกร้านในการถ่ายภาพ จะช่วยให้อาหารดูน่ากินที่สุดครับ
2. เรียนรู้การใช้งานจุดตัด 9 ช่อง
สำหรับมือใหม่หัดถ่าย อาจจะยังไม่รู้จักหลักการจัดองค์ประกอบภาพด้วย “จุดตัด 9 ช่อง” เทคนิคนี้เป็นเทคนิคพื้นฐานที่ใช้กับการถ่ายรูปได้ทุกประเภท โดยจะใช้เส้นแบ่งภาพออกเป็น 3 ส่วนทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ออกเป็น 9 ส่วนเท่าๆ กัน และจะตัดกัน 4 จุด ซึ่งทั้ง 4 จุดนี้เองที่เป็นจุดสนใจหลักของภาพ และเป็นจุดที่ทำให้ตัวแบบโดดเด่นที่สุด ถ้าได้ฝึกใช้จนชำนาญจะช่วยให้ภาพถ่ายของเราดูน่าสนใจมากขึ้นทีเดียว
สมาร์ทโฟนเกือบทุกรุ่นสามารถเปิดจุดตัดเก้าช่องบน viewfinder ได้ในหน้าการตั้งค่า บางรุ่นอาจเรียกฟีเจอร์นี้ว่า “ตาราง” หรือ “เส้น” บางรุ่นอาจมีแบบอื่นอย่างเส้นแสดงสัดส่วนทองให้เลือกใช้งานด้วย แต่อาจจะใช้ยากไปหน่อยสำหรับมือใหม่
3. อย่าใช้แฟลช
บางครั้งบรรยากาศภายในร้านอาหารอาจจะมืดไปสักหน่อยสำหรับการถ่ายรูป แต่ไม่ว่ายังไงก็ไม่แนะนำให้ใช้แฟลช เพราะนอกจากจะรบกวนลูกค้าคนอื่นในร้านแล้ว แสงแฟลชยังทำให้ภาพดูแข็ง และทำให้สีสันของอาหารดร็อปลง ดูไม่เป็นธรรมชาติ และไม่น่ากิน หากบรรยากาศมืดเกินไป ให้ชดเชยแสงด้วยการปรับ ISO หรือ Exposure แทนจะดีกว่า
4. ถ่ายมุมท็อป
เทคนิคง่ายๆ ที่ทำให้รูปถ่ายอาหารดูดีขึ้น คือการถ่ายมุมบนแบบ top-down พยายามถ่ายให้เห็นทั้งจาน ระวังอย่าถ่ายใกล้เกินไป อาจเหลือพื้นที่รอบๆ จานในการวางพร็อพ เพื่อช่วยให้ภาพเล่าเรื่องได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้การถ่ายแบบ top-down ยังทำให้การจัดวางองค์ประกอบภาพง่ายขึ้นด้วย
5. หลีกเลี่ยงการซูม
แม้การซูมจะเป็นฟังก์ชันพื้นฐานที่กล้องสมาร์ทโฟนทุกรุ่นต้องมี แต่จริงๆ แล้วมันไม่จำเป็นต่อการถ่ายรูปสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะการซูมแบบดิจิทัล เพราะการซูมแบบดิจิทัลจะทำให้ภาพแตก และยังทำให้ภาพไวต่อการสั่นของมือมากขึ้น หากต้องการถ่ายแบบ close-up จริงๆ ให้ขยับเข้าไปใกล้ๆ แทนการซูมจะดีที่สุด
7. ถ่ายหลายๆ รูปถ้าทำได้
หลายครั้งที่เราคิดว่ารูปถ่ายของเราสวยแล้ว แต่เมื่อเปิดดูอีกทีกลับพบว่าภาพไม่คม, แสงไม่พอดี หรือมีสิ่งแปลกปลอมติดเข้ามาในเฟรม จะกลับไปถ่ายใหม่อีกรอบก็ไม่ได้แล้ว ทำให้เราเสียรูปนั้นไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ก็ควรถ่ายเผื่อไว้หลายๆ รูป และลองเปลี่ยนมุมถ่ายหลายๆ มุมดู เราอาจจะได้พบมุมเจ๋งๆ ที่คาดไม่ถึงก็ได้ครับ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับเทคนิคพื้นฐานในการถ่ายรูปอาหารด้วยสมาร์ทโฟนให้ดูสวยงามน่ากินยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ การถ่ายรูปก็ถือเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยการฝึกฝนให้ชำนาญ จึงต้องเรียนรู้ และให้เวลากับมันสักหน่อย จึงจะได้ผลลัพธ์ที่สวยงามดั่งที่ใจต้องการครับ
นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com
วันที่ : 2/11/2564
