close
 

ตอนนี้คุณอยู่ที่ >> หน้าแรก >> หน้ารวม บทความโทรศัพท์มือถือน่าสนใจ >> ชิปเซ็ตกับ RAM อะไรทำให้สมาร์ทโฟนเร็วกว่ากัน? ไขข้อข้องใจเรื่องการทำงานของชิปเซ็ต และ RAM บนมือถือ พร้อมวิธีเลือกให้ตรงใจที่สุด!


ชิปเซ็ตกับ RAM อะไรทำให้สมาร์ทโฟนเร็วกว่ากัน? ไขข้อข้องใจเรื่องการทำงานของชิปเซ็ต และ RAM บนมือถือ พร้อมวิธีเลือกให้ตรงใจที่สุด!


สิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งในตัวของมนุษย์ที่มีความซับซ้อน และเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์อยู่เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ ก็คือ "สมอง" เพราะสมองของมนุษย์มีระบบการทำงานที่หลากหลาย, ซับซ้อน และประมวลผลด้วยความรวดเร็วกว่าการกระพริบตาเสียอีก นอกจากนี้ สมองของมนุษย์ยังเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ มากมาย ทั้งเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ที่เราพบเห็นกันได้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะนวัตกรรมอย่าง "สมาร์ทโฟน" ที่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของเราไปอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่มีมันสมองไว้ใช้งาน เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะอย่างสมาร์ทโฟนก็จำเป็นต้องมีสมองของตนเองสำหรับรับคำสั่ง และแสดงผลตามความต้องการของมนุษย์ด้วย และมันสมองซึ่งเป็นส่วนสำคัญของสมาร์ทโฟนนั้นถูกเรียกว่า "ชิปเซ็ตประมวลผล"

แม้ว่าชิปเซ็ตประมวลผลจะเป็นส่วนประกอบสำคัญมากสำหรับสมาร์ทโฟน ซึ่งสามารถเทียบกับมันสมองของมนุษย์ได้ แต่ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ "ความจำ" ซึ่งความจำของสมาร์ทโฟนที่ทำงานควบคู่ไปกับชิปเซ็ตก็คือ หน่วยความจำแรม (RAM) ซึ่งส่วนประกอบทั้งสองส่วนนี้จะเรียกว่าทำงานแยกออกจากกันหรือไม่ก็ไม่เชิง แต่ก็ไม่ถือเป็นสิ่งเดียวกัน ทำให้ผู้ใช้หลายๆ คนที่ไม่สันทัดทางด้านเทคโนโลยีเกิดความสับสนขณะมองดูรายละเอียดสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ว่า "แล้วอะไรที่ทำให้เครื่องเร็วกว่ากัน?" วันนี้ทีมงาน Thaimobilecenter จึงจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ "ชิปเซ็ตประมวลผล" และ "หน่วยความจำแรม (RAM)" ว่าอุปกรณ์ทั้งสองอย่างที่เปรียบเสมือนแกนหลักในการทำงานของสมาร์ทโฟนในปัจจุบันนั้น ทำงานอย่างไร และอะไรที่ทำให้สมาร์ทโฟนของเราใช้งานได้ลื่นไหลไม่สะดุด ถ้าหากพร้อมแล้วก็ขอเชิญทุกท่านติดตามชมไปพร้อมกันได้เลยครับ

 

ชิปเซ็ตประมวลผล (Processor) คืออะไร?


ชิปเซ็ตประมวลผล หรือ หน่วยประมวลผล (ในบทความนี้จะสื่อถึงการใช้งานบนสมาร์ทโฟนเท่านั้น) เป็นอุปกรณ์สำหรับรับคำสั่งแล้วนำไปประมวลผลให้ทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นตามความต้องการของผู้ใช้ เช่น การเปิดกล้อง, การโทรศัพท์, การเข้าแอปพลิเคชัน ฯลฯ ซึ่งหน่วยประมวลผลนี้ถือเป็น "สมอง" ของสมาร์ทโฟน เพราะการใช้งานทุกอย่างแม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ต้องผ่านการกลั่นกรองจากหน่วยประมวลผลก่อนทั้งสิ้น หรือในอีกทางหนึ่งหน่วยประมวลผลก็คืออุปกรณ์ผู้ซื่อสัตย์ที่คอยรับคำสั่งเจ้านายไปปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดโดยไม่สามารถปฏิเสธได้นั่นเอง

 

Quad-Core หรือ Octa-Core คืออะไร?

ส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของหน่วยประมวลผลก็คือ แกนประมวลผล (Core) ที่มีหน้าที่หลักคือ การรับชุดคำสั่งจากผู้ใช้ แล้วนำไปปฏิบัติตาม ถ้าหากชิปเซ็ตรุ่นนั้นมีแกนประมวลผลเยอะ ก็ยิ่งใช้งานได้หลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ แกนประมวลผลในแต่ละแกนจะมีความเร็วในการประมวลผลที่แตกต่างกันออกไปด้วย โดยในปัจจุบันเรามักจะพบเห็นการระบุจำนวนแกนประมวลผลด้วยคำเหล่านี้ คือ Quad-Core (4 แกน), Hexa-Core (6 แกน), Octa-Core (8 แกน) และ Deca-Core (10 แกน) โดยจำนวนแกนยิ่งเยอะก็ยิ่งทำงานได้มากขึ้น ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบง่ายๆ คือ สมมติแกนประมวลผลจำนวน 6 แกน (Hexa-Core) เป็นหุ่นยนต์ของเราจำนวน 6 ตัว เราสามารถสั่งให้หุ่นยนต์ตัวที่หนึ่งไปเปิดโทรทัศน์, สั่งให้หุ่นตัวที่สองไปทำความสะอาดบ้าน, สั่งให้หุ่นตัวที่สามไปหยิบของกิน ฯลฯ ในเวลาพร้อมๆ กันได้ และถ้าหากแกนไหนมีความเร็วในการประมวลผลสูงๆ เช่น 2.0GHz ก็เหมือนการสั่งให้หุ่นยนต์ตัวนั้นไปทำงานในความเร็วระดับสูงนั่นเอง

 

จำนวน Core เยอะกว่าก็ต้องเร็ว และแรงกว่าจริงหรือไม่?


ถ้าหากเปรียบเทียบในระดับความเร็วการประมวลผลเท่ากันที่ 1.0GHz และเป็นแกนรุ่นเดียวกัน การที่มีจำนวนแกนประมวลผลเยอะกว่า ช่วยให้สามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบมากกว่าเท่านั้น เช่น แกนที่ 1 กำลังใช้งาน web browsing อยู่ ขณะที่แกนที่สองก็แสตนบาย เมื่อมีโทรศัพท์เข้า แกนประมวลผลตัวที่สองก็ทำหน้าที่กับส่วนโทรศัพท์ทันที เป็นต้น ดังนั้นการที่จำนวนแกนเยอะกว่าไม่ได้เป็นเพิ่มความเร็วในการใช้งานแต่อย่างใด เปรียบเทียบได้กับ แกนประมวลผลจำนวน 4 แกน กับ 8 แกน เป็นรถส่งของจำนวน 4 คัน และ 8 คัน ที่ทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 100 กม./ชม. คนที่มีรถ 8 คันก็สามารถไปส่งของ และรับของกลับได้หลายที่มากกว่าคนที่มีรถ 4 คันนั่นเอง

แต่ในปัจจุบันนี้ เราจะดูแต่จำนวน Core เพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เพราะชิปเซ็ตบางรุ่นแม้มีจำนวน Core ที่น้อยกว่า แต่มาพร้อมความเร็วที่มากกว่าเป็นเท่าตัว เช่น ชิปเซ็ต Snapdragon 821 ที่เปิดตัวในช่วงกลางปี 2016 ใช้งานแกนประมวลผลเพียง 4 แกน (Quad-Core) แต่มาพร้อมความเร็วสูงถึง 2.4GHz ถ้าหากนำไปเทียบกับชิปเซ็ต 8 แกน (Octa-Core) ที่มีความเร็วประมาณ 1.5GHz ก็เหมือนรถ 4 คันที่วิ่งด้วยความเร็วระดับ 240 กม./ชม. กับรถ 8 คันที่วิ่งด้วยความเร็ว 150 กม./ชม. มาแข่งวิ่งรับของแบบไปกลับในระยะทางที่เท่ากัน ซึ่งแม้ว่าจำนวนรถ 4 คันจะน้อยกว่า แต่มีความเร็วที่เหนือกว่ามาก แม้การเทียบกับความเร็วของรถยนต์จะดูห่างกันไม่มาก แต่ในความเป็นจริงการส่งข้อมูลดิจิทัลเช่นนี้มีการส่งสัญญาณไปกลับมากกว่าล้านครั้งต่อวินาทีเสียอีก ดังนั้นแม้ว่าความเร็วจะต่างกันเพียง 0.9GHz ก็ถือว่าห่างกันมากเลยทีเดียว

 

RAM ทำงานต่างจากชิปเซ็ตอย่างไร?


อย่างที่กล่าวในตอนต้นว่าชิปเซ็ตประมวลผลมีหน้าที่เป็น "สมอง" ของสมาร์ทโฟน หน่วยความจำแรม (RAM) ก็เปรียบเสมือน "ระบบความจำ" ของมนุษย์ แต่พิเศษกว่าตรงที่ว่ามันสามารถทำหลายๆ อย่างได้พร้อมกัน โดยการทำงานของแรมก็คือ เมื่อผู้ใช้เปิดแอปพลิเคชันใดๆ ก็ตามขึ้นมาหนึ่งโปรแกรม ตัวโปรแกรมนั้นจะถูกโหลดเข้าไปสู่หน่วยความจำแรม จากนั้นเมื่อผู้ใช้ปิดแอปพลิเคชัน ตัว RAM ก็จะเก็บ และพักข้อมูล ณ จุดที่ผู้ใช้กดออกเอาไว้ เมื่อผู้ใช้กลับเข้ามาใช้งานแอปพลิเคชันเดิมอีกครั้งก็จะสามารถใช้งานต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องโหลดโปรแกรมใหม่ตั้งแต่ต้น ซึ่งจำนวนแอปพลิเคชันที่สามารถพักไว้ใน RAM ได้ก็ขึ้นอยู่ความจุของ RAM และตัวแอปพลิเคชันเองว่าต้องการใช้งานหน่วยความจำแรมสำหรับพักข้อมูลเป็นขนาดเท่าใด

จะเห็นว่าการทำงานของชิปเซ็ต และแรมนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะชิปเซ็ตทำหน้าที่ประมวลผล ส่วนแรมทำหน้าที่มอบพื้นที่ให้โปรแกรมใช้ประมวลผล, เข้าถึงข้อมูล หรือพักการใช้งาน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ แรมไม่สามารถประมวลผลได้เอง ได้แต่ส่งต่อข้อมูลให้กับชิปเซ็ตเท่านั้น แต่แม้ว่าการทำงานของ "ชิปเซ็ต" และ "แรม" จะแตกต่างกัน แต่ทั้งสองก็ยังต้องใช้งานร่วมกัน จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะแรมถือเป็นส่วนประกอบหลักสำหรับการใช้งานแบบ Multitasking ของสมาร์ทโฟนเลยทีเดียว

ข้อมูลเพิ่มเติม - (บทความ) RAM นั้นสำคัญไฉน? มือถือ RAM ใหญ่จุใจถึง 8GB ดีกว่า RAM 4GB จริงหรือไม่? สมาร์ทโฟนที่ดีควรมีหน่วยความจำแรม (RAM) ขนาดเท่าใดจึงจะใช้งานได้ลื่นไหลที่สุด พบคำตอบได้ที่นี่!

 

แล้วชิปเซ็ตกับ RAM อะไรทำให้สมาร์ทโฟนเร็วแรงมากกว่ากัน?


หากว่ากันตามตรงแล้ว สมาร์ทโฟนจะเร็ว และแรงได้ก็ต้องมีชิปเซ็ตที่ดี และ RAM ที่เหมาะสมไว้ใช้งานร่วมกัน แต่บางครั้งการจับคู่ชิปเซ็ตกับ RAM ของสมาร์ทโฟนบางรุ่นก็ไม่เอื้ออำนวยให้ใช้งานได้เร็วแรงเท่าใดนัก เช่น การใช้งานชิปเซ็ตความเร็ว 1.8GHz ก็ถือว่าเป็นความเร็วที่พอใช้ได้ แต่กลับมีหน่วยความจำแรม (RAM) เพียง 2GB ที่ค่อนข้างเล็ก ซึ่งในปัจจุบันแอปพลิเคชันต่างๆ ใช้พื้นที่แรมค่อนข้างมาก ทำให้แรมเต็มอย่างรวดเร็ว ซึ่งต่อให้ชิปเซ็ตประมวลผลได้เร็วเพียงใดแต่ถ้าหากแรมมีขนาดเล็กเกินไป หรือแรมไม่พอส่งข้อมูลให้ประมวลผลก็ทำให้เครื่องช้าได้

เช่นเดียวกันกับการจับคู่แบบแรม 3-4GB กับชิปเซ็ตความเร็วประมาณ 1.3-1.4 GHz ถึงแม้แรมจะมีขนาดใหญ่ แต่ชิปเซ็ตมีความเร็วการประมวลผลที่ค่อนข้างจะช้า (สำหรับมาตรฐานในปัจจุบัน) ก็ทำให้การใช้งานดูไม่สมดุลเท่าใดนัก ดังนั้น การจับคู่ที่ดีที่ช่วยให้สมาร์ทโฟนใช้งานได้ลื่นไหล ไม่ติดขัด ทั้งชิปเซ็ต และแรมก็ควรจะต้องสอดคล้องกัน ทำให้การใช้งานไปด้วยกันได้ด้วย

 

สรุป

สมาร์ทโฟนที่ใช้งานได้ดี โดยมีประสิทธิภาพที่เร็ว และแรงนั้น เป็นผลมาจากการจับคู่ชิปเซ็ตประมวลผล และหน่วยความจำแรม (RAM) ที่สอดคล้องกัน ตัวชิปเซ็ตเองต้องประมวลผลได้รวดเร็ว และแรมก็ต้องมีขนาดใหญ่มากพอที่จะส่งข้อมูลให้กับชิปเซ็ตได้อย่างต่อเนื่องด้วย โดยการจับคู่ชิปเซ็ตกับแรมที่ดีในความคิดของผู้เขียนอาจสรุปได้ ดังนี้

- กลุ่มสมาร์ทโฟนเรือธง และระดับ Mid-High ควรมีชิปเซ็ตประมวลผลความเร็วระดับ 1.9GHz ขึ้นไป + หน่วยความจำแรม (RAM) ขนาด 4-6GB
- กลุ่มสมาร์ทโฟนระดับกลางควรมีชิปเซ็ตประมวลผลความเร็วระดับ 1.5-1.9GHz + หน่วยความจำแรม (RAM) ขนาด 3-4GB
- กลุ่มสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้นควรมีชิปเซ็ตประมวลผลความเร็วระดับ 1.3-1.5GHz + หน่วยความจำแรม (RAM) ไม่ควรน้อยกว่าขนาด 2GB

และสำหรับท่านใดที่กำลังมองหาสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่อยู่ในขณะนี้ ทางทีมงานก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยเป็นข้อมูลเบื้องต้น และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับท่านผู้อ่านได้นะครับ สำหรับวันนี้ทีมงาน Thaimobilecenter ต้องขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สวัสดีครับ

 

นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com



วันที่ : 27/7/60


  แสดงความคิดเห็นที่นี่
ชื่อผู้โพสต์  (สมาชิกlogin ที่นี่) / สมัครสมาชิก
*
รายละเอียด
*

 
           Tags | More Smiles
ใส่ปี พ.ศ. ปัจจุบัน   ใส่เฉพาะปี พ.ศ. 4 ตัวเท่านั้น  
 


mk14  (Guest)
 
 ความคิดเห็นที่ 3 Quote



 โพสต์เมื่อ 14/09/2018  เวลา 11:08      โหวตให้   โหวตลบ  

mm  (Guest)
 
 ความคิดเห็นที่ 2 Quote
พอจะทราบไหมครับว่ามี chipset 6, 8, 10 core รุ่นไหนบ้างที่ทุก core มี clock เท่ากัน และออกแบบมาให้ทำงานพร้อมกันบ้างครับ

แล้วถ้า 2 core ไม่ได้เร็ว(มีประสิทธิภาพมากกว่า) ทำไมคะแนน benchmark ถึงออกมาต่างกันครับ

เรื่อง 4 core 2.4GHz เทียบกับ 8 core 1.5GHz ถ้าเทียบง่าย ๆ คือ
- 4 คัน x 240 km/h = 960 คัน-km/h
- 8 คัน x 150 hm/h = 1200 คัน-km/h
แบบนี้ octa-core ไม่เร็วกว่าหรอครับ

 โพสต์เมื่อ 28/07/2017  เวลา 07:43      โหวตให้   โหวตลบ  










Thailand Web Stat

    Catalog มือถือ     market     Review มือถือ      ราคามือถือ     forum
Catalog มือถือ
Catalog มือถือ Nokia
Catalog มือถือ Samsung
Catalog มือถือ SonyEricsson
Catalog มือถือ i-mobile
Catalog มือถือ LG
Catalog มือถือ BlackBerry
ลงประกาศสินค้ามือถือ
สมัครสมาชิก
หน้าแรกตลาดซื้อขายมือถือ
 
หน้าแรกรีวิว
รีวิว มือถือ Nokia
รีวิว มือถือ Samsung
รีวิว มือถือ Motorola
รีวิว มือถือ LG
 

ราคามือถือ Samsung
ราคามือถือ iPhone
ราคามือถือ Huawei
ราคามือถือ OPPO
ราคามือถือ Vivo
   
   
หน้าแรก cafe
Nokia club
ตั้งหัวข้อใหม่
 

© Copyright all rights reserved : ThaiMobileCenter.com