ถ้าใครได้ติดตามวงการมือถือมานาน คงพอจะทราบกันดีว่าเทคโนโลยี WAP ที่ออกมาช่วงแรกๆ นั้น ทุกฝ่ายคาดว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่น่าจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่แล้วก็ไม่เป็นตามคาด เนื่องจากช่วงนั้นการส่งข้อมูลผ่านระบบ SMS หรือ OTA (Over The Air) ก็เพียงพอแล้วกับความต้องการกับการดาวน์โหลดโลโก้กราฟฟิกแบบธรรมดา หรือริงโทนแบบ Monophonic แต่ด้วย Content ที่ถูกพัฒนาให้มีลูกเล่นมากขึ้นในปัจจุบันทำให้การส่งผ่านข้อมูลแบบเดิมๆ ไม่เพียงพอเสียแล้ว เนื่องจากมีความซับซ้อนและรายละเอียดมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว ดังนั้น WAP จึงเข้ามามีบทบาทในภารกิจนี้ เพื่อช่วยในการรับ-ส่งข้อมูลต่างๆ ให้มาปรากฏเป็นรูปร่างหน้าตาบนหน้าจอมือถือแทน ซึ่งนับว่าเป็นความสะดวกสำหรับผู้ใช้ที่ต้องการใช้บริการประเภท Non-Voice เป็นอย่างมาก คราวนี้ ไม่ว่าคุณจะดาวน์โหลดโลโก้ ริงโทน หรือแม้กระทั่วตัวอย่างหนัง ข่าวสถานการณ์รอบโลก เพลง หรือจะเป็นไฟล์คาราโอเกะมาร้องอวดเพื่อน ก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย

ทำความรู้จักกับ WAP
WAP ย่อมาจากคำว่า Wireless Application Protocal เป็นเทคโนโลยีที่สามารถทำให้โทรศัพท์มือถือหน้าจอเล็กๆ ของคุณสามารถเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้โดยตรง ทำให้คุณสามารถทำอะไรได้หลากหลายเสมือนกับคุณใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน Browser เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาสืบค้นข้อมูล หรือการใช้บริการต่างๆ ของ WAP Site และที่สำคัญที่สุดคือ คุณสามารถทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ทุกที่ทุกเวลาตราบใดที่ยังมีสัญญาณมือถือหรือสัญญาณ GPRS อยู่นั่นเอง
ความแตกต่างระหว่าง WAP Site กับ WEB Site
ถ้าพูดกันในเรื่องของระบบการทำงานของ WAP Site (เข้าถึงโดยผ่านโทรศัพท์มือถือ) กับ WEB Site (เข้าถึงโดยผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์) นั้นค่อนข้างคล้ายกัน แต่การสร้าง WAP Site ขึ้นมานั้นไม่ได้ใช้ภาษา HTML เหมือนกับการสร้าง WEB Site แต่จะใช้ภาษา WML แทน ทั้งนี้เนื่องจากโทรศัพท์มือถือมีข้อจำกัดเรื่องทรัพยากร ต่างกับเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างมาก เช่นขนาดของหน่วยความจำภายใน ความรวดเร็วในการประมวลผล ความเร็วในการโหลดข้อมูล และที่สำคัญคือขนาดและสีสันของหน้าจอแสดงผลที่ต่างกันอย่างมาก
ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง WAP Site และ WEB Site
|
WAP Site |
WEB Site |
Page Format |
WML |
HTML |
Dynamic Script |
WMLScript |
JavaScript |
Images&Graphics |
WBMP |
JPG,GIF |
Network Protocal |
WSP |
HTTP | |
องค์ประกอบของการใช้บริการ WAP
บริการ WAP จะเกิดขึ้นได้ด้วย 3 ส่วนหลักๆ ดังนี้
1. WAP Phone : หมายถึงเครื่องโทรศัพท์มือถือที่รองรับการใช้งาน WAP หรือพูดง่ายๆ คือมี WAP Browser อยู่นั่นเอง ซึ่งมันจะใช้สำหรับเปิดดู WAP Site คล้ายๆ กับการเปิด WEB Site ด้วยโปรแกรม Browser ในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไป ซึ่งในปัจจุบัน WAP Browser รุ่นใหม่ๆ ที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือระดับ High-End ก็ถูกพัฒนาให้สามารถแสดงผลได้ใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับ WEB Browser ในเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว
2. WAP Server : เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงเครื่องหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเก็บข้อมูลต่างของ WAP Site เอาไว้ เช่น WAP Page เพื่อรอการเรียกดูจากผู้เข้าชม ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับ WEB Server นั่นเอง
3. WAP Gateway : ถือเป็นแกนกลางหรือตัวกลางในการเชื่อมต่อของระบบ WAP เนื่องจาก WAP Gateway เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำงานเป็นตัวกลางสำหรับการรับ-ส่งคำร้องขอ (Request) ระหว่าง WAP Phone กับ WAP Server หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องมี WAP Gateway เป็นตัวกลาง ทั้งนี้ก็เนื่องจากโทรศัพท์มือถือนั้นทำงานอยู่ในเครือข่ายแบบไร้สาย แต่ทว่า WAP Server นั้นทำงานอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเครือข่ายทั้งสองเป็นคนละระบบกัน ดังนั้นจึงต้องอาศัย WAP Gateway เป็นตัวกลางเชื่อมการทำงานระหว่างสองระบบนี้ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

รู้จักกับ GPRS ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ Mobile Internet (การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ) ในช่วงเริ่มแรกนั้นไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ก็เห็นจะเป็นความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล ซึ่งเริ่มแรกจะใช้ระบบ CSD (Circuit Switched Data) ที่ให้ความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลสูงสุดเพียง 9.6 Kbps และการใช้งานก็จะเสียค่าบริการค่อนข้างสูงเนื่องจากคิดค่าบริการเป็นนาทีเหมือนการใช้โทรปกติ ซึ่งผู้ใช้ก็รู้สึกได้ว่าข้อมูลหรือบริการที่ได้มาไม่คุ้มค่ากับรายจ่ายที่เสียไป ดังนั้นต่อมาทางผู้ให้บริการจึงได้คิดค้นระบบใหม่ขึ้นมาให้มีความเร็วเพิ่มขึ้นคือระบบ HSCSD (High-Speed Circuit Switch Data) ที่ให้ความเร็วมากขึ้นเป็น 28.8-57.6 Kbps แต่ทว่าก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้กระแสการใช้งาน WAP ตื่นตัวขึ้นมาได้ และแล้วจนกระทั่งประมาณปลายปี 2544 ก็ได้มีผู้กอบกู้สถานการณ์นามว่า GPRS (General Packet Radio Service) เข้ามาช่วยปลุกผี Mobile Internet อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหลายคนยังสับสนว่า GPRS นั้นคือเทคโนโลยีใหม่ที่มาแทนเทคโนโลยี WAP หรืออย่างไร ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว GPRS เป็นเทคโนโลยีประเภทเดียวกันกับ CSD หรือ HSCSD ซึ่งเป็นตัวช่วยในการรับ-ส่งข้อมูลบนเครือข่ายมือถือ ซึ่ง GPRS มีความเร็วพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 40 Kbps (ในทางทฤษฎีอาจจะรับ-ส่งข้อมูลได้เร็วถึง 172.2 Kbps) ในขณะที่ WAP นั้นก็ไม่ได้พัฒนาอะไรเพิ่มเติมมากนัก
ข้อดีของเทคโนโลยี GPRS
1. เชื่อมต่อตลอด 24 ชั่วโมง (Always-on) : คือหลังจากที่ทำการตั้งค่าเครื่องเพื่อให้สามารถใช้งาน GPRS ได้แล้ว คุณก็สามารถเชื่อมต่อกับระบบ Mobile Internet ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ยังสามารถใช้งานโทรเข้าโทรออกได้ตามปกติไปพร้อมๆ กัน
2. ประหยัดค่าบริการ : แม้ว่าจะมีคนแย้งว่าก็ไม่ได้ประหยัดซักเท่าไหร่ แต่ถ้าเทียบกับระบบเดิมที่ใช้กันมา ไม่ว่าจะเป็นการใช้งาน WAP ด้วยระบบ CSD หรือ HSCSD ก็จะเห็นว่าประหยัดกว่ามาก เนื่องจากการคิดค่าบริการของ GPRS จะคิดตามจำนวนข้อมูลที่ทำการรับ-ส่งเท่านั้น (ส่วนมากคิดเป็น Kbyte) ซึ่งต่างจากเดิมที่คิดค่าบริการเป็นนาทีต่อนาที ดังนั้นผู้ใช้บริการจึงรับภาระในการจ่ายค่าบริการเท่าจำนวนการรับ-ส่งข้อมูลที่ใช้จริงๆ เท่านั้น
3. รับ-ส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น : ด้วยความเร็วมาตรฐานของ GPRS ที่เพิ่มขึ้นเป็น 40 Kbps ทำให้การเชื่อมต่อ รับ-ส่งข้อมูลต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรวดเร็วมากขึ้น และยังสามารถรองรับบริการรูปแบบใหม่ๆ ได้หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลพวงให้ตัวเครื่องมือถือเองมีการพัฒนาคุณสมบัติให้รองรับกับการใช้งานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอที่ใหญ่และมีสีสันมากขึ้น หรือการรองรับแอพพลิเคชันและเกมส์ต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมากด้วยภาษา Java เป็นต้น

GPRS Class คืออะไร
หลายคนอาจจะสงสัยเวลาดูคุณสมบัติบัติของมือถือที่ มีระบุไว้ว่า GPRS Class 10 บ้าง หรือ Class 8 บ้าง ตัวเลขของ Class เหล่านี้แตกต่างกันอย่างไร และมันบ่งบอกอะไรบ้าง มาดูกัน
GPRS Class นั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะของมือถือแต่ละรุ่น ซึ่งเอาไว้บอกถึงความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลสูงสุดที่มือถือเครื่องนั้นสามารถทำได้ ซึ่งการเขียนบอก Class ของมือถือนั้นมีอยู่ 2 แบบคือ
- แบบแรกจะบอกเลยว่ามือถือเครื่องนั้นเป็น GPRS ที่อยู่ใน Class ไหน ซึ่งปกติแล้วจะมีอยู่ทั้งหมด 12 Class (1-12) โดยดูง่ายๆ คือ ถ้า Class ยิ่งมาก ความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปนั่นเอง เช่น Class 10 ก็จะให้ความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลสูงกว่า Class 8 - แบบที่สองคือบอกเป็นจำนวนของ Time-Slot โดยก่อนอื่นที่คุณควรทราบคือใน 1 ความถี่ของระบบ GSM จะมีทั้งหมด 8 Time-Slot ซึ่งในการโทรเข้าโทรออกปกติจะใช้เพียงแค่ 1 Time-Slot เท่านั้น (ต่อ 1 หมายเลข) ซึ่งความสามารถในการรับข้อมูล (DownLink) และการส่งข้อมูล (UpLink) จะเขียนอยู่ในรูปของตัวเลขที่นำมาบวกกันเช่น 3+1 หรือ 4+2 ซึ่งเลขตัวแรกคือ DownLink ส่วนเลขตัวหลักคือ UpLink นั่นเอง
ตารางแสดงค่า GPRS แบบ Multi-Slot (Class 1-12)
Class |
Downlink Slot |
Uplink Slot |
Active Slot |
1 |
1 |
1 |
2 |
2 |
2 |
1 |
3 |
3 |
2 |
2 |
3 |
4 |
3 |
1 |
4 |
5 |
2 |
2 |
4 |
6 |
3 |
2 |
4 |
7 |
3 |
3 |
4 |
8 |
4 |
1 |
5 |
9 |
3 |
2 |
5 |
10 |
4 |
2 |
5 |
11 |
4 |
3 |
5 |
12 |
4 |
4 |
5 | |
ตัวอย่างเช่น หากในคุณสมบัติระบุไว้ว่า GPRS 4+2 (DownLink=4, UpLink=2) ก็จะเทียบได้กับ GPRS Class 10 นั่นเอง
ค่า Active Slot สำคัญอย่างไร ?
ค่า Active Slot นั้นสำคัญไม่แพ้ค่าอื่น เพราะมันคือค่าที่แสดงจำนวน Time Slot ที่ GPRS Class นั้นๆ สามารถใช้ได้สูงสุดในเวลาหนึ่งๆ สำหรับการทำการรับและส่งข้อมูลไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นลองมาดูกันที่ Class 10 จะเป็นได้ว่าสามารถรับข้อมูล (DownLink) ได้สูงสุด 4 Slot และส่งข้อมูล (Uplink) ได้สูงสุด 2 Slot ซึ่งรวมกันแล้วเป็น 6 Slot แต่ทว่าเมื่อมาดูที่ Active Slot จะเห็นว่ามีเพียงแค่ 5 เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องมีการเลือกว่าจะให้ความสำคัญกับการรับข้อมูลหรือการส่งข้อมูลมากกว่ากันแค่ไหน โดยที่รวมกันแล้วต้องมีค่าไม่เกิน 5 Slot (จำนวน Active Slot) เช่นถ้าอยากเน้นให้กับการรับข้อมูล ก็อาจจะตั้งค่าให้เป็น 4+1 หรือถ้าหากอยากให้ความสำคัญกับการส่งข้อมูลมากขึ้นก็อาจจะตั้งเป็น 3+2 เป็นต้น ซึ่งการตั้งค่าเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการเครือข่ายแต่ละเครือข่าย ซึ่งอาจจะกำหนด GPRS Slot ไว้ไม่เท่ากัน อาจจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ให้บริการ ความหนาแน่นของผู้ใช้งานบริเวณพื้นที่นั้น เป็นต้น ซึ่งการพิจารณาการให้ Time-Slot เหล่านี้ ผู้บริการจะคำนึงถึงความคุ้มค่าและความเหมาะสมเป็นสำคัญ
ตารางเปรียบเทียบเทคโนโลยีการรับ-ส่งข้อมูลของมือถือจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
|
CSD |
HSCSD |
GPRS |
Speed |
9.6 Kbps |
28.8 - 57.6 Kbps |
40.2 - 172.2 Kbps |
Connection |
Dial Up |
Dial Up |
เชื่อมต่อได้ทันทีโดยไม่ต้อง Dial Up |
Service Paid |
คิดค่าบริการเป็นนาที |
คิดค่าบริการเป็นนาที |
คิดค่าบริการตามจำนวนการรับ-ส่งข้อมูล
| |
เครื่องคุณพร้อมสำหรับการใช้งาน WAP & GPRS หรือยัง
ในการที่คุณจะสามารถใช้บริการ WAP ได้นั้น จำเป็นจะต้องแจ้งความประสงค์เพื่อเปิดใช้บริการไปทางผู้ให้บริการเครือข่ายที่คุณใช้อยู่เสียก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เครื่องของคุณมีการตั้งค่าที่ถูกต้องพร้อมใช้งานต่อไป เช่น Dial-up Number, IP Address, Homepage, Gateway, Port Number (WAP Gateway), Connection Type (ISDN, Analogue) เป็นต้น และด้วยการที่มือถือแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อมีรูปแบบเฉพาะของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน ทำให้บางครั้งการตั้งค่าอาจจะยุ่งยากสำหรับผู้ใช้มือใหม่ ดังนั้นการตั้งค่าเครื่องควรจะติดต่อกับผู้ให้บริการของคุณโดยตรงจะดีที่สุด
การติดต่อกับผู้ให้บริการเพื่อตั้งค่าเครื่องเพื่อใช้บริการ WAP
ทั่วไปแล้ว การตั้งค่าเครื่องของคุณเพื่อใช้บริการ WAP สามารถทำได้ 2 แบบคือติดต่อผ่านเจ้าหน้าที่โดยตรง หรือลงมือทำตามขั้นตอนด้วยตัวเองผ่านทางเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ ซึ่งผู้ให้บริการแต่ละรายจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. AIS (ผ่านเจ้าหน้าที่) : โทรไปที่ AIS Call Center หมายเลข 1175 2. AIS (ผ่านเว็บไซต์) : เข้าไปที่เว็บไซต์ www.mobilelife.co.th -> เลือกเมนู Mobile Setting -> เลือกรูปแบบการตั้งค่า ซึ่งรูปแบบการตั้งค่ามี 2 ประเภทดังนี้ 2.1 แบบ Manual : จะพบเมนูย่อย 3 เมนูคือ GPRS, WAP และ PDA หากมือถือของคุณรองรับระบบ GPRS ก็ให้เลือก GPRS แต่ถ้าไม่รองรับก็ให้เลือกที่ WAP แทน 2.2 Over The Air (OTA) : ให้ทำการระบุหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ต้องการเปิดใช้บริการ และเลือกรุ่นและยี่ห้อให้ถูกต้อง (สำหรับมือถือยี่ห้อ Nokia และ Sony Ericsson สามารถกด *119 และโทรออกจากเครื่องเพื่อตั้งค่าเครื่องได้) 3. DTAC (ผ่านเจ้าหน้าที่) : โทรไปที่ DTAC Call Center หมายเลข 02-202-7000 4. DTAC (ผ่านเว็บไซต์) : เข้าไปที่เว็บไซต์ www.djuice.co.th -> เลือกเมนู Setting -> เลือกประเภทการตั้งค่า โดยจะมี 2 ประเภทดังนี้ 4.1 Phone (แบบอัตโนมัติ/Automatic) : เลือกรุ่นและยี่ห้อมือถือของคุณ และเลือกรูปแบบการตั้งค่าคือ CSD, GPRS หรือ MMS จากนั้นระบุหมายเลขที่ต้องการตั้งค่า เมื่อเสร็จแล้วให้กด Submit 4.2 Phone (แบบกำหนดเอง/Manual) : เลือกไปยังมือถือรุ่นและยี่ห้อที่ต้องการ จากนั้นหน้าจอจะแสดงวิธีการตั้งค่าให้คุณทำตามด้วยตัวเอง (หรืออาจจะเข้าไปที่ www.dtac.co.th ในเมนูบริการสุดฮิตที่คำว่า GPRS และหาหัวข้อ GPRS Phones ซึ่งในนั้นจะมีการสอนวิธีการตั้งค่าของมือถือแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ) 5. Orange (ผ่านเจ้าหน้าที่) : โทรไปที่ Orange Call Center หมายเลข 1331 6. Orange (ผ่านเว็บไซต์) : เข้าไปที่เว็บไซต์ www.orange.co.th -> เลือกเมนูสินค้าและบริการ -> เลือกเมนูออเร้นจ์มัลติมีเดีย -> เลือกเมนูการตั้งค่าการใช้บริการ WAP -> เลือกมือถือรุ่นและยี่ห้อตามต้องการ
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการตั้งค่าใช้งาน WAP และ GPRS
- หากมือถือของคุณไม่มีรายชื่ออยู่ในรายการของรุ่นและยี่ห้อที่มีไว้ ให้ติดต่อโดยตรงไปที่ Call Center ของผู้ให้บริการเครือข่ายหรือศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือโดยตรงแทน โดยคุณสามารถดูหมายเลขติดต่อได้ที่หน้าแรก (Home) ของเว็บไซต์ Thaimobilecenter.Com แห่งนี้ - สำหรับการตั้งค่าแบบ Phone (Automatic) ของ DTAC จะมีลักษณะคล้ายกับการตั้งค่าแบบ OTA (Over The Air) ของ AIS - การตั้งแบบ OTA (Over The Air) หรือแบบอัตโนมัติ ระบบจะส่งข้อความ Short Message มาที่มือถือของคุณ จากนั้นให้คุณเปิดอ่านและเก็บบันทึก (Save) เอาไว้ จากนั้นเครื่องมือถือของคุณก็จะทำการตั้งค่าต่างๆ สำหรับการใช้บริการให้คุณทันทีแบบอัตโนมัติ ซึ่งนับว่าเป็นความสะดวกและง่ายดายอย่างหนึ่ง - สำหรับการใช้งาน Mobile Internet ของระบบ Hutch นั้นก็สามารถทำได้โดยการกดที่ปุ่ม Hutch Key ได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องตั้งค่าอะไรเพิ่มเติม - Package บางชนิด (เช่นแบบบัตรเติมเงิน) หรือระบบเครือข่ายบางระบบ (เช่น GSM 1800) ยังไม่สามารถรองรับบริการ Mobile Internet ได้ หากคุณต้องการใช้บริการ Mobile Internet โปรดสอบถามและศึกษาข้อมูลของแต่ละ Package ให้ละเอียดก่อนตัดสินใจ รวมถึงเงื่อนไขการให้บริการต่างๆ อีกด้วย
สรุปส่งท้าย
ในปัจจุบัน บริการจำพวก Non-Voice และดาวน์โหลดต่างๆ เข้ามามีบทบาทกับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากขึ้นกว่าเดิมแบบก้าวกระโดด มี WAP Site และ WEB Site ให้บริการประเภทนี้ผุดขึ้นมาอย่างมากมาย ซึ่งฝ่ายของคุณซึ่งเป็นผู้ใช้คนหนึ่งก็ได้รับผลดีคือความหลากหลายของบริการที่มีให้คุณได้เลือกสรรค์อย่างจุใจ และราคาที่ถูกลงเนื่องจากการแข่งขันที่ดุเดือด แต่ทว่าหากคุณใช้บริการอย่างสนุกสนานไร้ขีดจำกัดเกินความพอดี ผลที่ตามมาอาจจะทำให้คุณต้องนั่งกลุ้มใจภายหลังก็เป็นได้
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม Oska (Thaimobilecenter Editor)
***บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของเว็บไซต์ Thaimobilecenter.Com หากผู้ใดต้องการนำไปเผยแพร่เรายินดีครับ กรุณาติดต่อทางบรรณาธิการโดยตรง ([email protected]) ขอบคุณครับ : )
วันที่ : 27/05/47
|