Philips Fisio 822 Focus
& Review
Overview

กลับมาอีกครั้งสำหรับ Philips ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ที่นานๆ
ครั้งจะแนะนำผลิตภัณฑ์พร้อมนวัตกรรมใหม่ๆ
ให้เราได้ยลโฉมกัน โดยในครั้งนี้ Philips
ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่วงการมือถือด้วย
Philips Fisio822 โทรศัพท์มือถือจอสี 4,096
สี รองรับภาษาไทย สามารถรับ/ส่งอี-เมล์ได้
มีระบบสั่งงานด้วยเสียง รองรับ GPRS , WAP
พร้อมด้วยดีไซน์ปุ่มกดแหวกแนวกับเมนูแบบ carousel
ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของโทรศัพท์ในตระกูล
Fisio และนอกเหนือจากดีไซน์ที่โดดเด่นแล้วสิ่งที่ต้องทำให้สายตาของผู้สนใจมือถือจอสีทุกคู่ต้องเหลียวมามองก็คือ
ราคาเปิดตัวที่ถูกสุดๆ เพียง 54xx บาท เท่านั้น
เรียกได้ว่าคนที่กำลังสนใจอยากเปลี่ยนมาใช้โทรศัพท์หน้าจอสีพลาดโอกาสนี้ไม่ได้เลยทีเดียวครับ
Physical Aspect

Look and Feel เมื่อมองดูรูปร่างภายนอกของ
Fisio 822 คุณอาจไม่เห็นความแตกต่างกับ Fisio
820 ที่ออกมาก่อนหน้านี้เกือบปีเลยแม้แต่น้อย
ทั้งการวางปุ่มกด และรูปร่างของตัวเครื่อง
แต่มีเพียงสิ่งเดียวที่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจน
คือขนาดที่เล็กลงค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ใช้สามารถพกพาและใส่กระเป๋าได้อย่างไม่เกะกะ
จุดเด่นประการหนึ่งที่คุณจะรู้สึกได้เมื่อได้สัมผัสกับตัวจริงของ
Fisio 822 ก็คือความโค้งมน และรูปแบบการใช้งานที่สอดคล้องกลมกลืนกันตลอดทั้งเครื่อง
ตั้งแต่การใช้เมนูแบบวงแหวน การผสมปุ่มควบคุมทิศทางลงในปุ่มตัวเลข
และการแสดงสีสันของภาพกราฟิกประกอบเมนูต่างๆ
อันทำให้ความรู้สึกจากการใช้งาน Fisio822
แตกต่างจากโทรศัพท์มือถือเครื่องอื่นอย่างสิ้นเชิง
และมีสไตล์ของตัวเองที่ไม่เหมือนใคร

Alphanumeric key หลังจากที่ Philips
ได้พัฒนาโทรศัพท์ในตระกูล Fisio ตั้งแต่รุ่น
820 ให้สามารถใช้ปุ่มตัวเลขแทนปุ่มสี่ทิศ
โดยการใช้โปรแกรมจำลองและสลับโหมดการทำงานระหว่างโหมดการพิมพ์ธรรมดา
กับโหมด Browse ทำให้ปุ่มตัวเลข 2 / 4 /6
/ 8 กลายเป็นปุ่ม "บน" / "ซ้าย"
/ "ล่าง" / "ขวา" และปุ่ม
5 เป็นปุ่ม ยืนยัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปุ่มสี่ทิศธรรมดากับการจำลองปุ่มสี่ทิศด้วยปุ่มกดของ
Fisio 822 จะพบว่าปุ่มของ Fisio 822 มีข้อดีที่สามารถขยายปุ่มให้ใหญ่ขึ้นมาก
และไม่กินเนื้อที่ส่วนอื่นของโทรศัพท์ เพียงแต่การใช้งานในช่วงแรกๆ
อาจรู้สึกติดขัดไม่น้อยและต้องใช้ระยะเวลาปรับตัวให้ชินกับการใช้งานสักพักใหญ่ๆ
และนอกจากปุ่มสีทิศที่แปลกกว่ามือถือรายอื่นแล้ว
เมื่อมองไปยังแถบของปุ่มควบคุมด้านบนก็จะพบว่าโทรศัพท์รุ่นนี้ไม่มีปุ่มรับสายโดยเฉพาะ
แต่จะใช้ปุ่มซอฟท์คีย์แทนการรับสาย อีกทั้งปุ่มวางสาย
(สีแดง) ยังใช้เป็นปุ่มเรียกเมนูอีกด้วย นอกเหนือจากนี้ยังมีปุ่มซอฟท์คีย์ปุ่มที่
3 ที่อยู่ตรงกลางซึ่งทำหน้าที่ยืนยันเมนูต่างๆ
โดยเฉพาะ ซึ่งถ้าหากคุณไม่เคยใช้โทรศัพท์ของ
Phlips มาก่อนรับรองเลยว่าทั้งปุ่มซอฟท์คีย์
ปุ่มวางสาย และปุ่มควบคุมทิศทางจะทำให้คุณงงจนกดไปไหนไม่ถูกระยะหนึ่งอย่างแน่นอน
แต่ในทางกลับกันถ้าหากได้ศึกษาให้ดีและใช้จนเคยชินแล้วคุณจะพบกับความสะดวกของปุ่มดังกล่าวมาก
เพราะสามารถเลือกใช้ทั้งจากการจำลองปุ่มสี่ทิศด้านล่าง
หรือจะใช้ปุ่มควบคุมด้านบนก็ได้ครับ

Hotkey นอกจากการพัฒนาโปรแกรมจำลองปุ่มตัวเลขให้เป็นปุ่มสี่ทิศแล้ว
Philips ยังได้พัฒนาโปรแกรมให้ผู้ใช้สามารถกำหนดปุ่ม
2-9 ให้เป็นปุ่มลัดเข้าเมนูต่างๆ ในเครื่องที่ใช้บ่อย
หรือจะกำหนดให้เป็นปุ่มโทรด่วนไปยังหมายเลขที่บันทึกไว้ในสมุดโทรศัพท์ก็ได้
และสำหรับปุ่มหมายเลข 0 ยังสามารถใช้เป็นปุ่มสลับภาษาซึ่งช่วยให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้นในการพิมพ์ข้อความหรือเปลี่ยนภาษาในเมนู
และทีเด็ดของ Philips Fisio822 ก็คือการสกรีนอักษรภาษาไทยไว้บนปุ่มกดโดยตรง
ซึ่งจัดหมวดหมู่ได้ดีมาก สามารถพิมพ์ข้อความภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว
เพราะมีการแยกสระกับวรรณยุกต์ไว้ในปุ่ม #
เพียงปุ่มเดียวครับ

4,096 colors display ในบรรดาโทรศัพท์มือถือหน้าจอสีระดับ
4,096 สี ส่วนใหญ่แล้วจะมีราคาระดับใกล้ๆ
หลักหมื่น หรือมากกว่าหนึ่งหมื่นบาทขึ้นไป
แต่สำหรับ Philips Fisio822 กลับมีราคาต่ำเพียงครึ่งหมื่นเท่านั้น
ซึ่งถูกกว่ามือถือจอขาว-ดำบางรุ่นด้วยซ้ำ
อีกทั้งคุณภาพของหน้าจอยังอยู่ในระดับค่อนข้างดีมาก
มีความละเอียดสูง สามารถถ่ายทอดสีได้ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน
ในส่วนของขนาดพื้นที่การแสดงผล ด้วยขนาดของหน้าจอ
112 x 112 พิกเซล สามารถแสดงข้อความได้มากถึง
7 บรรทัดเลยทีเดียวครับ

Carousel menu style รูปแบบเมนูของ
Fisio 822 นั้นแปลกกว่าโทรศัพท์มือถือทั่วไปค่อนข้างมาก
โดยจะใช้เมนูแบบวงแหวนที่เป็นเอกลักษณ์ของ
Philips หรือที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า
carousel ซึ่งจะเรียงเมนูเป็นวงกลมเหมือนวงแหวนพร้อมภาพไอคอนเคลื่อนไหวสวยๆ
ประกอบในทุกเมนูย่อย และเมนูหลัก สามารถสลับภาษาเป็นเมนูภาษาไทย
ทำให้ง่ายต่อการเข้าใจของผู้ใช้มากขึ้น โดยผู้ใช้สามารถเลื่อนไปยังส่วนต่างๆ
ของเมนูได้โดยใช้ปุ่มตัวเลข 4 และ 6 แทนการเลื่อนซ้าย-ขวา
และปุ่ม 5 แทนการยืนยัน กล่าวโดยรวมแล้วถึงแม้รูปแบบการแสดงผลเมนูของ
Fisio 822 จะไม่เหมือนโทรศัพท์ยี่ห้ออื่นแต่ก็มีการใช้งานที่ไม่แตกต่างกันมากนัก
เพียงแต่จะต้องเรียนรู้วิธีการใช้งานและลองใช้ให้คล่องเท่านั้นครับ
All Features
253 KB. memory หน่วยความจำมาตรฐานภายในเครื่องสำหรับจัดเก็บ
นัดหมาย รายชื่อในสมุดโทรศัพท์ แถบเสียง ตลอดจน
รูปภาพ ของ Fisio 822 มีขนาด 253 กิโลไบต์
ซึ่งหน่วยความจำนี้จะถูกแบ่งกันใช้ระหว่างแอพพลิเคชั่นดังกล่าว
นั่นหมายความว่าถ้าหากเราใช้หน่วยความจำกับแอพพลิเคชั่นใดมาก
ก็จะเหลือหน่วยความจำสำหรับแอพพลิเคชั่นอื่นน้อยลงด้วยเช่นกัน
แต่ด้วยลักษณะของการแบ่งกันใช้เช่นนี้จะทำให้เราสามารถใช้พื้นที่หน่วยความจำได้เกิดประโยชน์สูงสุด
และดีกว่าเมื่อเทียบกับการจองพื้นที่หน่วยความจำแบบเก่า
เพียงแต่ขนาดพื้นที่ 253 กิโลไบต์ค่อนข้างจะน้อยและไม่เพียงพอต่อการเก็บภาพ
เพราะเพียงเกม Brick ที่ติดตั้งมาในเครื่องก็กินพื้นที่ไปกว่า
70% แล้วครับ

Phonebook สมุดโทรศัพท์ของ Fisio
822 จะแบ่งการใช้งานออกจากกันอย่างเด็ดขาดระหว่างรายชื่อในซิมการ์ด
และรายชื่อที่จัดเก็บในหน่วยความจำของเครื่อง
โดยไม่สามารถดึงข้อมูลจากหน่วยความจำทั้งสองแห่งมาแสดงพร้อมกันได้
ซึ่งเราจะมาพิจารณากันถึงสมุดโทรศัพท์ประเภทหลังนี้เป็นหลัก
สำหรับการจัดเก็บรายชื่อลงในหน่วยความจำของเครื่องนั้นจะสามารถบันทึกได้สูงสุด
299 รายการ แต่ทั้งนี้ การที่จะบันทึกได้ถึง
299 รายการ เราจะต้องมีพื้นที่หน่วยความจำส่วนกลางเหลือเพียงพอและต้องไม่บันทึกนัดหมายลงในออแกไนเซอร์
เพราะแอพพลิเคชั่นสองส่วนนี้จะแบ่งกันใช้พื้นที่ขนาด
299 รายการ โดยการบันทึกรายชื่อและเบอร์ติดต่อลงในหน่วยความจำของเครื่องนี้
แต่ละรายชื่อจะสามารถเก็บรายละเอียดได้ 6
หมายเลข พร้อมโน๊ตย่อและอี-เมล์แอดเดรส นอกจากนี้ยังสามารถจัดกลุ่มรายชื่อออกเป็นกลุ่มต่างๆ
ได้ 10 กลุ่ม เพื่อแยกเสียงเรียกเข้า และกำหนดภาพกราฟิกประจำกลุ่มให้แตกต่างกันเมื่อบุคคลในกลุ่มนั้นโทรเข้ามา
มองโดยรวมในแง่ของความสามารถจัดว่าคุ้มค่ามากสำหรับโทรศัพท์ราคาเท่านี้
แต่ถ้ามองในแง่ของการใช้งานจะพบข้อเสียของการจำลองปุ่มตัวเลขเป็นปุ่มสี่ทิศ
ซึ่งทำให้การค้นหารายชื่อจากอักษรนำใน Fisio
822 ต้องกดสลับโหมดไปมาระหว่างโหมด Browse
กับ Search เพื่อเปลี่ยนความหมายของการกดปุ่มตัวเลขระหว่าง
การเลื่อนขึ้นลง กับการพิมพ์ตัวอักษรครับ
EMS + E-mail client นอกเหนือไปจากความสามารถในการรับ-ส่งข้อความสั้น
(SMS) แบบธรรมดาแล้ว Fisio 822 ยังสามารถส่งรูปไอคอนกว่า
66 ภาพไปกับข้อความตามมาตรฐานข้อความแบบ EMS
ได้ และที่เหนือกว่านั้นคือสามารถรับอี-เมล์แบบ
POP3 ได้ในตัว ซึ่งเราสามารถใช้เป็นช่องทางสำหรับการดาวน์โหลดภาพกราฟิกมาทำเป็นภาพพื้นที่หน้าจอได้อีกด้วย
แต่ทั้งนี้ขนาดของอี-เมล์แต่ละฉบับต้องไม่เกิน
7 กิโลไบต์จึงจะสามารถดาวน์โหลดไฟล์ที่แนบมาใช้งานในเครื่องได้
ในส่วนของความสามารถด้านภาษาไทยก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ากัน
โดย Fisio 822 ได้พัฒนาให้มีระบบการพิมพ์ข้อความภาษาไทยที่ง่ายดายด้วยการแยกสระและวรรณยุกต์ออกจากพยัญชนะไว้ในปุ่มเดียวคือปุ่ม
# เมื่อเรากดปุ่มนี้ในขณะพิมพ์ข้อความ โทรศัพท์จะแสดงแผนผังสระและวรรณยุกต์ขนาดใหญ่ให้เลือกใช้คล้ายกับระบบการพิมพ์ข้อความภาษาไทยของโนเกียนั่นเองครับ
Monophonic melody เป็นที่น่าเสียดายสำหรับ
Fisio 822 ที่เกือบจะดีพร้อมทุกประการแต่ยังขาดเสน่ห์ด้านเสียงเรียกเข้า
ที่สมัยนี้โทรศัพท์ส่วนใหญ่จะหันมาใช้เสียงดนตรีเรียกเข้าเสมือนจริงแบบ
Polyphonic กันเกือบหมดแล้ว แต่ Fisio 822
ยังคงเลือกใช้เสียงดนตรีเรียกเข้าแบบดั้งเดิม
(Monophonic) โดยมาพร้อมกับเพลงมาตรฐาน 30
เพลง และสามารถดาวน์โหลดเพิ่มเติมได้ผ่านทาง
WAP browser หรือผ่านระบบ SMS ซึ่งอันที่จริงแล้วถ้าไม่ยึดติดว่าจะต้องตามยุคตามสมัย
เสียงเรียกเข้าแบบดั้งเดิมนี้ก็ให้ความชัดเจนและได้ยินได้ไกลกว่าเสียงเรียกเข้าแบบ
Polyphonic ด้วยซ้ำไปครับ
7 Profile เราจะเห็นได้ว่า Philips
ได้พยายามทำให้โทรศัพท์ของตนใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน
ด้วยการพยายามใช้ภาพกราฟิกสื่อความหมายในเมนูต่างๆ
และทางด้านการเรียกเตือนก็ยังมีระบบการตั้งค่าตามสถานการณ์
หรือที่เรียกว่าโพรไฟล์ (Profile) อีก 7 รูปแบบ
เช่น โหมดประหยัดพลังงานสำหรับใช้ในยามแบตเตอรี่ใกล้หมด
และโหมดใช้งานนอกสถานที่สำหรับในสถานที่ที่มีเสียงดัง
เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี equaliser สำหรับการปรับความทุ้มและโทนเสียงที่หูฟังขณะสนทนาอีกด้วยครับ
Wallpapers & Screensavers
นอกจาก Fisio 822 จะมีหน้าจอแสดงผลเมนูต่างๆ
เป็นรูปภาพสีสันสวยงามแล้ว ยังสามารถนำภาพ
JPG , GIF และ BMP มากำหนดเป็นภาพพื้นหลังที่หน้าจอขณะ
stand by หรือนำมาทำภาพต่อเนื่องด้วยตนเองเพื่อเป็นภาพพักหน้าจอ
(screensaver) ซึ่งจะแสดงเมื่อเราไม่ได้กดปุ่มใดๆ
ในเครื่องเป็นระยะเวลาหนึ่งครับ โดยภาพเหล่านี้คุณสามารถเรียกใช้ได้จากภาพมาตรฐานในเครื่อง
10 ภาพ แต่ถ้าต้องการภาพเพิ่มเติมก็สามารถใช้วิธีการส่งภาพเข้ามาทางอี-เมล์
หรือถ้าจะให้สะดวกขึ้นก็ใช้สายส่งข้อมูลกับโปรแกรม
image companion ที่แถมมาให้พร้อมสาย ส่งภาพขนาด
112 x 112 พิกเซล เข้าเครื่องโดยตรงครับ
Call list อุปสรรคในการใช้งานเพียงอย่างเดียวของ
Fisio 822 คือการที่เครื่องไม่มีปุ่มเรียกดูบันทึกการใช้สายโดยเฉพาะ
(call list) ซึ่งในมือถือทั่วไปจะใช้ปุ่มรับสายเพื่อดูบันทึกการใช้สายย้อนหลัง
แต่เนื่องจากโทรศัพท์รุ่นนี้ใช้ปุ่มซอฟท์คีย์แทนปุ่มรับสาย
ทำให้การเรียกดูบันทึกการใช้สายแต่ละครั้งต้องเข้าเมนูหลายระดับ
ทางแก้ไขปัญหานี้ของผู้ใช้ก็คือต้องตั้งปุ่ม
Hot key สองปุ่มให้เป็นปุ่มโทรออกไปยังสายที่ได้รับล่าสุด
และอีกปุ่มเป็นปุ่มโทรออกไปยังหมายเลขที่โทรออกครั้งล่าสุด
แต่ถ้าจะดูรายการใช้สายก่อนหน้านั้นจะต้องเข้าเมนูตามลำดับเช่นเคยครับ
ทั้งนี้ Fisio 822 สามารถเก็บบันทึกการใช้สายย้อนหลังได้
30 รายการ พร้อมวันที่และเวลากำกับทุกรายการครับ
3 view calendar ความสามารถทางด้านออแกไนเซอร์หรือระบบจัดการข้อมูลส่วนตัวของ
Fisio 822 มีลูกเล่นที่ไม่แพ้โทรศัพท์แพงๆ
บางรุ่น โดยมาพร้อมกับปฏิทินที่สามารถเปลี่ยนมุมมองได้
3 รูปแบบ คือ ดูนัดหมายในแต่ละวัน , ดูตารางเวลาแบบสัปดาห์
และปฏิทินแบบเดือน พร้อมด้วยระบบบันทึกนัดหมายและระบบเรียกเตือนก่อนถึงนัดหมายตามที่ผู้ใช้ระบุไว้ซึ่งสามารถสร้างได้สูงสุด
299 นัดหมาย (ใช้พื้นที่ร่วมกันกับการบันทึกรายชื่อในสมุดโทรศัพท์)
ซึ่งคุณสามารถสร้างบันทึกได้ 3 รูปแบบคือ
รายการวันหยุด , รายการนัดหมาย และสิ่งที่ต้องทำ
ทั้งในรูปแบบของภาษาไทยและภาษาอังกฤษครับ
Voice Recognition + Voice Memo
ความสามารถด้านการรับคำสั่งเสียงเป็นสิ่งที่โทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่มักจะมีกันอยู่แล้ว
แต่สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษของ Fisio 822
ที่ราคาเพียงห้าพันกว่าบาทกลับสามารถรับคำสั่งเสียงได้มากถึง
40 คำสั่ง ซึ่งผู้ใช้สามารถกำหนดสัดส่วนได้ด้วยตัวเองระหว่างการโทรออกด้วยคำสั่งเสียง
(Voice Dial) และการเข้าเมนูด้วยคำสั่งเสียง
(Voice command) เพราะการใช้งานของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน
นอกจากนี้ยังสามารถบันทึกเสียงได้อีก 1 รายการ
ซึ่งอาจใช้แทนการจดบันทึกขณะใช้สายสนทนา หรือในยามที่เรานึกอะไรออกแต่ไม่สะดวกจดลงกระดาษก็ได้เช่นกันครับ


Data & Connectivity โดยปกติแล้วโทรศัพท์มือถือที่ราคาถูกส่วนใหญ่มักจะขาดความสามารถในส่วนนี้
แต่สำหรับ Fisio 822 คุณสามารถใช้เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์แทนโมเด็มด้วยสายส่งข้อมูล
(data cable) หรือใช้คอมพิวเตอร์ส่งภาพสีเข้ามือถือเพื่อเปลี่ยนภาพพื้นหลังที่หน้าจอก็ได้
นอกจากนี้ยังมี WAP browser ให้คุณได้ค้นหาข้อมูลหรือดาวน์โหลดไฟล์ผ่านระบบ
GPRS อีกด้วยครับ
Extras Feature แอพพลิเคชั่นเพิ่มเติมที่ให้มาในเครื่องได้แก่
นาฬิกาปลุก , เครื่องคิดเลข และโปรแกรมแสดงการใช้งานหน่วยความจำในเครื่องอย่างละเอียด
My Experience

จากประสบการณ์ที่ได้ทดลองใช้ Fisio 822
ในช่วงแรกของการใช้งานนั้น ต้องยอมรับเลยครับว่าขนาดผมเองยังรู้สึกงงๆ
กับเมนูแบบ carousel และการเปลี่ยนโหมดไปมาของปุ่มตัวเลข
แต่พอผ่านไปสักสองวันก็เริ่มชินกับตัวเครื่องมากขึ้นและรู้สึกได้ถึงความคล่องตัวไม่แพ้โทรศัพท์ยี่ห้ออื่นทั่วไป
ยกเว้นเพียงสิ่งเดียวก็คือการใช้ปุ่มซอฟท์คีย์เป็นปุ่มรับสายที่กดได้ไม่ค่อยสะดวกและสับสนกับปุ่มยกเลิก
(ปุ่ม c สีแดงอันใหญ่ๆ ซ้ายมือ) ซึ่งไม่สามารถเรียกดูบันทึกการใช้สายจากหน้าจอโหมด
idle ได้โดยตรง ในส่วนของหน้าจอสีซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าจะดีเหมือนรุ่นแพงๆ
หรือไม่ ซึ่งถ้าจะให้ผมเปรียบเทียบคุณภาพหน้าจอของ
Fisio 822 สีสันสวยงามทัดเทียมกับมือถือระดับบนยี่ห้ออื่น
แต่สีสันยังไม่สดใสและสวยงามเหมือนอย่างมือวางอันดับหนึ่งยี่ห้อซัมซุง
สำหรับการทดสอบระยะเวลาการใช้งานก็พบสิ่งที่น่าทึ่งอีกประการนอกจากราคาขายแล้วก็คือสามารถเปิดเครื่องได้นานถึง
63 ชั่วโมง และในระหว่างนั้นมีการใช้สายทั้งสิ้น
116 นาที สุดยอดมากครับ
สรุป

ในบทสรุปนี้ผมต้องขอยกให้ Philips Fisio
822 เป็นมือถือที่คุ้มค่าที่สุดในขณะนี้ เพราะนอกจากจะมีหน้าจอสีแล้วยังมีความสามารถมากมายเหมือนกับโทรศัพท์รุ่นแพงๆ
เช่น รับ/ส่ง อี-เมล์ ระบบรับคำสั่งเสียง
รองรับ GPRS มีสมุดโทรศัพท์แบบ multi-field
มีออแกไนเซอร์และปฏิทิน 3 มุมมอง นอกจากนี้ยังรองรับการใช้งานภาษาไทยได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ซึ่งทั้งหมดนี้เปิดตัวพร้อมราคาขายห้าพันกว่าบาทที่คุณจะหาไม่ได้บ่อยๆ
และในโอกาสนี้ใครที่กำลังมองหาโทรศัพท์จอสีราคาถูก
สัญญาณดี ลูกเล่นเยอะๆ ไว้ใช้งานสักรุ่นขอแนะนำว่าห้ามพลาดครับ

Strength
|
Weakness
|
- หน้าจอสี 4,096 สี
- รับ/ส่ง อี-เมล์ได้
- มีหน่วยความจำส่วนกลาง
253 KB. สำหรับเก็บภาพและเสียงเรียกเข้า
- รับคำสั่งเสียงได้มากถึง
40 คำสั่ง - แบตเตอรี่อยู่ได้นาน
- รองรับภาษาไทย -
ปฏิทินแบบ 3 มุมมอง -
ราคาขายถูกมาก
|
- หน่วยความจำค่อนข้างน้อย
- เสียงเรียกเข้ายังเป็นแบบดั้งเดิม
- เรียกดูบันทึกการใช้สายลำบาก
|
ข้อมูลโดยรวมทั่วไป
- น้ำหนัก 85 กรัม - ขนาด
98 x 47 x 21 มิลลิเมตร - GSM 900/1800
- หน้าจอ 4,096 สี - เมนูแบบ
Carousel (เป็นวงกลม) - หน่วยความจำส่วนกลางขนาด
253 กิโลไบต์ - สมุดโทรศัพท์ 299
รายชื่อ (6 ประเภทต่อรายชื่อ) -
รับ-ส่งข้อความแบบ SMS/EMS - รับ-ส่งอี-เมล์ได้ในตัว
(POP3/IMAP4/SMTP) - ระบบช่วยสะกดคำT9
ภาษาอังกฤษ - เสียงเรียกเข้าแบบ
monophonic 30 เพลง - ตั้งค่าตามสถานการณ์ได้
7 รูปแบบ - มีโปรแกรม picture album
เปิดดูภาพต่างๆ ในเครื่อง - เปลี่ยนภาพพื้นหลังและภาพพักหน้าจอได้
- ปฏิทิน 3 มุมมองบันทึกได้สูงสุด 299
นัดหมาย - บันทึกเสียงระหว่างสนทนาหรือเสียงทั่วไปได้
1 รายการ - โทรออกด้วยเสียงและสั่งงานด้วยเสียง
40 คำสั่ง - WAP browser 1.2.1
- รับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูงผ่านระบบ
GPRS - นาฬิกาปลุก , เครื่องคิดเลข
- 1 เกมมาตรฐาน Brick - battery
: Li-ion 750 mAh - stand by :
240-336 ชม. - talk time : 160
- 390นาที

รายละเอียดทั้งหมดของเครื่อง
Phone Features |
รุ่น |
Philips fisio822 |
ขนาด |
98 x
47 x 21 |
น้ำหนัก |
85 |
ระบบ |
900/1800 |
หน้าจอ |
4,096
สี |
สมุดโทรศัพท์ |
299
รายชื่อ (10 ประเภทต่อรายชื่อ) |
กลุ่มรายชื่อ |
10
กลุ่ม |
เปลี่ยนภาพพื้นที่หน้าจอ |
ได้ |
เปลี่ยนภาพพักหน้าจอ |
ได้ |
ตารางนัดหมาย |
ปฏิทิน
3 มุมมอง (6 สัปดาห์) |
Picture CLI |
ไม่มี |
การรับ-ส่งข้อมูล |
CSD ,
GPRS |
การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก |
data
cable |
เกม |
1
เกมมาตรฐาน |
แฮนด์ฟรีในตัว |
ไม่มี |
กล้องดิจิตอล |
ไม่มี |
วิทยุ FM |
ไม่ได้ |
ฟังเพลง |
ไม่ได้ |
J2ME |
ไม่มี |
MMS |
ไม่มี |
EMS |
มี |
E-mail |
มี |
WAP browser |
WAP
1.2.1 |
เมนูภาษาไทย |
มี |
อ่านข้อความภาษาไทย |
ได้ |
พิมพ์ข้อความภาษาไทย |
ได้ |
ระบบช่วยสะกดคำภาษาไทย |
ไม่มี |
ระบบช่วยสะกดคำภาษาอังกฤษ |
T9 |
สั่งงานด้วยเสียง |
40
คำสั่ง (shared) |
โทรออกด้วยเสียง |
40
คำสั่ง (shared) |
บันทึกเสียง |
ได้ (1
รายการ) |
profile |
7
รูปแบบ |
เสียงเรียกเข้า |
monophonic 30 เพลง |
โปรแกรมแต่งเสียงเรียกเข้า |
ไม่มี |
โปรแกรมแปลงค่าเงิน |
ไม่มี |
เครื่องคิดเลข |
มี |
นาฬิกาจับเวลา |
ไม่มี |
ระบบสั่น |
มี |
นาฬิกาปลุก |
มี |
เปลี่ยนอุปกรณ์ |
ไม่ได้ |
talk time |
160 -
390 นาที |
stand by |
240-336 ชม. |
อื่นๆ |
หน่วยความจำ 253 กิโลไบต์ |
ราคา |
N/A | 
ขอขอบคุณ เว็บไซต์ www.min4.com
ที่เอื้อเฟื้อเนื้อหาบทความทดสอบ และ รูปภาพ
สำหรับ โทรศัพท์มือถือ รุ่นนี้ และ
คุณกานต์ รังคสิริ เว็บมาสเตอร์ของ
www.min4.com
มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม
Oska (Thaimobilecenter Editor) : [email protected]
:: ไปหน้าแรกเว็บไซต์ Thaimobilecenter
| ไปหน้าแรก
Mobile Focus ::
|