TMC Point

  7.91

การออกแบบดีไซน์

  8.5

ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพ

  8.0

คุณสมบัติเครื่อง

  7.5

ฟังก์ชันการใช้งาน

 8.0

เสถียรภาพและประสิทธิภาพ

  8.0

ความคุ้มค่าต่อราคา

  7.5

 
   

Nokia 6111 The Stylishly Sleek and Compact Focus & Review (21-November-2005)

Nokia 6111 เป็น โทรศัพท์มือถือ โนเกีย ตระกูล Series 40 Platform อีกรุ่นหนึ่ง ที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้ใช้ โทรศัพท์มือถือ อยู่ไม่น้อย ซึ่งขณะที่กำลังทำบทความรีวิวอยู่นี้ คาดว่าของน่าจะเข้ามาตามศูนย์ต่างๆ และพร้อมจะออกวางจำหน่ายในปลายเดือนนี้แล้ว โดยมีราคาเปิดตัวอยู่ที่ประมาณ 12,600 บาท จุดเด่นของ Nokia 6111 นั้นอยู่ที่ความเป็น โทรศัพท์มือถือ แนวแฟชั่นโฟนแบบสไลด์ ที่มีขนาดเล็กกระทัดรัด และมีดีไซน์ที่สวยงาม อีกทั้งยังมีความสามารถที่น่าสนใจอยู่พอตัว เช่น หน้าจอแสดงผลระดับสองแสนหกหมื่นกว่าสี, หน่วยความจำภายในขนาด 23 MB, เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านระบบ EDGE และ GPRS, กล้องดิจิตอลความละเอียด 1 ล้าน Pixels, วิทยุ FM Stereo พร้อม Visual Radio ในตัว, Push-to-Talk และอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อได้เห็นความสามารถหลายๆ อย่างในตัว Nokia 6111 แบบนี้แล้ว หลายท่านคงเริ่มจะสนใจแล้วว่าการใช้งานจริงๆ จะเป็นอย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงขอเชิญทุกท่านลองติดตามบทความรีวิวแบบละเอียดกันต่อได้เลยครับ

อุปกรณ์ที่มีมาให้ในกล่อง

อุปกรณ์มาตรฐานที่มาพร้อม Package มาตรฐานของ Nokia 6111 นั้นก็จะประกอบไปด้วย ตัวเครื่อง, Adapter ชาร์จไฟรุ่น AC-4, แบตเตอรี่แบบ Li-Ion รุ่น BL-4B ขนาดความจุ 700 mAh, หูฟังแบบ Stereo รุ่น HS-23, แผ่นซีดีโปรแกรม PC Suite และคู่มือการใช้งาน


Adapter ชาร์จไฟรุ่น AC-4


หัวแจ็คของ Adapter ชาร์จไฟของ โทรศัพท์มือถือ โนเกีย รุ่นใหม่ๆ หลายรุ่น เปลี่ยนมาใช้หัวแจ็คที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม ดังนั้นในตอนนี้หากจะบอกว่า Adapter ชาร์จไฟของ โนเกีย สามารถใช้ร่วมกันได้ทุกรุ่น ก็คงจะไม่ใช่เสียแล้ว


รูเสียบของ Adapter ชาร์จไฟนั้นอยู่ที่ด้านบนของตัวเครื่อง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่อยู่ใกล้กับ Pop-Port


แบตเตอรี่แบบ Li-Ion รุ่น BL-4B ขนาดความจุ 700 mAh ซึ่งดูแล้วเป็นขนาดความจุที่ไม่มากนัก อย่างไรก็ตามในการใช้งานจริงจะสามารถใช้งานได้นานแค่ไหน คงจะต้องมาติดตามดูกันต่อไป

เมื่อแรกเห็นตัวเครื่อง

รูปร่าง ขนาด หรือลักษณะของ Nokia 6111 นั้นค่อนข้างใกล้เคียงกับก้อนสบู่ทั่วๆ ไปก็ว่าได้ มีลักษณะของสี่เหลี่ยมผืนผ้าโค้งมนโดยรอบ โดยมีขนาดที่กระทัดรัดและสวยงาม ไม่ใหญ่เทอะทะ หรือหนาจนเกินไป โดยดีไซน์ของ Nokia 6111 นั้นจะออกไปทางมือถือฝาสไลด์แนวแฟชั่นโฟนที่ดูเรียบหรูดูดี เนื้องานหลักภายนอกของตัวเครื่องเป็นการผสมผสานกันระหว่างพื้นผิวดำมัน, โครเมียมมันวาว และพื้นผิวสีบรอนซ์ด้าน ซึ่งเป็นชุดสีและพื้นผิวที่สามารถสื่อถึงความเรียบหรูและมีดีไซน์ได้เป็นอย่างดี


ที่ด้านหน้าของตัวเครื่อง ที่ด้านบนเป็นลำโพงหูฟังสำหรับใช้งานขณะสนทนา ตรงกลางที่กินพื้นที่ขนาดใหญ่ก็คงจะหนีไม่พ้นหน้าจอแสดงผลที่มีความละเอียด 128 x 160 Pixels ซึ่งมีขนาดประมาณ 29 x 35 มิลลิเมตร ที่ด้านล่างของหน้าจอ ก็จะประกอบด้วยชุดปุ่มควบคุมการทำงานเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นปุ่ม Navigator Key แบบ 5 ทิศทาง, ปุ่ม Softkey ด้านซ้ายและขวา, ปุ่มรับสายหรือโทรออก และปุ่มวางสายหรือปฏิเสธสาย โดยดีไซน์ที่ด้านหน้าของตัวเครื่องก็ทำออกมาได้ค่อนข้างดีและลงตัว กรอบโครเมี่ยมสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ล้อมรอบพื้นที่สีดำมันภายใน ช่วยให้ Nokia 6111 ดูดีไม่น้อยเลยทีเดียว


ลำโพงหูฟังมีลักษณะเป็นวงรีพาดในแนวยาว ซึ่งดูแล้วก็มีความสวยงามลงตัวดี


ชุดปุ่มควบุคมการทำงานหลักที่ทำจากวัสดุสีดำมัน และโครเมียมมันวาว ถึงแม้จะดูดี แต่ก็สามารถเกิดรอยเปื้อนได้ง่าย


ที่ด้านข้างซ้ายของตัวเครื่องนั้นไม่มีอะไรมากมายนัก ออกไปทางเรียบๆ มีดีไซน์ที่นำเอาพื้นผิวสีบรอนซ์ด้านตัดด้วยแถบพลาสติกสีดำด้านตรงกลาง และมีเพียงแค่ลำโพง Loudspeaker และ Infrared Port


Infrared Port ที่มีขนาดเล็ก ดูเผินๆ หากใครไม่ทราบคุณสมบัติของรุ่นนี้มาก่อน ก็คงจะนึกว่าเป็นปุ่มกดสำหรับใช้งานอะไรซักอย่าง


ลำโพง Loudspeaker ซึ่งมีช่องอยู่ 3 ช่อง ดูจากขนาดแล้วค่อนข้างเล็ก ส่วนคุณภาพและพลังเสียงจะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องลองติดตามกันต่อในการทดสอบในส่วนถัดๆ ไป


พลิกมาดูที่ด้านขวาของตัวเครื่องกันบ้าง ซึ่งก็ออกแนวเรียบๆ คล้ายๆ กับที่ด้านซ้ายเช่นกัน โดยประกอบไปด้วยปุ่มกดสำหรับเข้าใช้งานฟังก์ชันกล้องดิจิตอล ที่ปุ่มทำจากวัสดุโครเมี่ยมมันวาว จึงอาจจะเอาได้ว่าทาง โนเกีย ต้องการให้ปุ่มนี้มีความสำคัญและโดดเด่นมากกว่าปุ่มอื่นๆ ก็เป็นได้ ส่วนในตำแหน่งถัดมาก็จะเป็นปุ่มเพิ่มลดระดับเสียง ซึ่งก็เป็นปุ่มที่ โทรศัพท์มือถือ ส่วนใหญ่มีกันอยู่แล้ว และสุดท้ายที่ริมด้านบนสุดก็จะเป็นช่องสำหรับร้อยสายคล้อง


ปุ่มกดสำหรับเข้าใช้งานฟังก์ชันกล้องดิจิตอล ทำมาจากวัสดุเคลือบโครเมี่ยมมันวาว ปั๊มด้วยสัญลักษณ์รูปกล้องดิจิตอล ซึ่งก็ดูสวยงามและสามารถสื่อความหมายได้ดี


ปุ่มสำหรับเพิ่มลดเสียง ทำจากพลาสติกที่มีพื้นผิวสีดำมัน ซึ่งอาจจะมีขนาดเล็กไปสักหน่อย แต่ก็กดได้ไม่ยากนัก


ช่องสำหรับร้อยสายคล้อง ซึ่งดูจากวัสดุของส่วนนี้แล้ว ก็น่าจะมีความแข็งแรงทนทานดี ไม่น่าจะแตกหักได้ง่าย


ที่ด้านหลังของตัวเครื่องเป็นส่วนของกล้องดิจิตอลล้วนๆ โดยมีเลนส์กล้อง กระจกสะท้อนภาพขนาดเล็กสำหรับถ่ายภาพตนเอง และไฟ LED แฟลช ซึ่งในเรื่องของความสวยงามและดีไซน์ถือว่าค่อนข้างน่าประทับใจ ดูเผินๆ เหมือนกล้องดิจิตอลขนาดย่อมๆ แต่อย่างไรก็ตามพื้นที่กรอบสีดำมันขนาดใหญ่นั้นเกิดรอยเปื้อน รอยนิ้วมือหรือคราบมัน ได้ง่ายมาก เพียงแค่จับถือตามปกติ ก็เกิดรอยนิ้วมือได้แล้ว ซึ่งผู้ใช้ก็คงจะต้องหมั่นเช็ดทำความสะอาดกันบ่อยสักหน่อย


โลโก้คำว่า NOKIA MEGAPIXEL กับกระจกสะท้อนภาพขนาดเล็ก, เลนส์กล้อง และไฟ LED แฟลช มีความสวยงามลงตัวในเรื่องของการออกแบบเป็นอย่างดี


ที่ด้านบนของตัวเครื่อง ประกอบไปด้วยส่วนสำหรับการเชื่อมต่อ ทั้ง Pop-Port และที่เสียบ Adapter ชาร์จไฟ ที่ถูกปิดไว้ด้วยฝายางกันฝุ่น และส่วนถัดมาคือปุ่มกดสำหรับเปิด-ปิดเครื่อง ล็อคปุ่มกด หรือเลือกใช้งาน Profiles แบบต่างๆ


ฝายางกันฝุ่นนี้จากการทดสอบเปิดดู ก็ปรากฏว่าค่อนข้างงัดเปิดออกมาลำบากพอสมควร โดยเฉพาะหากใครตัดเล็บสั้น ก็จะยิ่งเปิดได้ยาก เนื่องจากต้องอาศัยส่วนของเล็บในการงัดเปิดฝายางนี้ออกมา


Pop-Port ของ Nokia 6111 นั้นก็มีลักษณะเหมือนกันกับ โทรศัพท์มือถือ โนเกีย รุ่นอื่นๆ ดังนั้นอุปกรณ์เสริมบางอย่าง เช่นหูฟัง ของ โนเกีย หลายๆ รุ่นที่มี Pop-Port แบบนี้ ก็สามารถนำมาเชื่อมต่อใช้งานได้ทันที แต่สำหรับส่วนรูเสียบ Adapter ชาร์จไฟนั้น จะมีขนาดที่เล็กลงกว่า โทรศัพท์มือถือ โนเกีย รุ่นก่อนๆ ดังนั้นจึงไม่สามารถนำ Adapter ชาร์จไฟของ โนเกีย รุ่นก่อนๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่ามาเสียบชาร์จไฟแทนกันได้


ที่ด้านล่างของตัวเครื่องนั้นไม่มีปุ่มกดหรือช่องทางการเชื่อมต่ออะไร นอกจากจะเป็นแถบพลาสติกสีดำคาดกลางระหว่างพื้นที่สีบรอนซ์เงินด้านของส่วนฐานล่างของตัวเครื่อง และฝาสไลด์ด้านบน


เมื่อสไลด์ส่วนหน้าขึ้นไปก็จะเป็นดังภาพ ซึ่งระบบการสไลด์ของ Nokia 6111 นั้น ถือว่าได้ว่าเป็นแบบกึ่งอัตโนมัติ เนื่องจากก่อนอื่นผู้ใช้ต้องออกแรงดันส่วนหน้าขึ้นไประยะหนึ่ง หลังจากได้ระยะแล้ว ก็จะมีแรงของสปริงช่วยดันขึ้นไปให้อีกทอดหนึ่ง


ลักษณะที่ด้านหลังของตัวเครื่อง เมื่อทำการสไลด์ส่วนหน้าขึ้นไปจนสุดแล้ว

เริ่มใส่ SIM Card และแบตเตอรี่


ที่สำหรับใส่ SIM Card ของ Nokia 6111 นั้นค่อนข้างแปลกใหม่กว่า โทรศัพท์มือถือ รุ่นอื่นๆ อยู่พอสมควร เนื่องจากต้องเลื่อนฝาสไลด์ขึ้นไปจนสุดเสียก่อน แล้วพลิกมาที่ด้านหลัง ก็จะพบกับแผ่นฝาปิดรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ที่ด้านหลังนี้ ซึ่งแม้จะเป็นความแปลกใหม่ที่ไม่เหมือนกับ โทรศัพท์มือถือ ทั่วๆ ไป แต่ก็มีความสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากหากต้องการถอดเปลี่ยน SIM Card ก็ไม่ต้องถอดก้อนแบตเตอรี่ออกมาก่อนเหมือนกับ โทรศัพท์มือถือ ส่วนใหญ่นั่นเอง


เมื่อแงะเปิดฝาออกมาก็จะพบกับช่องสำหรับใส่แผ่น SIM Card อยู่ภายในดังภาพ


การใส่แผ่น SIM Card นั้นก็ไม่ยากแต่อย่างใด คล้ายกับช่องใส่ SIM Card ของ โทรศัพท์มือถือ อีกหลายๆ รุ่น ซึ่งจะมีช่องเสียบ และลักษณะของหัวบากเป็นตัวช่วยนำทางให้ผู้ใช้สามารถใส่ SIM Card ได้ถูกตำแหน่งอยู่แล้ว


เมื่อการใส่ SIM Card ผ่านพ้นไปเรียบร้อยดีแล้ว ก็ถึงคราวที่จะต้องใส่ก้อนแบตเตอรี่กันบ้าง ซึ่ง Nokia 6111 ก็มาแนวแปลกๆ อีกเช่นเดียวกันกับการใส่ SIM Card แต่คราวนี้กลับทำให้การถอดฝาเพื่อใส่แบตเตอรี่นั้นค่อนข้างทำได้ลำบากขึ้นกว่าวิธีการแบบเดิมๆ อยู่บ้าง นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าต้องการเน้นที่การดีไซน์และความสวยงามมากกว่าก็เป็นได้ โดยช่องใส่ก้อนแบตเตอรี่นั้น จะอยู่ใต้ฝาหลังสีดำมันที่อยู่ทางด้านหลัง หรือส่วนที่เป็นกล้องดิจิตอลนั่นเอง และการที่จะเปิดฝาหลังนี้ออกมาได้นั้น หากเป็นผู้ที่ไม่เคยใช้รุ่นนี้มาก่อนก็อาจจะต้องมองหาตัวปลดสลักล็อคกันอยู่พักนึงเลยทีเดียว ซึ่งสลักล็อคเพื่อการเปิดฝานี้คือปุ่มกดสีแดงที่อยู่ติดกับ Pop-Port นั่นเอง


เมื่อเห็นปุ่มปลดสลักล็อคสีแดงดังกล่าวแล้ว ก็ให้นำปลายนิ้วไปจิกดันค้างเอาไว้ เพื่อให้ฝาหลังถูกดันขึ้นมา จากนั้นก็ให้นำนิ้วมืออีกข้างหนึ่งไปเกี่ยวฝาที่ถูกดันออกมาขึ้นมาอย่างช้าๆ และระมัดระวังดังภาพ ก็จะสามารถเปิดฝาหลังได้แล้ว


เมื่อเปิดฝาหลังออกมา ก็จะพบกับช่องสำหรับใส่ก้อนแบตเตอรี่แบตเตอรี่ดังภาพ


การใส่ก้อนแบตเตอรี่นั้นก็ไม่ยากแต่อย่างใด สามารถทำได้ปกติเหมือนกับการใส่ก้อนแบตเตอรี่ใน โทรศัพท์มือถือ ทั่วๆ ไป เพียงแต่ต้องใส่ในด้านและขั้วต่อที่ถูกต้องตรงตำแหน่งเท่านั้นเอง

ความเหมาะมือและน้ำหนัก


ในตอนแรก เมื่อมีการเปิดตัวข้อมูลและภาพถ่ายผ่านทางเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงเว็บไซต์ Thaimobilecenter แห่งนี้ ก็นึกว่าตัวจริงจะมีขนาดที่ค่อนข้างอ้วนใหญ่ แต่พอได้สัมผัสตัวจริงแล้ว ก็ผิดคาด เพราะมีขนาดที่ค่อนข้างเล็กกระทัดรัด โดยเฉพาะหากอยู่ในมือใหญ่ๆ ของผู้ชายด้วยแล้ว จะกลายเป็น โทรศัพท์มือถือ ที่มีขนาดเล็กไปในทันที และหากอยู่ในมือที่ไม่ใหญ่นักอย่างผู้หญิง ก็น่าจะมีขนาดที่กำลังเหมาะมือ ส่วนเรื่องของน้ำหนักตัวนั้น จะอยู่ที่ประมาณ 92 กรัม ซึ่งถือว่าเป็นระดับน้ำหนักที่ค่อนข้างจะเบาอยู่แล้ว สรุปแล้วด้วยรูปร่าง ขนาด และน้ำหนักตัวของ Nokia 6111 โดยความเห็นส่วนตัว น่าจะเหมาะกับผู้ใช้ที่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ใช้ที่เป็นผู้ชาย แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ชายที่ชอบ โทรศัพท์มือถือ แนวสไลด์แฟชั่นโฟน ดีไซน์หรูหราสวยงามขนาดกระทัดรัด การเลือกใช้ Nokia 6111 ก็ยังถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอยู่เช่นกัน


การจับถือนั้นค่อนข้างจะกระชับมือดี อาจจะเป็นเพราะว่ารูปร่างของ Nokia 6111 ที่มีความโค้งมนโดยรอบ คล้ายก้อนสบู่ จึงทำให้เข้ารูปเข้ารอยกับอุ้งมือได้ดีเป็นพิเศษ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่วัสดุและพื้นผิวของ Nokia 6111 ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นผิวที่ค่อนข้างลื่น ดังนั้นหากถือเอาไว้ไม่มั่นคงพอ ก็อาจจะทำตกหล่นได้ไม่ยาก


โทรศัพท์มือถือ รุ่นใหม่ๆ สมัยนี้ เริ่มที่จะมีการออกแบบดีไซน์ให้มีคอนเซ็ปท์ของ Dual-Front Design กันมากขึ้น นั่นคือไม่ว่าจะพลิกตัวเครื่องไปที่ด้านหน้าหรือด้านหลัง ก็จะมีรูปลักษณ์ที่ออกแบบมาสำหรับการใช้งานที่ต่างกันออกไปได้ สามารถเรียกได้ว่าเป็นด้านหน้าของตัวเครื่องได้ทั้งสองด้านภายในตัวเดียวกัน เช่นใน Nokia 6111 นี้ ที่ด้านหนึ่งก็จะมีลักษณะของความเป็น โทรศัพท์มือถือ ส่วนอีกด้านหนึ่งก็จะมีลักษณะของความเป็นกล้องดิจิตอล นั่นเอง


เมื่อสไลด์ด้านหน้าขึ้นไปจนสุดแล้ว หากเป็นคนที่มือใหญ่โดยเฉพาะผู้ชาย ก็ยังถือว่าเล็กไปสักนิด หากเป็นมือของผู้หญิงก็น่าจะมีความทะมัดทะแมงเหมาะมือมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามการลักษณะของใช้งานขณะโทรก็ยังถือว่าใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาแต่อย่างใดทั้งผู้ชายและผู้หญิง


การสไลด์ตัวเครื่องด้านหน้าขึ้นไปจนสุด เมื่อมองที่ด้านข้างของตัวเครื่อง ก็จะเป็นดังภาพ ซึ่งก็ถือว่าเรียบหรูดูดีไม่แพ้ด้านหน้าเช่นกัน

เริ่มเปิดเครื่อง


การเปิดหรือปิดเครื่องนั้นก็มีลักษณะที่ไม่ได้แปลกแหวกแนวไปกว่า โทรศัพท์มือถือ รุ่นอื่นๆ ของ โนเกีย แต่อย่างใด เพียงแต่ปุ่มของ Nokia 6111 จะไม่มีเครื่องหมายวงกลมขีดกลางบ่งบอกเอาไว้เท่านั้น ซึ่งคงเป็นเรื่องของการดีไซน์เฉพาะรุ่น โดยปุ่มดังกล่าวคือปุ่มวงรีสีเงินที่ด้านบนของตัวเครื่อง การเปิดหรือปิดเครื่องก็ให้ทำการกดปุ่มนี้ค้างเอาไว้ประมาณ 3-4 วินาที เครื่องก็จะทำการเปิดหรือปิด ซึ่งจากการทดสอบการเปิดเครื่อง ก็พบกว่าระยะเวลาตั้งแต่กดปุ่มไปจนถึงพร้อมใช้งาน (รับสัญญาณได้แล้ว) นั้นค่อนข้างเร็วทันใจดีอยู่เหมือนกัน

ความคมชัดและสวยงามของหน้าจอแสดงผล


ความคมชัดและสวยงามสำหรับหน้าจอแสดงผลของ Nokia 6111 นั้นถือว่ายังไม่ค่อยน่าประทับใจสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะในเรื่องของสีสันที่ไม่สดใส ค่อนข้างจืดมากพอสมควร และเท่าที่ลองใช้งาน กลับไม่พบเมนูที่เกี่ยวกับการปรับค่าความสว่าง หรือสีสันของหน้าจอ จะมีก็เพียงแต่การตั้งค่าเกี่ยวกับโหมดประหยัดพลังงานเท่านั้น ส่วนในเรื่องของความคมชัดนั้นก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ปกติดี แม้จะไม่ถึงกับคมกริบละเอียดยิบเหมือนกับ โทรศัพท์มือถือ ที่มีจุดเด่นที่หน้าจอบางรุ่นก็ตามที ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า หน้าจอของ Nokia 6111 นั้นถือว่ายังไม่น่าประทับใจเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามเครื่องที่ทดสอบนี้เป็นเพียงเครื่อง Prototype เท่านั้น หากเป็นเครื่องที่จำหน่ายจริง อาจจะมีการปรับปรุงในเรื่องของหน้าจอให้ดีขึ้นกว่านี้ก็เป็นได้

ปุ่มกด และการตอบสนอง


ปุ่มกดทั้งในส่วนปุ่มควบคุมการทำงานเบื้องต้น และปุ่มตัวเลขของ Nokia 6111 นั้นส่วนใหญ่จะเป็นปุ่มกดพลาสติกสีดำมัน ยกเว้นปุ่มที่ใช้ควบคุมทิศทาง ที่เป็นวงสีเหลี่ยมที่เป็นพลาสติกเคลือบโครเมี่ยมมันวาว โดยที่ปุ่มควบคุมการทำงานเบื้องต้นนั้นก็ถือว่าสามารถใช้งานได้ครอบคลุมในหลายๆ รูปแบบการใช้งาน โดยในบางฟังก์ชันการใช้งานอาจจะไม่ต้องเลื่อนแผงปุ่มกดตัวเลขออกมาเลยก็เป็นได้ ซึ่งปุ่มชุดนี้จะประกอบด้วยปุ่ม Navigator Key แบบ 5 ทิศทาง, ปุ่ม Softkey ด้านซ้ายและขวา, ปุ่มรับสายหรือโทรออก และปุ่มวางสายหรือปฏิเสธสาย ส่วนชุดปุ่มตัวเลขเมื่อเลื่อนฝาสไลด์ออกมาแล้วนั้น ก็จะมีรูปแบบลักษณะการจัดวางตำแหน่งที่ไม่แตกต่างกับ โทรศัพท์มือถือ โนเกีย รุ่นทั่วๆ ไปแต่อย่างใด โดยหากเป็นเครื่องที่จัดจำหน่ายไปประเทศไทย ก็คงจะมีการสกรีนตัวอักษรภาษาไทยที่ปุ่มกดไว้ให้ด้วยตามปกติ


การกดปุ่มเพื่อป้อนตัวเลข หรือเพื่อพิมพ์ตัวอักษร ในเบื้องต้น ปุ่มทุกปุ่มในแผงปุ่มกดตัวเลขนั้นมีความแข็งแรง มั่นคง และมีการตอบสนองที่ดี แต่ทว่าหากเป็นปุ่มกดที่อยู่แถวด้านบนสุด คือปุ่มหมายเลข 1, 2 และ 3 การกดจะค่อนข้างลำบากกว่าปุ่มอื่นๆ ที่อยู่แถวด้านล่างถัดลงมา เนื่องจากเวลากดปุ่มในแถวดังกล่าว นิ้วจะไปติดที่ขอบด้านล่างของฝาเครื่องด้านหน้าที่สไลด์ขึ้นไป ทำให้กดได้ไม่เต็มพื้นที่ของปุ่ม ค่อนข้างติดขัด และไม่ถนัดมือเท่าที่ควร


สำหรับชุดปุ่มกดควบคุมการทำงานเบื้องต้นที่อยู่ด้านหน้าของตัวเครื่องนั้น แม้จะมีดีไซน์ที่หรูหราสวยงามก็จริง แต่จากการทดสอบใช้งาน ปรากฏว่าความแข็งแรงมั่นคงยังไม่น่าประทับใจสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะปุ่มกดที่อยู่ด้านริมนอก 4 ปุ่ม ไม่ว่าจะเป็นปุ่ม Softkey ด้านซ้ายและขวา, ปุ่มรับสายหรือโทรออก และปุ่มวางสายหรือปฏิเสธสาย ซึ่งเวลากดแล้วยังมีอาการโยกคลอนให้เห็นอย่างรู้สึกได้ ไม่ค่อยมั่นคงแข็งแรง รวมถึงยังมีเสียงของการเสียดสีให้ได้ยินอีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี เครื่องนี้เป็นเพียงเครื่องทดสอบหรือเครื่อง Prototype เท่านั้น เครื่องที่จำหน่ายจริงอาจจะมีการแก้ไขปรับปรุงในส่วนนี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้ ส่วนการตอบสนองนั้นถือว่าอยู่ในระดับที่ปกติดี


ไฟ Backlight ของปุ่มกด เมื่อมองเห็นในที่มืดหรือแสงน้อยนั้น จะมีสีขาวนวล สามารถมองเห็นได้ชัดเจนดี และด้วยการที่ดีไซน์เครื่องมีความหรูหราสวยงามอยู่แล้ว และมีโทนสีของเครื่องออกไปทางสีเงินและสีดำ ดังนั้นไฟ Backlight สีขาวนวลนี้จึงถือว่าสามารถช่วยส่งเสริมในเรื่องของความหรูหราสวยงามได้อีกทางหนึ่งด้วย

เมนูและฟังก์ชันการทำงาน


เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมา จะปรากฏหน้าหลัก หรือหน้าจอ Standby ดังรูป โดยสามารถใช้ปุ่มบังคับทิศทางเลือกเข้าใช้งานในส่วนต่างๆ ได้ทันที ตามที่ได้ตั้งค่าเอาไว้ เช่นในรูป จะสามารถเข้าใช้งานฟังก์ชันกล้องดิจิตอล, จดบันทึก, ปฏิทิน, รายชื่อ ได้ทันที และหากกดปุ่มตรงกลางก็จะเป็นการเข้าไปหน้าเมนูหลักที่มีอยู่ 11 เมนู นอกจากนั้น หากกดที่ปุ่ม Softkey ด้านซ้าย จะเป็นการเข้าส่วนของ "ไปที่" ซึ่งรวบรวมรายการเมนูหรือฟังก์ชันการทำงานต่างๆ เอาไว้ ทำให้สามารถเข้าใช้งานได้อย่างรวดเร็ว และหากกดที่ปุ่ม Softkey ด้านขวา ก็เป็นการเข้าดูรายชื่อผู้ติดต่อที่บันทึกเอาไว้ โดยปุ่มทั้งหมดนี้ ผู้ใช้สามารถตั้งค่าได้เองภายหลังว่าต้องการจะให้แต่ละปุ่มใช้แทนการเข้าถึงเมนูหรือฟังก์ชันอะไร

เมนูข้อความ

 
ที่เมนูข้อความเป็นส่วนที่ใช้สำหรับสร้างหรือจัดการข้อความประเภทต่างๆ ได้แก่ ข้อความตัวอักษร, มัลติมีเดีย, ข้อความด่วน และข้อความคลิปเสียง

 
การสร้างข้อความตัวอักษรนั้น มีส่วนหลักๆ อยู่ 2 ส่วนคือ การระบุที่อยู่ที่จะส่ง และรายละเอียดของข้อความ ซึ่งสามารถพิมพ์ข้อความได้ยาวสูงสุดประมาณ 913 ตัวอักษร ซึ่งสำหรับการพิมพ์ข้อความภาษาไทยนั้น ก็สามารถทำได้ทั้งแบบปกติ และแบบใช้ระบบสะกดคำอัตโนมัติ


สามารถแทรกรูปไอคอนแสดงสีหน้าความรู้สึก หรือที่เรียกว่า Emoticons ได้ด้วย


ข้อความแบบสำเร็จรูป หรือ Templates ข้อความ ก็มีมาให้เลือกใช้เช่นกัน


การตั้งค่าหรือรายละเอียดย่อยเกี่ยวกับข้อความมีมาให้ค่อนข้างเยอะ ซึ่งน่าจะสามารถตอบสนองผู้ที่ชอบใช้งานเกี่ยวกับการรับ-ส่งข้อความได้เป็นอย่างดี


การสร้างข้อความแบบมัลติมีเดีย สามารถแทรกองค์ประกอบของข้อความได้หลายประเภทด้วยกัน ตั้งแต่ ตัวอักษร, ภาพ, เสียง, วีดีโอคลิป, นามบัตร และบันทึกปฏิทิน โดยข้อความมัลติมีเดียแต่ละข้อความ จะมีขนาดสูงสุดได้ 296 KByte


ข้อความด่วน สามารถพิมพ์ข้อความได้สูงสุด 70 ตัวอักษร ส่วนข้อความเสียง สามารถบันทึกเสียงได้นานสูงสุด 3.06 นาที

เมนูรายชื่อ


เมนูรายชื่อคือเมนูที่รวบรวมข้อมูลและฟังก์ชันการทำงานเกี่ยวกับรายชื่อผู้ติดต่อเอาไว้ โดยมีเมนูย่อยที่ประกอบไปด้วย ชื่อ, สถานะของผู้ใช้, รายชื่อที่สมัครข้อมูล, การตั้งค่า, กลุ่ม, รายการเสียง, โทรด่วน และลบรายชื่อทั้งหมด


เมื่อเข้าไปดูรายชื่อผู้ติดต่อ ก็จะเห็นเป็นรายการชื่อผู้ติดต่อทั้งหมดที่เรียงลำดับตามตัวอักษรดังรูป และหากต้องการค้นหาชื่อที่ต้องการก็สามารถทำได้ทั้งตัวอักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษ


การสร้างข้อมูลผู้ติดต่อใหม่ขึ้นมา สามารถใส่ข้อมูลรายละเอียดของแต่ละรายชื่อได้หลายประเภท ตั้งแต่ หมายเลข, ที่อยู่สนทนา, ที่อยู่อีเมล, ที่อยู่เว็บ, ที่อยู่ไปรษณีย์, ID ผู้ใช้, บันทึก, ภาพ และโทนเสียง ซึ่งแน่นอนว่าในเมื่อใส่รูปภาพของแต่ละรายชื่อได้แล้ว ก็คือสามารถแสดงรูปภาพเฉพาะของรายชื่อหรือหมายเลขนั้นๆ ขณะที่มีสายเรียกเข้าได้ด้วย โดยรูปภาพที่แสดงจะปรากฏอยู่ที่ตำแหน่งด้านล่างขวา และมีขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก

 
การสร้างกลุ่มผู้โทรที่เอาไว้รวบรวมรายชื่อผู้ติดต่อประเภทเดียวกันเอาไว้ให้เป็นระบบระเบียบก็สามารถทำได้ โดยเมื่อมีการสร้างกลุ่มขึ้นมา ก็จะปรากฏไอคอนกำกับไว้ข้างท้ายชื่อกลุ่ม เพื่อแสดงให้เห็นว่านั่นคือกลุ่มผู้โทร นอกจากนั้นก็ยังสามารถตั้งค่าเสียงเรียกเข้าเฉพาะกลุ่มได้อีกด้วย


หน่วยความจำที่ใช้บันทึกรายชื่อหรือข้อมูลผู้ติดต่อนั้น สามารถเลือกใช้ได้ทั้งซิมการ์ด และหน่วยความจำภายในของเครื่อง


การตั้งค่าการแสดงผล สามารถกำหนดให้แสดงแบบ ชื่อ/เบอร์ หรือ ชื่อ/ภาพ ได้ รวมถึงกำหนดให้แสดงชื่อหรือนามสกุลก่อน และการกำหนดขนาดของตัวอักษรว่าจะให้มีขนาดปกติ หรือมีขนาดใหญ่


การกำหนดปุ่มหมายเลขโทรด่วน สามารถกำหนดได้ที่ปุ่มตัวเลขตั้งแต่ ปุ่มกดหมายเลข 2 ถึงหมายเลข 9 ซึ่งรวมทั้งหมดเป็น 8 หมายเลข


หากผู้ใช้ต้องการที่จะลบข้อมูลรายชื่อทั้งหมดจาก ซิมการ์ด หรือหน่วยความจำภายในเครื่อง อย่างรวดเร็วภายในคราวเดียว ก็สามารถทำได้

เมนูบันทึก


เมนูบันทึก เป็นเมนูที่รวบรวมฟังก์ชันการทำงานเกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลหรือประวัติที่เกี่ยวข้องกับการโทรเอาไว้ ซึ่งประกอบไปด้วย เบอร์ที่ไม่ได้รับสาย, เบอร์ที่ได้รับสาย, เบอร์ที่โทรออก, ผู้รับข้อความ, ลบรายการบันทึก, เวลาการโทร, ตัวนับข้อมูลแบบแพคเก็ต, ตัวจับเวลาต่อแพคเก็ต, ตำแหน่ง, ตัวนับข้อความ และบันทึกการโทร


การแสดงข้อมูลบันทึกการโทร สามารถเลือกแสดงได้ทั้งแบบที่แสดงรายการทั้งหมดทุกประเภทในคราวเดียว หรือจะแสดงแยกย่อยแต่ละประเภทก็ได้ เช่นเบอร์ที่ไม่ได้รับ, เบอร์ที่ได้รับ หรือเบอร์ที่โทรออก


นอกจากนั้นก็ยังมีการบันทึกข้อมูลเวลาที่ใช้โทรออกหรือโทรเข้า, ตัวนับข้อมูลและเวลาของการใช้งานเชื่อมต่อข้อมูลผ่านระบบ EDGE หรือ GPRS และตัวนับจำนวนของข้อความที่ทำการรับ-ส่ง

เมนูการตั้งค่า


เมนูการตั้งค่า เป็นเมนูที่รวบรวมทางเลือกสำหรับการตั้งค่าสำหรับการใช้งานในส่วนต่างๆ ของเครื่อง ซึ่งมีให้ปรับแต่งตั้งค่าอยู่ไม่น้อย ได้แก่ รูปแบบ, ลักษณะ, แบบเสียง, จอแสดงผล, วันและเวลา, ทางลัดส่วนตัว, การเชื่อมต่อ, โทรออก, โทรศัพท์, อุปกรณ์พิเศษ, การตั้งกำหนดค่า, ความปลอดภัย และเรียกคืนการตั้งค่าเดิม


รูปแบบหรือ Profiles มีให้เลือกใช้อยู่ 4 รูปแบบคือ ทั่วไป, ไม่มีเสียง, ประชุม และนอกตึก อย่างไรก็ตามแม้ผู้ใช้จะไม่สามารถสร้างรูปแบบขึ้นมาใหม่ได้ แต่ก็ยังมีรูปแบบ ส่วนตัว1 และ ส่วนตัว2 ให้เลือกปรับแต่งได้อีก 2 รูปแบบตามต้องการ นอกจากนั้นผู้ใช้ยังสามารถตั้งเวลาของการใช้งานรูปแบบต่างๆ ว่าจะให้หมดเวลาใช้งานเมื่อไหร่ได้อีกด้วย


การตั้งค่าลักษณะ หรือ Themes ก็คือส่วนที่ใช้สำหรับปรับเปลี่ยนรูปแบบของการแสดงผลนั่นเอง เช่นภาพพื้นหลัง, สีตัวอักษร หรือสีสันของเมนูต่างๆ ซึ่งภายในเครื่องที่ทดสอบนี้มีติดตั้งมาให้เพียง 1 ลักษณะเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามผู้ใช้ก็ยังสามารถเข้าไปดาวน์โหลดเพิ่มเติมได้ที่แหล่งดาวน์โหลดต่างๆ เช่นที่ Nokia.com เป็นต้น


การตั้งค่าแบบเสียง เป็นการตั้งค่าการใช้งานเสียงในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ว่าจะให้มีลักษณะอย่างไร เช่นการโทร, ข้อความ หรือ Instant Messaging


การตั้งค่าหน้าจอให้อยู่ในโหมดแสตนด์บายแบบพิเศษจะมีลักษณะดังภาพ คือมีรูปไอคอนและตัวอักษรบ่งบอกสถานะการทำงานหรือเมนูด่วนต่างๆ เอาไว้ที่หน้าจอแสตนด์บายหรือที่หน้าจอหลักหน้าแรกสุดนั่นเอง


การตั้งค่าแสดงผลภาพพื้นหลังคงจะขาดไม่ได้สำหรับ โทรศัพท์มือถือ ในปัจจุบัน จนเรียกได้ว่าเป็นฟังก์ชันมาตรฐานไปแล้วก็ว่าได้


ผู้ใช้สามารถเลือกสีของการแสดงผลตัวอักษรได้ตามใจชอบ


ภาพพักหน้าจอ หรือ Screensavers สามารถเลือกใช้งานได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ, ชุดสไลด์, วีดีโอคลิป หรือนาฬิกาดิจิตอล


การตั้งเวลาปิดไฟพื้นหลังหรือไฟ Backlight ของหน้าจอให้เหมาะสมก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่สามารถช่วยให้ประหยัดพลังงานได้มากขึ้น


ผู้ใช้สามารถปรับแต่งขนาดการแสดงผลของตัวอักษรที่แสดงในส่วนต่างๆ ได้ด้วยตนเอง โดยมีตั้งแต่ขนาดเล็กพิเศษ, ขนาดเล็ก, ขนาดปกติ และขนาดใหญ่


การตั้งค่าวันและเวลานั้นมีทางเลือกให้ผู้ใช้ปรับแต่งอยู่พอสมควร ตั้งแต่วันที่และเวลา, เขตเวลา, รูปแบบเวลา, รูปแบบวันที่ หรือตัวคั่นวันที่ เป็นต้น 


ผู้ใช้สามารถตั้งค่าเมนูด่วนสำหรับปุ่มกด Softkey ด้านซ้ายและด้านขวา รวมถึงปุ่มบังคับทิศทางได้อีก 4 ทิศทาง ได้ด้วยตนเอง


นอกจากการเข้าใช้งานเมนูหรือฟังก์ชันการทำงานต่างๆ ด้วยการกดปุ่มแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถสั่งงานแทนการกดปุ่มได้ด้วยเสียงอีกด้วย ซึ่งหากต้องการใช้คำพูดใดสั่งงาน ผู้ใช้ก็จะต้องทำการอัดเสียงของตนเองสำหรับเมนูหรือฟังก์ชันการทำงานนั้นๆ ให้เรียบร้อยเสียก่อน


ช่องทางการเชื่อมต่อข้อมูลไร้สายระยะใกล้ ของ Nokia 6111 นั้นสามารถทำได้ 2 ทางคือ Bluetooth และ Infrared Port ซึ่งเมื่อมีการเปิดการใช้งานอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Bluetooth หรือ Infrared Port ก็จะมีรูปไอคอนแสดงสถานะการเปิดใช้งานอยู่ที่แถบด้านบนของหน้าจอดังภาพ


การตั้งค่าใช้งานระบบ EDGE หรือ GPRS ผู้ใช้แทบจะไม่ต้องมีการตั้งค่าอะไรเพิ่มเติมด้วยตนเองเลย เนื่องจากในเครื่องมีรูปแบบมาให้เลือกใช้งานพร้อมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าย AIS, DTAC หรือ Orange เพียงแต่ต้องเลือกใช้ให้ตรงกับระบบเครือข่ายที่ตนเองใช้อยู่เท่านั้นเอง


การ Synchronize หรือการแลกเปลี่ยนถ่ายโอนข้อมูลก็สามารถทำได้เช่นกัน


การตั้งค่าเกี่ยวกับการโทรนั้นก็มีให้เลือกแยกย่อยอยู่พอสมควร เช่นการตั้งค่าการโอนสาย หรือการตั้งค่าฝาสไลด์สำหรับใช้งานขณะที่รับสายหรือวางสาย


ส่วนของการตั้งค่าโทรศัพท์หรือตั้งค่าเครื่อง นั้นมีเมนูย่อยอยู่อีกหลายเมนู ได้แก่ การตั้งค่าภาษา ซึ่งมีให้เลือก 3 ภาษาคือภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน, การตรวจสอบพื้นที่หน่วยความจำที่เหลือและที่ใช้ไป, การตั้งค่าข้อความต้อนรับ, การจัดรูปแบบ, การตั้งค่าการป้องกัน เช่นการจำกัดการโทรหรือรหัสผ่านต่างๆ และสุดท้ายคือข้อมูลเกี่ยวกับใบรับรองสิทธิ์

เมนูคลังภาพ


เมนูคลังภาพ คือเมนูที่ใช้เปิดดูหรือจัดการไฟล์สื่อประเภทต่างๆ ที่ถูกเก็บเอาไว้ภายในเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น รูปถ่าย, วีดีโอคลิป, ไฟล์เพลง, ลักษณะ, ภาพต่างๆ, โทนเสียง, เสียงบันทึก รวมถึงไฟล์ต่างๆ ที่ได้รับ


การเปิดดูรูปภาพนั้นสามารถดูได้ทั้งแบบปกติ และแบบเต็มจอในแนวนอน นอกจากนั้นยังสามารถทำการ ลบ, ส่ง, ย้าย, เปลี่ยนชื่อ, ขยายภาพ แก้ไขภาพ หรือปรับความคมชัดได้ด้วย

 
นอกจากเปิดดูรูปภาพได้แล้ว ยังมีฟังก์ชันสำหรับการแก้ไขตกแต่งรูปภาพมาให้ด้วย ซึ่งทำได้ตั้งแต่ การแทรกข้อความ, แทรกกรอบหรือเฟรม, แทรกภาพตัดปะ, แทรกรูป หรือหากต้องการจะตัดรูปภาพบางส่วนในขนาดที่ต้องการก็สามารถทำได้เช่นกัน


สามารถนำรูปภาพมากำหนดเป็นภาพพื้นหลัง, ภาพพักหน้าจอ หรือภาพสำหรับแต่ละรายชื่อได้ด้วย


การเปิดดูไฟล์วีดีโอสามารถเปิดดูได้ทั้งแบบปกติ และแบบเต็มจอเช่นเดียวกันกับการเปิดดูรูปภาพ รวมถึงการปรับค่าความคมชัด นอกจากนั้นยังสามารถนำไฟล์วีดีโอไปใช้เป็นภาพพักหน้าจอได้อีกด้วย

เมนูสื่อ


เมนูสื่อ เป็นเมนูที่รวบรวมโปรแกรมหรือฟังก์ชันการทำงานที่เกี่ยวกับความบันเทิงเอาไว้หลายอย่าง ซึ่งได้แก่ กล้อง, เครื่องเล่นสื่อ, เครื่องเล่นเพลง, วิทยุ, เครื่องบันทึก และอีควอไลเซอร์


กล้องดิจิตอลของ Nokia 6111 นี้ ในการใช้งานจริง ผู้ใช้ควรจะต้องจับตัวเครื่องในแนวนอน กล่าวคือจับถือในลักษณะที่เหมือนกับกล้องดิจิตอล เนื่องจากไอคอน, รูปภาพ หรือเมนูต่างๆ จะแสดงผลในแนวนอน รวมถึงลักษณะของปุ่มกดด้วย ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการ กล้องนี้สามารถซูมขยายภาพได้ 6 เท่า ซึ่งขณะที่ซูมนั้นจะมีสถานะของการซูมแสดงอยู่ที่แถบสีน้ำเงินด้านซ้ายบ่งบอกเอาไว้


เมื่อมีการเลือกเปิดใช้งานโหมดถ่ายภาพตอนกลางคืน หรือว่ามีการเปิดใช้งานไฟแฟลช ก็จะมีไอคอนแสดงสถานะอยู่ที่ด้านซ้ายล่างของหน้าจอ


การตั้งเวลาถ่ายภาพล่วงหน้าสามารถตั้งได้ระดับเดียวคือ 10 วินาที ส่วนการถ่ายภาพต่อเนื่องนั้นสามารถถ่ายได้ 3 ภาพต่อเนื่องเท่านั้น


ผู้ใช้สามารถกำหนดคุณภาพของภาพถ่ายได้ 3 ระดับคือ สูง, ปกติ และธรรมดา ส่วนความละเอียดของรูปภาพนั้น สามารถกำหนดได้ 4 ความละเอียดคือ 1152 x 864, 640 x 480, 320 x 240 และ 160 x 120 Pixels นอกจากนั้นก็ยังสามารถเลือกเปิดหรือปิดเสียงชัตเตอร์ได้อีกด้วย


การถ่ายภาพวีดีโอ สามารถถ่ายได้ที่ความละเอียดเดียวคือ 176 x 144 Pixels แต่ก็สามารถเลือกปรับคุณภาพได้ 3 ระดับคือ สูง, ปานกลาง และต่ำ นอกจากนั้นยังสามารถตั้งค่าความยาวหรือระยะเวลาของการถ่ายภาพวีดีโอได้ 2 แบบคือ ตามค่าที่ตั้งมา หรือค่าสูงสุด ซึ่งนั่นก็คือถ่ายได้ไม่จำกัดเวลา จนกว่าหน่วยความจำจะเต็มนั่นเอง


ในขณะที่อยู่ในฟังก์ชันกล้องดิจิตอล เมื่อทิ้งช่วงไว้ระยะหนึ่ง โดยไม่มีการใช้งานใดๆ หน้าจอก็จะเข้าสู่โหมดพร้อมใช้งานโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน และเป็นการถนอมอายุการใช้งานของเซนเซอร์รับภาพนั่นเอง


เครื่องเล่นสื่อเป็นส่วนที่สามารถใช้เปิดไฟล์สื่อต่างๆ ที่มีอยู่ภายในเครื่อง รวมถึงการเปิดรับชมรับฟังไฟล์บันเทิงมัลติมีเดียแบบ Streaming 


เครื่องเล่นเพลง โดยชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นโปรแกรมที่ใช้สำหรับใช้งานฟังเพลงโดยเฉพาะ ซึ่งลักษณะหน้าตานั้นก็ไม่ได้มีลูกเล่นอะไรมากมาย จะออกไปทางเรียบๆ เสียมากกว่า และการแสดงผลชื่อเพลงที่เป็นภาษาไทยนั้น หากไฟล์เพลงใดมีข้อมูลของเพลงที่นอกเหนือจากชื่อไฟล์ เช่นชื่ออัลบั้ม, นักร้อง, หรือผู้แต่ง เครื่องก็จะแสดงเป็นตัวอักษรที่อ่านไม่ออก แต่ถ้าหากไฟล์นั้นไม่มีข้อมูลดังกล่าว ก็จะสามารถแสดงผลได้ตามปกติดังภาพ


จากเมนูย่อยที่เห็น จะมีการเล่นเพลงผ่านหูฟังแบบ Bluetooth มาให้ด้วย แต่ยังสรุปไม่ได้ว่าสามารถใช้งานกับหูฟัง Bluetooth แบบ Stereo ได้หรือไม่ เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์สำหรับทดสอบมาด้วยนั่นเอง


นอกจากจะมีฟังก์ชันการทำงานพื้นฐานให้เลือกแล้ว เช่น สุ่มเพลง หรือ เล่นซ้ำ ก็ยังสามารถปรับแต่งหรือเลือกลักษณะของเสียงเพลงได้ด้วย หรือที่เรียกกันว่า Equalizer นั่นเอง โดยในเครื่องมีให้เลือกใช้งานอยู่ 5 รูปแบบคือ ปกติ, ป๊อป, ร็อค, แจ๊ส และคลาสสิค รวมถึงยังมี Equalizer อีก 2 แบบให้ผู้ใช้ปรับแต่งใช้งานด้วยตนเองอีกด้วย 


ผู้ใช้สามารถส่งไฟล์เพลงผ่านทาง ข้อความมัลติมีเดีย, Infrared Port หรือ Bluetooth ได้


จุดเด่นอีกอย่างของ Nokia 6111 นั่นคือสามารถฟังวิทยุ FM Stereo ได้ โดยก่อนที่จะใช้งานได้นั้น ผู้ใช้จะต้องทำการต่อหูฟังให้เรียบร้อยเสียงก่อนจึงจะใช้งานได้ เนื่องจากสายของหูฟังนั้นเปรียบเสมือนเป็นเสาอากาศรับสัญญาณวิทยุนั่นเอง และหากสัญญาณบางพื้นที่ไม่ค่อยจะดีนัก ผู้ใช้ก็สามารถเลือกเปลี่ยนไปใช้งานเสียงแบบ Mono ได้ นอกจากนั้นก็ยังมีฟังก์ชัน Visual Radio ให้ใช้งานได้ด้วย

 
การใช้งาน Visual Radio นั้น ผู้ใช้จะต้องมีการตั้งค่าการใช้งานให้เรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งสำหรับในประเทศไทยนั้นยังไม่ค่อยมีสถานีวิทยุที่ออกมาสนับสนุนการใช้งาน Visual Radio มากนัก แต่ในอนาคต หากมีเครื่องลูกข่ายที่มีฟังก์ชัน Visual Radio เพิ่มมากขึ้น ก็น่าจะมีฐานผู้ใช้ที่มากกขึ้น และมีสถานีวิทยุออกมาสนับสนุนการใช้งาน Visual Radio กันมากขึ้นตามลำดับ


ผู้ใช้สามารถบันทึกสถานีหรือคลื่นความถี่ได้ทั้งหมด 20 รายการ ซึ่งก็ถือว่าน่าจะเพียงพอต่อความต้องการในระดับหนึ่งแล้ว


ผู้ใช้สามารถบันทึกเสียงได้นานสูงสุดมากถึง 60 นาที หรือ 1 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของหน่วยความจำที่เหลืออยู่ด้วย


ในเมนูอีควอไลเซอร์ นอกจากจะเลือกใช้รูปแบบของเสียงตามที่เครื่องให้มาได้แล้ว ก็ยังสามารถปรับแต่งชุดเสียงของตนเองได้อีก 2 ชุดด้วยกัน

เมนูสนทนา


เมนูสนทนา ก็คือเมนูที่มีไว้สำหรับใช้งานระบบการสื่อสาร หรือสนทนาแบบ Push-to-Talk ซึ่งในที่นี้ยังไม่สามารถทดสอบการใช้งานได้ เนื่องจากระบบเครือข่ายในบ้านเรายังไม่รองรับกับการใช้งาน Push-to-Talk อย่างเป็นทางการนั่นเอง

เมนูตารางนัดหมาย


เมนูตารางนัดหมาย จริงๆ แล้วก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นส่วนของ Organizer ก็ได้ ซึ่งประกอบไปด้วย นาฬิกาปลุก, ปฏิทิน, สิ่งที่ต้องทำ, บันทึก, เครื่องคิดเลข, ตัวนับถอยหลัง และนาฬิกาจับเวลา


ฟังก์ชันนาฬิกาปลุกก็ถือว่าเป็นอีกฟังก์ชันพื้นฐานที่ควรจะมีใน โทรศัพท์มือถือ ทั่วๆ ไป โดยใน Nokia 6111 นั้นก็สามารถปรับแต่งค่าต่างๆ ได้พอสมควร ตั้งแต่การตั้งเวลาปลุก, การเตือนซ้ำซึ่งเลือกวันที่ต้องการได้, เสียงปลุก, การกำหนดเวลาสำหรับการเลื่อนปลุกสำหรับผู้ที่ชอบให้ปลุกหลายๆ ครั้ง โดยเมื่อมีการตั้งปลุกเอาไว้ ที่หน้าจอ Standby ก็จะมีไอคอนรูปกระดิ่งปรากฏอยู่ที่ด้านมุมบนขวาสุด


ฟังก์ชันปฏิทิน ผู้ใช้สามารถเลือกดูได้ทั้งแบบรายเดือน หรือรายสัปดาห์


ในปฏิทิน ผู้ใช้สามารถสร้างบันทึกในรูปแบบต่างๆ ได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็น นัดหมายหรือประชุม, การโทร, วันเกิด, บันทึกช่วยจำ และเตือนความจำ


ผู้ใช้สามารถตั้งค่าวันและเวลาผ่านทางเมนูปฏิทินได้ รวมถึงการกำหนดว่าวันใดจะเป็นวันเริ่มต้นของสัปดาห์ โดยเลือกได้ 3 วันคือ วันเสาร์, วันอาทิตย์ และวันจันทร์


ในเมนูสิ่งที่ต้องทำ หรือ To-Do-List เป็นการกำหนดหรือวางแผนล่วงหน้าว่า มีรายการงานหรือภารกิจอะไรที่จะต้องทำในปัจจุบันหรืออนาคตบ้าง และควรจะทำอะไรก่อนหลัง โดยมีข้อมูลหัวข้อเรื่อง, ความสำคัญ และวันครบกำหนด ซึ่งสำหรับระดับความสำคัญ สามารถกำหนดได้ 3 ระดับคือ สำคัญน้อย, สำคัญปานกลาง และสำคัญมาก


ในบางครั้ง ผู้ใช้ก็ต้องการที่จะบันทึกอะไรหลายๆ อย่าง ตามสถานการณ์ที่ตนเองพบเจอ หรืออยากจะจดจำอะไรบางอย่างไว้ การใช้ฟังก์ชันบันทึกก็ดูจะเหมาะสมดี โดยฟังก์ชันบันทึกของ Nokia 6111 นี้ก็มีลูกเล่นอยู่บ้าง เช่น การแทรกเวลาและวันที่ หรือ การใส่รอยยิ้ม เป็นต้น


ฟังก์ชันเครื่องคิดเลขก็เป็นฟังก์ชันพื้นฐานอีกอย่างหนึ่งของ โทรศัพท์มือถือ ทั่วๆ ไป โดยเครื่องคิดเลขของ Nokia 6111 นี้ดูแล้วมีหน้าตาและการใช้งานที่เรียบๆ ไม่มี Interface กราฟฟิกสวยงามใดๆ การใช้งานก็ไม่ซับซ้อน หลักๆ คือ กดตัวเลขค่าแรก แล้วเลือกตัวดำเนินการ (Operators) ที่ต้องการ จากนั้นก็ให้ป้อนตัวเลขค่าถัดไป สลับอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ใช้จะเลือกให้ทำการแสดงผลลัพธ์ นอกจากนี้ ภายในฟังก์ชันเครื่องคิดเลข ก็ยังมีฟังก์ชันสำหรับคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนมาให้ใช้งานอีกด้วย


ฟังก์ชันนับเวลาถอยหลัง น่าจะมีประโยชน์สำหรับสถานการณ์อะไรสักอย่างที่มีการกำหนดระยะเวลาที่จำกัด โดยการใช้งานเริ่มต้นก็ต้องทำการกำหนดค่าระยะเวลาเสียก่อน เมื่อกดตกลงแล้ว เวลาก็จะเริ่มเดินถอยหลังไปเรื่อยๆ และเวลานี้จะมีการแสดงให้เห็นที่แถบเมนูตัวนับถอยหลัง รวมถึงที่หน้าจอ Standby ด้วย


ฟังก์ชันนาฬิกาจับเวลาก็เป็นลูกเล่นอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์หลายๆ อย่างในชีวิตประจำวันได้ โดยการจับเวลานั้นสามารถแบ่งหยุดเป็นส่วนๆ แล้วบันทึกไว้ได้ ตัวอย่างเช่น หากต้องการจับเวลาของการวิ่งแข่งที่มีนักวิ่ง 5 คน ก็สามารถจับเวลาที่ต่างกันของนักวิ่งแต่ละคนในขณะที่วิ่งเข้าเส้นชัยได้ เป็นต้น

เมนูแอปพลิเคชั่น


เมนูแอปพลิเคชั่น คือเมนูที่รวบรวมโปรแกรมพิเศษ ที่เป็น Java Applications เอาไว้ โดยมีการแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักคือ แอปพลิเคชั่นที่เป็นเกมส์ และแอปพลิเคชั่นที่เป็นโปรแกรมใช้งาน


ในกลุ่มของแอปพลิเคชั่นที่เป็นเกมส์ จะประกอบไปด้วยเกมส์ 4 เกมส์สนุกๆ ให้เลือกเล่นยามว่าง คือเกมส์ Backgammon, Golf Tour, Rally 3D และ Solitaire


ในกลุ่มของแอปพลิเคชั่นที่เป็นโปรแกรมใช้งาน จะประกอบไปด้วย โปรแกรมแปลงหน่วย, โปรแกรมแนะนำ Nokia 6111, โปรแกรม Mobile Gallery, โปรแกรม World Clock II และโปรแกรม Yoga Coach


โปรแกรมแปลงหน่วย สามารถแปลงหน่วยหรืออัตราแลกเปลี่ยนได้หลายประเภท เช่น สกุลเงิน, น้ำหนัก, ความยาว, พื้นที่, ปริมาตร หรืออุณหภูมิ เป็นต้น


โปรแกรมแนะนำส่วนประกอบ และจุดเด่นต่างๆ ของ Nokia 6111 ซึ่งดูเรื่อยๆ ก็เพลินดีอยู่เหมือนกัน


โปรแกรม Mobile Gallery นั้นดูแล้วก็จะคล้ายกับ เมนูคลังภาพ นั่นเอง คือเป็นที่รวบรวมไฟล์ประเภทต่างๆ เอาไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อที่จะให้ง่ายสำหรับการเปิดดูหรือจัดการ


โปรแกรม World Clock II ก็คือโปรแกรมที่ใช้สำหรับเทียบเวลา หรือแสดงเวลาของเมืองหรือประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั่นเอง


โปรแกรม Yoga Coach เป็นโปรแกรมที่ช่วยอธิบายการเล่นโยคะในท่วงท่าต่างๆ โดยมีรูปอนิเมชั่นเคลื่อนไหวประกอบคำอธิบายด้วย หน้าตาของโปรแกรมก็ค่อนข้างดูสบายตาสวยงาม โดยรวมจึงน่าจะมีประโยชน์ไม่น้อยสำหรับผู้ที่ต้องการออกกำลังกายด้วยการเล่นโยคะ

เมนูเว็บ


เมนูเว็บ ก็คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชันการทำงานสำหรับใช้งานท่องเว็บผ่านทางระบบ EDGE หรือ GPRS นั่นเอง ซึ่งเมนูย่อยจะประกอบไปด้วย โฮมเพจ, บุ๊คมาร์ก, ที่อยู่เว็บล่าสุด, ถาดรับข้อความบริการ, การตั้งค่า, ไปที่ที่อยู่ และลบข้อมูลในแคช


โปรแกรม Browser ที่มีมาให้ใน Nokia 6111 นั้นสามารถเปิดเว็บเพจแบบ XHTML ได้ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่ HTML Browser อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็สามารถแสดงตัวหนังสือ ลิงค์และรูปภาพทั่วๆ ไป ได้ดีในระดับหนึ่ง


หากมีเว็บไซต์ใดที่มักจะเข้าใช้งานอยู่บ่อยๆ หรือไม่ต้องการพิมพ์ที่อยู่ซ้ำๆ ก็สามารถนำมาบันทึกเก็บไว้ในบุ๊คมาร์กได้



การตั้งกำหนดค่าให้กับการใช้งานเว็บ ก็สามารถตั้งค่าพื้นฐานได้พอสมควร ไม่ว่าจะเป็น ระบบเครือข่ายที่เชื่อมต่อ, ขนาดของตัวอักษร, การเข้ารหัสตัวอักษร, การเลือกภาษา, การตั้งค่าคุ้กกี้ หรือการตั้งค่า WMLScript เป็นต้น

คุณสมบัติเด่นที่น่าสนใจ

- หน้าจอแสดงผลแบบ TFT LCD 262,144 สี ความละเอียด 128 x 160 Pixels : หน้าจอแสดงผลแบบ TFT LCD ระดับ 262,144 สี ของ Nokia 6111 นั้นแสดงผลได้ไม่น่าประทับใจเท่าที่ควร เนื่องจากสีสันค่อนข้างจืด ไม่ค่อยสดใส และจากการทดสอบใช้งาน ไม่พบเมนูที่ใช้สำหรับปรับค่าความสว่างหรือค่าสีของหน้าจอแต่อย่างใด ส่วนความละเอียด ระดับ 128 x 160 Pixels (29 x 35 มิลลิเมตร) นั้นถือว่ามีคุณภาพในระดับที่ปกติ อาจดูแล้วไม่ละเอียดคมยิบกริบเหมือนกับ โทรศัพท์มือถือ ที่มีจุดเด่นในเรื่องของหน้าจอบางรุ่นบางยี่ห้อ แต่ก็ถือว่าพอใช้ได้ ดังนั้นสรุปแล้วในเรื่องของหน้าจอถือว่ายังไม่น่าประทับใจเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามเครื่องที่ได้รับมาทดสอบครั้งนี้เป็นเพียงเครื่องทดสอบ หรือเครื่อง Prototype เท่านั้น หากเป็นเครื่องที่วางจำหน่ายจริง อาจจะมีการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องของหน้าจอให้ดีขึ้นก็เป็นได้

- กล้องดิจิตอลในตัว ความละเอียดระดับ 1 ล้าน Pixels : กล้องดิจิตอลในตัวของ Nokia 6111 นั้นมีความละเอียดระดับ 1 ล้าน Pixels หรือมีความละเอียดของภาพถ่ายสูงสุดที่ 1152 x 864 Pixels ซึ่งคุณภาพของภาพถ่ายโดยทั่วไปแล้ว ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ ไม่ถึงกับดีหรือแย่ และหากจะให้ดี ก็ควรจะถ่ายในสถานที่ๆ มีแสงสว่างพอเพียง สีสันที่ได้ก็จะมีความสดใสแจ่มชัดมากขึ้น เนื่องจากดูแล้วในสภาพโดยทั่วๆไป สีสันที่ได้จะไม่ค่อยสดใสเท่าไหร่ ส่วนในเรื่องของรายละเอียดที่เก็บได้นั้น ที่แน่ๆ คงจะไม่สามารถสู้กับกล้องดิจิตอลจริงๆ ได้ แต่ถ้าหากเทียบกันกับกล้องดิจิตอลของ โทรศัพท์มือถือ ระดับ 1 ล้าน Pixels หลายๆ รุ่น ก็ถือว่าสามารถสู้ได้อย่างไม่อายใครเหมือนกัน ส่วนภาพวีดีโอนั้นก็ถือวว่ามีคุณภาพในระดับที่ปกติดี และมีความราบรื่นไม่กระตุกแต่อย่างใด ภาพที่ได้อาจจะไม่ละเอียดมากนัก แต่นั่นก็เป็นเรื่องปกติสำหรับภาพวีดีโอที่ถ่ายได้จากกล้องดิจิตอลใน โทรศัพท์มือถือ ซึ่งสำหรับคุณสมบัติทั้งหมดของกล้องดิจิตอลของ Nokia 6111 จะมีดังต่อไปนี้

- ปรับค่าความละเอียดของภาพถ่ายได้ 4 ระดับ (1152 x 864, 640 x 480, 320 x 240 และ 160 x 120 Pixels)
- ซูมภาพได้ 6 เท่า (Digital Zoom)
- กระจกสะท้อนภาพขนาดเล็กสำหรับใช้งานขณะถ่ายภาพตนเอง
- ไฟ LED Flash ในตัว
- ถ่ายภาพวีดีโอพร้อมเสียง ด้วยความละเอียด 176 x 144 Pixels (.3gp) และไม่จำกัดเวลา (ขึ้นอยู่กับขนาดของหน่วยความจำที่เหลือ)
- ตั้งเวลาถ่ายภาพล่วงหน้า (10 วินาที)
- ถ่ายภาพต่อเนื่อง (3 ภาพ)
- ปรับคุณภาพของภาพถ่ายได้ 3 ระดับ (สูง, ปกติ และธรรมดา)
- ปรับคุณภาพของภาพวีดีโอได้ 3 ระดับ (สูง, ปานกลาง และต่ำ)
- โหมดถ่ายภาพในที่มืดหรือเวลากลางคืน (Night Mode)
- เลือกเปิดหรือปิดเสียงชัตเตอร์
- ฟังก์ชันตกแต่งและแก้ไขรูปภาพ

ในเบื้องต้น คุณสมบัติ หรือลูกเล่นของกล้องดิจิตอลนี้ มีไม่ค่อยมากนัก เช่นไม่มีการปรับค่า White Balance หรือการใส่ Effect ต่างๆ มาให้ แต่การใช้งานทั่วๆ ไปก็ถือว่าเพียงพอ และในส่วนถัดไป ก็อยากให้ทุกท่านได้ชมภาพถ่ายตัวอย่างในแบบต่างๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งภาพถ่ายนี้ไม่ได้ผ่านการปรับแต่งใดๆ ทั้งสิ้น จึงน่าจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของกล้องดิจิตอลนี้ได้ดีที่สุดว่าสอบผ่านหรือไม่ ในสายตาของท่านเอง



ภาพถ่ายขนาด 1152 x 864, คุณภาพระดับสูง, โหมดปกติ




ภาพถ่ายปกติที่ยังไม่ซูมขยายภาพ ไปจนถึงภาพถ่ายที่มีการซูมขยายระดับสูงสุด 6 เท่าแบบ Digital Zoom


ภาพถ่ายในโหมดการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (Multi-Shot : 3 ภาพ)


ภาพแรกถ่ายในโหมดปกติ, ภาพที่สองถ่ายโดยเปิดโหมดกลางคืน และภาพที่ 3 ถ่ายโดยเปิดใช้ไฟ LED Flash


ภาพวีดีโอความละเอียด 176 x 144 Pixels, คุณภาพระดับสูง, โหมดปกติ

- เชื่อมต่อข้อมูลไร้สายระยะใกล้ผ่าน Bluetooth และ Infrared Port : การเชื่อมต่อข้อมูลไร้สายระยะใกล้นั้นมีใส่มาให้ทั้ง Bluetooth และ Infrared Port ซึ่งก็ถือว่าเป็นข้อดีสำหรับ Nokia 6111 ได้อีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน แม้ว่า Infrared Port นั้นจะมีความแพร่หลายในการใช้งานที่น้อยลงไปเรื่อยๆ ต่างจาก Bluetooth ที่มีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีที่จำเป็นจะต้องมีการเชื่อมต่อข้อมูลผ่าน Infrared Port ก็ทำให้สามารถใช้งานได้ทันที ซึ่งมีติดตั้งเอาไว้ก็ดีกว่าไม่มีอย่างแน่นอน โดยสำหรับการทดสอบการใช้งานนั้น ทั้ง Bluetooth และ Infrared Port ก็สามารถใช้งานได้เป็นอิสระ ไม่มีข้อจำกัดสำหรับอุปกรณ์ใดๆ การเชื่อมต่อก็สามารถทำได้ง่ายและไม่ยุ่งยาก มีความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลที่ปกติดี ค้นหาอุปกรณ์ข้างเคียงได้ค่อนข้างเร็ว ส่วนการเชื่อมต่อข้อมูลแบบใช้สายผ่านทาง USB Data Cable นั้น ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน แต่เท่าที่ทราบจะไม่มีแถมมาให้ใน Package มาตรฐาน ดังนั้น หากใครต้องการใช้จริงๆ ก็อาจจะต้องหากซื้อเอาเองในภายหลัง

- เล่นไฟล์เพลง MP3, AAC และทำเป็นเสียงเรียกเข้า : Nokia 6111 นอกจากจะสามารถนำไฟล์เพลง MP3, AAC มาฟังตามปกติผ่านโปรแกรมฟังเพลงในเครื่องได้แล้ว ก็ยังสามารถนำมากำหนดเป็นเสียงเรียกเข้าได้ด้วย ส่วนเรื่องของคุณภาพเสียงนั้น หากฟังผ่านทางหูฟังก็ถือว่ามีคุณภาพเสียงที่พอใช้ได้ อาจจะไม่ถึงกับดีเลิศเหมือนกับ โทรศัพท์มือถือ ที่โดดเด่นเรื่องการฟังเพลงบางรุ่น อย่างไรก็ตามหากใช้หูฟังที่มีคุณภาพระดับสูงขึ้นไปอีก ก็น่าจะมีส่วนช่วยไม่น้อยในเรื่องของคุณภาพเสียงที่ได้ ส่วนระดับความดังที่ผ่านทางหูฟังนั้นถือว่าดังเอามากๆ ปรับระดับเสียงไม่ถึงครึ่ง ก็ถือว่าดังพอสมควรแล้ว และในกรณีที่ฟังผ่านลำโพง Loudspeaker ด้านข้าง ยังมีคุณภาพเสียงในระดับที่ไม่โดดเด่นอะไร แค่พอสมน้ำสมเนื้อกับขนาดของลำโพงเล็กๆ ที่เห็น ส่วนระดับความดังของเสียงนั้น ถือว่าดังค่อนข้างมากทีเดียว ดังนั้นเรื่องของการไม่ได้ยินเสียงเรียกเข้าเวลามีสายเรียกเข้า จึงไม่น่าจะมีปัญหา หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่อึกทึกจนเกินไป

- วิทยุ FM Stereo ในตัวพร้อม Visual Radio : ด้วยขนาดของหน่วยความจำที่ไม่มากนัก คือประมาณ 23 MB และไม่สามารถใส่การ์ดหน่วยความจำเพิ่มเติมได้ วิทยุ FM Stereo จึงน่าจะช่วยตอบสนองความต้องการของผู้ที่รักการฟังเพลงได้ดีในระดับหนึ่ง เพราะไม่ต้องใช้พื้นที่หน่วยความจำในการเก็บไฟล์เพลง ซึ่งประสิทธิภาพของวิทยุ FM Stereo ของ Nokia 6111 นั้นถือว่าอยู่ในระดับปกติดี สามารถรับสัญญาณได้ดี ต่อเนื่อง เสียงดังฟังชัด ยิ่งหากอยู่ในที่ๆ เปิดโล่ง หรืออยู่ในเขตชุมชน คุณภาพเสียงและสัญญาณก็จะดียิ่งขึ้น และเช่นเดิม การที่จะใช้งานวิทยุ FM Stereo ได้นั้น ก็จะต้องทำการเสียบหูฟังให้เรียบร้อยเสียก่อน เนื่องจากสายของหูฟังนั้นเป็นเหมือนเสาอากาศรับสัญญาณวิทยุนั่นเอง แล้วผู้ใช้จะเลือกฟังผ่านทางหูฟัง หรือผ่านทางลำโพง Loudspeaker ก็ค่อยเลือกกันอีกที นอกจากนั้น วิทยุ FM Stereo นี้ก็ยังมีความสามารถอื่นๆ อีกพอสมควร เช่น บันทึกคลื่นสถานีวิทยุได้ 20 สถานี, ปรับระบบเสียงเป็นแบบ Mono, ระบบค้นหาคลื่นสัญญาณอัตโนมัติ หรือการรองรับการใช้งานระบบ Visual Radio เป็นต้น

- หน่วยความจำภายใน ขนาด 23 MB : หน่วยความจำภายในของ Nokia 6111 นั้นมีใส่มาให้ทั้งหมดประมาณ 23 MB ไม่สามารถใส่การ์ดหน่วยความจำใดๆ เพิ่มเติมได้ ซึ่งหากเป็นการใช้งานทั่วๆ ไปก็ถือว่ายังพอไหว แต่ถ้าหากเป็นการใช้งานที่ต้องมีการเก็บบันทึกข้อมูลใหญ่ๆ จำนวนมาก เช่น ไฟล์เพลง, ไฟล์วีดีโอ หรือไฟล์รูปภาพใหญ่ๆ เยอะๆ ก็คงจะไม่สะดวกนัก เพราะผู้ใช้คงจะต้องคอยลบไฟล์ที่ไม่ได้ใช้งานออกไปอยู่บ่อยๆ และหากจะเก็บไฟล์ใหญ่ๆ หลายไฟล์ไว้ใช้งานนอกสถานที่ในคราวเดียว ก็คงจะเป็นไปได้อย่างไม่เต็มที่ เช่นหากต้องการนำเพลง MP3 ไปฟังนอกสถานที่ขณะเดินทาง ก็คงจะเก็บได้ไม่กี่เพลงเท่านั้น ดังนั้นหากผู้ใช้ต้องการที่จะจัดสรรใช้งานหน่วยความจำ 23 MB ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คงจะต้องหมั่นลบข้อมูลที่ไม่จำเป็นออกไปอย่างสม่ำเสมอด้วย

- ท่องอินเทอร์เน็ตไร้สายผ่านระบบ EDGE และ GPRS : จุดเด่นของ Nokia 6111 อีกอย่าง ก็คงจะเป็นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายผ่านระบบ EDGE นั่นเอง ซึ่ง EDGE ที่อยู่ใน Nokia 6111 นี้ ตามข้อมูล คือ EDGE Class 8 ที่มีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 236.8 kbps ซึ่งหากใช้งานอยู่ในพื้นที่ๆ สามารถใช้งานระบบ EDGE ได้ การเชื่อมต่อก็จะรวดเร็วราบรื่นมากขึ้นกว่าระบบทั่วไปอย่าง GPRS พอสมควร แต่อย่างไรก็ดี หากอยู่ในพื้นที่ๆ ไม่มี EDGE ผู้ใช้ก็ยังสามารถใช้งานเชื่อมต่อผ่านระบบ GPRS ได้ตามปกติ ซึ่งใน Nokia 6111 นี้เป็น GPRS Class 8 ซึ่งมีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 85.6 kbps ซึ่งนั่นก็คงจะช้ากว่า EDGE อยู่มากพอสมควร ส่วน Browser ที่ติดตั้งอยู่นั้น เป็น XHTML Browser ซึ่งก็สามารถรองรับการแสดงผลได้ดีในระดับหนึ่ง หากเป็นเว็บเพจที่ไม่มีองค์ประกอบที่ซับซ้อนมากนัก ดังนั้นหากจะให้ดี การใช้งาน EDGE ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ก็อาจจะออกมาในรูปแบบของการใช้ Nokia 6111 เป็นโมเด็มไร้สาย เพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านทางเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่อง Notebook นั่นเอง

คุณสมบัติอื่นๆ ที่น่าสนใจ

- ประสิทธิภาพในการสนทนา : คุณสมบัติเบื้องต้นสำหรับการรองรับระบบสัญญาณของ Nokia 6111 นั้นคือ Tri Band (GSM 900/1800/1900 MHz) ซึ่งในเบื้องต้นการสแกนหาคลื่นสัญญาณขณะเปิดเครื่องขึ้นมานั้น สามารถทำได้รวดเร็วดี และระหว่างที่อยู่ในสถานะ Standby ไม่พบอาการที่เรียกว่าสัญญาณแกว่งหรือสัญญาณหายแต่อย่างใด ส่วนประสิทธิภาพขณะที่ใช้งานสนทนานั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่ปกติดี เสียงที่ได้ยินดังชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามยังถือว่าไม่ถึงกับดังมากที่สุด

- การรับ-ส่งข้อความ : ความสามารถในการรับ-ส่งข้อความของ Nokia 6111 นั้นถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติทั่วๆ ไป สามารถรับ-ส่งข้อความได้ ทั้งแบบ SMS, Picture Messaging, MMS, ข้อความด่วน, ข้อความคลิปเสียง และ Email (POP3, SMTP, IMAP4) โดยสามารถใช้งานภาษาไทยได้เต็มรูปแบบ ทั้งการอ่าน, การพิมพ์ หรือระบบสะกดคำอัตโนมัติ

- การรองรับการใช้งานภาษาไทย : ระบบภาษาไทยของ Nokia 6111 นั้น ก็ถือว่ามีมาให้อย่างครบครัน ตั้งแต่การแสดงข้อความหรือตัวหนังสือภาษาไทย, การพิมพ์ข้อความภาษาไทย, ระบบสะกดคำอัตโนมัติภาษาไทย, เมนูใช้งานภาษาไทย รวมแผงปุ่มกดที่มีตัวอักษรภาษาไทยกำกับอยู่ด้วย ซึ่งสำหรับการแสดงผลในส่วนต่างๆ นั้นถือว่าถูกต้องดี เท่าที่ทดสอบ ยังไม่พบข้อผิดพลาดในการแสดงผลสระ หรือตัวอักษร แต่อย่างใด

- แบตเตอรี่แบบ Li-Ion ความจุ 700 mAh : อัตราความสิ้นเปลืองพลังงานของ Nokia 6111 นั้น เท่าที่ทดสอบใช้งานมาระยะหนึ่งถือว่าสามารถจัดสรรพลังงานได้ค่อนข้างดี แต่ด้วยขนาดความจุของแบตเตอรี่ที่มีไม่มากนัก นั่นคือ 700 mAh ในบางกรณี หากใช้งานต่อเนื่องนานๆ สนทนานานๆ หรือมีการใช้งานเปิดใช้งานฟังก์ชันต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ก็อาจจะต้องมีการชาร์จแบตเตอรี่บ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งจากการทดสอบใช้งานในลักษณะทั่วไป ฟังเพลงฟังวิทยุบ้าง ถ่ายรูปบ้าง สนทนาไม่เกิน 1 ชั่วโมง กล่าวคือไม่ถึงกับหนักหนามากนัก แบตเตอรี่จะอยู่ได้ประมาณ 2-3 วัน แต่ถ้าหากใช้งานหนักกว่านี้ ระยะเวลาก็จะลดลงไปตามลำดับ สรุปแล้วคือ ถ้าจะให้ดี ความจุของแบตเตอรี่ก็น่าจะมากกว่านี้อีกสักหน่อย

สรุปส่งท้าย

จากการทดสอบการใช้งานมาได้ประมาณ 1 สัปดาห์ กับ Nokia 6111 ก็พอจะมองเห็นอะไรหลายๆ อย่างจากโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ จึงขอสรุปเป็นจุดเด่นและจุดด้อยตามความคิดเห็นส่วนตัวคร่าวๆ ดังนี้

จุดเด่น

- มีการออกแบบดีไซน์ที่ดูดี สวยงาม หรูหรา
- มีขนาดเล็กกระทัดรัด สามารถพกพาได้สะดวก
- การประมวลผลค่อนข้างรวดเร็วทันใจ
- เสียงเพลงและเสียงเรียกเข้ามีความดังชัดเจน และเสียงไม่แตกเมื่อปรับระดับความดังสูงสุด
- มีวิทยุ FM Stereo ในตัว และสามารถรับสัญญาณได้ดี เสียงดังฟังชัด พร้อมทั้งสามารถรองรับระบบ Visual Radio ได้
- สามารถเชื่อมต่อข้อมูลไร้สายระยะใกล้ได้ทั้งทาง Bluetooth และ Infrared Port
- กล้องดิจิตอลในตัว ความละเอียด 1 ล้าน Pixels
- สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สาย ได้ทั้งทางระบบ EDGE และ GPRS
- ถ่ายภาพวีดีโอได้ไม่จำกัดเวลา และบันทึกเสียงได้นานสูงสุด 60 นาที (ขึ้นอยู่กับขนาดของหน่วยความจำที่เหลือ)
- Java Applications หรือเกมส์ที่มีติดตั้งมาให้ค่อนข้างน่าสนใจ และสามารถติดตั้งเพิ่มเติมเองอีกได้ในภายหลัง

จุดด้อย

- ปุ่มกดโดยเฉพาะชุดปุ่มควบคุมการทำงานพื้นฐานที่อยู่ด้านหน้า ยังไม่ค่อยแข็งแรงเท่าที่ควร และปุ่มตัวเลขแถวบนสุดค่อนข้างกดได้ลำบาก
- ฝาสไลด์ยังมีอาการโยกคลอนได้เล็กน้อย
- ด้วยลักษณะพื้นผิวของวัสดุที่นำมาประกอบ ทำให้เกิดรอยเปื้อน รอยนิ้วมือ หรือรอยคราบมัน ได้ง่ายกว่าปกติ
- จอภาพแสดงผลสีสันได้ไม่สดใสเท่าที่ควร และไม่สามารถปรับค่าความสว่างหรือค่าสีได้
- มีหน่วยความจำในตัวไม่มากนัก (23 MB) และไม่รองรับการ์ดหน่วยความจำเสริม
- ฝาหลังและฝายางกันฝุ่นค่อนข้างเปิดยาก

*หมายเหตุ : ด้วยเหตุที่เครื่องนี้เป็นเพียงเครื่องทดสอบหรือเครื่อง Prototype ดังนั้นจุดด้อยบางประการอาจจะถูกปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นหากเป็นเครื่องที่วางจำหน่ายจริง

สรุปแล้ว Nokia 6111 เป็น โทรศัพท์มือถือ อีกรุ่นหนึ่งที่เข้ามาเจาะตลาดผู้ใช้ที่ชื่นชอบ โทรศัพท์มือถือ แบบสไลด์ที่ออกแนวแฟชั่นเรียบหรู แต่ไม่ได้ต้องการคุณสมบัติพิเศษที่เหมือนกับ โทรศัพท์มือถือ ระดับสูงมากนัก จุดเด่นของ โทรศัพท์มือถือ รุ่นนี้ อย่างแรกคงจะเป็นเรื่องของดีไซน์ และความสวยงาม นอกจากนั้นก็จะเป็นจุดเด่นในเรื่องของคุณสมบัติบางอย่างเช่น วิทยุ FM Stereo, EDGE, กล้องดิจิตอล 1 ล้าน Pixels, Bluetooth หรือ Infrared Port เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี Nokia 6111 ก็ยังคงมีจุดที่ควรจะต้องปรับปรุงอยู่ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรงของตัวเครื่อง, สีสันของหน้าจอ หรือจุดด้อยในเรื่องของหน่วยความจำที่ไม่สามารถใส่การ์ดหน่วยความจำเพิ่มได้ เป็นต้น ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผู้ใช้ก็คงจะต้องเป็นผู้ประเมินเองว่าด้วยจุดเด่นและจุดด้อยเหล่านี้ จะพอหักลบกันได้หรือไม่อย่างไร และมีความเหมาะสมกับลักษณะการใช้งานของตนเองมากแค่ไหนนั่นเองครับ

คะแนน TMC Point

การออกแบบดีไซน์ : 8.5/10
ใช้งานง่าย : 8.0/10
คุณสมบัติเครื่อง : 7.5/10
ฟังก์ชันการใช้งาน : 8.0/10
เสถียรภาพและประสิทธิภาพในการใช้งาน : 8.0/10
ราคาคุ้มค่า : 7.5/10

คะแนนรวม 7.91/10

สรุปคุณสมบัติเครื่อง

ท่านสามารถตรวจสอบคุณสมบัติแบบสรุป (Specification) ของ Nokia 6111 ได้โดยการคลิ๊กที่ Link ด้านล่างนี้

Nokia 6111 Specification 

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตาม
Oska (Thaimobilecenter Editor) : [email protected]


ผู้สนับสนุนเครื่อง Nokia 6111 สำหรับการทดสอบ



ขอขอบคุณ บริษัท เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)
เลขที่ 73 อาคารเอ็ม ลิ้งค์ ชั้น 1 ซ.สุขุมวิท 62 แขวงบางจาก เขตพระโขนง
กรุงเทพฯ 10260 Tel.0-2741-5700 Fax.0-2741-6878
E-mail : [email protected]  
 

:: ไปหน้าแรกเว็บไซต์ Thaimobilecenter | ไปหน้าแรก Mobile Focus ::