หากลองมองย้อนกลับไปในช่วงตั้งไข่ของสมาร์ทโฟนยุคใหม่ ราวๆ ช่วงปี 2008 ที่สมาร์ทโฟนจอสัมผัส เริ่มเข้ามามีบทบาทแทนที่ฟีเจอร์โฟนยุคเก่า หรือโทรศัพท์มือถือแบบปุ่มกดแบบเดิมๆ ก็คงยังจะพอจำความกันได้ว่าแรกเริ่มเดิมทีนั้น เซ็นเซอร์ต่างๆ บนสมาร์ทโฟน มีอยู่เพียงไม่กี่ชนิด อย่างดีก็อาจจะมีเพียงแค่เซ็นเซอร์ตรวจจับแสง กับเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว ซึ่งในสมัยนั้นก็นับว่าไฮเทคมากแล้ว แต่มาในยุคนี้ ยุคที่สมาร์ทโฟนครองโลกอย่างเต็มตัว การแข่งขันพัฒนาฟีเจอร์ หรือนวัตกรรม ของแบรนด์ชั้นนำต่างๆ จึงดูมีความจริงจังมากขึ้นตามลำดับ มีฟีเจอร์เกิดใหม่มากมายจนนับไม่ถ้วน แต่การที่ฟีเจอร์ล้ำๆ เหล่านี้จะทำงานได้อย่างสมบูรณ์นั้น ก็มักจะต้องอาศัยเซ็นเซอร์บางอย่างร่วมด้วย ดังนั้นในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเซ็นเซอร์แต่ละชนิดบนสมาร์ทโฟนกันว่าจะมีอะไรบ้าง และมีประโยชน์สำหรับการใช้งานสมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวันของเราอย่างไร
โปรดทราบ : เซ็นเซอร์บางชนิดในบทความนี้ จะมีอยู่ในเฉพาะสมาร์ทโฟนบางรุ่นเท่านั้น หากสนใจกรุณาตรวจสอบคุณสมบัติของสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่นเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง
Accelerator Sensor (Accelerometer Sensor)

Accelerator Sensor คือเซ็นเซอร์ที่มีไว้สำหรับตรวจจับลักษณะการเคลื่อนไหวของสมาร์ทโฟน โดยเป็นการตรวจจับแบบ 3 แกน (3-Axes) ประโยชน์ในการใช้งานที่เห็นกันอยู่เป็นประจำก็คือการปรับทิศทางการแสดงผล หรือการใช้งานที่ต้องอาศัยการเอียงเครื่องไปในทิศทางต่างๆ เช่นไม่ว่าเราเอียงเครื่องไปทางไหน หน้าจอก็จะปรับให้แสดงผลในทิศทางเดียวกันโดยอัตโนมัติ
Gyro Sensor (Gyroscope Sensor)

Gyro Sensor คือเซ็นเซอร์ที่มีไว้สำหรับตรวจจับลักษณะการหมุนของสมาร์ทโฟน โดยเป็นการตรวจจับแบบ 3 แกน (3-Axes) เช่นเดียวกันกับ Accelerator Sensor แต่จะมีความถูกต้อง และแม่นยำมากกว่า เช่นการควบคุมการเล่นเกมส์ต่างๆ โดยเฉพาะเกมส์ที่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวในหลายๆ ทิศทาง ที่เห็นได้ชัดก็เช่นบรรดาเกมส์แข่งรถทั้งหลาย หากอาศัย Accelerator Sensor เพียงอย่างเดียว ในบางครั้งการควบคุมก็อาจจะไม่เป็นไปตามที่ใจต้องการ แต่การที่มี Gyro Sensor มาเสริม ก็จะทำให้การควบคุมมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ไม่ว่าจะจับถือเครื่องในอิริยาบทแบบใดก็ตาม
RGB Light Sensor (Ambient Light Sensor)

RGB Light Sensor คือเซ็นเซอร์ที่มีไว้สำหรับตรวจวัดสภาพแสงในสถานที่ ที่เรากำลังใช้งานสมาร์ทโฟนอยู่ โดยสามารถตรวจจับได้ 3 สีด้วยกันคือ สีแดง, สีเขียว และสีน้ำเงิน เพื่อปรับการแสดงผลของหน้าจอให้มีระดับความสว่าง หรือมีสีสันที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมนั้นๆ โดยอัตโนมัติ ปัจจุบันสมาร์ทโฟนบางรุ่นอาจมี RGB Light Sensor ทั้งด้านหน้า และด้านหลังของตัวเครื่อง ทำให้วัดแสงโดยรอบได้ 360 องศา และปรับความสว่างของหน้าจอได้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้น
Proximity Sensor

Proximity Sensor คือเซ็นเซอร์ที่มีไว้สำหรับการตรวจจับระยะห่างระหว่างผู้ใช้ กับตัวเครื่องสมาร์ทโฟน เพื่อการตอบสนองที่ถูกต้องเหมาะสม เช่นในขณะที่ผู้ใช้งานกำลังสนทนา ก็ช่วยให้สามารถตรวจสอบได้ว่าขณะนั้นผู้ใช้งานมีการแนบหูไว้ติดกับตัวเครื่อง หรือเอาใบหน้ามาแนบกับตัวเครื่องหรือไม่ ซึ่งหากตรวจพบระบบก็จะทำการปิดหน้าจอแสดงผลโดยอัตโนมัติ เพื่อไม่ให้ใบหน้า หรือใบหูของผู้ใช้งานไปสัมผัสโดนฟังก์ชันบางอย่างที่อยู่บนหน้าจอแบบไม่ตั้งใจ
Gesture Sensor

Gesture Sensor คือเซ็นเซอร์ที่มีไว้สำหรับการตรวจจับลักษณะการเคลื่อนไหวของฝ่ามือ หรือลักษณะท่าทางของผู้ใช้งาน โดยเป็นการตรวจจับด้วยลำแสงอินฟราเรด (Infrared Rays) ดังนั้นก็จะทำให้เครื่องสามารถทำงานตามการแสดงท่าทางของผู้ใช้งานได้ เช่นในสมาร์ทโฟนบางรุ่นที่มี Gesture Sensor หากผู้ใช้งานโบกฝ่ามือไปทางซ้าย ก็อาจจะเป็นการสั่งให้เลื่อนไปดูรูปภาพถัดไปในแกลเลอรี่ โดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องสัมผัสที่หน้าจอเลยแม้แต่น้อย
Geomagnetic Sensor (Digital Compass)

Geomagnetic Sensor คือเซ็นเซอร์ที่มีไว้สำหรับตรวจจับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือที่เรียกกันจนคุ้นหูว่าเข็มทิศดิจิตอล (Digital Compass) นั่นเอง โดยจะเป็นการตรวจจับแบบ 3 แกน (3-Axes) ซึ่งจะมีประโยชน์มากสำหรับการใช้งานแอพพลิเคชั่นแผนที่ หรือระบบนำทางต่างๆ รวมถึงแอพพลิเคชั่นประเภท AR Applications (Augmented Reality) ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลทิศทางที่ถูกต้องแม่นยำ ซึ่ง Geomagnetic Sensor นี้ก็สามารถแสดงทิศทางได้แม่นยำไม่แพ้เข็มทิศจริงๆ เลยทีเดียว
Hall Sensor

Hall Sensor คือเซ็นเซอร์ที่มีไว้สำหรับการตรวจสอบว่า ณ ขณะนั้น ฝาเคสเปิด หรือปิดอยู่ ซึ่งการตอบสนองก็จะขึ้นอยู่กับการออกแบบการทำงานของเคสแต่ละรุ่น กับสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่น แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว Hall Sensor จะช่วยให้เมื่อเราปิดฝาเคสแล้ว หน้าจอก็จะดับไปเอง หรืออาจจะเรียกว่าเข้าสู่ Sleep Mode และเมื่อเปิดฝาเคสขึ้นมาอีกครั้ง หน้าจอก็จะสว่างขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ซึ่งนับว่าช่วยอำนวยความสะดวกได้มาก และเป็นการถนอมปุ่มกดไปด้วยในตัว
Barometer Sensor

Barometer Sensor คือเซ็นเซอร์ที่มีไว้สำหรับการตรวจวัดความกดอากาศ สามารถให้ข้อมูลความสูงจากระดับน้ำทะเลได้ ซึ่งนับว่าเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากสำหรับบางแอพพลิเคชั่น โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นสำหรับการออกกำลังกายต่างๆ เช่นในการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง, การเดิน หรือการปั่นจักรยาน หากทำในระดับความสูงที่ต่างกัน ก็จะมีอัตราการเผาผลาญแคลอรี่ที่ต่างกันไปด้วยนั่นเอง
Temperature Sensor

Temperature Sensor คือเซ็นเซอร์ที่มีไว้สำหรับการตรวจวัดอุณหภูมิ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับแอพพลิเคชั่นได้หลายประเภท เช่นหากเราไปเดินอยู่ท่ามกลางทะเลทรายอันร้อนระอุ แต่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็ยังสามารถรู้ได้ว่าบริเวณนั้นมีอุณหภูมิที่สูงมากขนาดไหน
Humidity Sensor
Humidity Sensor คือเซ็นเซอร์ที่มีไว้สำหรับการตรวจวัดค่าความชื้นสัมพัทธ์ หรืออัตราส่วนระหว่างปริมาณความชื้น (ไอน้ำ) ที่มีอยู่จริงในอากาศ กับปริมาณความชื้นที่อากาศขณะนั้นจะรองรับได้เต็มที่ ในอุณหภูมิเดียวกัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ที่ออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ เช่นหากต้องออกกำลังกายในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง การระเหยของเหงื่อก็จะทำได้ไม่ดีนัก อีกทั้งร่างกายก็ต้องมีการขับเหงื่อออกมามากขึ้นด้วย ส่งผลให้ร่างกาย หรือหัวใจต้องทำงานหนักกว่าปกติ
Heart Rate Sensor

Heart Rate Sensor ถูกนำมาใส่ไว้ในสมาร์ทโฟนเป็นครั้งแรกใน Samsung Galaxy S5 แต่ปัจจุบันเซ็นเซอร์ชนิดนี้ไม่ได้รับความนิยมบนสมาร์ทโฟนแล้ว ส่วนใหญ่จะไปอยู่ในนาฬิกาสมาร์ทวอทช์มากกว่า มีไว้สำหรับการตรวจวัตอัตราการเต้นของหัวใจ โดยในทางฮาร์ดแวร์ Heart Rate Sensor จะประกอบไปด้วยอุปกรณ์ 2 ชิ้นด้วยกัน ชิ้นแรกคือไฟ Red LED สำหรับการยิงลำแสงไปที่ผิวหนังของผู้ใช้งาน และชิ้นที่สองคือ Pulse Sensor สำหรับการตรวจวัดการเคลื่อนไหวของเม็ดเลือดแดงในเส้นเลือด เช่นเส้นเลือดฝอยซึ่งอยู่ที่ปลายนิ้วมือ ดังนั้นก็จะมีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ชอบการออกกำลังกาย หรือผู้ที่รักในการดูแลสุขภาพของตนเอง เช่นสำหรับการวิ่งออกกำลังกาย ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่าก่อน และหลังการวิ่ง เรามีอัตราการเต้นของหัวใจเป็นอย่างไร ได้ประโยชน์จากการวิ่งมากน้อยแค่ไหน
Finger Scanner Sensor

Finger Scanner Sensor นั้นถูกนำมาใส่ไว้ใน iPhone 5S เป็นรุ่นแรก ซึ่งเรียกว่า Touch ID ปัจจุบันกลายเป็นฟีเจอร์พื้นฐานของสมาร์ทโฟนทั่วไป และมีการพัฒนาต่อยอดจนสามารถฝังไว้ใต้หน้าจอได้ โดย Finger Scanner Sensor เป็นเซ็นเซอร์ที่มีไว้สำหรับการตรวจสอบความถูกต้องของลายนิ้วมือของผู้ที่ต้องการเข้าใช้งานเครื่อง หรือเข้าใช้งานฟีเจอร์บางอย่างภายในเครื่องที่ต้องการความปลอดภัยมากเป็นพิเศษ ตั้งแต่การปลดล็อคหน้าจอ, การใช้งานโหมดส่วนตัว (Private Mode), การซื้อ หรือดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น ไปจนถึงการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่ต้องการความปลอดภัยสูงสุด
Face ID

Face ID เป็นเทคโนโลยีการสแกนใบหน้า 3 มิติของ Apple ซึ่งนำมาใช้ครั้งแรกใน iPhone X มีหน้าที่สแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนของผู้ใช้เหมือน Touch ID มีความแม่นยำสูง และมีความรัดกุม ไม่สามารถหลอกด้วยภาพถ่ายหรือหน้ากากได้ นอกจาก iPhone X แล้ว สมาร์ทโฟนทั่วไปในปัจจุบันก็มีระบบสแกนใบหน้าเช่นกัน แต่มักจะใช้การสแกนแบบ 2 มิติด้วยกล้องหน้า ซึ่งไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไรนัก บางรุ่นอาจมีการใช้อินฟราเรดช่วยสแกนหน้าในที่มืดด้วย

จากเซ็นเซอร์ชนิดต่างๆ ข้างต้น ที่ทีมงานเว็บไซต์ไทยโมบายเซ็นเตอร์ของเราได้แนะนำกันไป จะเห็นว่าล้วนแล้วแต่มีประโยชน์สำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้ใช้สมาร์ทโฟนอย่างเราๆ แทบทั้งสิ้น และถึงแม้ว่าเซ็นเซอร์บางอย่างอาจจะเพิ่งเริ่มถูกนำมาใส่ในสมาร์ทโฟนไฮเอนด์บางรุ่น แต่ก็เชื่อว่าในอนาคตก็จะเริ่มแพร่หลายมากขึ้น จนอาจจะกลายเป็นฟีเจอร์พื้นฐานของสมาร์ทโฟนยุคต่อไปในที่สุด และแน่นอนว่าตอนนี้แบรนด์ชั้นนำต่างๆ ก็คงจะกำลังซุ่มพัฒนาเซ็นเซอร์แบบใหม่ๆ เพื่อนำมาเป็นอาวุธเด็ดสำหรับการแข่งขันในอนาคต ซึ่งหากทีมงานได้ข้อมูลเมื่อไหร่ ก็จะนำมาแนะนำให้ทุกท่านได้ทราบกันอีกครั้งอย่างแน่นอน
บทความโดย : Thaimobilecenter.com
วันที่ : 19/07/64
|